ภาษาไทย ป. 5 เรื่อง ชนิดของคำ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 272.5K views



ผังมโนทัศนสาระการเรียนรู้

 

 

ชนิดของคำ

 

 

คำในภาษาไทยมีทั้งหมด ๗ ชนิด ได้แก่ คำนาม คำสรรพนาม คำกริยา คำวิเศษณ์ คำบุพบท คำสันธาน และคำอุทาน ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้


คำนาม
คำนาม คือ คำที่ใช้เรียกคน พืช สัตว์ สิ่งของ สถานที่ หรืออาการต่าง ๆ แบ่งเป็น ๕ ชนิด ได้แก่
๑. คำนามทั่วไป (สามานยนาม) ใช้เรียกคน พืช สัตว์ สิ่งของ และสถานที่ที่ไม่ชี้เฉพาะ เช่น ดอกไม้ นก ดินสอ
๒. คำนามชี้เฉพาะ (วิสามานยนาม) ใช้เรียกคน พืช สัตว์ สิ่งของ และสถานที่ที่ชี้เฉพาะ เช่น ลุงมา วัดพระแก้ว
๓. คำนามบอกลักษณะ (ลักษณนาม) ใช้บอกลักษณะของคำนามที่อยู่ด้านหน้าเพื่อแสดงรูปร่างและขนาดให้ชัดเจน เช่น โทรทัศน์ ๒ เครื่อง ว่าว ๔ ตัว
๔. คำนามบอกหมวดหมู่ (สมุหนาม) ใช้แสดงหมวดหมู่ของคำนามที่อยู่ด้านหลัง เช่น กองทหาร ฝูงมด
๕. คำนามบอกอาการ (อาการนาม) ใช้บอกอาการหรือลักษณะการกระทำของคน พืช สัตว์ และสิ่งของ ซึ่งมีวิธีการสร้างคำ ดังนี้
          การ + คำกริยา = บอกลักษณะการกระทำ เช่น การพูด การกิน
          ความ + คำวิเศษณ์ = บอกอารมณ์ความรู้สึก เช่น ความโกรธ ความสุข

 

เกร็ดควรรู้

ลักษณนามมักวางไว้หลังคำบอกจำนวน ส่วนสมุหนามมักวางไว้หน้าคำนาม


คำสรรพนาม
คำสรรพนาม คือ คำที่ใช้แทนคำนามเมื่อต้องกล่าวถึงคำนั้นซ้ำอีกครั้งหนึ่ง แบ่งเป็น ๖ ชนิด แต่ในระดับชั้นนี้จะเรียนเพียง ๔ ชนิด ได้แก่
๑. คำสรรพนามที่ใช้แทนผู้พูด ผู้ฟัง และผู้ที่ถูกกล่าวถึง (บุรุษสรรพนาม) แบ่งเป็น ๓ ชนิด คือ
สรรพนามที่ใช้แทนผู้พูด (สรรพนามบุรุษที่ ๑) เช่น ฉัน ผม หนู ฯลฯ
สรรพนามที่ใช้แทนผู้ฟัง (สรรพนามบุรุษที่ ๒) เช่น คุณ ท่าน เธอ ฯลฯ
สรรพนามที่ใช้แทนผู้ที่ถูกกล่าวถึง (สรรพนามบุรุษที่ ๓) เช่น เขา ท่าน มัน ฯลฯ
๒. คำสรรพนามที่ใช้เป็นคำถาม (ปฤจฉาสรรพนาม) ใช้แทนคำนามในประโยคคำถาม มักมีคำว่า ใคร อะไร ไหน สิ่งใด อันไหน เช่น พ่อซื้ออะไร
๓. คำสรรพนามบอกความไม่เจาะจง (อนิยมสรรพนาม) ใช้แทนคำนามที่ไม่กำหนดแน่นอนว่าเป็นสิ่งใด มักมีคำว่า ใด ใคร ไหน อะไร อย่างไร สิ่งใด เช่น อะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น

คำสรรพนามที่ใช้เป็นคำถามและคำสรรพนามบอกความไม่เจาะจง มักจะเป็นคำคำเดียวกัน ให้นักเรียนสังเกตที่คำแวดล้อม หากข้อความนั้นต้องการคำตอบ จะเป็นคำสรรพนามที่ใช้เป็นคำถาม แต่ถ้าไม่ต้องการคำตอบ จะเป็นคำสรรพนามบอกความไม่เจาะจง

๔. คำสรรพนามชี้ระยะ (นิยมสรรพนาม) ใช้แทนคำนามเพื่อบอกให้รู้ระยะใกล้ไกล มักมีคำว่า นี่ นี้ นั่น นั้น โน่น โน้น เช่น นี่เป็นข้อมูลที่จะใช้ทำรายงาน


คำกริยา
คำกริยา คือ คำที่ใช้แสดงการกระทำ หรือแสดงอาการ ได้แก่
๑. คำกริยาที่ต้องมีกรรมมารับ (สกรรมกริยา) เป็นคำกริยาที่เมื่อประกอบเข้าประโยคแล้วมีความหมายไม่สมบูรณ์ ต้องมีกรรมมารับการกระทำนั้น ๆ เช่น พ่อขับรถ โดยมี พ่อ เป็นผู้กระทำ ขับ เป็นกริยา และ รถ เป็นสิ่งที่ถูกกระทำ
๒. คำกริยาที่ไม่ต้องมีกรรมมารับ (อกรรมกริยา) เป็นคำกริยาที่เมื่อประกอบเข้าประโยคแล้วมีความหมายสมบูรณ์ ไม่ต้องการกรรมมารับการกระทำนั้น ๆ เช่น น้ำไหล ไฟดับ
๓. กริยาช่วย (กริยานุเคราะห์) เป็นกริยาที่ใช้เสริมให้กริยาหลักมีความชัดเจนมากขึ้น มักมีคำว่า ต้อง อาจ จะ กำลัง ควร จง หรอก เช่น ฉันต้องทำงานชิ้นนี้ให้เสร็จ


คำวิเศษณ์
คำวิเศษณ์ คือ คำที่ใช้ประกอบคำอื่นให้มีความหมายชัดเจนยิ่งขึ้น มีอยู่หลายชนิด แต่ในชั้นนี้จะเรียนเพียงคำวิเศษณ์บอกลักษณะหรือลักษณวิเศษณ์ ซึ่งจัดเป็นหมวดหมู่ได้ดังนี้
๑. บอกชนิด - หนุ่ม สาว บาป บุญ แก่
๒. บอกขนาด - สูง เตี้ย กว้าง แคบ ยาว
๓. บอกสี - เขียว เหลือง ดำ ม่วง น้ำตาล
๔. บอกสัณฐาน - เหลี่ยม กลม แหลม ทู่ แบน
๕. บอกเสียง - ค่อย ดัง แว่ว แหบ เพราะ
๖. บอกกลิ่น - หอม เหม็น ฉุน หืน สาบ
๗. บอกสัมผัส - หนาว ร้อน อุ่น กระด้าง นิ่ม
๘. บอกรส - ขม หวาน เปรี้ยว เค็ม จืด
๙. บอกอาการ - ช้า เร็ว คล่องแคล่ว เอื่อย ว่องไว
โดยคำวิเศษณ์สามารถนำมาประกอบคำนาม คำสรรพนาม คำกริยา และคำวิเศษณ์ด้วยกันเองได้ เช่น
     – น้องดื่มน้ำหวาน (หวาน = คำวิเศษณ์ ประกอบ น้ำ = คำนาม)
     – เราทั้งหมดยินดีให้ความร่วมมือ (ทั้งหมด = คำวิเศษณ์ ประกอบ เรา = คำสรรพนาม)
     – พ่อขับรถเร็ว (เร็ว = คำวิเศษณ์ ประกอบ ขับ = คำกริยา)
     – ฝนตกหนักมาก (มาก = คำวิเศษณ์ ประกอบ หนัก = คำวิเศษณ์)


คำบุพบท
คำบุพบท คือ คำที่ใช้เชื่อมหรือขยายคำอื่นให้สัมพันธ์กัน มีหลายชนิด ได้แก่
๑. บอกสถานที่ ได้แก่คำว่า ใกล้ ไกล บน ล่าง หน้า หลัง ริม ใน นอก ฯลฯ
๒. บอกความเป็นเจ้าของ ได้แก่คำว่า ของ แห่ง ฯลฯ
๓. บอกความเกี่ยวข้อง ได้แก่คำว่า กับ แก่ แด่ ต่อ ฯลฯ
๔. บอกเวลา ได้แก่คำว่า ตั้งแต่ จน เมื่อ กระทั่ง ถึง ฯลฯ
๕. บอกความประสงค์ ได้แก่คำว่า เพื่อ สำหรับ ฯลฯ

 

เกร็ดควรรู้

คำบุพบทจะอยู่หน้าคำนามที่เป็นกรรม คำสรรพนาม คำกริยา หรือคำวิเศษณ์


คำสันธาน
คำสันธาน คือ คำที่ใช้เชื่อมประโยคให้มีความสละสลวยและชัดเจนยิ่งขึ้น มีลักษณะดังนี้
๑. ความคล้อยตามกัน ได้แก่คำว่า และ แล้ว...จึง แล้ว...ก็ พอ...ก็ ฯลฯ
๒. ความขัดแย้งกัน ได้แก่คำว่า แต่ แต่ก็ แต่ทว่า กว่า...ก็ ฯลฯ
๓. ความเป็นเหตุเป็นผลกัน ได้แก่คำว่า จึง เพราะ เพราะฉะนั้น เพราะ...จึง ฯลฯ
๔. ความเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่คำว่า หรือ มิฉะนั้น มิฉะนั้น...ก็ ฯลฯ
๕. ความแบ่งรับแบ่งสู้ ได้แก่คำว่า ถ้า คง หาก...ก็ ถ้า...ก็ ฯลฯ
๖. ความเปรียบเทียบ ได้แก่คำว่า เหมือน ดัง ปาน ราวกับ ฯลฯ
๗. ความต่างตอนกัน ได้แก่คำว่า ส่วน ฝ่าย อนึ่ง ฯลฯ
๘. เชื่อมความให้สละสลวย ได้แก่คำว่า อย่างไรก็ตาม อย่างไรก็ดี อันว่า ฯลฯ

 

คำอุทาน
คำอุทาน คือ คำที่ใช้แสดงความรู้สึกของผู้พูด มักวางอยู่หน้าประโยค และมีเครื่องหมายอัศเจรีย์ (!) กำกับ แบ่งตามอารมณ์ความรู้สึกของผู้พูดได้ ดังนี้
๑. แสดงความสงสัย ใช้คำว่า เอ๊ะ !
๒. แสดงความดีใจ ใช้คำว่า เย้ ! ไชโย !
๓. แสดงความตกใจ ใช้คำว่า ว้าย ! อุ๊ย !
๔. แสดงความโกรธ ใช้คำว่า ฮึ่ม ! ชะ !
๕. แสดงความประหลาดใจ ใช้คำว่า โอ้โฮ ! ฮะ !
๖. แสดงความเจ็บปวด ใช้คำว่า โอ๊ย ! อู๊ย !
๗. แสดงความสงสาร ใช้คำว่า โถ ! พุทโธ่ !
๘. แสดงอาการรับรู้หรือเข้าใจ ใช้คำว่า อ้อ ! อ๋อ !

 

แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th