บทเรียนออนไลน์ วิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เรื่อง พระสงฆ์
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 291.9K views




สาระการเรียนรู้

 


๑. พุทธสาวกและพุทธสาวิกา
     พุทธสาวก หมายถึง สาวกหรือศิษย์ของพระพุทธเจ้าซึ่งมีชีวิตอยู่ในสมัยที่พระพุทธเจ้ายังมีพระชนม์อยู่ ถ้าเป็นฝ่ายหญิง เรียกว่า พุทธสาวิกา ส่วนฝ่ายชาย เรียกว่า พุทธสาวก โดยพุทธสาวกและพุทธสาวิกาที่เลือกนำมาให้ศึกษามี ๔ ท่าน ดังนี้
     ๑.๑ พระอัสสชิ
          ๑. ประวัติและผลงาน พระอัสสชิเกิดในวรรณะพราหมณ์ ณ เมืองกบิลพัสดุ์ ท่านเป็นบุตรของ ๑ ในพราหมณ์ทั้ง ๗ คน ที่ได้รับเชิญให้ร่วมทำนายพระลักษณะของเจ้าชายสิทธัตถะ หลังจากทำนายแล้ว บิดาได้นำคำทำนายมาเล่าให้อัสสชิฟัง และสั่งกำชับอัสสชิว่า เมื่อใดที่สิทธัตถราชกุมารเสด็จออกผนวช ให้อัสสชิออกบวชตาม

          การออกบวช เมื่อทราบข่าวว่าเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกผนวชที่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคมแล้ว อัสสชิจึงออกบวชตามเสด็จพร้อมพราหมณ์อีก ๔ คน (ต่อมาเรียกว่า ปัญจวัคคีย์) ปัญจวัคคีย์ได้คอยปรนนิบัติพระพุทธเจ้าขณะทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยา แต่เมื่อพระองค์เลิกบำเพ็ญทุกกรกิริยาและหันมาเสวยพระกระยาหาร พวกปัญจวัคคีย์ก็พากันเข้าใจว่าพระองค์ทรงกลับมาเป็นผู้มักมากในกามคุณเสียแล้ว จึงพร้อมใจกันละทิ้งพระสิทธัตถะไปอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี
 


รูปหล่อแสดงเรื่องราวของปัญจวัคคีย์
ที่เฝ้าปรนนิบัติพระสิทธัตถะขณะที่ทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยา 


          การได้ฟังธรรม หลังจากที่พระสิทธัตถะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้วก็ทรงตัดสินพระทัยที่จะแสดงธรรมแก่สัตว์โลก พระองค์ทรงนึกถึงปัญจวัคคีย์จึงเสด็จไปที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันเพื่อแสดงธรรม ครั้นเมื่อเห็นพระพุทธเจ้าเสด็จมาถึง ปัญจวัคคีย์ก็มีกิริยากระด้างกระเดื่องต่างไปจากเดิม พระพุทธเจ้าทรงเห็นเช่นนั้นจึงตรัสบอกว่า เราได้ตรัสรู้แล้ว ท่านทั้งหลายจงตั้งใจฟังเถิด เราจะแสดงสิ่งที่เราตรัสรู้มาให้ฟัง ในครั้งแรกปัญจวัคคีย์ไม่เชื่อ แต่พระพุทธเจ้าจึงได้กล่าวเตือนสติ ทำให้ปัญจวัคคีย์ได้คิดและพร้อมตั้งใจฟัง ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ที่ทรงแสดง ฝ่ายพระอัสสชิหลังจากได้ฟังธรรมก็ยังไม่สำเร็จมรรคผลใด จนกระทั่งวันต่อมาได้ฟัง ปกิณกธรรมิกถา (ธรรมะเบ็ดเตล็ด) จึงได้สำเร็จโสดาปัตติผลเป็นพระโสดาบัน หรือที่เรียกว่าธรรมจักษุ (ดวงตาคือปัญญาที่รู้เห็นธรรม)

          การอุปสมบท หลังสำเร็จเป็นพระโสดาบันแล้ว พระอัสสชิได้ทูลขอบวชต่อพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าได้ประทานการบวชด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา
     พระอัสสชิได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์พร้อมพระปัญจวัคคีย์องค์อื่นหลังจากพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมชื่อ อนัตตลักขนสูตร

          การประกาศพระศาสนา พระอัสสชิได้ออกไปประกาศศาสนาตามพระดำรัสของพระพุทธเจ้า เนื่องจากพระอัสสชิเป็นผู้มีความเฉลียวฉลาดและรู้จักประมาณตน กิริยามารยาทของท่านจึงอยู่ในอาการสำรวมเสมอ
          เช้าวันหนึ่ง พระอัสสชิเข้าไปบิณฑบาตในเมืองราชคฤห์ อุปติสสปริพาชกได้เห็นท่าน จึงเกิดความเลื่อมใส จึงติดตามและเข้าไปถามพระอัสสชิหลังจากบิณฑบาตเสร็จว่า อินทรีย์ของท่านผ่องใสดี ท่านบวชเฉพาะต่อใคร ใครเป็นครูของท่าน ท่านชอบใจธรรมะของใคร
 


          พระอัสสชิตอบว่า พระมหาสมณะ ผู้เป็นพระราชโอรสแห่งศากยะ เสด็จออกผนวชจากศากยวงศ์ เราบวชเฉพาะต่อพระมหาสมณะผู้ทรงเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น พระองค์ทรงเป็นครูของเรา เราชอบใจธรรมะของพระองค์
          อุปติสสปริพาชกจึงถามถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า ให้พระอัสสชิแสดงธรรมโดยย่อ และหลังจากที่ได้ฟังธรรมดังกล่าว อุปติสสปริพาชกได้คิดตามไปด้วยทำให้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน หลังจากนั้นอุปติสสปริพาชกจึงได้ชักชวนสหายชื่อ โกลิตปริพาชก เดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่เวฬุวันมหาวิหาร เมื่อได้ฟังธรรมแล้วทั้งสองคนเกิดความเลื่อมใสจึงขอบวช หลังจากบวชแล้วอุปติสสปริพาชกมีนามว่า พระสารีบุตร เป็นอัครสาวกฝ่ายขวา ส่วนโกลิตปริพาชกมีนามว่า พระโมคคัลลานะ เป็นอัครสาวกฝ่ายซ้าย
          พระอัสสชิเป็นพระสาวกที่สำคัญองค์หนึ่ง ท่านได้ชื่อว่าเป็น นักปราชญ์ และเป็นปูชนียบุคคล ผู้สมควรได้รับการเคารพสมดังที่พระสารีบุตรกล่าวสรรเสริญท่านว่า พระอัสสชิเป็นอาจารย์ของเรา

          ๒. คุณธรรมที่ควรยึดถือเป็นแบบอย่าง
               ๑) มีความตั้งใจจริง
               ๒) ท่านเป็นผู้ที่เอาการงาน และมีความรับผิดชอบต่องาน โดยเฉพาะทางด้านการเผยแผ่พระศาสนา
               ๓) ท่านเป็นนักปราชญ์ และรู้จักเลือกหัวข้อธรรมมาสอนให้ตรงกับอุปนิสัยของแต่ละคน

     ๑.๒ หมอชีวก โกมารภัจจ์
 


          ๑. ประวัติและผลงาน ท่านเป็นหมอที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก โดยเฉพาะในวงการแพทย์แผนโบราณ

          กำเนิดหมอชีวก โกมารภัจจ์ หมอชีวก โกมารภัจจ์เป็นบุตรของนางสาลวดี หญิงนครโสเภณี เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ ตามธรรมเนียมของหญิงนครโสเภณี หากว่าหญิงนั้นมีครรภ์และได้บุตรชายจะมอบให้ผู้อื่นหรือนำไปทิ้งไว้เพื่อให้ผู้พบเห็นได้นำไปเลี้ยง แต่ถ้าเป็นผู้หญิงจะรับเลี้ยงไว้เพื่อสืบทายาท นางสาลวดีเกิดตั้งครรภ์และคลอดบุตรชาย จึงให้คนนำไปทิ้งไว้ที่กองขยะ เจ้าชายอภัย (พระราชโอรสองค์หนึ่งของพระเจ้าพิมพิสาร) เสด็จผ่านไปทรงพบเห็นเข้า และเด็กยังมีชีวิตอยู่ พระองค์จึงทรงให้นำทารกนั้นมาเลี้ยงดูและตั้งชื่อว่า ชีวก แปลว่า ผู้ยังมีชีวิตอยู่ และมีชื่อต่อท้ายว่า โกมารภัจจ์ แปลว่า ผู้ที่เจ้านำไปเลี้ยงไว้ในฐานะพระกุมาร

          การศึกษาวิชาแพทย์ เมื่อชีวก โกมารภัจจ์เติบโตขึ้น และได้ทูลถามเจ้าชายอภัยถึงมารดาของตน ซึ่งเจ้าชายก็ไม่ทราบว่าเป็นใคร ชีวกจึงตระหนักถึงฐานะในอนาคต โดยเห็นว่าการมีชีวิตอยู่ในราชสำนักโดยไม่มีความรู้จะลำบาก ท่านจึงตัดสินใจลาเจ้าชายไปศึกษาศิลปวิทยาที่สำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์ เมืองตักสิลา โดยเลือกศึกษาวิชาแพทย์ ท่านศึกษาอยู่ ๗ ปีจึงสำเร็จวิชาแพทย์ ก็กราบลาอาจารย์กลับมายังบ้านเมืองของตน
          ระหว่างที่เดินทางผ่านเมืองสาเกต ภรรยาของเศรษฐีคนหนึ่งป่วยเป็นโรคปวดศีรษะมาเป็นเวลา ๗ ปี เศรษฐีเสียเงินค่ารักษาเป็นจำนวนมากแต่ก็ไม่หาย ชีวกทราบเรื่องก็อาสาจัดยารักษาภรรยาของเศรษฐีจนหายเป็นปลิดทิ้ง เศรษฐีและภรรยารวมทั้งบรรดาญาติจึงมอบเงินให้ชีวก พร้อมด้วยเด็กรับใช้ชายหญิง ตั้งแต่นั้นมาชื่อเสียงของชีวกก็เริ่มเป็นที่กล่าวขาน และเรียกชื่อกันติดปากว่า หมอชีวก โกมารภัจจ์

          การรับตำแหน่งแพทย์หลวง ครั้งหนึ่ง พระเจ้าพิมพิสารประชวรด้วยโรคริดสีดวงทวาร จึงรับสั่งให้หมอชีวกมาตรวจรักษา จนพระเจ้าพิมพิสารหายจากประชวร พระเจ้าพิมพิสารจึงทรงแต่งตั้งหมอชีวกให้เป็นแพทย์หลวงประจำพระองค์ ทำหน้าที่รักษาพระเจ้าพิมพิสารและข้าราชบริพารฝ่ายใน อีกทั้งยังเป็นแพทย์ประจำพระองค์ของพระพุทธเจ้าและรักษาอาการอาพาธของพระสงฆ์สาวกอีกด้วย

          การถวายการรักษาพระเจ้าจัณฑปัชโชต พระเจ้าจัณฑปัชโชตกษัตริย์แห่งเมืองอุชเชนีซึ่งเป็นพระสหายของพระเจ้าพิมพิสารประชวรด้วยโรคผอมเหลือง จึงทรงขอติดต่อมายังพระเจ้าพิมพิสารเพื่อขอหมอชีวกไปรักษาพระโรคของพระองค์
          ก่อนออกเดินทางพระเจ้าพิมพิสารทรงบอกให้หมอชีวกทราบว่า พระเจ้าจัณฑปัชโชตทรงมีพระนิสัยดุร้าย จึงขอให้หมอชีวกระมัดระวัง เมื่อมาถึงอุชเชนี หมอชีวกได้เข้าเฝ้าพระเจ้าจัณฑปัชโชตและตรวจพระอาการ หมอชีวกกราบทูลว่าจะต้องทรงดื่มเนยใสที่เคี่ยวเป็นยาเพื่อรักษา แต่พระเจ้าจัณฑปัชโชตไม่โปรด หมอชีวกจึงใช้วิธีเคี่ยวเนยใสปนยาต่าง ๆ เพื่อลวงให้พระเจ้าจัณฑปัชโชตเสวย ขณะเดียวกันก็วางอุบายหลบหนี โดยกราบทูลว่าโรคนี้จำเป็นต้องขุดเอารากไม้มาทำเป็นยาอย่างเร่งด่วน จึงขอให้ทรงอนุญาตว่าเมื่อตนปรารถนาจะไป ณ สถานที่ใด ๆ ก็ให้ไปได้ด้วยพาหนะทุกอย่าง และขอให้ตนเข้าออกเมืองได้ตลอดเวลา พระเจ้าจัณฑปัชโชตก็ทรงอนุญาต เมื่อหมอชีวกปรุงยาเสร็จก็นำไปถวายพระเจ้าจัณฑปัชโชต แล้วจึงรีบหนีออกจากเมืองไป
          พระเจ้าจัณฑปัชโชตเสวยยาและทรงหายจากอาการประชวรในเวลาไม่นานนัก แม้ภายหลังทรงทราบว่าในยามีส่วนผสมของเนยเหลวแต่ก็ไม่ทรงกริ้ว กลับชื่นชอบวิธีการรักษาดังกล่าว และยังโปรดให้ส่งผ้าเนื้อดีพิเศษไปพระราชทานแก่หมอชีวกอีกด้วย

          การสำเร็จมรรคผล หมอชีวกซึ่งประกาศตนเป็นอุบาสกแล้ว ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าและกราบทูลขอพรให้ทรงอนุญาตให้พระภิกษุรับจีวรที่ชาวบ้านนำมาถวาย (คหบดีจีวร) ได้ พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตเป็นกลาง ๆ ว่า ถ้าพระภิกษุรูปใดปรารถนาจะรับผ้าที่ชาวบ้านนำมาถวายก็ให้รับได้ แต่ถ้าชอบมักน้อยสันโดษ ยินดีรับแต่ผ้าบังสุกุลจีวรก็ทำได้ หมอชีวกจึงถวายผ้าเนื้อดีที่พระเจ้าจัณฑปัชโชตพระราชทานเป็นรางวัลนั้นแด่พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมอนุโมทนา หมอชีวกฟังจบก็สำเร็จมรรคผลเป็นอริยบุคคลขั้นโสดาบัน และได้ถวายสวนมะม่วงของตนให้เป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้าและเหล่าพระสงฆ์สาวก สวนดังกล่าวจึงได้ชื่อว่า ชีวกัมพวัน (สวนมะม่วงของหมอชีวก) อันเป็นวัดทางพระพุทธศาสนาแห่งที่ ๒ ในเมือง ราชคฤห์

          มูลเหตุการบัญญัติพระวินัย เนื่องจากมีชาวบ้านซึ่งเป็นโรคติดต่อร้ายแรงขอเข้ามาบวชเป็นจำนวนมากเพื่อขอรับการรักษาจากหมอชีวกโดยไม่ต้องเสียเงิน เป็นเหตุให้หมอชีวกรับรักษาไม่ไหว จึงกราบทูลพระพุทธเจ้าให้ทรงกวดขันพระสงฆ์ให้งดเว้นคนเป็นโรคติดต่อร้ายแรงเข้ามาบวชเป็นพระสงฆ์ พระพุทธเจ้าทรงเห็นสมควรตามนั้นจึงทรงเรียกประชุมสงฆ์และทรงบัญญัติวินัยเกี่ยวกับการรับคนเข้ามาบวช ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติสืบมาถึงทุกวันนี้
          หลังจากพระเจ้าพิมพิสารถูกพระเจ้าอชาตศัตรูราชโอรสทรมานจนสิ้นพระชนม์ พระเจ้าอชาตศัตรูทรงไม่สบายพระทัยและต้องการเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อกราบขมาอภัยโทษและบรรเทาโทษ หมอชีวกก็ได้พาพระองค์ไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูทรงฟังธรรมก็ทรงสำนึกผิด และประกาศพระองค์นับถือพระรัตนตรัย หมอชีวกจึงได้รับการยกย่องสรรเสริญจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นอุบาสกผู้เลิศในด้านมีความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย และเป็นหมอที่เสียสละและบำเพ็ญตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม

          ๒. คุณธรรมที่ควรยึดถือเป็นแบบอย่าง
               ๑) ท่านเป็นผู้มีความกตัญญูกตเวที
               ๒) ท่านเป็นผู้มีความคิดกว้างไกลและใฝ่เรียนรู้
               ๓) ท่านเป็นผู้มีความเสียสละและบำเพ็ญตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม
               ๔) ท่านเป็นผู้มีความศรัทธาอย่างมั่นคงต่อพระรัตนตรัย

     ๑.๓ พระกีสาโคตรมีเถรี
          ๑. ประวัติและผลงาน พระกีสาโคตมีเถรีมีชื่อเดิมว่า กีสา เกิดในครอบครัวเศรษฐีตกยาก ครั้นย่างเข้าวัยสาวได้แต่งงานกับบุตรชายของเศรษฐีในเมืองสาวัตถีและมีบุตรด้วยกันคนหนึ่ง แต่ไม่นานบุตรของนางก็เสียชีวิตลง นางกีสาโคตมีเสียใจมาก จึงเที่ยวอุ้มร่างบุตรชายเที่ยวไปเดินถามหายารักษาจากชาวบ้าน อุบาสกคนหนึ่งเห็นกิริยาของนางก็คิดว่านางคงเพิ่งมีบุตรคนแรกจึงรักบุตรมาก และคงไม่เคยเห็นคนตายทำให้ไม่ทราบว่าความตายเป็นอย่างไร จึงไปบอกกับนางว่า พระพุทธเจ้ารู้จักยาสำหรับรักษาบุตรชายของเธอ ขณะนี้พระองค์ประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร นางกีสาโคตมีจึงรีบอุ้มร่างบุตรชายตรงไปที่พระเชตวันมหาวิหาร
          ครั้นนางกีสาโคตมีได้มาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พร้อมกราบทูลถามถึงยาที่จะนำมารักษาบุตรชายของตน พระพุทธเจ้าจึงรับสั่งให้นางไปหาเมล็ดพันธุ์ผักกาดที่ได้มาจากบ้านที่ไม่เคยมีคนตายมาก่อนเพื่อมาทำเป็นยา นางกีสาโคตมีรับพระดำรัสแล้วก็อุ้มร่างของบุตรชายเข้าไปในหมู่บ้าน เดินเที่ยวถามหาเมล็ดผักกาดจากบ้านที่ไม่เคยมีคนตาย แต่นางกลับไม่ได้เมล็ดผักกาดเลย เพราะทุกบ้านล้วนเคยมีคนตาย ดังนั้นนางจึงตระหนักว่าความตายย่อมเกิดขึ้นได้กับทุกคน เมื่อคิดได้ดังนั้นนางก็คลายความเศร้าโศกลง และนำร่างบุตรชายไปฝังที่ท้ายหมู่บ้านแห่งหนึ่ง จากนั้นจึงเดินทางกลับไปเฝ้าพระพุทธเจ้าและกราบทูลเรื่องราวทั้งหมด

          การบรรลุธรรมและอุปสมบท พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนนางกีสาโคตมีเกี่ยวกับความตายว่าเป็นธรรมดาของสัตว์โลก นางได้ฟังธรรมนั้นก็บรรลุเป็นพระโสดาบัน จึงได้กราบทูลของบวชเป็นพระภิกษุณี
          เมื่อบวชแล้วพระกีสาโคตมีได้ปฏิบัติธรรมอยู่ในสำนักของภิกษุณี วันหนึ่งได้ยืนเพ่งดวงประทีปและยึดเป็นอารมณ์กรรมฐานว่า สัตว์โลกก็เหมือนเปลวดวงประทีปนี้ มีเกิด ดำรงอยู่ และดับไป แต่ผู้ที่ถึงพระนิพพานแล้วจะไม่เป็นเช่นนี้ พระพุทธเจ้าทรงทราบเหตุการณ์ด้วยพระญาณ จึงทรงแผ่รัศมีไปปรากฏตรงหน้าของพระกีสาโคตมี แล้วตรัสว่า โคตมี สัตว์ทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นและดับไป เหมือนเปลวดวงประทีปนี้ แต่ผู้ที่ถึงพระนิพพานแล้วจะไม่ปรากฏอย่างนั้น ความเป็นอยู่แม้เพียงชั่วขณะเดียวของผู้ที่ถึงพระนิพพาน ย่อมประเสริฐกว่าความเป็นอยู่ตั้ง ๑๐๐ ปีของผู้ไม่ถึงพระนิพพาน เมื่อจบพุทธดำรัส พระกีสาโคตมีก็บรรลุเป็นพระอรหันต์
 

                                                                                   


          การได้รับแต่งตั้งในตำแหน่งเอตทัคคะ พระกีสาโคตมีเป็นผู้เคร่งครัดในการบริโภคใช้สอยเครื่องบริขาร พระพุทธเจ้าจึงทรงแต่งตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะให้เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีรูปอื่น ๆ ในด้านการทรงจีวรที่เศร้าหมอง

          ๒. คุณธรรมที่ควรยึดถือเป็นแบบอย่าง
               ๑) ท่านเป็นผู้มีความฉลาด มีเหตุผล รู้จักใช้ปัญญาพิจารณาสิ่งต่าง ๆ รอบกาย
               ๒) ท่านเป็นผู้เคร่งครัดในการใช้สอยเครื่องบริขารและข้อปฏิบัติ

     ๑.๔ พระนางมัลลิกา
          ๑. ประวัติและผลงาน พระนางมัลลิกาเป็นพระธิดาของมัลลกษัตริย์พระองค์หนึ่งในเมืองกุสินารา เมื่อเจริญวัย เจ้าหญิงมัลลิกาได้สมรสกับเสนาบดีพันธุละ พระโอรสของมัลลกษัตริย์อีกพระองค์หนึ่ง จากนั้นพากันไปอยู่ที่เมืองสาวัตถีเพื่อพึ่งบารมีของพระเจ้าปเสนทิโกศล พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงทราบว่า เสนาบดีพันธุละพระสหายมีฝีมือในการทำสงครามจึงทรงแต่งตั้งให้เป็นเสนาบดีบัญชากองทัพ

          การนับถือพระพุทธศาสนา เมื่อพระพุทธเจ้ามาประกาศศาสนา ณ แคว้นโกศล เสนาบดีพันธุละและพระนางมัลลิกามีโอกาสฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าจึงหันมานับถือพระพุทธศาสนา
 


          เสนาบดีพันธุละและพระนางมัลลิกาอยู่ร่วมกันมาหลายปีแต่ก็ยังไม่มีบุตร ตามธรรมเนียมโบราณถือว่าสตรีที่ไม่มีบุตรกับสามีถือเป็นความอัปมงคล เสนาบดีพันธุละจึงส่งพระนางมัลลิกากลับเมืองกุสินารา พระนางยอมทำตาม แต่ก่อนกลับได้ไปกราบทูลลาพระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสถามความจากนางแล้วจึงตรัสกับนางว่าให้กลับไปอยู่กับเสนาบดีดังเดิมเถิด เมื่อเสนาบดีพันธุละเห็นพระนางมัลลิกากลับมาจึงไต่ถาม พระนางจึงเล่าเรื่องราวให้ฟัง เสนาบดีพันธุละจึงรับพระนางมัลลิกาไว้เป็นชายาดังเดิม ต่อมาไม่นาน พระนางมัลลิกาก็ตั้งครรภ์และคลอดบุตรแฝดเป็นชายทั้งคู่ และมีบุตรชายฝาแฝดต่อมาอีก ๑๖ คู่

          การสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ เสนาบดีพันธุละถูกใส่ความจากเหล่าข้าราชการที่ทุจริตว่าคิดจะแย่งราชบัลลังก์จากพระเจ้าปเสนทิโกศล ในครั้งแรกพระเจ้าปเสนทิโกศลไม่ทรงเชื่อ แต่นานวันเข้าพระองค์ก็ทรงหวั่นไหว พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงทรงให้คณะทหารวางแผนฆ่าเสนาบดีพันธุละพร้อมบุตรชายทุกคนเสีย
 


          พระนางมัลลิกาทรงทราบข่าวเรื่องสามีและบุตรถูกฆ่าตายทั้งหมดในขณะที่พระนางกำลังทำบุญเลี้ยงพระอยู่ที่บ้าน ซึ่งนิมนต์พระสารีบุตรมาเป็นประธานสงฆ์ ขณะที่กำลังประเคนของถวายพระอยู่นั้น หญิงรับใช้ที่ยกถาดอาหารออกมาเพื่อถวายพระสารีบุตรได้หกล้ม ทำให้ถาดอาหารหลุดมือตกลงแตกกระจายต่อหน้าพระสารีบุตรและพระนางมัลลิกา พระสารีบุตรเห็นดังนั้นจึงกล่าวในทำนองเตือนสติพระนางมัลลิกาว่า สิ่งของแตกสลายเป็นเรื่องธรรมดา มันแตกสลายไปแล้วก็ช่างเถอะ อย่าได้คิดเสียใจเลย พระนางมัลลิกาได้ฟังดังนั้นจึงกล่าวตอบความว่า ของแตกเสียหายเพียงเท่านี้นางย่อมทำใจได้ เพราะถึงขนาดที่นางทราบเรื่องการตายของสามีและบุตร นางยังทำใจได้เลย เมื่อสารีบุตรและคณะสงฆ์ฉันภัตตาหารเสร็จแล้วได้กล่าวคำอนุโมทนาแก่พระนางมัลลิกา

          การยกโทษให้พระเจ้าปเสนทิโกศล เมื่อทำบุญเลี้ยงพระเสร็จแล้วพระนางมัลลิกาได้เรียกลูกสะใภ้ทุกคนมาและเล่าเรื่องทั้งหมดให้ฟัง พร้อมสอนว่าไม่ให้อาฆาตพยาบาทพระเจ้าปเสนทิโกศล ขอให้คิดว่าบิดาและสามีของพวกนางตายไปเพราะถูกยุยง ไม่ได้มีความผิด ขอให้คิดว่าเป็นเพราะกรรมเก่าของพวกเขา จึงอย่าได้อาฆาตต่อไป และสอนให้ให้อภัยพระเจ้าปเสนธิโกศลเสีย ฝ่ายพระเจ้าปเสนทิโกศลก็ทรงเสียพระทัยยิ่งนัก จึงเสด็จไปพบพระนางมัลลิกาที่บ้านและกล่าวขอให้พระนางมัลลิกายกโทษให้ พร้อมกับพระราชทานโอกาสแก่พระนางมัลลิกาว่าหากต้องการสิ่งใดก็จะให้ พระนางมัลลิกาจึงถือโอกาสขอพระราชทานพระอนุญาตกลับไปยังเมืองกุสินารา พระเจ้าปเสนทิโกศลก็พระราชทานพระอนุญาต และเพื่อเป็นการชดเชยจึงทรงแต่งตั้งนายทหารชื่อ ทีฆการายนะ ซึ่งเป็นหลานของเสนาบดีพันธุละขึ้นเป็นแม่ทัพใหญ่สืบแทนตำแหน่งของเสนาบดีพันธุละ
          พระนางมัลลิกาและลูกสะใภ้กลับมาอยู่ที่เมืองกุสินาราด้วยความผาสุก มีความตั้งมั่นอยู่ในหลักธรรมของพระพุทธศาสนา ครั้นพระพุทธเจ้าเสด็จมาเมืองกุสินาราและเสด็จปรินิพพาน พระนางมัลลิกาและลูกสะใภ้ก็ได้ไปกราบนมัสการพุทธสรีระ พระนางมัลลิกาอยู่ที่เมืองกุสินาราอย่างสงบสุขจนสิ้นชีวิต

          ๒. คุณธรรมที่ควรยึดถือเป็นแบบอย่าง
               ๑) พระนางมัลลิกาเป็นผู้มีขันติธรรม คือ มีความอดทนอย่างสูง
               ๒) พระนางมัลลิกาเป็นผู้รู้จักใช้ปัญญาเป็นหลักในการดำเนินชีวิต
               ๓) พระนางมัลลิกาเป็นผู้มีน้ำใจ รู้จักให้อภัย ไม่อาฆาตพยาบาทผู้อื่น

๒. ชาวพุทธตัวอย่าง
     ชาวพุทธตัวอย่าง หมายถึง บุคคลรุ่นหลังที่เกิดหลังช่วงที่พระพุทธเจ้าดำรงพระชนม์ชีพ อาจเป็นพระอริยบุคคลหรือปุถุชนที่มีประวัติ ผลงาน ตลอดจนวิถีชีวิตที่เป็นแบบอย่างแก่ชาวพุทธในรุ่นหลัง
     ๒.๑ พระนาคเสน
          ๑. ประวัติและผลงาน พระนาคเสนเป็นบุตรของโสณุตตรพราหมณ์ ท่านเกิดเมื่อประมาณ พ.ศ. ๕๐๐ เมื่ออายุได้ ๗ ปี บิดาได้ส่งให้ไปเรียนไตรเพท ท่านเป็นผู้มีปัญญาปราดเปรื่องจึงทำให้สามารถเรียนจบในเวลาอันรวดเร็ว ต่อมานาคเสนขออนุญาตบิดามารดามาบวชเพราะต้องการศึกษาศิลปะสูงสุดจากพระโรหณะ หากสำเร็จจะลาสึกออกมาครองเรือนสืบสกุลต่อไป บิดามารดาจึงอนุญาต
          เมื่อนาคเสนบวชเป็นสามเณรได้ติดตามพระโรหณะไปอยู่ที่ถ้ำรักขิต พระโรหณะเห็นว่าสามเณร นาคเสนเป็นคนมีปัญญา จึงกำหนดให้เรียนอภิธรรมซึ่งเป็นธรรมะลึกซึ้งล้วน ๆ ก่อน ปรากฏว่าสามเณรนาคเสนสามารถเรียนได้อย่างรวดเร็วไม่นานก็จบ เมื่ออายุครบ ๒๐ ปีจึงได้บวชเป็นพระภิกษุ เช้าวันหนึ่ง พระนาคเสนได้ออกไปบิณฑบาตกับพระโรหณะพลางคิดว่า พระโรหณะน่าจะให้เรียนจากง่ายขึ้นมาหายาก แต่กลับให้เรียนคัมภีร์ยาก ๆ ก่อน พระโรหณะรู้ถึงความคิดดังกล่าวจึงหันมาบอกว่าไม่ควรคิดอย่างนั้น พระนาคเสนตกใจเพราะไม่คิดว่าพระโรหณะจะล่วงรู้ความคิดของตนจึงกล่าวขอโทษ พระโรหณะจึงบอกว่าจะยกโทษให้ก็ต่อเมื่อสามารถทำให้พระเจ้าเมนันดรอสหรือพระยามิลินท์หันมานับถือพระพุทธศาสนาได้ จากนั้นพระโรหณะจึงได้สั่งพระนาคเสนไปศึกษาเพิ่มเติมกับพระอัสสคุตตเถระที่วัตตนิยเสนาสนะ

          การสำเร็จมรรคผล วันหนึ่งพระนาคเสนได้ติดตามพระอัสสคุตตเถระไปฉันเช้าที่บ้านของอุบาสิกาคนหนึ่ง เมื่อฉันเสร็จแล้วพระอัสสคุตตเถระให้พระนาคเสนแสดงอนุโมทนาแก่อุบาสิกาผู้เป็นเจ้าภาพ พระนาคเสนจึงแสดงธรรมเรื่องความว่างเปล่าของสรรพสิ่ง อุบาสิกาฟังแล้วก็สำเร็จเป็นพระโสดาบัน ส่วนพระนาคเสนก็ได้พิจารณาธรรมขณะเทศนาทำให้ได้สำเร็จมรรคผลเป็นพระโสดาบันด้วย หลังจากที่พระอัสสคุตตเถระได้ทราบว่าพระนาคเสนสำเร็จเป็นพระอริยบุคคลแล้วจึงส่งพระนาคเสนไปศึกษาพระไตรปิฎกยังสำนักของพระธัมมรักขิตเถระ ที่อโศการาม เมืองปาตลีบุตร
          ณ วัดอโศการาม พระนาคเสนเรียนพระไตรปิฎกร่วมกับพระติสสทัตตะจนแตกฉานในเวลาอันรวดเร็ว
          ครั้นพระนาคเสนมีความแตกฉานในพระไตรปิฎกก็เกิดทิฐิมานะว่า ไม่มีใครรู้ดีเท่ากับตน พระธัมมรักขิตเถระจึงได้เตือนสติพระนาคเสนว่าอย่าได้ทำตนเป็นเสมือนคนเลี้ยงโคที่ได้แต่ดูแลโคให้คนอื่น แต่ไม่ได้ลิ้มรสนมโค พระนาคเสนฟังแล้วก็สลดใจจึงตั้งใจบำเพ็ญวิปัสสนาหนักขึ้น และสำเร็จเป็นพระอรหันต์เมื่ออายุ ๒๗ ปี

          การตอบปัญหาพระยามิลินท์ ในช่วงเวลาดังกล่าว พระยามิลินท์เที่ยวไล่ความรู้พระสงฆ์จนไม่มีพระสงฆ์องค์ใดตอบโต้ได้ ครั้นทรงทราบว่ายังมีพระนาคเสนซึ่งพอที่จะตอบโต้กับพระองค์ได้ จึงนิมนต์พระนาคเสนเข้าไปในวังเพื่อถามปัญหา
 


          พระยามิลินท์ได้สนทนากับพระนาคเสน พระยามิลินท์เป็นฝ่ายซักถามปัญหาทางพระพุทธศาสนาที่ลึกซึ้ง ส่วนพระนาคเสนก็สามารถตอบได้อย่างกระจ่างทุกปัญหา พระยามิลินท์ทรงชมเชยว่า พระนาคเสนวิสัชนาปัญหาไพเราะจับใจยิ่งนัก ถ้าพระพุทธเจ้ายังมีพระชนม์อยู่คงอนุโมทนาสาธุการเป็นแน่ จากนั้นจึงก้มลงกราบพระนาคเสนประกาศพระองค์เป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา และทรงสร้างวิหารชื่อ มิลินทวิหาร ถวายพระนาคเสน

          ๒. คุณธรรมที่ควรยึดถือเป็นแบบอย่าง
               ๑) พระนาคเสนเป็นผู้ที่ใฝ่เรียนใฝ่รู้และมีวิริยอุตสาหะ
               ๒) พระนาคเสนเป็นผู้มีไหวพริบและปฏิภาณอย่างยอดเยี่ยม

     ๒.๒ พระยามิลินท์
          ๑. ประวัติและผลงาน พระยามิลินท์ประสูติที่หมู่บ้านกาลาสิ บนเกาะอลสัณฑะ (เมืองอเล็กซานเดรียหรือกันดาหาร์ในปัจจุบัน) มีเมืองหลวงชื่อสาคละ

          การสนทนาปัญหากับพระนาคเสน พระยามิลินท์ทรงทรงสนพระทัยในปรัชญาและศาสนาเป็นอย่างมาก ดังที่เสด็จไปตรัสถามปัญหายังสำนักของคณาจารย์ต่าง ๆ เช่น ครูทั้ง ๖ แต่ก็ไม่มีใครแก้ข้อสงสัยของพระองค์ได้
          ขณะนั้น มีพระภิกษุชื่อ พระนาคเสน เป็นผู้แตกฉานในพระไตรปิฎกจนเป็นที่เลื่องลือ พระยามิลินท์ ทรงทราบข่าวดังนั้นจึงนิมนต์พระนาคเสนเข้าไปในวังเพื่อจะทรงถามปัญหา พระนาคเสนยอมรับ แต่มีข้อแม้ว่า ให้โต้ตอบปัญหากันเหมือนบัณฑิต ไม่ใช่แบบกษัตริย์ ซึ่งพระยามิลินท์ก็ทรงตกลงตามนั้น
          พระนาคเสนสามารถตอบปัญหาของพระยามิลินท์ได้ทุกข้อจนเป็นที่พอพระทัยและเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ทรงสร้างวิหารถวายพระนาคเสน และปฏิญาณพระองค์เป็นอุบาสกจนตลอดพระชนม์ชีพ ต่อมาพระองค์ทรงออกผนวชและสำเร็จอรหันต์ในบั้นปลายพระชนม์ชีพ

          ผลงาน จากพระประวัติของพระยามิลินท์ในข้างต้น ทำให้สรุปผลงานได้ดังนี้
               ๑) ทรงออกผนวชและได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ เป็นตัวอย่างอันดีแก่ประชาชนในสมัยนั้น
               ๒) ทรงบำรุงพระพุทธศาสนา สร้างวิหารหลายแห่ง และทรงอุปถัมภ์บำรุงพระอรหันต์
               ๓) ทรงทำเหรียญเป็นรูปตราธรรมจักร ซึ่งเป็นเครื่องหมายทางพระพุทธศาสนาให้ปรากฏเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์สืบมาถึงปัจจุบัน

          ๒. คุณธรรมที่ควรยึดถือเป็นแบบอย่าง
               ๑) ทรงเป็นกษัตริย์นักปราชญ์ผู้มีความสามารถในวิชาการหลายแขนง
               ๒) ทรงเป็นกษัตริย์ที่มีเหตุผลและรู้จักเสียสละ
               ๓) ทรงเป็นกษัตริย์ที่มีความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง

     ๒.๓ สมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี)
          ๑. ประวัติและผลงาน สมเด็จพระวันรัตมีพระนามเดิมว่า เฮง หรือ กิมเฮง เกิดที่บ้านท่าแร่ ตำบลสะแกกรัง อำเภอเมืองฯ จังหวัดอุทัยธานี บิดาเป็นพ่อค้าชื่อ ตั้วเก๊า แซ่ฉั่ว มารดาชื่อ ทับทิม มีพี่น้อง ๔ คน
 


          การศึกษาเบื้องต้น เมื่อเฮงอายุได้ ๘ ปี ป้าชื่อ เกศร์ ได้พาไปฝากเรียนหนังสือไทยในสำนักพระอาจารย์ชั่ง จนอ่านออกเขียนได้ ครั้นอายุ ๑๑ ปี ยายและป้าได้พาไปฝากพระปลัดใจ เจ้าอาวาสทุ่งแก้ว เมื่อไปอยู่วัดทุ่งแก้ว เฮงได้เรียนวิชาหลายแขนง เช่นภาษาบาลี เริ่มอ่านและเขียนอักษรขอม เรียนพระธรรมบทและมงคลทีปนี หัดเรียนลูกคิดและเรียนเลข เป็นต้น

          การบรรพชา–อุปสมบท เมื่ออายุได้ ๑๒ ปี เฮงได้บรรพชาเป็นสามเณร แต่ลาสิกขาในเวลาต่อมา เพราะต้องไปเซ่นไหว้บรรพบุรุษในเทศกาลตรุษจีน เมื่ออายุได้ ๑๓ ปี จึงบรรพชาเป็นสามเณรอีกครั้ง และเรียนภาษาบาลีในวัดทุ่งแก้วตลอดมา เมื่ออายุได้ ๑๗ ปีจึงย้ายไปอยู่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพมหานคร
 


          ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๔๑ รัชกาลที่ ๕ โปรดให้สอบพระปริยัติธรรมสนามหลวง ณ วัดสุทัศนเทพวราราม และโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระวันรัต (แดง) วัดสุทัศนเทพวรารามเป็นอธิบดีในการสอบ หลวงอุดมจินดาสนับสนุนให้สมเด็จฯ เข้าสอบด้วย โดยท่านสอบได้เปรียญธรรม ๓ ประโยคในปีนั้น และเมื่ออายุ ๑๘ ปีก็ได้ไปเรียนต่อกับสมเด็จพระวันรัต (แดง) และพระพิมลธรรม ๑ พรรษา
          สมเด็จฯ เข้าร่วมในการสอบเปรียญธรรมเรื่อยมา จนใน พ.ศ. ๒๔๔๗ ท่านก็สอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค ขณะมีอายุ ๒๔ ปี

          สมณศักดิ์และตำแหน่งหน้าที่ ในเวลาต่อมาท่านได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นพระราชาคณะที่พระศรีสุทธิวงศ์ พระราชสุธี พระเทพโมลี พระธรรมไตรโลกนาถ และพระพิมลธรรม ตามลำดับ
          ใน พ.ศ. ๒๔๖๖ ท่านได้เป็นเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุฯ พ.ศ. ๒๔๖๗ เป็นเจ้าคณะมณฑลนครสวรรค์ พ.ศ. ๒๔๗๑ เป็นเจ้าคณะรองหนเหนือ พ.ศ. ๒๔๗๓ เป็นเจ้าคณะมณฑลอยุธยา ต่อมา ใน พ.ศ. ๒๔๘๒ ท่านได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่สมเด็จพระวันรัต ได้เป็นเจ้าคณะใหญ่หนใต้ และเป็นประธานสังฆสภารูปแรก เมื่อมีพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ ทั้งนี้ขณะดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ท่านได้บริหารอย่างเต็มกำลัง ทำให้การพระศาสนาเป็นไปตามระเบียบแบบแผน

          ผลงานด้านการจัดการศึกษา สมเด็จฯ ดำรงตำแหน่งหน้าที่ นายกมหาธาตุวิทยาลัย สืบต่อจากสมเด็จพระวันรัต (ฑิต) มาอย่างยาวนาน และสามารถจัดการศึกษาของสถานศึกษาฝ่ายมหานิกายแห่งนี้ให้เจริญก้าวหน้าเป็นอย่างดี นอกจากการจัดการศึกษาโดยตรงแล้ว สมเด็จฯ ยังได้จัดตั้ง มูลนิธิโรงเรียนบาลีมหาธาตุวิทยาลัย สำหรับด้านการศึกษาพระปริยัติธรรม
          สมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) อาพาธด้วยโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังกับขั้วปอดโตขึ้น และมรณภาพเมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๖ รวมอายุได้ ๖๓ ปี

          ๒. คุณธรรมที่ควรยึดถือเป็นแบบอย่าง
               ๑) ท่านเป็นผู้มีความขยันหมั่นเพียรและใฝ่เรียนใฝ่รู้
               ๒) ท่านเป็นผู้มีความตั้งใจ อดทน และรับผิดชอบ
               ๓) ท่านเป็นนักปกครองที่ดี ดังที่ได้รับความไว้วางใจจากพระเถระให้เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ

     ๒.๔ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
          ๑. ประวัติและผลงาน พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโตเกิดที่จังหวัดอุบลราชธานี เป็นบุตรของนายคำด้วง และนางจันทร์ แก่นแก้ว
 


          การบรรพชา–อุปสมบท ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุได้ ๑๕ ปี ณ วัดบานคำพง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี แต่บรรพชาได้เพียง ๒ ปีก็ต้องลาสิกขาออกมาช่วยงานที่บ้าน ต่อมาเมื่ออายุได้ ๒๒ ปี ท่านได้อุปสมบทอีกครั้งที่วัดศรีทอง และได้นามฉายาว่า ภูริทัตโต แปลว่า ผู้ให้ปัญญา ผู้แจกจ่ายความฉลาด

          การปฏิบัติธรรมและสั่งสอนธรรม หลังจากอุปสมบทแล้วท่านได้มาศึกษาและปฏิบัติธรรมที่วัดเลียบ อำเภอเมืองฯ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นสำนักของพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล ท่านหมั่นศึกษาพระธรรมวินัย เคร่งครัดในการปฏิบัติ และสนใจไต่ถามจนกระทั่งจนสิ้นภูมิความรู้ของพระอาจารย์
          พระอาจารย์มั่นมักจะออกเดินธุดงค์ไปตามสถานที่ต่าง ๆ เพื่อปฏิบัติธรรม และท่านเป็นผู้มีความเด็ดเดี่ยวในการปฏิบัติธรรมเป็นอย่างยิ่ง ดังที่ครั้งหนึ่งได้เดินทางจากอุบลราชธานีมาถึงถ้ำไผ่ขวาง ข้างน้ำตกสาลิกา จังหวัดนครนายก โดยตั้งใจแน่วแน่ที่จะมุ่งหน้าไปสู่ถ้ำ แม้ระหว่างทางจะมีชาวบ้านพยายามทัดทานเนื่องจากพระสงฆ์ที่เคยไปปฏิบัติธรรมในถ้ำล้วนเสียชีวิตทั้งสิ้น แต่ท่านกลับไม่กลัว แล้วจึงเดินทางไปที่ถ้ำไผ่ขวาง แม้ระหว่างการบำเพ็ญเพียรนั้นได้มีอุปสรรคนานา แต่ภิกษุมั่นก็ผ่านสิ่งเหล่านั้นมาได้ ทำให้ชาวบ้านเลื่อมใสเป็นอย่างมาก
          ระหว่างที่พระอาจารย์มั่นปฏิบัติธรรมอยู่ในสถานที่ต่าง ๆ มักมีพระภิกษุออกธุดงค์ติดตามมากมาย แต่ท่านไม่ชอบคลุกคลีด้วยหมู่คณะ จึงปลีกตัวไปอยู่ที่ถ้ำผาปิ้ง จังหวัดเลย ใน พ.ศ. ๒๔๖๒ และในปีเดียวกันนี้เอง ขณะที่ท่านจำพรรษาอยู่ที่ป่าบ้านคอ อำเภอผือ จังหวัดอุดรธานี ก็ได้แนะนำข้อปฏิบัติแก่ภิกษุจำนวนมาก หนึ่งในนั้นได้กลายเป็นภิกษุที่มีชื่อเสียงมากในยุคต่อมาคือ หลวงปู่แหวน สุจิณโณ
          พ.ศ. ๒๔๗๑–๒๔๗๒ ท่านได้ธุดงค์ไปเชียงใหม่ และได้เป็นเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวง พร้อมได้รับการแต่งตั้งเป็นพระครูฐานานุกรมในสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ที่พระครูธรรมธร และเป็นพระอุปัชฌาย์ แต่ในปีต่อมาท่านก็ได้ลาออกและออกธุดงค์ต่อไป

          ยุคทองแห่งการปฏิบัติธรรม พ.ศ. ๒๔๗๗ พระอาจารย์มั่นได้ไปจำพรรษาอยู่ที่ปางเมี่ยงแม่ปั๋ง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ มีผู้มาฝากตัวเป็นศิษย์จำนวนมาก ทำให้เกิดความตื่นตัวในการปฏิบัติธรรม จนเกิดพระอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการปฏิบัติหลายท่าน
 

 


          พระอาจารย์มั่นเดินธุดงค์อยู่ทางภาคเหนือนานถึง ๑๒ ปี จนเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒ ท่านจึงได้เดินทางกลับภาคอีสาน ในบั้นปลายของชีวิตได้จำพรรษา ณ วัดหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร เป็นเวลา ๕ ปี ท่านได้เทศน์ครั้งสุดท้ายในวันมาฆบูชา พ.ศ. ๒๔๙๒
          พระอาจารย์มั่นเริ่มอาพาธเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๒ ท่านต้องการจะไปมรณภาพที่จังหวัดสกลนคร เหล่าศิษยานุศิษย์และชาวบ้านจึงพาท่านกลับไปยังวัดป่าสุทธาวาส พระอาจารย์ ภูริทัตโตมรณภาพด้วยอาการสงบเมื่อวันศุกร์ที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๒ รวมอายุได้ ๗๙ ปี
 


          ๒. คุณธรรมที่ควรยึดถือเป็นแบบอย่าง
               ๑) ท่านเป็นผู้มีความใฝ่เรียนใฝ่รู้ และกตัญญูกตเวที
               ๒) ท่านเป็นผู้มีความมุ่งมั่น เด็ดเดี่ยว และตั้งใจจริง
               ๓) ท่านเป็นผู้มีความสันโดษ

     ๒.๕ อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ
          ๑. ประวัติและผลงาน อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ มีชื่อเดิมว่า บุญรอด สงวนเชื้อ เป็นบุตรของนายอ่วม และนางทองคำ สงวนเชื้อ ประกอบอาชีพค้าขาย ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๐ ณ ตำบลบางไทรป่า อำเภอบางปลา (ปัจจุบันคืออำเภอบางเลน) จังหวัดนครปฐม
 


          การศึกษาเบื้องต้น สุชีพได้เข้าเรียนในระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนประชาบาลวัดโพธิ์ เมื่อจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ได้ย้ายไปที่โรงเรียนประชาบาลวัดสัมปทาน ท่านศึกษาต่อจนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ เมื่ออายุ ๑๒ ปี

          การบรรพชา–อุปสมบท เมื่อจบชั้นประถมศึกษาตามเกณฑ์แล้ว ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรและไปจำพรรษา ณ วัดกันมาตุยาราม กรุงเทพมหานคร ท่านได้ไปศึกษาพระปริยัติธรรมที่สำนักวัดเทพศิรินทราวาส สามารถสอบนักธรรมและบาลีได้เปรียญธรรม ๗ ประโยค ใน พ.ศ. ๒๔๗๙ สามเณรสุชีพอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดกันมาตุยาราม มีนามฉายาว่า สุชีโว หลังจากอุปสมบทแล้วก็ได้ศึกษาต่อที่วัดเทพศิรินทราวาส จนสอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค ใน พ.ศ. ๒๔๘๒

          ผลงานขณะเป็นพระภิกษุ สุชีโว ภิกขุเป็นผู้แตกฉานในภาษาบาลีและมีความรู้ในภาษาสันสกฤตและภาษาอังกฤษเป็นอย่างดีด้วย อีกทั้งยังได้ศึกษาวิชาการสมัยใหม่ เพื่อประโยชน์แก่การนำมาประยุกต์ใช้ในการสอนพระพุทธศาสนา นอกจากนี้ท่านยังมีผลงานหลายด้าน เช่น เสนอโครงการก่อตั้งมหาวิทยาลัยสงฆ์ ซึ่งกลายมาเป็นสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย หรือมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งแรกในประเทศไทย
          สุชีโว ภิกขุมีผลงานที่โดดเด่นทางด้านวรรณกรรมหลายผลงาน ที่สำคัญคือ ท่านได้ริเริ่มการแต่งจินตนิยายอิงหลักธรรมะ โดยอาศัยคัมภีร์พระไตรปิฎกฝ่ายเถรวาท หนังสือจินตนิยายที่ท่านแต่ง เช่น ใต้ร่มกาสาวพัสตร์ และกองทัพธรรม เป็นต้น นอกจากนี้ ท่านยังได้ร่วมก่อตั้งองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พ.ส.ล.) ขึ้น นอกจากนี้ท่านยังเป็นพระภิกษุไทยรูปแรกที่สามารถแสดงพระธรรมเทศนาเป็นภาษาอังกฤษแก่ชาวต่างประเทศอีกด้วย
 


          ผลงานขณะเป็นฆราวาส เมื่อสุชีโว ภิกขุก็ได้ลาสิกขาแล้วท่านใช้ชื่อว่า สุชีพ ปุญญานุภาพ ท่านยังคงช่วยเหลือกิจการของสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัยตลอดมา อีกทั้งงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และงานอื่น ๆ
          ผลงานด้านวรรณกรรมของท่านที่สร้างคุณประโยชน์ต่อแวดวงวิชาการเป็นอย่างมาก คือ พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน ซึ่งเป็นการย่อความพระไตรปิฎกจำนวน ๔๕ เล่ม ให้เหลือเพียง ๕ เล่ม (ภายหลังรวมเป็นเล่มเดียว)
          ตลอดระยะเวลาของการปฏิบัติงาน อาจารย์สุชีพเป็นผู้มีสุขภาพร่างกายสมบูรณ์ จนกระทั่งวันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๓ ท่านได้ป่วยและเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลกรุงเทพ และในวันที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ ท่านก็ได้ถึงแก่กรรมด้วยอาการสงบ

          ๒. คุณธรรมที่ควรยึดถือเป็นแบบอย่าง
               ๑) ท่านเป็นผู้ใฝ่รู้ใฝ่เรียนและมีความตั้งใจจริง
               ๒) ท่านเป็นผู้ที่มีความขยันหมั่นเพียรในการศึกษาเล่าเรียน
               ๓) ท่านเป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมาย

บทสรุป
     พุทธสาวก พุทธสาวิกา และชาวพุทธตัวอย่างเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา การศึกษาประวัติของพุทธสาวกและพุทธสาวิกา ซึ่งได้แก่ พระอัสสชิ หมอชีวก โกมารภัจจ์ พระกีสาโคตรมี และพระนางมัลลิกา และชาวพุทธตัวอย่าง ซึ่งได้แก่ พระนาคเสน พระยามิลินท์ สมเด็จพระวันรัตน์ (เฮง เขมจารี) พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต และอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ทำให้ได้ข้อคิด คุณธรรม และแบบอย่างในการดำเนินชีวิตที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับชีวิตในสังคมปัจจุบันได้


แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th