บทเรียนออนไลน์ วิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เรื่อง พระธรรม
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 98.6K views




สาระการเรียนรู้

 


๑. หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา
     ๑.๑ พระรัตนตรัย
     พระรัตนตรัย คือ สิ่งที่เคารพสูงสุดในพระพุทธศาสนา ซึ่งมีองค์ประกอบดังนี้
     พระพุทธเจ้า คือ ผู้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ
     พระธรรม คือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
     พระสงฆ์ คือ สาวกผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
 

               
                     พระพุทธ                               พระธรรม                                   พระสงฆ์


ความหมายและคุณค่าของพุทธะ
     ๑. ความหมายของพุทธะ พุทธะ หมายถึง บุคคลที่ตรัสรู้แล้ว ผู้รู้อริยสัจ ๔ อย่างลึกซึ้งและกว้างขวาง มี ๓ ประเภท คือ
          ๑) สัพพัญญูพุทธะ คือ พระพุทธเจ้าผู้รู้ทั้งหมด ผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เองแล้วสอนให้ผู้อื่นรู้และปฏิบัติตาม
          ๒) ปัจเจกพุทธะ คือ ผู้ตรัสรู้ชอบได้ด้วยตนเองแต่ไม่สอนผู้อื่น ไม่ตั้งพุทธบริษัท ไม่ก่อตั้งพระพุทธศาสนา
          ๓) อนุพุทธะ คือ ผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้า

     ๒. คุณค่าของพุทธะ ในที่นี้คือ พุทธจริยา หมายถึง ความประพฤติและการปฏิบัติกิจวัตรของพระพุทธเจ้า ได้แก่ การบำเพ็ญพระองค์ให้เกิดประโยชน์แก่โลก พระประยุรญาติ และพุทธศาสนิกชน มี ๓ คุณค่า ดังนี้
          ๑) โลกัตถจริยา หมายถึง การบำเพ็ญประโยชน์แก่ชาวโลก
          ๒) ญาตัตถจริยา หมายถึง การบำเพ็ญประโยชน์แก่พระประยุรญาติ
         ๓) พุทธัตถจริยา หมายถึง การบำเพ็ญประโยชน์ในฐานะที่ทรงเป็นพระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้ถูกต้องดีแล้ว

     ๑.๒ อริยสัจ ๔ : สรุปหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาลงในอริยสัจ ๔
     อริยสัจเป็นหลักธรรมอันประเสริฐที่นำไปสู่การดับทุกข์ ประกอบด้วยหลัก ๔ ประการ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค นอกจากนี้ยังเป็นธรรมที่สรุปรวมของหลักธรรมอื่นอีก เช่น ไตรสิกขา (ศีล สมาธิ ปัญญา) ไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) เป็นต้น
 


     ทุกข์ : ธรรมที่ควรรู้
     หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาที่สรุปลงในทุกข์: ธรรมที่ควรรู้ของอริยสัจมีหลายหมวด เช่น ขันธ์ ๕ (นามรูป) และหลักกรรม (นิยาม ๕)
     ๑. ขันธ์ ๕ (นามรูป) สิ่งมีชีวิต เช่น มนุษย์และสัตว์เกิดจากส่วนประกอบหลัก ๕ ส่วน ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ตามหลักพระพุทธศาสนาเรียกว่า เบญจขันธ์
     รูป หมายถึง สิ่งที่เป็นรูปร่างหรือร่างกายและลักษณะอาการของร่างกาย ได้แก่ ส่วนร่างกายที่ประกอบด้วยธาตุ ๔ (ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม)
     เวทนา หมายถึง ความรู้สึกต่อสิ่งที่ถูกรับรู้ เช่น รู้สึกสุขหรือทุกข์
     สัญญา หมายถึง ความจำได้ หมายรู้ หมายรู้ คือ รู้ว่ารูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และอารมณ์ที่เกิดขึ้นนั้นคืออะไรและเป็นอย่างไร ส่วน จำได้ คือ รู้จักสิ่งนั้น ๆ เมื่อพบอีกครั้ง
     สังขาร หมายถึง ความนึกคิดที่เกิดขึ้นทางใจหรือสภาพที่ปรุงแต่งจิตใจให้ดี ชั่ว หรือเป็นกลาง ๆ
     วิญญาณ หมายถึง การรับรู้หรือความรู้แจ้งอารมณ์ทางประสาทสัมผัสทั้ง ๕ และทางใจ เช่น การเห็น การได้ยิน เป็นต้น ส่วนการรู้อารมณ์ทางใจ เช่น เมื่อตาเห็นรูป เกิดการเห็น เรียกว่า จักขุวิญญาณ เป็นต้น


ขันธ์ ๕ สรุปย่อได้เป็น ๒ ส่วน ดังแผนภูมิ

 


     รูปขันธ์ คือ ส่วนที่เป็นรูปธรรม หมายถึง ส่วนกาย ซึ่งรับรู้ได้ทางประสาทสัมผัสทั้ง ๕
     นามขันธ์ คือ ส่วนที่เป็นนามธรรม หมายถึง ส่วนใจ เป็นส่วนที่ไม่อาจรับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง ๕ แต่รับรู้ได้ด้วยใจ

     ๒. หลักกรรม (นิยาม ๕) กรรม หมายถึง การกระทำของมนุษย์ที่ประกอบด้วยเจตนาหรือความจงใจ แสดงออกได้ทางกาย วาจา และใจ กรรมเป็นกฎธรรมชาติของมนุษย์ เมื่อเรากระทำกรรมเช่นใดย่อมได้รับผลของกรรมเช่นนั้น เป็นกฎเกณฑ์ที่เรียกว่า กฎแห่งกรรม
     กรรมมีความละเอียดลึกซึ้งหลายระดับและมีความเกี่ยวข้องกับการเวียนว่ายตายเกิด ซึ่งในที่นี้จะมุ่งศึกษาในเรื่องนิยาม ๕
 

                                                                                     


     นิยาม หมายถึง กำหนดอันแน่นอน ความเป็นไปอันมีระเบียบแน่นอนของธรรมชาติ กฎธรรมชาติมีกฎ ๕ ประการ ได้แก่
     ๑) อุตุนิยาม คือ กฎธรรมชาติเกี่ยวกับอุณหภูมิหรือปรากฏการณ์ทางธรรมชาติต่าง ๆ
     ๒) พีชนิยาม หมายถึง กฎธรรมชาติเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตในเรื่องต่าง ๆ โดยกฎพีชนิยามของพืชคือ หว่านพืชเช่นไร ย่อมให้ผลเช่นนั้น
     ๓) จิตนิยาม คือ กฎธรรมชาติเกี่ยวกับการทำงานของจิต มีกฎเกณฑ์การทำงานและแสดงพฤติกรรมเป็นแบบฉบับของตนเอง เช่น คนที่เป็นพี่น้องกัน คนหนึ่งขยันแต่อีกคนเกียจคร้าน เป็นผลมาจากสิ่งที่ปรุงแต่งจิต เรียกว่า เจตสิก
     ๔) กรรมนิยาม คือ กฎธรรมชาติที่เกี่ยวกับกระบวนการให้ผลของการกระทำ กล่าวคือ เมื่อเราทำกรรมอย่างหนึ่ง จิตจะทำหน้าที่บันทึกการกระทำไว้ ซึ่งจิตมีการเกิดดับและเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เมื่อจิตดวงเก่าดับไปก็จะเกิดจิตดวงใหม่ขึ้นมาและรับสืบทอดสิ่งที่บันทึกไว้ เรียกว่า การสะสมวิบาก วิบากดังกล่าวจะทยอยให้ผลเรื่อย ๆ จนกว่าจะพ้นจากกิเลส
 


     จากรูปแสดงให้เห็นว่า กิเลสเป็นเหตุให้ทำกรรม เมื่อทำกรรมก็ได้รับวิบาก (ผลของกรรม) อันเป็นปัจจัย (เหตุ) ให้เกิดกิเลส แล้วทำกรรมหมุนเวียนต่อไปอีก วงจรนี้จะสืบต่อไปจนกว่าหมดกิเลสหรือนิพพาน
     ๕) ธรรมนิยาม คือ กฎธรรมชาติเกี่ยวกับความสัมพันธ์และอาการที่เป็นเหตุเป็นผลแก่กันของสิ่งทั้งหลาย เรียกว่า อิทัปปัจจยตา

     สมุทัย : ธรรมที่ควรละ
     หลักธรรมที่สรุปลงในสมุทัย : ธรรมที่ควรละ ได้แก่ อกุศลวิตก ๓
     อกุศลวิตก ๓ วิตก หมายถึง ความตรึกตรอง ความนึกคิด มี ๒ ประเภท คือ กุศลวิตก (ความนึกคิดฝ่ายดี) และอกุศลวิตก (ความนึกคิดฝ่ายชั่ว) ในที่นี้จะอธิบายเฉพาะอกุศลวิตก
     อกุศลวิตก หมายถึง ความตรึกตรองหรือความนึกคิดในเรื่องไม่ดี มี ๓ ประเภท ได้แก่
     ๑) กามวิตก คือ ความนึกคิดที่ประกอบไปด้วยความโลภ
     ๒) พยาบาทวิตก คือ ความนึกคิดที่ประกอบไปด้วยความอาฆาตพยาบาทและเกลียดชัง
     ๓) วิหิงสาวิตก คือ ความนึกคิดที่มุ่งจะเบียดเบียน ทำลาย หรือก่อความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น
     พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนให้เราพิจารณาให้เห็นโทษของอกุศลวิตก ๓ แล้วให้ทำความเพียรเพื่อพยายามลดละหรือกำจัดให้หมดไป ตามกำลังสติปัญญาและความสามารถของตน

     นิโรธ : ธรรมที่ควรบรรลุ
     หลักธรรมที่สรุปลงในนิโรธ : ธรรมที่ควรบรรลุ ได้แก่ ภาวนา ๔
     ภาวนา ๔ ภาวนา หมายถึง การทำให้มีขึ้น การทำให้เกิดขึ้น การเจริญ การฝึกฝนอบรม หรือการพัฒนาตน มี ๔ ประการ ดังนี้
     ๑. กายภาวนา คือ การฝึกฝนอบรมกายให้รู้จักติดต่อเกี่ยวข้องกับสิ่งภายนอกผ่านทางประสาทสัมผัสทั้ง ๕ ด้วยดี และปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้นในทางที่เป็นคุณ
     ๒. สีลภาวนา คือ การฝึกฝนอบรมศีลหรือการพัฒนาความประพฤติให้ตั้งอยู่ในระเบียบวินัย สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ด้วยดี
 


     ๓. จิตตภาวนา คือ การฝึกฝนอบรมจิตใจหรือพัฒนาจิตให้เข้มแข็งมั่นคง เจริญงอกงามด้วยคุณธรรม
     ๔. ปัญญาภาวนา คือ การฝึกฝนอบรมปัญญาหรือการพัฒนาตนให้มีความรู้ความเข้าใจในสิ่งทั้งหลายตามที่เป็นจริง จนถึงขั้นสามารถทำจิตให้เป็นอิสระจากความทุกข์ได้
 

 


     มรรค : ธรรมที่ควรเจริญ
     หลักธรรมที่สรุปลงในมรรค : ธรรมที่ควรเจริญ ได้แก่ สัทธรรม ๓ วุฒิธรรม ๔ พละ ๕ อุบาสกธรรม ๕ และมงคล ๓๘
     ๑. สัทธรรม ๓ สัทธรรม หมายถึง หลักหรือแก่นของพระพุทธศาสนา มี ๓ ประการ ได้แก่
          ๑) ปริยัติ คือ สิ่งที่ควรศึกษาเล่าเรียน ได้แก่ พระพุทธพจน์หรือพระธรรมวินัย
          ๒) ปฏิบัติ คือ สิ่งที่ควรปฏิบัติ ได้แก่ ไตรสิกขา
          ๓) ปฏิเวธ คือ ผลที่พึงบรรลุด้วยการปฏิบัติ ได้แก่ มรรค ผล และนิพพาน



การที่เราจะได้รับผลจากการปฏิบัติตนตามหลักการของพระพุทธศาสนา
เราจะต้องสัมผัสสัทธรรมทั้ง ๓ ระดับ 


     ๒. วุฒิธรรม ๔ หมายถึง ธรรมที่ก่อให้เกิดความเจริญงอกงามแก่ผู้ปฏิบัติ มี ๔ ประการ ดังนี้
          ๑) สัปปุริสสังเสวะ คือ การคบหาคนดีที่มีความรู้ความสามารถย่อมนำความเจริญมาให้



ผู้ที่คบคนดีย่อมได้รับประโยชน์ล้วน ๆ 
การคบคนดีจึงจัดเป็นธรรมที่ก่อให้เกิดความเจริญงอกงาม 

 

          ๒) สัทธัมมัสสวนะ คือ การฟังธรรมหรือการเอาใจศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับหลักธรรม
          ๓) โยนิโสมนสิการ คือ การคิดหาเหตุผลโดยถูกวิธีหรือการพิจารณาโดยแยบคาย มีวิธีสืบสาวเหตุผลไปจนถึงต้นเหตุ พร้อมทั้งแยกแยะองค์ประกอบจนมองเห็นสภาพที่แท้จริง
         ๔) ธัมมานุธัมมปฏิบัติ คือ การปฏิบัติธรรมตามสมควรแก่ธรรมหรือการปฏิบัติธรรมให้ถูกต้องตามหลัก

     ๓. พละ ๕ พละ หมายถึง ธรรมอันเป็นพลังที่ทำให้ผู้นำไปปฏิบัติเกิดความมั่นคง ไม่หวั่นไหวต่ออุปสรรค มีหลัก ๕ ประการ ดังนี้
          ๑) สัทธาหรือศรัทธา คือ ความเชื่อมั่นตามหลักพระพุทธศาสนา กล่าวคือ เชื่อโดยมีปัญญาเป็นพื้นฐาน
          ๒) วิริยะ คือ ความเพียรพยายาม โดยจะเป็นพลังผลักดันให้สามารถต่อสู้กับอุปสรรคต่าง ๆ ได้
 


          ๓) สติ คือ ความระลึกได้ ช่วยป้องกันข้อผิดพลาดหรือแก้ไขข้อบกพร่องที่อาจเกิดขึ้น
          ๔) สมาธิ คือ ความตั้งมั่นแห่งจิต หรือการควบคุมจิตให้สงบไม่ฟุ้งซ่าน ทำให้แสดงพฤติกรรมต่าง ๆ ออกมาได้อย่างเหมาะสม
          ๕) ปัญญา คือ ความรอบรู้ เกิดจาก ๓ วิธีการ ได้แก่ เกิดจากการได้ฟังหรือศึกษาเล่าเรียน เกิดจากการจำ การคิด และความเข้าใจ และเกิดจากการปฏิบัติ
 


     ๔. อุบาสกธรรม ๔ อุบาสกธรรม หมายถึง คุณสมบัติของความเป็นอุบาสกและอุบาสิกาที่ดี มีหลัก ๕ ประการ ดังนี้
          ๑) มีศรัทธา คือ มีความเชื่อในเรื่องกรรมและผลของกรรม
 


          ๒) มีศีล คือ มีการรักษากายและวาจาให้เรียบร้อยเป็นปกติ
          ๓) ไม่ถือมงคลตื่นข่าว คือ ไม่เชื่อข่าวหรือคำเล่าลืออย่างไร้เหตุผล รวมทั้งโชคลางหรือสิ่งที่เล่าลือว่าศักดิ์สิทธิ์
          ๔) ไม่แสวงบุญเขตนอกหลักพระพุทธศาสนา บุญเขต คือ เนื้อนาบุญซึ่งได้แก่ พระสงฆ์ ซึ่งท่านเปรียบเสมือนนาดีที่ปลูกข้าวชนิดใดย่อมได้ผลผลิตที่ดี ดังนั้นจึงควรทำบุญถวายทานแด่พระสงฆ์และอุปถัมภ์ท่านด้วยปัจจัย ๔ รวมถึงให้ความอนุเคราะห์ในเรื่องต่าง ๆ
 


          ๕) ขวนขวายในการอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา คือ ทำนุบำรุงและดูแลรักษาพระพุทธศาสนาให้มีความเจริญมั่นคงด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น ทำบุญตามโอกาส หรือช่วยดูแลรักษาศาสนสถานและศาสนสมบัติ เป็นต้น

    ๕. มงคล ๓๘ มงคล คือ สิ่งที่ทำให้ชีวิตโชคดี ตามหลักพระพุทธศาสนา หมายถึง หลักปฏิบัติที่ทำให้ผู้ปฏิบัติมีความสุขและความเจริญ มี ๓๘ ประการ ซึ่งในที่นี้จะศึกษาเฉพาะเรื่อง การสงเคราะห์บุตร การสงเคราะห์ภรรยา (หรือสามี) และความสันโดษ
          ๑) การสงเคราะห์บุตร เป็นมงคลข้อที่ ๑๒ บทบาทหน้าที่ของบิดามารดาในการอบรมเลี้ยงดูลูกมีหลักที่ควรพิจารณาดังนี้
               ประเภทของลูก ตามหลักพระพุทธศาสนามี ๓ ประเภท คือ
               (๑) ลูกที่มีศีล มีคุณธรรม และคุณสมบัติอื่น ๆ ดีกว่าพ่อแม่ ทำให้วงศ์ตระกูลมีชื่อเสียง เรียกว่า อภิชาตบุตร
               (๒) ลูกที่มีศีล มีคุณธรรม และคุณสมบัติอื่น ๆ เสมอกับพ่อแม่ เรียกว่า อนุชาตบุตร
            (๓) ลูกที่มีศีล มีคุณธรรม และคุณสมบัติอื่น ๆ ด้อยกว่าพ่อแม่ เรียกว่า อวชาตบุตร
 



               ปัจจัยในการสงเคราะห์ลูก พ่อแม่ควรสงเคราะห์ลูกด้วยปัจจัย ๒ ประการ คือ
               (๑) การสงเคราะห์ด้วยอามิส คือ การเลี้ยงดูลูกด้วยปัจจัยเครื่องดำรงชีพต่าง ๆ
               (๒) การสงเคราะห์ด้วยธรรม คือ การเลี้ยงดูลูกด้วยการให้โอวาท ให้ความรักและความเอาใจใส่

               หลักการในการสงเคราะห์ลูก พ่อแม่ต้องสงเคราะห์ลูกด้วยปัจจัยทั้งสองข้างต้นให้พอเหมาะ ทั้งนี้ พ่อแม่ถือว่าเป็นพรหมของลูก จึงต้องเลี้ยงดูลูกตามหลักพรหมวิหาร ๔ คือ
 


               (๑) มีเมตตา คือ ความรักใคร่ ปรารถนาให้ลูกมีความสุข
               (๒) มีกรุณา คือ ความสงสาร คิดช่วยเหลือให้ลูกพ้นจากความทุกข์
               (๓) มีมุทิตา คือ ความยินดีเมื่อลูกอยู่ดีมีสุข
               (๔) มีอุเบกขา คือ ความวางใจเป็นกลาง เมื่อเห็นว่าลูกรับผิดชอบตนเองได้ดีแล้ว

               หลักธรรมในการเลี้ยงดูลูกอีกประการหนึ่ง ได้แก่ ทิศ ๖ โดยพ่อแม่ต้องอนุเคราะห์ลูกด้วยหลัก ๕ ประการ คือ ห้ามปรามลูกทำความชั่ว สั่งสอนลูกให้ประพฤติปฏิบัติตนเป็นคนดี ส่งเสริมให้ลูกได้รับการศึกษาในระดับต่าง ๆ แนะนำลูกในการหาคู่ครองที่เหมาะสมเมื่อถึงวัยอันสมควร และมอบทรัพย์สมบัติให้ในโอกาสที่เหมาะสม

          ๒) การสงเคราะห์ภรรยา (หรือสามี) เป็นมงคลข้อที่ ๑๓ ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนกุลบุตรเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นมงคลข้อนี้จึงมีใจความสำคัญเน้นถึงการสงเคราะห์ภรรยา แต่เนื่องจากในปัจจุบันสามีและภรรยาต่างต้องช่วยกันสร้างครอบครัว ดังนั้นมงคลธรรมข้อนี้จึงมีความหมายกว้างขึ้นเป็นการสงเคราะห์คู่ครอง
          หลักการเลือกคู่ครอง พระพุทธศาสนาได้เสนอหลักเกณฑ์ในการเลือกคู่ครองไว้ ๔ ข้อ เรียกว่า หลักสมชีวิตาธรรม หรือ สมชีวิธรรม ๔ ซึ่งเป็นหลักที่แสดงความเหมาะสมของคนที่จะเป็นคู่ครองกันได้ดังนี้
          (๑) มีศรัทธาหรือความเชื่อเสมอเหมือนกัน (สมสัทธา)
          (๒) มีศีลมีคุณธรรมเสมอกัน (สมสีลา)
          (๓) มีความเสียสละหรือความเอื้อเฟื้อเสมอเหมือนกัน (สมจาคา)
          (๔) มีปัญญาหรือวิชาความรู้เสมอเหมือนกัน (สมปัญญา)



การที่จะเลือกใครเป็นคู่ครอง ต้องยึดทั้งเกณฑ์ทางธรรมและทางโลก
การหย่าร้างหลังการแต่งงานจะไม่เกิดขึ้น 


          หลักธรรมสำหรับการครองเรือน มี ๔ ประการ คือ
          (๑) ต้องมีความซื่อสัตย์ต่อกัน (สัจจะ)
          (๒) ต้องรู้จักข่มใจและควบคุมจิตใจ (ทมะ)
          (๓) ต้องมีความอดทน อดกลั้น ไม่ท้อถอยต่อความยากลำบาก (ขันติ)
          (๔) ต้องรู้จักเสียสละ ไม่เห็นแก่ตัว (จาคะ)

          หน้าที่ของสามีภรรยา นอกจากการมีหลักธรรมประจำใจแล้ว สามีภรรยายังต้องรับผิดชอบต่อบทบาทหน้าที่ของตนด้วย
 


          หลักคำสอนเรื่องทิศ ๖ ได้กล่าวถึงบทบาทหน้าที่ของสามีภรรยาไว้ในปัจฉิมทิศ (ทิศเบื้องหลัง) ดังนี้
          ๑. สามีที่ดีควรปฏิบัติต่อภรรยา ๕ ประการ คือ
               (๑) ยกย่องให้เกียรติสมกับฐานะที่เป็นภรรยา
               (๒) ไม่ดูหมิ่นเหยียดหยามภรรยา
               (๓) ไม่นอกใจภรรยา
               (๔) มอบความเป็นใหญ่ในบ้านให้
               (๕) มอบของขวัญให้ตามโอกาสอันควร

          ๒. ภรรยาที่ดีควรปฏิบัติต่อสามี ๕ ประการ คือ
               (๑) จัดการงานภายในบ้านให้ดี
               (๒) เอาใจใส่ สงเคราะห์ญาติพี่น้องและเพื่อนของสามีด้วยดี
               (๓) ไม่นอกใจสามี
               (๔) รักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้
               (๕) มีความขยันในการทำกิจการงานต่าง ๆ ภายในบ้าน

          ๓) ความสันโดษ เป็นมงคลข้อที่ ๒๔ โดยคำว่าสันโดษในพระพุทธศาสนามีความหมาย ๒ นัย คือ
               (๑) สันโดษที่สอนพระภิกษุ หมายถึง ความมักน้อยหรือความปรารถนาน้อย
               (๒) สันโดษที่สอนบุคคลธรรมดาทั่วไป หมายถึง ความยินดีในสิ่งที่ตนมี ตนได้จากการทำงานตามกำลังความสามารถของตน

          ประเภทของสันโดษ หลักพระพุทธศาสนามี ๓ ประการ คือ
          (๑) ความยินดีตามที่ได้ (ยถาลาภสันโดษ) หมายถึง การได้สิ่งใดมาด้วยความเพียรพยายามของตนโดยถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ก็ยินดีพอใจในสิ่งนั้น
 


          (๒) ความยินดีตามกำลังที่มีอยู่ (ยถาพลสันโดษ) หมายถึง ความยินดีหรือพอใจเพียงพอแก่กำลังกาย ทรัพย์ สติปัญญา และความสามารถของตน
 


จะทำอะไรต้องรู้จักตัวเองว่า มีกำลังความสามารถเพียงใด
อย่าสำคัญตนผิดและดูถูกตัวเอง 


          (๓) ความยินดีตามสมควร (ยถาสารุปปสันโดษ) หมายถึง มีความยินดีหรือมีความพอใจตามสมควรแก่ฐานะ ภาวะ และความเป็นอยู่ของตน

          คุณค่าของสันโดษ หลักธรรมเรื่องความสันโดษสอนให้คนรู้จักวิเคราะห์ความสามารถของตนเอง เพื่อปฏิบัติงานให้เหมาะตามสภาพ และยังสอนให้พอใจในผลที่เกิดจากการกระทำลงไปแล้วอย่างเต็มกำลัง
          แนวทางปฏิบัติเพื่อพัฒนาตนให้เป็นคนสันโดษ มีดังนี้
          (๑) รู้จักวิเคราะห์ตนเอง โดยหมั่นวิเคราะห์ความสามารถแล้วปฏิบัติงานให้ดีที่สุด
          (๒) ฝึกฝนตนเองให้มีสติและเหตุผล รู้จักใช้สติระงับความต้องการของตน
          (๓) ควบคุมพฤติกรรมของตนโดยยึดทางสายกลางในการดำเนินชีวิต


๒. พุทธศาสนสุภาษิต
     พุทธศาสนสุภาษิต หมายถึง คำสุภาษิตทางพระพุทธศาสนา มีลักษณะเป็นข้อความสั้น ๆ แค่มีความหมายลึกซึ้ง แฝงไปด้วยคติสอนใจให้ปฏิบัติตาม โดยพุทธศาสนาสุภาษิตส่วนใหญ่อยู่ในรูปของคำประพันธ์ประเภทฉันท์ แต่พุทธศาสนสุภาษิตที่กำหนดให้ศึกษาทุกชั้นจะเป็นเพียง ๑ บาทของคาถาในคำประพันธ์ แต่ก็มีความหมายครบถ้วน
     แหล่งที่มาของพุทธศาสนสุภาษิตสามารถจำแนกกว้าง ๆ ได้ ๔ แหล่ง ดังนี้
     ๑. พระดำรัสของพระพุทธเจ้าที่ตรัสสอนบุคคล เรียกว่า พุทธภาษิต
     ๒. คำกล่าวของพระเถระหรือพระเถรีในสมัยพุทธกาล เรียกว่า เถรภาษิต หรือ เถรีภาษิต
     ๓. คำกล่าวของบัณฑิต นักบวช ฤษี หรือพระโพธิสัตว์ที่ปรากฏในคัมภีร์ว่าเสวยพระชาติเป็นสัตว์และบุคคลต่าง ๆ เรียกชื่อตามผู้กล่าว เช่น เทวตาภาษิต (เทวดากล่าว) เป็นต้น
     ๔. คำประพันธ์ของพระเถระในประเทศไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน ภาษิตในข้อนี้ส่วนใหญ่จะเป็นบทประพันธ์สั้น ๆ เพียง ๑ บาท หรือ ๒ บาทของคาถาเท่านั้น

     ๒.๑ จิตฺตํ ทนฺตํ สุขาวหํ (จิตที่ฝึกดีแล้ว นำสุขมาให้)
          จิตที่ฝึกดีแล้ว หมายถึง จิตที่ได้รับการฝึกอบรมมาเป็นอย่างดี มีความหนักแน่น และเป็นสภาวะที่มีปัญญาคอยกำกับ โดยการฝึกอบรมจิต (การบริหารจิต) เช่น การกำหนดลมหายใจเข้าออก (อานาปานสติ) การตั้งสติกำหนดพิจารณาสิ่งต่าง ๆ ให้รู้และเข้าใจสภาพที่เป็นจริง (สติปัฏฐาน ๔)
          ผู้ที่ฝึกจิตมาเป็นอย่างดี เมื่อเผชิญกับเหตุการณ์ต่าง ๆ จะสามารถแสดงพฤติกรรมได้อย่างเหมาะสม เนื่องจากรู้จักใช้สติควบคุมจิตใจ และใช้ปัญญาไตร่ตรองหาแนวทางแก้ปัญหา ซึ่งนอกจากจะทำให้ผู้ฝึกจิตมีความสุขแล้ว ยังมีส่วนทำให้สังคมสงบสุขด้วย ด้วยเหตุนี้พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า จิตที่ฝึกดีแล้ว นำสุขมาให้
          จุดมุ่งหมาย พุทธศาสนสุภาษิตบทนี้มีจุดมุ่งหมายให้เราเห็นความสำคัญของการฝึกอบรมจิตด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อความสุขในการดำเนินชีวิต
 


ผู้ที่ได้รับการฝึกฝนจิตย่อมไม่หวั่นไหว และรู้จักใช้ปัญญาแก้ปัญหา


     ๒.๒ อุจฺจาวจํ ปณฺฑิตา ทสฺสยนฺติ (บัณฑิตย่อมไม่แสดงอาการขึ้น ๆ ลง ๆ)
          บัณฑิต ตามความหมายทั่วไป ได้แก่ ผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป แต่ในทางพระพุทธศาสนา หมายถึง ผู้ที่คิดแต่เรื่องดี พูดแต่คำที่ดี ทำแต่กรรมดี ใช้ปัญญาในการดำเนินชีวิต อ่านมาก ฟังมาก เอาการงาน มีศีล และจิตใจห่างไกลจากอบายมุขต่าง ๆ
          ดังนั้น ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แย่เพียงใด บัณฑิตก็ต้องรักษาคุณความดีที่เกิดจากการฝึกอบรมตนไว้ให้ได้ รู้จักหลีกเลี่ยงจากเหตุแห่งความเสื่อมเสีย และรู้จักที่จะทำให้ตนเองอยู่รอดปลอดภัย ด้วยเหตุนี้นักปราชญ์จึงกล่าวว่า บัณฑิตย่อมไม่แสดงอาการขึ้น ๆ ลง ๆ นั่นคือ บัณฑิตย่อมเป็นคนเสมอต้นเสมอปลาย
          จุดมุ่งหมาย พุทธศาสนสุภาษิตบทนี้สอนให้เราเป็นผู้คิดดี ทำดี พูดดี และมีจิตใจมั่นคง
 


     ๒.๓ นตฺถิ โลเก อนินฺทิโต (คนที่ไม่ถูกนินทา ไม่มีในโลก)
          นินทา หมายถึง คำติเตียนว่าร้ายลับหลัง ตามหลักพระพุทธศาสนาจัดอยู่ในโลกธรรม ๘ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของโลกและชีวิตที่มนุษย์ทุกคนต้องเผชิญ โลกธรรม ๘ แบ่งออกเป็น ๒ ฝ่าย ดังนี้
 

                                  

          คนทุกคนไม่อาจหลีกเลี่ยงโลกธรรม ๘ จึงกล่าวได้ว่า คนที่ไม่เคยถูกนินทาเลยไม่มีในโลก ดังนั้น หากต้องเผชิญกับการถูกนินทาว่าร้ายจึงต้องมีความหนักแน่น หาหนทางแก้ไขด้วยสติ และรู้จักแสวงหากัลยาณมิตรเพื่อปรึกษา
          จุดมุ่งหมาย พุทธศาสนสุภาษิตบทนี้สอนให้เรารู้และเข้าใจเรื่องโลกธรรม และรู้จักวิธีดำเนินชีวิตให้มีความสุข โดยเฉพาะเมื่อต้องเผชิญกับการนินทาว่าร้าย

     ๒.๔ โกธํ ฆตฺวา สุขํ เสติ (ฆ่าความโกรธได้ย่อมอยู่เป็นสุข)
          ความโกรธ หมายถึง ความไม่พอใจหรือขุ่นเคืองใจอย่างแรง เกิดจากการประสบอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา โดยหากเราเกิดความโกรธขึ้นแล้วและปล่อยให้ความโกรธนั้นครอบงำเรานาน ๆ เข้าก็จะกลายเป็นความเคียดแค้นชิงชัง อาฆาตพยาบาท ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องกำจัดหรือฆ่าความโกรธออกเสียจากจิตใจ เพื่อชีวิตจะได้เป็นสุข
          จุดมุ่งหมาย พุทธศาสนสุภาษิตบทนี้มีจุดมุ่งหมายในการสอนให้เราเห็นโทษของความโกรธและคุณค่าของการกำจัดความโกรธ


๓. พระไตรปิฎก
     พระไตรปิฎก เป็นคัมภีร์ที่สำคัญที่สุดทางพระพุทธศาสนาซึ่งบันทึกหลักธรรมคำสอนไว้ถึง ๘๔,๐๐ พระธรรมขันธ์ โดยแยกเป็น ๓ หมวดหมู่ตามลักษณะเนื้อหา


     การศึกษาพระไตรปิฎกก่อให้เกิดประโยชน์ดังนี้
     ๑. มีความรู้ความเข้าใจเรื่องนั้น ๆ ชัดเจน ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา
 


     ๒. มีความเห็นถูกต้องและปฏิบัติได้ถูกต้องตามหลักการของพระพุทธศาสนา อันเนื่องมาจากการมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง
     ๓. ได้รับผลจากการปฏิบัติที่จะเกิดขึ้นอย่างเต็มที่ กล่าวคือ หากเรารู้หลักในการทำความเพียรที่ถูกต้อง ก็จะได้รับผลจากความเพียรนั้นอย่างเต็มที่

     ๓.๑ ลำดับคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา
          คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนามีพัฒนาการตามลำดับชั้นดังนี้
          ๑. บาลีพระไตรปิฎก หรือ บาลีพุทธวจนะ เป็นคัมภีร์ดั้งเดิมที่จารึกหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าลงในใบลาน
          ๒. อรรถกถาหรือวรรณนา เป็นคัมภีร์ขยายความพระไตรปิฎก ถือเป็นหลักฐานชั้นที่ ๒ ประกอบด้วย อรรถกถาพระวินัยปิฎก อรรถกถาพระสุตตันตปิฎก และอรรถกถาพระอภิธรรมปิฎก


          ๓. ฎีกา เป็นคัมภีร์อธิบายเพิ่มเติมอรรถกถาอีกชั้นหนึ่ง ถือเป็นหลักฐานชั้นที่ ๓
          ๔. อนุฎีกา เป็นคัมภีร์อธิบายเพิ่มเติมฎีกา ถือเป็นหลักฐานชั้นที่ ๔
          ๕. สัททาวิเสส เป็นคัมภีร์ที่ว่าด้วยกฎเกณฑ์ทางไวยากรณ์ บาลี อธิบายศัพท์ต่าง ๆ

     ๓.๒ วิธีการศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกและคัมภีร์รองอื่น ๆ
          ๑. อ่านและพยายามทำความเข้าใจ เริ่มอ่านจากเรื่องที่ยอมรับกันว่าเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องรู้ เช่น อริยสัจ ๔ ขณะอ่านก็พยายามทำความเข้าใจว่ามีความหมายอย่างไร วิธีอธิบายเหมือนหรือต่างกันอย่างไร
          ๒. อ่านเพื่อหาความหมายระหว่างบรรทัด
          การหาความหมายระหว่างบรรทัด หมายถึง การพิจารณาบริบทหรือข้อความแวดล้อม เนื่องจากบางเรื่องไม่ได้ระบุไว้ตรง ๆ ในพระไตรปิฎก
 


          ๓. อ่านเพื่อประมวลคำตอบที่หลากหลายในประเด็นเดียวกัน โดยบางเรื่องที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้าหรือหลักธรรมอาจจะมีคำอธิบายหลายนัย เราควรรวบรวมคำตอบทุกนัยไว้
 


          ๔. อ่านและตีความจากภูมิหลังของตน หมายถึง การนำแนวคิดหรือทฤษฎีตามภูมิหลังของตนมาเป็นเครื่องมือในการทำความเข้าใจพระไตรปิฎก
 


บทสรุป
     พุทธะ คือ ผู้ตรัสรู้แล้ว มี ๓ ประเภท คือ สัพพัญญูพุทธะ ปัจเจกพุทธะ และอนุพุทธะ การศึกษาคุณค่าของพุทธะเป็นการศึกษาในรูปของพุทธจริยา ๓ ประการ ได้แก่ โลกัตถจริยา ญาตัตถจริยา และพุทธัตถจริยา

     อริยสัจ ๔ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค เป็นหลักคำสอนที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา หลักคำสอนทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นขันธ์ ๕ (นามรูป) หลักกรรม (นิยาม ๕) อกุศลวิตก (๓) ภาวนา ๔ สัทธรรม ๓ วุฒิธรรม ๔ พละ ๕ อุบาสกธรรม ๕ และมงคล ๓๘ ล้วนสรุปลงในอริยสัจ ๔

     พุทธศาสนสุภาษิต เป็นคำสอนที่มีลักษณะเป็นข้อความสั้น ๆ แต่มีความหมายลึกซึ้ง แฝงไปด้วยข้อคิดหรือคติสอนใจให้ปฏิบัติตาม ส่วนพระไตรปิฎกเป็นคัมภีร์สำคัญที่สุดของพระพุทธศาสนา การศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกและคัมภีร์รองอื่น ๆ มี ๔ วิธี ได้แก่ อ่านและพยายามทำความเข้าใจ อ่านเพื่อหาความหมายระหว่างบรรทัด อ่านเพื่อประมวลคำตอบที่หลากหลายในประเด็นเดียวกัน อ่านและตีความจากภูมิหลังของตน


แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th