บทเรียนออนไลน์ วิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยี เรื่อง เสื้อผ้าน่าใช้
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 77.4K views




ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้



การเลือกผ้า เสื้อผ้า และเครื่องแต่งกาย
การเลือกผ้า
1. เส้นใยจากธรรมชาติ
มีคุณสมบัติดูดซับน้ำและความชื้นได้ดี ซักรีดง่าย ใส่สบาย มีเส้นใยที่ได้จากแร่ใยหิน มีคุณสมบัติ คือ ไม่ติดไฟ จึงนิยมนำมาทำผ้าทนไฟ เช่น ชุดดับเพลิง ถุงมือกันความร้อน
2. เส้นใยสังเคราะห์
ใช้ทดแทนเส้นใยจากธรรมชาติ ปัจจุบันนิยมนำมาทำเป็นเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย มีคุณสมบัติทนยับได้ดี มีความเหนียว ดูแลรักษาง่าย ไม่ทนต่อความร้อน ดูดซับความชื้นได้น้อย
การเลือกผ้าเพื่อนำมาตัดเสื้อผ้า ควรคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้
1. จุดประสงค์ในการซื้อ
2. ราคา
3. ลวดลายและแบบของ ซึ่งมีหลักในการเลือก ดังนี้
1) ผู้ที่มีรูปร่างผอม สูง ควรเลือกผ้าเนื้อหนา ลายดอกใหญ่ เส้นลายขวาง สีอ่อน แบบมีระบาย มีจีบ ติดลูกไม้เป็นชั้น ๆ แขนพอง กระโปรงปลายบาน จะช่วยให้ดูอ้วนขึ้น
2) ผู้ที่มีรูปร่างอ้วน เตี้ย ควรเลือกผ้าเนื้อไม่หนาหรือบางมาก ลายดอกเล็ก ๆ เส้นลายแนวดิ่ง สีเข้ม แบบเรียบ เข้ารูป เสื้อ กระโปรง หรือกางเกงพอดีตัว จะทำให้ดูรูปร่างสมส่วนขึ้น
4. สีของผ้า ซึ่งมีแนวทางในการเลือก ดังนี้
1) วัย วัยเด็กหรือวัยรุ่น ควรเลือกใช้ผ้าสีสดใส ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ควรเลือกใช้ผ้าสีเรียบ
2) ผิว คนผิวขาวหรือผิวเนื้อสองสี สามารถเลือกใช้ผ้าได้ทุกสี คนผิวดำหรือผิวคล้ำควรใช้สีหม่น มีสีเหลืองอ่อนหรือสีเทาปนบ้านจะดูขาวขึ้น ไม่ควรใช้สีเข้มเพราะจะเน้นสีผิวให้ดำยิ่งขึ้น
3) รูปร่าง คนรูปร่างใหญ่ควรเลือกผ้าสีเข้มหรือสีหม่น ส่วนคนที่มีรูปร่างเล็กควรเลือกผ้าสีสดใสหรือสีสว่าง

 


5. โอกาสต่าง ๆ ควรเลือกผ้าให้เหมาะสมกับโอกาส ดังนี้
1) เวลา กลางวันควรเลือกผ้าที่เส้นใยไม่เป็นมัน ส่วนกลางคืนควรเลือกผ้าที่เป็นมันวาว สีสด
2) ไปเที่ยว แต่งตัวได้ตามใจ โดยเลือกสีและลายผ้าให้เหมาะกับตนเอง
3) ไปงานมงคล ควรแต่งกายสุภาพ เลือกใช้สีและลวดลายให้เหมาะกับรูปร่าง
4) ไปงานฌาปนกิจ ควรแต่งกายสุภาพ ไม่ควรใส่เสื้อผ้าที่มีเนื้อผ้าบางเกินไป

การเลือกซื้อเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย
หลักการเลือกซื้อเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย มีดังต่อไปนี้
1. สำรวจความต้องการของตนเอง ว่าซื้อไปใช้เนื่องในโอกาสใด
2. เลือกสถานที่ที่จะซื้อ โดยเลือกร้านที่คิดว่าดีที่สุด ซึ่งจำแนกได้ดังนี้
1) ห้างสรรพสินค้า จะมีเสื้อผ้าให้เลือกทั้งในด้านราคาและคุณภาพ
2) ร้านจำหน่ายเสื้อผ้าลดราคา จะขายเสื้อผ้าลดราคาตลอดทั้งปี
3) ร้านจำหน่ายเสื้อผ้าจากโรงงาน ซึ่งเสื้อผ้าอาจจะทันสมัยหรือมีตำหนิ ราคาจะไม่แพงมาก
4) ร้านจำหน่ายเสื้อผ้าเฉพาะอย่าง ร้านชนิดนี้จะมีทั้งราคาถูกและราคาแพง
3. ตรวจสอบคุณภาพก่อนซื้อ โดยพิจารณาว่าคุณภาพของเนื้อผ้า ราคา ชนิดของผ้า การดูแลรักษา บริษัทผู้ผลิต การตรวจสอบคุณภาพของเสื้อผ้า โดยสอบถามจากผู้ขาย
4. ตรวจดูการตัดเย็บ โดยตรวจดูความประณีตทั้งด้านนอกและด้านในเสื้อผ้า พิจารณาสิ่งต่อไปนี้
1) ลักษณะการเย็บตะเข็บเรียบตรง มีการย้ำตะเข็บบริเวณที่ชำรุดง่าย มีตะเข็บกันลุ่ยเรียบร้อย ส่วนบริเวณที่ตึง เช่น เป้ากางเกงควรจะเย็บ 2 ครั้ง มีซับในตามความเหมาะสม
2) การติดตะขอเกี่ยวแน่น รังดุมถี่ เย็บปลายรังดุมไว้แน่นหนา ซิปรูดได้สะดวก ติดซิปเรียบ และมองไม่เห็นรอยเย็บ
3) การสอยริมผ้า เผื่อเนื้อที่ไว้เพื่อให้ขยายความยาวได้บ้าง และด้านหน้าไม่เห็นรอยเย็บ
5. เลือกสีและแบบ ควรจะเลือกให้เหมาะสมกับตนเอง
6. ลองสวมใส่ก่อนซื้อ ควรเลือกที่หลวมเล็กน้อยและผ้าไม่ยืดหรือย่น
7. ระวังมารยาทในการซื้อ ถ้าเรามีมารยาทดีผู้ขายก็จะยินดีให้บริการ

การเลือกซื้อเสื้อผ้าสำเร็จรูป
การเลือกซื้อกระโปรง ควรพิจารณาจากรอบเอว ถ้าเอวเล็กกว่าสะโพกมากควรพิจารณาเลือกกระโปรงที่พอดีตัวเป็นอันดับแรก ถ้าเป็นกระโปรงทรงเอควรตัดด้วยผ้าทิ้งตัวและมีซับในด้วย ขณะลองควรทดลองนั่งดูว่าสวมใส่สบายหรือไม่ ผ้ายืดหรือย่นหรือไม่
การเลือกซื้อกางเกง แตกต่างกันที่ขนาดรอบเอว กางเกงขาสั้นส่วนใหญ่จะพับปลายขาสอยหรือเย็บจักร ถ้าเป็นกางเกงขายาวมักปล่อยชายไว้ เมื่อผู้ซื้อลองสวมใส่และวัดความยาวพอดีแล้วจึงพับชายสอย ควรตรวจสอบดูให้มีขนาดพอเหมาะ เป้าไม่ตึงหรือหย่อนเกินไป นั่งได้สบาย ขอบเอวด้านในมีผ้าทาบเรียบร้อย กระเป๋าด้านในทำด้วยผ้าเนื้อหนาและทนทาน

 


การเลือกซื้อชุดชั้นใน ควรคำนึกถึงสิ่งต่อไปนี้
1. เลือกแบบที่ไม่ตกแต่งลูกไม้มากนัก
2. ควรเป็นผ้าที่ทำความสะอาดง่าย แห้งเร็ว ซับเหงื่อได้ดี ใช้ได้นาน
3. ตะเข็บเย็บแน่นหนา ฝีเข็มเรียบ ด้ายสีเดียวกับผ้า
4. เลือกขนาดให้พอดีตัว สวมใส่สบาย แนบตัว ไม่คับ
5. อ่านป้ายกำกับสินค้าเพื่อจะได้ทราบถึงคุณภาพและวิธีการดูแลรักษา

การเลือกซื้อรองเท้า พิจารณาดังนี้
1. พื้นรองเท้าหนาพอที่จะป้องกันฝ่าเท้าสัมผัสกับพื้นถนนได้ และไม่ควรมีน้ำหนักมากเกินไป
2. ส้นรองเท้าควรจะยืดหยุ่นได้ สำหรับรองเท้าส้นสูงส่วนใหญ่ทำด้วยวัสดุแข็ง ไม่สามารถยืดหยุ่นได้ จึงควรเลือกรองเท้าที่ส้นไม่สูงเกินไป เพราะจะทำให้เมื่อยเร็ว
3. เลือกรองเท้าที่มีความยาวและความกว้างพอเหมาะกับรูปเท้า
4. รองเท้าที่ดีควรทำจากวัสดุที่มีความยืดหยุ่นดี สะดวกในการดูแล ถ่ายเทอากาศ น้ำหนักเบา
5. ฝีมือการตัดเย็บเรียบร้อย ควรจะตรวจดูทั้งภายในและภายนอก
6. ลองพร้อมกันทั้ง 2 ข้างก่อนซื้อทุกครั้งแล้วเดินสักครู่ เพื่อให้เท้าขยายออกและข้อเท้ากระชับพอดีกับด้านหลังของรองเท้า ถ้าลองรองเท้ากีฬา ควรสวมถุงเท้าและผูกเชือกรองเท้า แล้ววิ่งเหยาะ ๆ 

 


การดูแลรักษาเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย
1. สวมหรือถอดด้วยความระมัดระวัง
2. ไม่ควรนำสิ่งของที่มีความหนาหรือหนักใส่ในกระเป๋าเสื้อหรือกางเกง
3. ไม่ควรนำมือซุกกระเป๋าเสื้อหรือกางเกงตลอดเวลา เพราะอาจทำให้เกิดคราบดำสกปกรก
4. ระมัดระวังเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายขณะทำกิจกรรมต่าง ๆ
5. เมื่อกลับถึงบ้านควรเปลี่ยนเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายที่สวมใส่ไปนอกบ้านก่อนที่จะทำกิจกรรมอย่างอื่น เพื่อป้องกันมิให้เสื้อเกิดรอยยับ สกปรก หรือเกิดการดึงรั้ง ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เสื้อผ้าชำรุด

การลบรอยเปื้อนบนเสื้อผ้า
รอยเปื้อนเลือด แช่ด้วยน้ำเย็นจนรอยเลือดจาง ซักด้วยน้ำอุ่นผสมผงซักฟอก ถ้ายังเหลือรอยเปื้อนให้ใช้สบู่ถูบริเวณรอยเปื้อนขยี้แล้วรีบซักทันที
รอยเปื้อนน้ำมัน โรยแป้งตรงรอยเปื้อน ทิ้งไว้สักครู่แล้วใช้แปรงปัดออก ซักด้วยน้ำอุ่นผสมผงซักฟอก
รอยเปื้อนไข่ ให้แช่ด้วยน้ำเย็น ซักกับน้ำเปล่าหลาย ๆ ครั้ง จนหมดคราบเหนียว และซักด้วยน้ำผสมผงซักฟอก
รอยเปื้อนช็อกโกแลต ซักด้วยน้ำอุ่นผสมผงซักฟอก ใช้แปรงพลาสติกถูเบา ๆ คราบจนหมด
รอยเปื้อนชาและกาแฟ แช่ผ้าในน้ำอุ่นก่อน แล้วใช้น้ำอุ่นรดบริเวณที่เป็นคราบซ้ำหลาย ๆ ครั้ง แล้วซักด้วยน้ำอุ่นผสมผงซักฟอก
รอยเปื้อนหมากฝรั่ง ใช้น้ำแข็งถูบริเวณรอยเปื้อนแล้วแกะออก เช็ดรอยที่เหลือด้วยน้ำมันก๊าด แล้วซักด้วยน้ำอุ่นผสมผงซักฟอก
รอยเปื้อนลิปสติก ใช้ฟองน้ำชุบน้ำมันยูคาลิปตัส หรือกลีเซอรีนเช็ดที่รอยเปื้อน แล้วล้างออกด้วยน้ำ ถ้ายังไม่หมดให้ใช้ฟองน้ำชุบน้ำมันไฟแช็กเช็ดอีกครั้ง
รอยเปื้อนหมึกปากกาลูกลื่น ถ้าหมึกยังไม่แห้งให้เอาเกลือโรยตรงรอยหมึกแล้วถูด้วยมะนาวก่อนซัก ถ้าหมึกแห้งแล้ว จุ่มบริเวณรอยเปื้อนลงในนมสดแล้วนำไปซักด้วยน้ำผสมผงซักฟอก
รอยเปื้อนโคลน แช่น้ำธรรมดา ขยี้หลาย ๆ ครั้ง จนหมด แล้วซักด้วยน้ำผสมผงซักฟอก
รอยเปื้อนสนิมเหล็ก ใช้เกลือป่นโรยที่รอยเปื้อนแล้วถูด้วยมะนาวผ่าซีก ทิ้งไว้สักครู่ ราดด้วยน้ำร้อน นำไปซักด้วยน้ำผสมผงซักฟอกเพื่อล้างคราบสกปรกออก

ข้อแนะนำในการลบรอยเปื้อน มีวิธีการดังต่อไปนี้
1. ลบรอยเปื้อนให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถ้าทิ้งไว้นานจะลบออกยาก หรือลบไม่ออกเลย
2. ทดลองใช้สารลบรอยเปื้อนกับเนื้อผ้าส่วนที่อยู่ด้านในก่อน เช่น ตะเข็บ
3. การใช้สารลบรอยเปื้อนควรทำอย่างรวดเร็ว
4. ใช้สารลบรอยเปื้อนที่มีความเข้มข้นน้อยหลาย ๆ ครั้ง ดีกว่าความเข้มข้นสูงเพียงครั้งเดียว
5. ถ้าไม่แน่ใจว่ารอยเปื้อนนั้นเกิดจากสาเหตุใด ควรใช้ฟองน้ำชุบน้ำสะอาดถูตรงรอยเปื้อนก่อน ปล่อยให้แห้ง แล้วใช้สารลบรอยเปื้อนทำความสะอาด

การซักผ้า
การเตรียมผ้าก่อนซัก ควรปฏิบัติดังนี้
1. ไม่ควรทิ้งผ้าสกปรกไว้นานเกินไป เพราะจะทำให้ซักยาก
2. ตรวจรอยเปื้อน ถ้าเปื้อนไม่มากให้นำไปซักทันที ถ้าเปื้อนมากแยกไปกำจัดรอยเปื้อนต่างหาก
3. ตรวจรอยชำรุด ถ้าชำรุดเล็กน้อยควรซ่อมทันทีแล้วนำไปซัก ถ้าชำรุดมากควรแยกเพื่อนำไปซ่อมแซมตามวิธีที่เหมาะสมก่อน
4. ตรวจดูว่ามีสิ่งใดตกค้างอยู่ เพราะเมื่อเปียกน้ำจะเสียทั้งสิ่งของและเสื้อผ้า
5. แยกผ้าสีตกซักต่างหาก ถ้าไม่แน่ใจว่าสีตกหรือไม่ ให้ลองซักด้านในก่อน
6. แยกเสื้อผ้าเป็นกอง ๆ เช่น เสื้อ กระโปรง กางเกง ผ้าขาว ผ้าสี เสื้อผ้าที่สกปรกมาก เป็นต้น

วิธีการซักผ้าด้วยเครื่องซักผ้า ปัจจุบันมี 2 แบบ คือ แบบธรรมดาและแบบอัตโนมัติ ควรศึกษาวิธีการใช้งานจากคู่มือแนะนำการใช้อย่างละเอียด จะช่วยให้ซักผ้าได้ถูกวิธี เสร็จเร็ว และไม่ชำรุดง่าย

 


ขั้นตอนในการซักผ้าด้วยเครื่องซักผ้า มีดังนี้
1. ตรวจดูความเรียบร้อยและความพร้อมในการใช้งานของเครื่องซักผ้า
2. ปฏิบัติตามขั้นตอนคำแนะนำในการใช้เครื่องซักผ้าอย่างเคร่งครัด
3. ควรเลือกใช้สารสำหรับซักฟอกชนิดที่ใช้กับเครื่องซักผ้าโดยเฉพาะเท่านั้น
4. ทำความสะอาดและจัดเก็บเครื่องซักผ้าทุกครั้งหลังจากใช้งานเสร็จแล้ว

ข้อควรระวังในการใช้เครื่องซักผ้า
1. การตั้งเวลา ความเร็ว และอุณหภูมิที่เหมาะสม จะช่วยถนอมเนื้อผ้า และไม่ทำให้เครื่องชำรุด
2. ขณะเครื่องซักผ้าทำงานอย่ายื่นมือลงไปในถังปั่นซักหรือปั่นแห้งเพราะจะทำให้เกิดอันตรายได้

การตากผ้า
1. ผ้าสีควรตากในที่โปร่งและมีแสงแดดรำไร เพื่อป้องกันสีของผ้าซีดจาง แต่ถ้าผ้าเนื้อหนาควรนำออกตากในที่ที่มีแดดจัดเพื่อจะได้แห้งเร็วและไม่มีกลิ่นอับ
2. ควรใช้ไม่หนีบผ้าหนีบตรงบริเวณที่แข็งแรงที่สุดของเสื้อผ้า
3. ราวตากผ้าที่เป็นโลหะ หากต้องการทำราวตากผ้าแบบชั่วคราวก็ควรใช้เชือกไนลอนสีขาว
4. ไม่ควรตากผ้าในบริเวณที่มีกลิ่นและควัน
5. ขณะตากควรกลับเอาด้านในของเสื้อผ้าออก

การรีดผ้า
1. พรมน้ำบนผ้าที่รีดตามลักษณะของเส้นใยที่ต้องการความชื้นมากหรือน้อย
2. ปรับอุณหภูมิของเตารีดให้เหมาะกับชนิดของผ้า ทดลองระดับความร้อนด้วยการรีดที่ด้านใน
3. ใช้วิธีรีดที่ถูกต้องตามส่วนต่าง ๆ ของเสื้อ
4. ผ้าที่ทอจากเส้นใยสังเคราะห์ รีดเฉพาะตะเข็บและส่วนที่ยับ
5. ควรรีดตามความยาวของเส้นใยผ้า เพราะถ้ารีดตามขวางผ้าจะยืดและเสียรูปทรง
6. เมื่อรีดเสร็จควรปิดสวิตช์และถอดปลั๊กไฟออก ช่วงนี้ความร้อนที่เตายังมีอยู่อาจนำปลอกหมอนหรือผ้าเช็ดหน้ามารีดได้อีก

การเก็บรักษาเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย
1. เก็บในบริเวณที่แห้ง สะอาด
2. พับและแยกเก็บเสื้อผ้าเป็นหมวดหมู่
3. การแขวนเสื้อผ้า ไม่ควรแขวนกับตะปูหรือโลหะอื่น ๆ
4. เสื้อผ้าประเภทผ้ายืด ควรพับเก็บให้เรียบร้อย ไม่ควรแขวน
5. เสื้อผ้าที่ใส่ตามฤดูกาล เมื่อเลิกใช้ควรซักทำความสะอาด และซ่อมแซมให้เรียบร้อย แล้วเก็บใส่กล่องหรือใช้พลาสติกคลุมแล้วแขวนไว้
6. เครื่องแต่งกายอื่น ๆ ควรพับเก็บใส่ตู้เสื้อผ้าหรือกล่องพลาสติกเพื่อความเป็นระเบียบ
7. ควรซ่อมแซมเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายทันทีที่ชำรุด

สิ่งที่ควรปฏิบัติในการเก็บรักษาเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย มีดังต่อไปนี้
1. ตู้เสื้อผ้าควรรักษาให้สะอาดและเช็ดฝุ่นละอองอยู่เสมอ
2. จัดให้เป็นระเบียบ สิ่งใดที่ต้องหยิบใช้บ่อยควรวางไว้ในส่งที่หยิบได้ง่าย
3. เมื่อนำเสื้อผ้าออกไปจากตู้ ควรปิดประตูตู้ให้สนิท เพื่อป้องกันฝุ่นหรือแมลงตัวเล็ก ๆ
4. ควรเปิดตู้เสื้อผ้าเป็นครั้งคราว เพื่อให้อากาศถ่ายเทและป้องกันกลิ่นเหม็นอับ

 


การซ่อมแซมเสื้อผ้า
วิธีการซ่อมแซมเสื้อผ้า
1. การด้น ระยะฝีเข็มถี่ มี 2 แบบคือ
1) การด้นธรรมดาหรือด้นตะลุย เหมาะสำหรับเย็บผ้าบาง ๆ เพื่อตกแต่ง หรือทำจีบรูด
2) การด้นถอยหลัง เป็นการเย็บด้วยมือที่มีฝีเย็บคล้ายกับการเย็บจักร ใช้สำหรับเย็บตะเข็บทั่วไป
2. การเย็บตะเข็บ ใช้สำหรับเย็บริมผ้าหรือต่อผ้าสองผืนให้เป็นผืนเดียวกัน มีวิธีการดังต่อไปนี้
1) การเย็บตะเข็บธรรมดา เป็นการเย็บริมผ้าและเย็บต่อผ้าสองชิ้นให้ติดกัน โดยพับริมผ้าเข้าด้านในสองชั้นให้ได้ขนาดที่ต้องการ รีดผ้าให้เรียบ เนาตรงรอยพับ แล้วเย็บด้นถอยหลังหรือเย็บด้วยจักร และเลาะด้ายเนาออก
2) การเย็บตะเข็บเข้าถ้ำ ใช้สำหรับเย็บผ้าสองชิ้นให้เป็นผืนเดียวกัน เมื่อเย็บแล้วตะเข็บจะเรียบสนิทมองไม่เห็นริมผ้าที่ลุ่ย โดยวางผ้าสองชิ้นซ้อนกัน หันด้านนอกของผ้าออก เนาตลอดแนว เย็บตะเข็บธรรมดาตลอด ใช้กรรไกรตัดริมผ้าใกล้ตะเข็บที่เย็บให้เรียบ เลาะด้านเนาออก แล้วพลิกผ้ากลับ ให้ตะเข็บที่เย็บอยู่ด้านใน เย็บตะเข็บธรรมเกือบชิดตะเข็บเดิม คลี่ผ้าออกรีดให้เรียบ ด้านในจะเห็นรอยเย็บสองแนว ส่วนด้านนอกเห็นเพียงแนวเดียว
3) การเย็บตะเข็บแบนหรือตะเข็บคู่ ใช้เย็บผ้าหนา เป็นตะเข็บใหญ่ แข็งแรงทนทานมากกว่าตะเข็บชนิดอื่น โดยวางผ้าซ้อนกันให้ผ้าชิ้นล่างเหลื่อมกับผ้าชิ้นบนประมาณ 1 เซนติเมตร เนาแล้วเย็บด้วยตะเข็บธรรมดาให้ชิดริมผ้าชิ้นบนกางผ้า เลาะด้ายเนาออก พลิกผ้าชิ้นล่างที่ยื่นทับรอยตะเข็บที่เย็บแล้ว
4) การเย็บตะเข็บลวดหรือตะเข็บกลม ใช้เย็บผ้าให้มั่นคงแข็งแรง โดยไม่ต้องการให้เห็นตะเข็บเด่นชัดเกินไป โดยวางผ้าที่จะเย็บซ้อนกันให้ริมผ้าทั้งสองชิ้นเสมอกัน หันผ้าด้านในออก พับริมผ้าทั้งสองกว้างประมาณ เซนติเมตร ให้แนบกับผ้าผืนใหญ่แล้วเย็บกึ่งกลางผ้าที่พับ ใช้กรรไกรตัดผ้าที่เหลือให้ใกล้รอยตะเข็บที่เย็บ พลิกผ้าผืนใหญ่ให้ตะเข็บล้มทับมิดรอยตัด แล้วเย็บทางด้านนอกอีกครั้ง 
3. การชุน เป็นการซ่อมแซมเสื้อผ้าที่ขาดเป็นรูขนาดเล็ก โดยทั่วไปมี 2 วิธี คือ
1) การชุนแบบสาน ใช้ซ่อมแซมเสื้อผ้าที่มีรอยขาดขนาดเล็กมาก ๆ เริ่มต้นโดยเนารอบรอยขาดเป็นแนวถี่ ๆ รูปสี่เหลี่ยม นำสะดึงมาขึงผ้าให้ตึกพอสมควร ใช้เข็มเย็บข้ามไปมาระหว่างรอยขาดตามแนวที่เนาไว้ให้เป็นเส้นยืน แล้วเย็บตามแนวขวางของผ้า โดยสอดด้ายขึ้น-ลงให้เป็นลายขัดกับเส้นยืนระยะถี่ ๆ เพื่อให้รอยชุนแน่นจนปิดรอยขาดได้สนิท เมื่อจบแนวที่เนาไว้ แล้วผูกปมด้านในของผ้า
2) การชุนแบบรังผึ้ง ใช้ซ่อมแซมเสื้อผ้าที่มีรอยขาดเป็นรูปวงกลม โดยใช้กรรไกรตัดรอยขาดที่ลุ่ยออกเป็นรูปวงกลม นำสะดึงมาขึงผ้าให้ตึงพอสมควร ให้รอยขาดอยู่ตรงกลางเนาถี่ ๆ โดยรอบเพื่อกับผ้าลุ่ย แล้วใช้เข็มเย็บตามแนวรอบรอยขาดเหมือนถังรังดุม เย็บจนครบรอบ พอขึ้นรอบต่อไปให้ใช้วิธีคล้องเส้นด้ายสับหว่างกับแนวเย็บเดิม ทำเช่นนี้จนรอบรอยขาด 
4. การติดตะขอ เวลาใช้จะต้องติดตะขอไว้เป็นคู่ ๆ มีชื่อเรียกตามลักษณะการใช้ ดังต่อไปนี้
1) ตะขอเกี่ยว คือ ตะขอที่มีลักษณะงองุ้ม ใช้เป็นตัวยึดหรือเกาะเกี่ยวกับตะขอรับให้อยู่กับที่
2) ตะขอรับ คือ ตะขอที่ใช้เป็นตัวรับให้ตะขอเกี่ยวมายึดเกาะมี 3 ลักษณะได้แก่
(1) ตะขอรับคงที่ ใช้สำหรับติดขอบกระโปรงหรือขอบกางเกง
(2) ตะขอรับแบบเลื่อน ใช้ติดขอบกระโปรงหรือขอบกางเกงที่ต้องการเลื่อนระยะรอบเอวให้มีขนาดตามต้องการ
(3) ตะขอรับเล็ก ใช้ติดขอบปลายแขนเสื้อ ขอบเสื้อชั้นในสตรี หรือบริเวณสาบเสื้อที่ต้องการให้ขอบชนพอดี ไม่เกยหรือซ้อนทับกัน 

 

 

การติดตะขอใช้วิธีเดียวกัน ต่างกันเฉพาะวิธีวาง ถ้าเป็นตะขอรับแบบเลื่อนจะวางแนวขนานกับขอบกระโปรงหรือกางเกง ถ้าเป็นตะขอรับเล็กจะวางด้านโค้งหันออกริมนอก

ตัวอย่างการซ่อมแซมเสื้อผ้า
การชุนเสื้อ
1. การวิเคราะห์งาน
ลักษณะงาน ต้องศึกษาวิธีการชุน การจัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องเมือในการซ่อมแซมเสื้อผ้า ใช้เวลา 30 นาที
คุณสมบัติของผู้ที่ปฏิบัติงาน ควรเป็นผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับการซ่อมแซมเสื้อผ้า มีความประณีต ละเอียดรอบคอบ สามารถตัดสินใจ และแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง
2. การวางแผนในการทำงาน โดยสร้างแผนที่ความคิด เพื่อให้เห็นภาพของการทำงาน ดังนี้

 




1) เนารอบๆ รอยขาดเป็นแนวถี่ ๆ รูปสี่เหลี่ยม
2) ขึงผ้าด้วยสะดึง สอดใต้รอยขาด ให้รอยขาดอยู่ตรงกลางสะดึง แล้วดึงผ้าให้ตึงพอสมควร
3) ใช้เข็มร้อยด้ายสีเดียวกันกับผ้า เย็บข้ามไประหว่างรอยขาดตามแนวที่เนาไว้เป็นเส้นยืด
4) เย็บตามแนวขวางของผ้า โดยสอดด้ายขึ้นลงให้เป็นลายขัดกับเส้นยืน ระยะถี่ ๆ เพื่อให้รอยชุนแน่นจนปิดรอยขาดได้สนิท เมื่อจบแนวที่เนาไว้ผูกปมด้านในของผ้า
4. การประเมินผลการทำงาน ถ้ายังมองเห็นรอยขาด แก้ไขโดยทำการชุนซ้ำหรือเวลาชุนควรสังเกตแนวการสานของเนื้อผ้า แล้วชุนไปในแนวเดียวกัน ควรประเมินผลการปฏิบัติงานโดยภาพรวม หากพบรายการที่ไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอน ควรบันทึกผลไว้เพื่อนำไปแก้ไขในการทำงานครั้งต่อไป 

การติดตะขอกระโปรง
1. การวิเคราะห์งาน
ลักษณะงาน ต้องศึกษาวิธีการติดตะขอกระโปรง การจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ และเครื่องมือในการซ่อมแซมเสื้อผ้า ใช้เวลาประมาณ 15 นาที
คุณสมบัติของผู้ที่ปฏิบัติงาน ควรเป็นผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับการซ่อมแซมเสื้อผ้าด้วยการติดตะขอ มีความประณีต ละเอียดรอบคอบ สามารถตัดสินใจ และแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง
2. การวางแผนในการทำงาน โดยสร้างแผนที่ความคิดเพื่อให้เห็นภาพรวมของการทำงานดังนี้ 

 




1) วางตะขอเกี่ยวตรงตำแหน่งที่ต้องการติดบนผ้า ร้อยด้ายยาวประมาณ 15–20 นิ้ว มัดปม 2 ทบ
2) แทงเข็มใต้ผ้าตรงกับตำแหน่งที่วางตะขอเกี่ยว แล้วแทงเข็มขึ้นในช่องของตะขอเกี่ยวดึงด้ายให้ตึง
3) แทงเข็มลงบนผ้าใกล้รอยเดิม ระวังอย่าให้เส้นด้ายทะลุออกด้านนอก แทงเข็มขึ้นในช่องเดิม ดึงด้ายให้ตึง ทำเช่นนี้อีก 3–5 ครั้ง แล้วสอดเข็ม (ซ่อนด้ายไว้ใต้ผ้า) ผ่านทะลุขึ้นที่ช่องตะขอเกี่ยวช่องต่อไป ทำจนครบทุกช่อง ผูกปมให้แน่น แล้วตัดด้ายออก

วิธีการติดตะขอรับ


 

1) ร้อยด้าย 2 ทบ มัดปมให้แน่น วางตะขอรับลงบนผ้าสำหรับตะขอรับคงที่ให้วางแนวตั้ง กะระยะให้พอดีกับแนวที่ติดซิปไว้ และตรงกับตำแหน่งที่ติดตะขอเกี่ยวแล้วแทงเข็มใต้ผ้าขึ้นในช่องตะขอรับ และดึงด้ายให้ตึง
2) แทงเข็มลงบนผ้าใกล้กับรอยเดิม แล้วแทงเข็มขึ้นในช่องเก่า ดึงด้ายให้ตึง ทำ 5–6 ครั้ง แล้วสอดเข็มซ่อนด้ายไว้ในผ้า แทงเข็มขึ้นในช่องตะขอรับที่อยู่ตรงกับข้าม ทำวิธีเดียวกับช่องแรก เสร็จแล้วผูกปมให้แน่น และตัดด้ายออก

4. การประเมินผลการทำงาน ถ้าตะขอติดไม่แน่น หรืออยู่ในตำแหน่งที่ไม่ตรงกัน แก้ไขโดยการเลาะด้ายออกแล้วเย็บใหม่ หรือเมื่อลองสวมแล้วติดตะขอไม่ได้ แก้ไขโดยกำหนดตำแหน่งที่วางตะขอใหม่ให้พอดีอีกครั้ง ควรประเมินผลการปฏิบัติงานโดยภาพรวม หากพบรายการปฏิบัติตามขั้นตอน ควรบันทึกผลไว้เพื่อนำไปแก้ไขในการทำงานครั้งต่อไป

การเปลี่ยนยางยืดขอบเอวกางเกง
1. การวิเคราะห์งาน
ลักษณะงาน ต้องศึกษาเกี่ยวกับวิธีการเปลี่ยนยางยืด การจัดเตรียม วัสดุอุปกรณ์ และเครื่องมือ ซ่อมแซมเสื้อผ้า ใช้เวลาประมาณ 30-40 นาที
คุณสมบัติของผู้ที่ปฏิบัติงาน ควรมีความรู้เกี่ยวกับการซ่อมแซมเสื้อผ้าด้วยวิธีเปลี่ยนยางยืด มีความละเอียดรอบคอบ สามารถตัดสินใจ และแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง
2. การวางแผนในการทำงาน โดยแผนที่ความคิดเพื่อให้เห็นภาพรวมของการทำงาน ดังนี้

 



 

1) วัดขนาดยางยืดเส้นใหม่ให้สั้นกว่ารอบเอวจริงประมาณ 2–3 นิ้ว แล้วเลาะขอบกางเกงออกประมาณ 2–3 นิ้ว พอที่จะมองเห็นยางยืด
2) ตัดสายยางยืดเก่าให้ขาด ดึงออก แล้วสอดยางยืดเส้นใหม่เข้าไปและเย็บปลายยางยืดให้ติดกัน
3) เย็บรอยขอบเอวกางเกงที่เลาะไว้ครั้งแรกเข้าที่ให้เรียบร้อย

4. การประเมินผลการทำงาน ถ้ายางยืดที่เย็บไว้หลุดออกจากกันให้เย็บใหม่อีกครั้ง หรือเมื่อลองสวมกางเกงแล้วยางยืดรัดบริเวณเอวแน่นเกินไป แก้โดยวัดขนาดยางยืดกับรอบเอวใหม่ แล้วจึงเย็บติดกัน นอกจากนี้ยังควรประเมินผลการปฏิบัติงานโดยภาพรวม หากพบรายการที่ไม่ได้ปฏิบัติก็ควรบันทึกผลไว้เพื่อนำไปแก้ไขในการทำงานครั้งต่อไป


แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th