บทเรียนออนไลน์ วิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยี เรื่อง ทักษะในการทำงานอาชีพ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 37.1K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้



คุณสมบัติที่จำเป็นในการทำงานอาชีพ
ความรับผิดชอบ
ความรับผิดชอบ หมายถึง การทำงานตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเพื่อให้งานสำเร็จ พร้อมกับยอมรับผลดีหรือผลเสียที่เกิดจากการทำหน้าที่ของตนเองและหาทางปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น

ความขยันหมั่นเพียร
ความขยันหมั่นเพียร หมายถึง ความพยายามในการทำงานหรือทำหน้าที่ของตนเองอย่างแข็งขัน มุ่งมั่นเอาใจใส่อย่างจริงจัง พยายามทำเรื่อยไปจนกว่างานจะสำเร็จ ไม่ปล่อยปละละเลย และไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก

ความมีระเบียบวินัย
ความมีระเบียบวินัย หมายถึง แบบแผนที่วางไว้เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติและดำเนินการให้ถูกลำดับ ถูกที่ มีความเรียบร้อย ถูกต้อง และเหมาะสมกับจรรยาบรรณ ข้อตกลง กฎหมาย และศีลธรรม รวมถึงมีระเบียบวินัยสำหรับควบคุมการประพฤติปฏิบัติให้เป็นแบบแผนเดียวกัน



ความซื่อสัตย์สุจริต
ความซื่อสัตย์สุจริต หมายถึง การประพฤติปฏิบัติตนอย่างตรงไปตรงมาทั้งกาย วาจา และใจ ตามความเป็นจริงทั้งต่อตนเองและผู้อื่น โดยไม่คิดทรยศ ไม่คดโกง และไม่หลอกลวงผู้อื่น
ความประหยัด
ความประหยัด หมายถึง การรู้จักใช้ รู้จักเก็บออม รู้จักประหยัดเวลา ตามความจำเป็นและพอเหมาะพอควร เพื่อให้ได้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าที่สุด ความประหยัดจะทำให้มีทรัพย์สินเงินทอง มีฐานะทางครอบครัวดีขึ้น และทำให้เศรษฐกิจของประเทศชาติดีขึ้นด้วย

ทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานอาชีพ
ทักษะกระบวนการทำงาน
ทักษะกระบวนการทำงานเป็นการลงมือทำด้วยตนเอง โดยมุ่งเน้นฝึกวิธีการทำงานตามขั้นตอนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สามารถทำงานได้บรรลุวัตถุประสงค์ ขั้นตอนของกระบวนการทำงานมีดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 การวิเคราะห์งาน
เป็นการศึกษาข้อมูลเพื่อนำมาวางแผนในการทำงาน ได้แก่ ลักษณะของงาน คุณสมบัติของผู้ปฏิบัติงาน
การวิเคราะห์งานที่สำคัญมี 2 ลักษณะ ได้แก่
1. การวิเคราะห์ลักษณะของงาน
เป็นการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวกับงาน มีวิธีการดังนี้
1) การรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การสำรวจ การตอบแบบสอบถาม เป็นต้น
2) นำข้อมูลที่ได้มาบันทึกลักษณะของงาน ซึ่งข้อมูลที่จะนำมาใช้ในการวิเคราะห์งานจะต้องมีลักษณะดังนี้
(1) มีความถูกต้องและตรงกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น
(2) สามารถตรวจสอบและมีแหล่งข้อมูลที่อ้างอิงได้
(3) มีความครบถ้วน สมบูรณ์ และชัดเจน
(4) มีความเป็นปัจจุบันหรือทันต่อเหตุการณ์

2. การกำหนดคุณสมบัติของผู้ปฏิบัติงาน เป็นการชี้แจงรายละเอียดของผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมในการปฏิบัติงานนั้น การกำหนดคุณสมบัติของผู้ปฏิบัติงานมีดังนี้
1) คุณสมบัติด้านความรู้ ความสามารถ ความถนัดในการทำงาน เพื่อประโยชน์ในการแบ่งงานให้ตรงความสามารถ หรือเพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานได้พัฒนาตนเองให้ตรงกับงานที่ทำ
2) คุณสมบัติด้านทักษะในการทำงาน การทำงานแต่ละชนิดใช้ทักษะที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับลักษณะของงานชนิดนั้น ๆ
3) คุณสมบัติด้านคุณธรรม จริยธรรม และลักษณะนิสัยในการทำงาน เช่น มีความรับผิดชอบ ความประหยัด ความขยัน ความอดทน เป็นต้น

ขั้นตอนที่ 2 การวางแผนในการทำงาน เป็นการกำหนดวัตถุประสงค์และวิธีการไว้ล่วงหน้าอย่างคร่าว ๆ โดยอาศัยข้อมูลจากขั้นตอนที่ 1 มาใช้ประกอบการพิจารณาและตัดสินใจ
ลักษณะของการวางแผนที่ดี มีดังนี้
1) มีความเฉพาะเจาะจง
2) มีความยืดหยุ่น
3) ทำให้เกิดการประสานงาน
4) ต้องได้รับการยอมรับจากฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
5) ทำให้เกิดการควบคุมที่ดี
6) ทำให้สามารถบริหารเวลาได้ดี
7) สามารถนำมาใช้งานได้จริง

การเขียนแผนการทำงาน ส่วนใหญ่จะเป็นแผนระยะสั้นที่มีหัวข้อสำคัญดังนี้
1) งานที่ปฏิบัติ ต้องระบุให้ชัดเจนว่างานที่ทำคืออะไร ขอบข่ายของงานมีมากน้อยเพียงใด
2) วัตถุประสงค์ เป็นผลที่คาดหวังว่าจะเกิดขึ้นในขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการทำงาน
3) กำหนดระยะเวลา ควรระบุระยะเวลาในการปฏิบัติงานให้ชัดเจน เกี่ยวกับวันเริ่มต้น วันสิ้นสุด และระยะเวลาที่ใช้ทั้งหมด
4) วัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องมือ ควรระบุถึงวัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องมือที่ต้องใช้ในการปฏิบัติงานให้ครบถ้วน เพื่อความสะดวกและช่วยผ่อนแรงในขณะปฏิบัติงาน
5) วิธีการทำงาน ควรระบุวิธีการทำงานเป็นลำดับขั้นตอนก่อนหรือหลังเพื่อให้ทำงานได้ง่าย ลดความซับซ้อน และสิ้นเปลืองเวลา
6) ผู้รับผิดชอบ ควรระบุผู้รับผิดชอบงานนั้น ๆ ให้ชัดเจนว่าจะให้ใครทำ เป็นงานคนเดียวหรืองานกลุ่ม ซึ่งต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับความรู้ความสามารถของแต่ละคน
7) งบประมาณ เป็นการประมาณการเกี่ยวกับรายจ่ายที่จ้องใช้ในกระบวนการทำงานให้ชัดเจน โดยกำหนดเป็นจำนวนเงินหรือตัวเลข เพื่อให้สามารถคาดคะเนปัจจัยที่จำเป็นต้องใช้ในการทำงาน
8) สถานที่ ควรระบุสถานที่ที่จะปฏิบัติงาน โดยเลือกสถานที่ที่เดินทางสะดวกและเหมาะสมกับการปฏิบัติงาน

ขั้นตอนที่ 3 การปฏิบัติงานตามลำดับขั้นตอน เป็นการลงมือตามแผนที่วางไว้ เพื่อให้งานสำเร็จตามวัตถุประสงค์ การลงมือทำงานในขั้นตอนนี้ต้องมีการควบคุมด้วย เพราะบางคนวางแผนไว้อย่างละเอียด แต่ไม่ได้ปฏิบัติตามซึ่งอาจทำให้เกิดผลเสียตามมาได้ นอกจากนี้ควรตรวจสอบความก้าวหน้าของแผนด้วย บางครั้งอาจมีการปรับเปลี่ยนแผนเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิดมากก่อน
ขั้นตอนที่ 4 การประเมินผลการทำงาน สามารถประเมินได้ทั้งก่อนทำงาน ขณะทำงาน และหลังจากทำงานเสร็จแล้ว ซึ่งทำให้ทราบว่างานที่ทำประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้หรือไม่ ถ้าไม่สำเร็จมีสาเหตุมาจากอะไร และมีวิธีการปรับปรุงแก้ไขอย่างไร โดยสรุปเป็นแผนที่ความคิดดังนี้



ทักษะกระบวนการแก้ปัญหา
กระบวนการแก้ปัญหา
มีขั้นตอนดังต่อไปนี้
1. การพิจารณาปัญหา
เป็นการกำหนดปัญหา สังเกต และทำความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้น โดยสังเกตลักษณะของปัญหาและพยายามมองให้ถูกจุด
2. การวิเคราะห์ปัญหา
โดยแยกแยะว่าปัญหาที่ต้องการแก้ไขนั้นมีสภาพเป็นอย่างไร เป็นต้น แล้วรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ พิจารณาว่า ข้อมูลหรือเงื่อนไขที่กำหนดมีเพียงพอที่จะแก้ปัญหาหรือไม่ ถ้าไม่พอก็ควรหาเพิ่มเติม
3. การสร้างทางเลือกในการแก้ปัญหา
หมายถึง การคิดแก้ปัญหาด้วยวิธีการที่หลากหลาย จนสามารถแก้ปัญหานั้น ๆ ได้หรือไม่

ทักษะการทำงานร่วมกัน
การทำงานร่วมกับผู้อื่น หมายถึง การทำงานร่วมกับผู้อื่นตั้งแต่สองคนขึ้นไป โดยมีวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายในการทำงานอย่างเดียวกัน สมาชิกในกลุ่มรู้จักหน้าที่ของตนเอง และยึดหลักของการทำงานเป็นกลุ่มเป็นสำคัญ รวมทั้งการมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีเพื่อดำเนินงานต่าง ๆ ให้ประสบผลสำเร็จ

กระบวนการในการทำงานร่วมกัน มีขั้นตอนดังนี้
1. การเลือกหัวหน้ากลุ่ม
หรือผู้นำ คือ ผู้ที่ทำให้งานสำเร็จตามเป้าหมายโดยอาศัยความร่วมมือจากสมาชิกในกลุ่ม หัวหน้ากลุ่มที่มีความสามารถจะสร้างวิสัยทัศน์ร่วมกับกลุ่ม เป็นศูนย์กลางในการประสานพลัง เพื่อดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการได้
2. การกำหนดเป้าหมาย เป็นตัวกำหนดสิ่งที่กลุ่มต้องการว่าคืออะไร สมาชิกในกลุ่มจะต้องมีเป้าหมายตรงกัน มีความชัดเจน และมองเห็นผลที่จะได้รับเมื่อปฏิบัติงานเสร็จ
3. การวางแผนในการทำงาน เป็นการกำหนดกิจกรรมไว้ล่วงหน้าว่าจะต้องทำอะไรบ้าง แบ่งหน้าที่ในการทำงานอย่างไร มีขั้นตอนอย่างไรเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ซึ่งการวางแผนที่ดีจะช่วยให้บรรลุเป้าหมายได้ง่ายขึ้น และจะต้องอาศัยวิสัยทัศน์ของสมาชิกในกลุ่มด้วย
4. การแบ่งงานตามความสามารถ เป็นการป้องกันปัญหาการก้าวก่ายหน้าที่ซึ่งกันและกันหรือการทำงานที่ซ้ำซ้อนกัน ซึ่งเป็นหน้าที่ของหัวหน้ากลุ่มที่จะมอบหมายงาน
5. การปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่ เมื่อสมาชิกแต่ละคนได้รับมอบหมายงาน จึงลงมือปฏิบัติตามหน้าที่และควบคุมการปฏิบัติงานของตนเองให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ดังนี้



1) บทบาทหน้าที่ของหัวหน้ากลุ่ม มีดังนี้
(1) เป็นผู้จัดการงานต่าง ๆ ให้ดำเนินไปสู่เป้าหมายและบรรลุตามวัตถุประสงค์
(2) เป็นผู้นำในการวางแผนการทำงานและทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับสมาชิกในกลุ่ม
(3) เลือกสรรบุคคลและมอบหมายงานให้แก่สมาชิกในกลุ่มได้อย่างเหมาะสม
(4) เป็นศูนย์กลางในการประสานพลังความสามัคคี เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกันได้
(5) กระตุ้นและจูงใจให้สมาชิกในกลุ่มทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
(6) ให้คำแนะนำ อธิบายวิธีการทำงาน ช่วยแก้ปัญหา และให้ความช่วยเหลือสมาชิก
(7) สรรหาเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาช่วยในการทำงานให้สะดวก เร็วขึ้น และมีคุณภาพขึ้น
(8) สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับกลุ่มในทิศทางที่เหมาะสม
(9) ส่งเสริมให้สมาชิกในกลุ่มได้พัฒนาความรู้เกี่ยวกับการทำงานในส่วนที่รับผิดชอบ



2) บทบาทและหน้าที่ของเลขานุการกลุ่ม มีดังนี้
(1) รับคำสั่งจากหัวหน้ากลุ่มไปถ่ายทอดให้แก่สมาชิกในกลุ่ม
(2) จดบันทึกการประชุมและสรุปรายงานการประชุม
(3) ติดต่อประสานงานระหว่างสมาชิกภายในกลุ่มและภายนอกกลุ่ม
3) บทบาทและหน้าที่ของสมาชิกในกลุ่ม มีดังนี้
(1) มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้ากลุ่ม
(2) ปฏิบัติตามคำสั่งที่ได้รับจากหัวหน้ากลุ่มอย่างเต็มที่
(3) เข้าร่วมประชุมกลุ่มเพื่อวางแผนการงาน
(4) ให้ความร่วมมือกับกลุ่มในการทำงานให้สำเร็จตามเป้าหมาย
(5) เป็นผู้รับฟังหรือผู้พูดที่ดีและแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงาน

6. การประเมินผลและปรับปรุงงาน เป็นขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการทำงานร่วมกัน ทำให้ทราบว่าการทำงานของกลุ่มบรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้หรือไม่ หรือมีข้อบกพร่องใดเพื่อนำมาปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น
หลักการในการทำงานร่วมกัน ควรยึดหลักดังนี้
1. รู้จักบทบาทหน้าที่ของตนเอง โดยแต่ละคนมีบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบที่แตกต่างกัน จึงควรปฏิบัติหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด
2. มีทักษะในการสื่อสาร วิธีการติดต่อสื่อสารมี 3 วิธี ได้แก่
1) การสื่อสารด้วยวิธีการเขียน
2) การติดต่อสื่อสารด้วย
3) การติดต่อสื่อสารด้วยท่าทาง
3. มีคุณธรรมในการทำงาน เป็นลักษณะนิสัยที่ดีที่ควรปฏิบัติ เพื่อให้ได้รับความร่วมมือในการทำงาน และประสบผลสำเร็จ คุณธรรมสำคัญที่ควรมี ได้แก่ ความรับผิดชอบ ความซื่อสัตย์ เป็นต้น
4. สรุปผลการทำงานร่วมกัน เช่น การอภิปราย การแสดงความคิดเห็น เป็นต้น
5. การนำเสนอผลงาน เป็นการนำผลจากการทำงานมาเผยแพร่ให้แก่ผู้ที่สนใจ ซึ่งข้อมูลที่จะนำเสนอควรมีความน่าเชื่อถือและสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไปได้
มนุษยสัมพันธ์ในการทำงานร่วมกัน การทำงานร่วมกันต้องมีสัมพัทธภาพที่ดีต่อกัน เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกันอย่างมีความสุข และทำให้ได้รับการสนับสนุน ช่วยเหลือ และพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ผู้ที่มีมนุษยสัมพันธ์ดีมักมีคุณลักษณะดังนี้
1) มีความเป็นตัวของตัวเอง แสดงพฤติกรรมต่าง ๆ อย่างแท้จริง ไม่เสแสร้ง
2) มีความกระตือรือร้น ให้ความร่วมมือในการทำงาน หรือมีความกระตือรือร้นในการช่วยเหลือกิจกรรมต่าง ๆ ของกลุ่ม
3) เป็นผู้ฟังที่ดี รับฟังข่าวสารข้อมูล เหตุการณ์ และรับความรู้สึกต่าง ๆ จากบุคคลอื่นอย่างตั้งใจและเต็มใจ
4) มีวาจาไพเราะ โดยสนทนาด้วยคำพูดที่สุภาพ ไพเราะและอ่อนหวาน ซึ่งทำให้เกิดมิตรภาพและสามารถรักษาความสัมพันธ์กับบุคคลที่ร่วมงานกันไว้ได้
5) มีความซื่อสัตย์ แสดงความจริงใจต่อผู้ร่วมงาน ซื่อตรงต่อหน้าที่ และรักษาคำพูด
6) มีความอดทน ต่อคำพูดและการกระทำของผู้ร่วมงาน โดยการให้อภัย และใจกว้าง
7) มีความสามารถในการปรับตัว เพื่อให้เข้ากับเพื่อนร่วมงานได้ดี

ทักษะการแสวงหาความรู้
ทักษะการแสวงหาความรู้ คือ วิธีการและกิจกรรมที่มุ่งเน้นให้นักเรียนได้ศึกษาค้นคว้าเพื่อนำไปใช้ประกอบการเรียนเนื้อหาต่าง ๆ หรือการทำงานอาชีพ เป็นการพัฒนาตนเองให้มีความก้าวหน้า ทันสมัย และสามารถดำรงชีวิตอยู่กับความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีได้อย่างมีความสุข
ทักษะแสวงหาความรู้มี ขั้นตอนดังนี้
1. การศึกษาค้นคว้า หมายถึง การศึกษาค้นคว้าข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ได้แก่ บุคคล สถานที่ สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์



2. การรวบรวมข้อมูลความรู้ โดยนำความรู้ที่ได้จากการศึกษาค้นคว้ามาคัดแยก จัดกลุ่มความรู้เป็นหมวดหมู่ เพื่อให้สะดวกต่อการค้นหาและนำไปอ้างอิงในเรื่องต่าง ๆ
3. การสังเกต มีความสำคัญมาก เพราะจะได้รับความรู้ที่ช่วยให้ปฏิบัติงานได้ราบรื่น สิ่งที่ควรสังเกต ได้แก่ บุคคลในองค์กร วิธีการทำงาน วัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องมือเครื่องใช้ รวมทั้งสภาพแวดล้อมในการทำงาน
4. การสำรวจ เป็นการสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานอาชีพ เพื่อที่จะนำผลจากการสำรวจไปใช้ในการปรับปรุงการทำงาน ข้อมูลที่นิยมสำรวจ เช่น ความพึงพอใจในการปฏิบัติงาน เป็นต้น
5. การบันทึก เป็นการจดสาระที่ได้จากการศึกษาค้นคว้า การรวบรวมข้อมูลความรู้ การสังเกต และการสำรวจ เพื่อเป็นหลักฐานของการค้นพบ โดยสร้างแบบบันทึกให้เหมาะสมกับวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล

ทักษะการจัดการ
ทักษะการจัดการเป็นความพยายามของบุคคลที่จะจัดระบบงานและจัดระบบคน เพื่อให้ได้ผลงานสำเร็จตามเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ มีขั้นตอนดังนี้
1. การตั้งเป้าหมาย
เป็นการกำหนดสิ่งที่ต้องการได้รับจากการทำงานไว้ล่วงหน้า ซึ่งอาจเป็นเป้าหมายระยะสั้น ระยะยาว หรือเป้าหมายที่มีการเปลี่ยนแปลงได้
2. การวิเคราะห์ทรัพยากร เป็นการพิจารณาว่าทรัพยากรที่นำมาใช้สามารถทำให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่ ทรัพยากรที่เป็นปัจจัยสำคัญของการจัดการมี 4 อย่าง ซึ่งมักเรียกโดยย่อว่า 4M ดังนี้
1) คน (Man) หมายถึง ผู้ปฏิบัติงาน
2) วัสดุสิ่งของ (Material) หมายถึง วัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องมือที่นำมาใช้ในการทำงาน
3) เงิน (Money) ซึ่งนำมาใช้จัดซื้อวัสดุ เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน
4) การจัดการ (Management) หมายถึง ความรู้เกี่ยวกับการจัดการ ผู้ดำเนินงานหรือผู้จัดการจำเป็นต้องรู้ เพื่อช่วยให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการ เช่น เวลา เครื่องจักรกล และการตลาด ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้จัดการควรคำนึงถึง
3. การวางแผนและกำหนดทรัพยากร เป็นการกำหนดกิจกรรมไว้ล่วงหน้าว่า จะต้องทำอะไร สิ่งใด อย่างไร เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างเหมาะสม และเกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งมีดังนี้
1) วัตถุประสงค์ หรือเป้าหมาย
2) กิจกรรมในการวางแผน
3) กำหนดทรัพยากร
4) วิธีการปฏิบัติงาน
อย่างไรก็ดี ควรมีการกำหนดกรอบการทำงานและแนวทางในการปฏิบัติงานว่า งานแต่ละส่วนจะให้ใครรับผิดชอบงานใด เป้าหมายข้อใดที่ต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อน และควรทำอย่างไรจึงจะก้าวไปสู่เป้าหมายได้
4. การปฏิบัติตามแผนและการปรับแผน เป็นการนำแนวทางปฏิบัติงานที่กำหนดมาดำเนินการให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายที่ตั้งไว้ หรือปรับเปลี่ยนแผนที่วางไว้ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่จะเกิดขึ้น
5. การประเมินผล เป็นการตรวจสอบเพื่อให้ทราบว่าการปฏิบัติงานของตนเองหรือของทีมงานบรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้หรือไม่
ทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานอาชีพยังมีอีกมากมาย ซึ่งสามารถเลือกนำไปใช้ให้เหมาะกับการทำงานอาชีพต่าง ๆ นักเรียนจึงควรฝึกทำงานตามขั้นตอนของทักษะต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความรู้ ความชำนาญ เมื่อมีโอกาสไปประกอบอาชีพจะได้นำไปใช้ให้ถูกต้องเหมาะสม


แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th