วันเหมายัน ปรากฏการณ์ตะวันอ้อมข้าว - วันทักษิณายัน
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 29.1K views



          วันเหมายัน (เห-มา-ยัน) หรือ วันทักษิณายัน (winter solstice) ภาษาชาวบ้าน เรียก “วันตะวันอ้อมข้าว” จะเกิดขึ้นในวันที่ 21 (บางตำราก็ว่า 22) ธันวาคมของทุกปี
 

         สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยว่า วันเหมายัน (เห-มา-ยัน) กลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปี


         ประเทศทางซีกโลกเหนือนับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูหนาว ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูร้อน 

 

            ในแต่ละวันดวงอาทิตย์จะปรากฏในตำแหน่งต่าง ๆ กัน ประมาณวันละ 1 องศา ในวันที่ 21-22 ธันวาคมนี้ ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด ส่งผลให้ช่วงกลางวันจะสั้นและช่วงกลางคืนจะยาวนานที่สุดในรอบปี   ดวงอาทิตย์จะขึ้นเวลาประมาณ 06.36 น. และจะตกลับขอบฟ้า เวลาประมาณ 17.55 น. (เวลา ณ กรุงเทพฯ) รวมระยะเวลากลางวันเพียง 11 ชั่วโมง 19 นาทีเท่านั้น เราจึงรู้สึกว่าท้องฟ้าจะมืดเร็วกว่าช่วงเวลาอื่น ๆ ของปี

 

        สำหรับประเทศในเขตซีกโลกเหนือ จะเป็นวันที่มีกลางคืนยาวนานที่สุดและมีกลางวันสั้นที่สุด เนื่องจากเป็นวันที่ดวงอาทิตย์ ปรากฏเสมือนโคจรไปถึงจุดหยุด (solstice) ทางใต้สุด โลกเอียงด้านขั้วโลกใต้เข้าหาดวงอาทิตย์มากที่สุด ทำให้ดวงอาทิตย์อยู่ห่างจากขั้วโลกเหนือมากที่สุด ทำให้ซีกโลกเหนือ มีเวลากลางคืนยาวนานที่สุดและกลางวันสั้นที่สุด และบางส่วนของขั้วโลกเหนือ จะไม่เห็นดวงอาทิตย์เลย


winter-solstice1

winter-solstice2

 

                ปรากฏการณ์นี้จะตรงข้ามกับประเทศทางซีกโลกใต้ 

                ซีกโลกใต้จะเอียงเข้าหาดวงอาทิตย์มากที่สุด จึงได้รับแสงอาทิตย์มาก อากาศทางซีกโลกใต้จึงร้อน และในวันดังกล่าว ประเทศทางซีกโลกใต้ เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และประเทศต่างๆในทวีปอเมริกาใต้ จึงเป็นวันที่กลางคืนสั้นที่สุดและกลางวันยาวนานที่สุด 

                โดยในวันที่ 21 ธันวาคม สำหรับทางซีกโลกเหนือจะเรียก วันเหมายัน หรือ winter solstice ขณะที่ทางซีกโลกใต้ จะเรียกวันดังกล่าวนี้ว่า วันครีษะมายัน หรือ summer solstice
 

sun-summer-nz ดวงอาทิตย์ยังอยู่สูงจากขอบฟ้าในวันที่ 21 ธันวาคม 2556 เวลาประมาณ 18.00 น.
เมือง Hamilton, NewZealand

 

ความเชื่อเรื่อง ตะวันอ้อมข้าว :
                เนื่องจากวันที่ 21-22  ธันวาคมของทุกปี เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงใต้มากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงใต้มากที่สุด (ดูภาพที่ 2) ช่วงเวลาดังกล่าวนี้ เป็นช่วงที่ข้าวกำลังสุกพอดี ตำนานเลยกล่าวว่า เมื่อพระเเม่โพสพกำลังตั้งท้อง คือ ข้าวตั้งท้อง พระอาทิตย์แสดงความเคารพ คือ ไม่เดินข้ามศีรษะของพระเเม่โพสพจึงเดินอ้อมไปทางใต้ จึงเป็นเหตุให้เรียกว่า วันตะวันอ้อมข้าว

                และเรียกช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์คล้อยไปทางใต้ว่า ช่วงตะวันอ้อมข้าว เป็นช่วงฤดูหนาว ที่กลางวันสั้น กลางคืนยาว

 

 

เรียบเรียงโดย ศักดิ์อนันต์ อนันตสุข
ขอขอบคุณ
ภาพประกอบ 1 จาก : https://www.yclsakhon.com/images/sub_1324499423/Slide01.jpg
ภาพประกอบ 2 จาก : https://www.yclsakhon.com/images/sub_1324499423/Slide02.jpg 

- See more at: https://www.astroeducation.com/content/context/winter-solstice-21-of-december/#sthash.Okw2Vr2J.dpuf

 

เรียบเรียงจาก 

- กระปุกดอทคอม

- ไทยพีบีเอส นิวส์ 

ดาราศาสตร์ศึกษา