การตกแต่งผ้า ด้วยเทคนิค มัดเพ้นท์ (Tile dye and painting)
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 11.8K views



การตกแต่งผ้า ด้วยเทคนิค มัดเพ้นท์ (Tile dye and painting)

 

           การตกแต่งผ้าด้วยเทคนิคมัดเพ้นท์ เป็นกรรมวิธีย้อมผ้าที่อาจารย์จรัสพัฒน์ วงษ์วิเศษ อาจารย์ประจำสาขาวิชาศิลปหัตถกรรม วิทยาลัยเพาะช่าง เป็นผู้คิดเทคนิคกรรมวิธีการย้อมสีขึ้นมาใหม่ และตั้งชื่อการย้อมประเภทนี้ว่า “เทคนิคมัดเพ้นท์” มัดเพ้นท์เป็นการทำให้เกิดลวดลายบนผืนผ้าในลักษณะของการทำให้ด่าง (Resist Dyeing) คือ การเอาวัสดุหรืออุปกรณ์อย่างอย่างใดอย่างหนึ่งมาปิดบังส่วนใดส่วนหนึ่งของผ้า เพื่อมิให้สีแทรกซึมเข้าไปในผืนผ้าได้โดยสะดวก โดยวิธีการมัด ผูก ปิด เนา หรือกดทับผืนผ้าที่จะใช้ตรงส่วนนั้นเพื่อให้เกิดรอยด่างขึ้น ลักษณะการทำผ้ามัดเพ้นท์จะแตกต่างกับการทำผ้าบาติก โดยผ้าบาติกจะใช้เทียนเขียนบนผืนผ้าเพื่อกันไม่ให้สีซึมเข้าไปได้ ส่วนการย้อมสีของการทำผ้ามัดเพ้นท์จะใช้การผูกเป็นตัวกันเพื่อไม่ให้สีซึมเข้าไปในเนื้อผ้าได้ การทำผ้ามัดเพ้นท์สามารถใช้สีได้หลายประเภท สามารถย้อมได้ทั้งสีที่ใช้ความร้อน และสีย้อมเย็น

 

วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำผ้าเทคนิคมัดเพ้นท์

  1. ผ้ามัสลิน ผ้าฝ้าย ผ้าลินิน ผ้าเรยอง ผ้าสปัน ผ้าแพรเยื่อไม้ ผ้าไหมจีน ผ้าไหม (ผ้าที่เป็นใยธรรมชาติและผ้าใยโปรตีน)
  2. เชือกฟาง หนังยาง ด้ายเบอร์ 8
  3. สีรีเอ็คทีฟ (Reactive) โซดาแอ๊ซ สบู่เทียม หรือผงซักฟอก
  4. ถุงมือ ภาชนะที่ผสมสี ช้อนตวง
  5. เตาแก๊ส กะละมังเคลือบ กะลามังพลาสติก ไม้พาย

 

ผ้าที่เหมาะสำหรับใช้ในเทคนิคมัดเพ้นท์

  1. เส้นใยฝ้าย (Cotton)
  2. เส้นใยไหม (Silk)
  3. เส้นใยเซลลูโลส (Cellulose)

 

ประเภทสีที่ใช้

  1. สีรีแอ็คทีฟ (Reactive)
  2. สีที่ใช้ในงานผ้าเทคนิคบาติก

 

การชั่งตวงสีและสารเคมี

     สี 3 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำอุ่น 50 ซีซี ละลายให้เข้ากัน และผสมน้ำเย็นอีก 600 ซีซี

 

หาค่าเคมีที่ใช้เพ้นท์ผ้า

    โซดาแอ็ซ 3 ช้อนโต๊ะ / น้ำ 1 ขัน

 

การทดสอบผ้า

  1. ผ้าที่เป็นเส้นใยจากพืช เมื่อถูกเผาจะมีกลิ่นคล้ายกระดาษไหม้มีลักษณะเถ้าเปื่อยยุ่ยเหลือเพียงเล็กน้อย
  2. ผ้าที่เป็นเส้นใยจากสัตว์ เมื่อถูกเผาจะมีกลิ่นคล้ายผม หรือขนไหม้มีลักษณะเถ้ากรอบเป็นสีดำหรือสีน้ำตาลไหม้
  3. ผ้าที่เป็นเส้นใยประดิษฐ์ เมื่อถูกเผาจะมีกลิ่นคล้ายกรดส้มฉุดหดตัวเร็ว หรือลุกไหม้เป็นเปลว มีลักษณะไม่มีเถ้าตรงส่วนที่ถูกเผาจะเป็นก้อนแข็งคล้ายพลาสติก

การทดสอบผ้าที่มีแป้งผสมอยู่ทดสอบได้โดยการนำไอโอดีนหยดลงไปที่ริมผ้า ถ้าไอโอดีนติดผ้าเป็นสีเหลืองแสดงว่าผ้าที่จะใช้นั้นไม่มีแป้ง หากผ้าที่ใช้ถูกไอโอดีนแล้วเปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นสีม่วงหรือสีดำแสดงว่าผ้าที่นำมาใช้นั้นมีแป้งผสมอยู่มากหรือน้อย สังเกตได้จากสีของไอโอดีน

 

การต้มผ้าฝ้าย (Cotton)

    ใช้น้ำ อัตราส่วน (L:R)   =  1:20

    โซดาแอ๊ส  = 1 กรัม / ลิตร

    สบู่เทียมหรือผงซักฟอก  =  1 กรัม / ลิตร

    อุณหภูมิ   =  100 C

    เวลาในการต้ม   =   60 นาที

    เสร็จแล้วนำไปซักน้ำสะอาด   2-3 ครั้ง

 

การต้มผ้าไหม

    ใช้น้ำ อัตราส่วน (L:R)   =  1:20

    น้ำยาซันไรท์  = 1 กรัม / ลิตร

    อุณหภูมิ   =  70-90 C

    เวลาในการต้ม   =   60 นาที

    เสร็จแล้วนำไปซักน้ำสะอาด   2-3 ครั้ง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ขั้นตอนการตกแต่งผ้าด้วยเทคนิคมัดเพ้นท์ (Decorated Cloth with TiePaint Techniques)

  1. นำผ้าที่มัดตามรูปแปบบที่ได้ออกแบบไว้แล้ว
  2. นำน้ำยาโซดาแอ๊ซที่ละลายน้ำแล้วใส่หรือหยดลงบนผ้าที่มัดไว้ประมาณ 1ช้อนโต๊ะ ทั้งด้านบนและด้านล่าง
  3. ใช้มือกดหรือบีบผ้า เพื่อให้น้ำโซดาแอ๊ซ ซึมเข้าไปด้านใน
  4. นำน้ำสีที่ละลายไว้ใส่หรือหยดลงบนผ้าที่มัดไว้ตั้งแต่ 1 สี ถึง 3 สีหรือมากกว่า
  5. ใช้มือกดหรือบีบเพื่อให้น้ำสี และน้ำยาโซดาแอ๊ซแทรกซึมเข้าไปในผืนผ้าที่มัดไว้ให้ทั่วทั้งผืน
  6. เมื่อเสร็จแล้วนำผ้าไปตากแดดหรือลมเพื่อให้แห้งและให้เกิดรอยคราบหรือจะใช้ไดรเป่าผมเป่าให้แห้งแล้วจึงนำผ้ามาแกะเอาหนังยางหรือเชือกฟางออก
  7. นำผ้ามาตากหรือรีดให้แห้ง เมื่อแห้งแล้วนำมาชุบน้ำยาโซเดียมซิลิเกต บิดให้หมาดหมักทิ้งไว้ประมาณ 8-12 ชั่วโมง
  8. เมื่อครบกำหนดเวลา จึงนำผ้ามาล้างน้ำเปล่า 1 ครั้ง ซักน้ำผงซักฟอก 1 ครั้ง ตามด้วยน้ำเปล่า 3 ครั้ง จากนั้นนำผ้ามาแช่น้ำส้มสายชูประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ ละลายน้ำท่วมผ้าต่อผ้า 1 ผืนใช้เวลาประมาณ 10 นาที
  9. เมื่อครบกำหนดเวลาให้ซักด้วยน้ำผงซักฟอก 1 ครั้ง และล้างน้ำเปล่า 3 ครั้งให้สะอาดแล้วนำมาแช่น้ำยาปรับผ้านุ่ม 1 ช้อนโต๊ะต่อผ้า 1 ผืนน น้ำท่วมผ้าใช้เวลาประมาณ 10 นาทีครบกำหนดเวลาจึงบิดผ้านำไปตากให้แห้งและนำมารีดเรียบร้อยเป็นอันเสร็จขั้นตอนขบวนการตกแต่งด้วยเทคนิคมัดเพ้นท์

ที่มา : วารสารเพื่อการพัฒนาวิชาชีพครู วิทยาจารย์ 111 ปี ฉบับที่ 3 เดือน มกราคม 2556
ผู้เขียน : ผศ. สัณฐิติ บุษปฤกษ์