ลหุ/ครุ สั้น/ยาว เบา/หนัก (๖)
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 10.2K views



ลหุ/ครุ สั้น/ยาว เบา/หนัก (๖)

             เพื่อให้เห็นการใช้ ครุ ลหุ ได้อย่างชัดเจน ขอให้ดูโครงสร้างของ อินทรวิเชียร ๑๑ โดยดัดแปลงให้เครื่องหมาย - แทนลหุ และเครื่องหมาย / แทนครุ ดังนี้

ครุ ครุ ลหุ ครุ ครุ ลหุ ลหุ ครุ ลหุ ครุ ครุ

/ / - / / - - / - / /

เพราะสองยังเปนใจ ฤไทยสัตวยังหุนหวน

/ / - / / - - / - / /

ครุกรรมมูลมวญ บมิแจ้งมโนใน

/ / - / / - - / - / /

จะเห็นได้ว่า "เพราะ" และ "ครุ" กลายเป็น ครุ ไม่ใช่ ลหุ

อาจจะมีผู้สงสัยว่า ทำไม "ยัง" กับ "ไทย" จึงเป็น ลหุ

เมื่อลองแทนค่าลำดับเสียงหนักตามเกณฑ์ที่ ศาสตราจารย์ ดร.อุดม วโรตมสิกขดิตถ์ กล่าวไว้ข้างต้นจะได้ดังนี้ คือ

เพราะสองยังเปนใจ ฤไทยสัตวยังหุนหวน

/ / - / / - - / - / /

๓ ๒ ๕ ๒ ๕ ๗ ๕ ๖ ๕ ๕ ๑

ครุกรรมมูลมวญ บมิแจ้งมโนใน

/ / - / / - - / - / /

๘๗ ๕ ๘ ๒ ๑ ๗๗ ๓ ๘ ๔ ๕

เมื่อนำรูปแบบการลงเสียงเน้นเข้าไปประกอบจะได้ดังนี้ (น = หนัก, บ = เบา)

เพราะสอง ยังเปนใจ ฤไทยสัตว ยังหุนหวน

/ / - / / - - / - / /

๓ ๒ ๕ ๒ ๕ ๗ ๕ ๖ ๕ ๕ ๑

น น บ น น บ บ น บ น น

ครุกรรม (มะ)มูลมวญ บมิแจ้ง มโนใน

/ / - / / - - / - / /

น น บ น น บ บ น บ น น

๘๗ ๕ ๘ ๒ ๑ ๗๗ ๓ ๘ ๔ ๕

"เพราะ" เป็น ครุ เพราะเป็นพยางค์เสียงหนักลำดับสาม "ยัง" เป็นพยางค์เสียงหนักลำดับห้า แต่เมื่อเทียบกับ "สอง" ซึ่งเป็นพยางค์เสียงหนักลำดับสอง จึงกลายเป็นลหุ "ใจ" น่าจะเป็นลหุเพราะเป็นพยางค์หลักลำดับห้า แต่บังเอิญเป็นพยางค์สุดท้าย ของช่วง จึงกลายเป็นครุ เทียบกับ "ใน" ซึ่งเป็นครุเพราะเป็นพยางค์ท้ายสุด ส่วน "ไทย" กลายเป็นลหุเมื่อเทียบกับ "สัตว์" ซึ่งเป็นพยางค์สุดท้ายของช่วง สำหรับ "ครุ" ออกเสียงเป็น [คะรุ] จัดว่าเป็นลหุ ๒ ตัว จึงรวมกันเป็นครุ ๑ ตัวได้

           กวีในสมัยรัตนโกสินทร์มักจะยึดถือลหุครุตามที่ปรากฏใน ตำราฉันท์วรรณพฤติและ ตำราฉันท์มาตราพฤติ อย่างเคร่งครัด จึงมีผู้คิดว่ากวีสมัยโบราณไม่เคร่งครัดเรื่องลหุครุ แต่ความจริงท่านถือเรื่องเสียงหนักเบาเป็นหลัก มิได้ยึดถือตามตัวเขียน

ขอให้สังเกตว่า ในทุกวันนี้ แม้แต่คำยืมจากภาษาต่างประเทศ ก็ลงเสียงเน้นหนักเบาแบบไทย เช่น

"อุจจาระ" ออกเสียงเป็น [อุด-จะ-ระ] (หนัก - เบา - หนัก)

"ปัสสาวะ" ออกเสียงเป็น [ปัด-สะ-วะ] (หนัก - เบา - หนัก)

            คำอื่นๆ ก็อยู่ในทำนองเดียวกัน เช่น "วัดสระเกศ" ก็มักจะออกเสียงกันว่า [วัดสะเกด] (หนัก - เบา - หนัก) มากกว่า [วัดสะเกด] (หนัก - หนัก - หนัก) อีกจังหวะหนึ่งที่ไม่มีในภาษาไทยก็คือ เบา - เบา - เบา ขอให้สังเกตว่า การเน้นเสียงหนักต่อๆ กันมักจะอยู่ที่คำพยางค์เดียวที่เรียงต่อกัน เช่น "ปะฉะดะ" "ลดแลกแจกแถม"

             ในคำว่า Tsunami หากจะเขียนด้วยสระสั้นทั้งหมดเป็น "สึนะมิ" คนไทยก็คงจะออกเสียงเป็นเสียงเบาหรือหนักทั้ง ๓ พยางค์ได้ไม่สะดวก ในที่สุดก็จะออกเสียงเป็น "สึนามิ" (เบา - หนัก - หนัก) ตามธรรมชาติการเน้นของภาษาไทยไปเอง

             ข้อที่น่าแปลกใจสำหรับเสียงญี่ปุ่นก็คือ เมื่อถามคนญี่ปุ่นที่รู้ภาษาไทยว่า พยางค์ที่สองเป็นเสียงสั้นหรือเสียงยาว เขาจะตอบว่าเป็นเสียงสั้น แต่พอขอให้เขาออกเสียงให้ฟัง เกือบทุกคนออกเสียงเป็นเสียงยาว เลยไม่รู้ว่าใครเพี้ยน

อย่างไรก็ตาม ถือได้ว่า เราออกเสียงได้ใกล้เคียงกับภาษาเดิมที่สุดเท่าที่จะทำได้ในกรอบของภาษาไทยแล้ว


ผู้เขียน รศ. ดร.นิตยา กาญจนะวรรณ ภาคีสมาชิก สำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสถาน

https://www.royin.go.th/th/knowledge/detail.php?ID=1921