ลหุ/ครุ สั้น/ยาว เบา/หนัก (๔)
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 14.3K views



ลหุ/ครุ สั้น/ยาว เบา/หนัก (๔)

              เมื่อพิจารณาเรื่องการลงเสียงหนักเบาในคำไทย ศาสตราจารย์ ดร.อุดม วโรตมสิกขดิตถ์ กล่าวไว้อย่างละเอียดใน "การออกเสียงคำไทย" ใน มุมต่างทางภาษาตามวิถีภาษาศาสตร์ พอสรุปได้ ดังนี้

๑. คำพยางค์เดียว ออกเสียงหนักเสมอ ยกเว้นคำที่มีหน้าที่เสริมทางไวยากรณ์ คำปฏิเสธ เช่น ก็ จะ ซิ นะ บ่ ไม่ รึ เป็นต้น

๒. คำสองพยางค์ มี ๒ แบบ คือ

๒.๑ เบา - หนัก

ถ้าพยางค์แรกเป็น อะ อิ อึ อุ หรือพยางค์ในลำดับเจ็ดและลำดับแปด เช่น กระทิง ชนี วิชา ฤดี กุดั่น

ถ้าพยางค์แรกเป็น อา อี อู เอ แอ โอ ไอ ที่ไม่มีตัวสะกด หรือพยางค์ในลำดับสี่ เช่น มาลี ชูชัย เวลา แม่น้ำ โอฬาร ไพศาล

ถ้าพยางค์แรกเป็น อะ อิ อึ อุ และสระโอะลดรูป ที่มีตัวสะกด หรือพยางค์ในลำดับห้าและลำดับหก เช่น นิดหน่อย ศึกษา อดทน กับข้าว กงการ บันดาล สมพร

๒.๒ หนัก - หนัก

ถ้าพยางค์แรกเป็นสระเสียงยาวมีตัวสะกด หรือพยางค์ในลำดับสองและลำดับสาม เช่น จืดชืด โชคชัย

ถ้าทั้งสองพยางค์เป็นสระรูปประสม อัว อัวะ เอะ เอาะ เอีย เอียะ เอือ เอือะ แอะ โอะ หรือพยางค์ในลำดับหนึ่งและลำดับสาม เช่น เหมาะเจาะ เจ๊าะแจ๊ะ ยั้วเยี้ย

๓. คำสามพยางค์ มี ๒ แบบ คือ

๓.๑ หนัก - เบา - หนัก

ถ้าพยางค์แรกและพยางค์ที่สองเป็น อะ อิ อึ อุ ไม่มีเสียงสะกด เช่น พสุธา [พะสุทา] มหึมา [มะหึมา] มะตะบะ [มะตะบะ] วชิรา [วะชิรา]

พยางค์ในลักษณะอื่น จะใช้จังหวะนี้มากที่สุด เช่น กรมหลวง [กรมมะหลวง] กรมพระยา [กรมพระยา] ดุลพินิจ [ดุนพินิด] ดุลยพินิจ [ดุนพินิด] เพชรบุรี [เพ็ดบุรี] ราชบุรี [ราดบุรี] ราชการ [ราดชะกาน] อิทธิพล [อิดทิพน] อินทรธนู [อินทะนู]

ข้อให้สังเกตว่า พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ และ หนังสือ อ่านอย่างไร และ เขียนอย่างไร ระบุเสียงอ่าน ดังนี้คือ

เพชรบุรี [เพ็ดชะบุรี] และ [เพ็ดบุรี]

ราชบุรี [ราดชะบุรี] และ [ราดบุรี]

ดุลพินิจ [ดุนละพินิด]

ดุลยพินิจ [ดุนละยะพินิด] และ [ดุนยะพินิด]

จะเห็นได้ว่า การออกเสียงบางคำไม่ใช่การออกเสียงตามจังหวะไทยที่กล่าวข้างต้น

๓.๒ เบา - หนัก - หนัก

ถ้าพยางค์แรกเป็น อะ อิ อึ อุ พยางค์ที่สองเป็นสระเสียงยาวหรือมีตัวสะกด เช่น พิธีการ มโหรี ฤดียา สุภาภรณ์ อุดมการณ์

ถ้าพยางค์แรกเป็น อะ พยางค์ที่สองเป็นสระสั้นไม่มีตัวสะกด เช่น อดิศัย อธิปัตย์ อนิยต อนุมาน

ข้อให้สังเกตว่า พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ และ หนังสือ อ่านอย่างไร และ เขียนอย่างไร ระบุเสียงอ่าน ดังนี้คือ

อุดมการณ์[อุดมมะกาน] และ [อุดมกาน]

คราวหน้าจะเล่าต่อไปว่า คำสี่พยางค์และห้าพยางค์ของไทยมีรูปแบบการออกเสียงอย่างไร


ผู้เขียน รศ. ดร.นิตยา กาญจนะวรรณ ภาคีสมาชิก สำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสถาน https://www.royin.go.th/th/knowledge/detail.php?ID=1922