บทเรียนวิกฤติยูโรโซนต่อประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และไทย
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 4.6K views



สถานการณ์วิกฤตการณ์เศรษฐกิจยูโรโซนน่าจะยืดเยื้อไปอีกนานพอสมควร ประชาคมอาเซียนและไทยต้องเตรียมรับผลกระทบให้ดีและน่าจะใช้เป็นกรณีศึกษา เพื่อเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เดิมยุโรปมีปัญหาหนี้สาธารณะอยู่แล้ว เมื่อเทียบกับขนาดของระบบเศรษฐกิจหรือจีดีพีก็อยู่ในระดับสูงมาก เมื่อเกิดปัญหาสินเชื่อซับไพร์มและวิกฤตการณ์สถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกา ยุโรปก็ได้รับผลกระทบไปด้วย ต้องใช้จ่ายงบประมาณจำนวนมาก เพื่อแก้ปัญหาหนี้สาธารณะก็พอกพูนขึ้นอย่างมากโดยเฉพาะประเทศที่มีวิกฤติหนักอย่าง กรีซ สเปน อิตาลี

แล้วปัญหาก็ลุกลามสู่ภาคการเงิน นักลงทุนและประชาชนไม่มั่นใจต่อความมั่นคงของสถาบันการเงิน แห่ไปถอนเงินฝาก ขณะเดียวกัน สถาบันการเงินด้วยกันเองก็หยุดปล่อยกู้และชะลอการทำธุรกรรมต่อกัน เงินไหลออกจากระบบสถาบันการเงิน จนเกิดปัญหาสภาพคล่องและสถาบันการเงินล้มละลายได้

ความกลัวอีกประการหนึ่ง ก็คือ กลัวกรีซไม่ได้รับเงินช่วยเหลือเข้าสู่ภาวะล้มละลาย และต้องออกจากระบบยูโรโซน ความกลัวนี้พุ่งสูงสุดก่อนการเลือกตั้งในวันที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมา

ผลการเลือกตั้งออกมา ปรากฏว่า พรรคประชาธิปไตยใหม่ หรือ New Democracy ชนะการเลือกตั้งแม้นไม่เด็ดขาด แต่ก็ทำให้ ตลาดการเงิน นักลงทุน เจ้าหนี้ทั้งหลายเกิดความมั่นใจว่า รัฐบาลใหม่กรีซจะเดินหน้าปฏิรูปเศรษฐกิจด้วยมาตรการรัดเข็มขัด

ผมมองว่า ผลการเลือกตั้งของกรีซที่ผ่านมาอย่างมากที่สุด เป็นเพียงการถอดชนวนไม่ให้เกิดวิกฤติเฉียบพลันเฉพาะหน้าเพียงชั่วคราวเท่านั้น อย่างกรีซก็จะมีเงินชำระหนี้ในเดือนกรกฎาคม 4,000 ล้านยูโร เดือนสิงหาคม 5,434 ล้านยูโร ปัญหาของกรีซ ปัญหาของกลุ่มยูโรโซนที่ปะทุขึ้นเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้าง และปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ

การลดผลกระทบของวิกฤติหนี้สินยุโรป สิ่งที่ประชาคมอาเซียนและไทยสามารถทำได้ทันทีเลย คือ การกระตุ้นภาคการบริโภคและภาคลงทุนด้วยมาตรการคลังและมาตรการทางการเงิน

ความไม่เชื่อมั่นต่อสถาบันการเงิน นำมาสู่การแห่ถอนเงินฝาก ข่าวลือเรื่องแบงก์ล้มในสเปนและกรีซจึงเกิดขึ้น ส่งผลให้ตลาดการเงินทั่วโลกผันผวนปั่นป่วน กดดันให้ราคาทองคำและราคาน้ำมันปรับตัวลง แนวทางแก้ไข ที่ต้องดำเนินการทันทีก่อนที่สถานการณ์จะลุกลามไปยังสถาบันการเงินในประเทศ อื่นๆ ในยูโรโซน คือ การค้ำประกันเงินฝากเพื่อหยุดการไหลออกของเงินออกจากระบบธนาคาร ต้องมีการอัดฉีดสภาพคล่องและเงินทุนให้กับสถาบันการเงินทั้งหลายในอียูที่มี ปัญหา หยุดภาวะล้มละลายของสถาบันการเงินบางแห่ง ในอีกด้านหนึ่งต้องป้องกันไม่ให้เกิดการโยกย้ายเงินทุนขนานใหญ่ออกจากประเทศ ที่มีปัญหามาก ไปสู่ประเทศที่มีปัญหาน้อย หรือจากยูโรโซนออกไปสู่ภายนอก หากปล่อยให้ปัญหาลุกลามจะทำให้ บริษัทดีๆ กิจการดีๆ ย่ำแย่ไปด้วย

ถัดมา คือ การออก “ยูโรโซนบอนด์” พันธบัตรยูโร เพื่อช่วยเหลือให้ประเทศที่หมดความสามารถในการระดมเงินต้นทุน “ราคาถูก” ไปแล้วอย่าง กรีซ สเปนหรืออิตาลี สามารถระดมทุนเพื่อชดเชยปัญหาขาดดุลงบประมาณจำนวนมากได้ การแก้ปัญหาเหล่านี้อาจทำให้รัฐบาลเยอรมนี รัฐบาลฝรั่งเศส สูญเสียคะแนนนิยมได้แต่จำเป็นต้องทำหากต้องการรักษาระบบเงินยูโรเอาไว้ และต้องตอบคำถามให้ได้ว่า เหตุใดจึงนำเงินภาษีของประเทศตัวเองไปช่วยประเทศอื่นที่ขาดวินัยทางการเงิน การที่ภาษีอากรของประเทศหนึ่ง อาจถูกนำไปใช้เพื่อแก้ปัญหาให้กับอีกชาติหนึ่ง สิ่งนี้มักจะเกิดปัญหาทางการเมืองภายในเสมอหากไม่สามารถทำให้ประชาชนของประชาคมมีความรู้สึกหรือจิตสำนึกร่วมของความเป็นประชาคม ความรู้สึกชาตินิยมแบ่งแยกกันด้วยผลประโยชน์ของแต่ละชาติมักเกิดขึ้นเสมอ สิ่งนี้เป็นบทเรียนสำคัญของประชาคมอาเซียน ที่ต้องศึกษาเอาไว้จากรุ่นพี่อย่างยูโรโซน อย่างน้อยอาเซียนต้องมีสถาบัน กลไกหรือกระบวนการในการแก้ปัญหาเหล่านี้เช่นเดียวกันยูโรโซน ขณะที่ยูโรโซนมีสิ่งเหล่านี้ครบถ้วน ยังบริหารจัดการยากเลย

อาเซียนต้องเดินหน้าสู่การเป็นประชาคมที่มี “ประชาชน” เป็นศูนย์กลาง เป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยป้องกันวิกฤติได้

การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็น ยูโรโซน อียู ประชาคมอาเซียนหรือที่ไหนๆ หากจะเกิดวิกฤติขึ้นมา ส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดในภาคการค้าหรือภาคการผลิต ที่มีปัญหามักจะมาจากภาคการเงิน การมียุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการภาคการเงินและการเปิดเสรีเป็นเรื่องสำคัญ

จากงานวิจัยเรื่อง AEC 2015 : Ambitions, Expectations and ของคุณปริวรรต กนิษฐะเสน วัชรกูร จิวากานนท์ ชานนท์ บุญนุช ธนาคารแห่งประเทศไทยได้วัด Liberalization gap ซึ่งเป็นความแตกต่างระหว่างระดับการเปิดเสรีสูงสุด และการเปิดเสรีที่ระบุไว้ในเป้าหมายตามแผนของ AEC และ Implementation gap ที่วัดระดับการเปิดเสรีของประเทศสมาชิกหลักของอาเซียน (ASEAN-5) เทียบกับระดับการเปิดเสรีที่ระบุไว้ในเป้าหมายตามแผนของ AEC สำหรับในด้านความพร้อมนั้น ได้มีการคัดเลือกเครื่องชี้วัดที่สะท้อนถึงระดับการพัฒนาภาคการเงินและปัจจัยแวดล้อมด้านสถาบันของไทย และเปรียบเทียบกับประเทศสมาชิกหลักของอาเซียน ทั้งนี้ เพื่อพิจารณาระดับการเปิดเสรีและระดับความพร้อมว่ามีความสอดคล้องกันหรือไม่ งานวิจัยได้ข้อสรุปหลัก ดังนี้

ประการแรก : AEC ไม่ได้มีเป้าประสงค์ที่จะเปิดเสรีระดับสูงสุดในทุกด้าน โดยเมื่อพิจารณาเป้าหมายตามแผนของ AEC พบว่า ภาคบริการมีเป้าหมายการเปิดเสรีในระดับที่น้อยกว่าภาคสินค้าหรือการลงทุน ส่วนภาคแรงงานฝีมือนั้นยังอยู่เพียงขั้นเตรียมพร้อมเพื่อการเปิดเสรี ในขณะที่กรอบการเปิดเสรีของภาคการเงินนั้นมีความยืดหยุ่นมาก คือ อนุญาตให้แต่ละประเทศพิจารณาได้เองโดยขึ้นอยู่กับสภาวการณ์และความพร้อม และได้ขยายกรอบเวลาไปจนถึงปี 2020 ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่ารูปแบบการรวมกลุ่มของอาเซียนเป็นการพัฒนารูปแบบจากการเปิดเสรีทางการค้า โดยมิได้มีความมุ่งหวังไปถึงระดับตลาดร่วมดังที่เกิดขึ้นในการรวมกลุ่มของยุโรป 3

ประการที่สอง : แม้ AEC จะไม่ได้กำหนดเป้าหมายการเปิดเสรีไว้ในระดับสูง แต่ในปัจจุบันประเทศสมาชิกหลักของอาเซียน ก็ยังเปิดเสรีไม่ถึงเป้าหมายตามแผนของ AEC ที่กำหนดไว้ โดยในกรณีของไทยได้เปิดเสรีด้านสินค้าไปในระดับที่ใกล้เคียงกับเป้าหมายของ AEC แล้ว แต่ที่สำคัญ คือ ระดับการเปิดเสรีของไทยยังตามหลังสมาชิกหลักของอาเซียนในภาคบริการทางการ เงินและเงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากความระมัดระวังในการเปิดเสรีของไทย อันสะท้อนได้จากกฎหมายและระเบียบต่างๆ ในปัจจุบัน ที่ยังไม่สอดคล้องกับเป้าหมายการเปิดเสรี อย่างไรก็ดี ในอีกด้านหนึ่งของวงจรเกื้อกูลนั้น จากการพิจารณาเครื่องชี้วัดด้านการพัฒนาภาคการเงินและปัจจัยแวดล้อมด้านสถาบัน สรุปได้ว่า ประเทศไทยอยู่ในระดับปานกลาง เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศอาเซียนหลัก

ประการที่สาม : ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจำเป็นจะต้องมี integration mindset โดยบรรจุเรื่องการรวมตัวของอาเซียนเข้าไปในกฎหมาย ระเบียบ และแผนแม่บทต่างๆ ของแต่ละประเทศ เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนแนวปฏิบัติได้ตามกรอบของเป้าหมายตามแผนของ AEC ซึ่งสำหรับประเทศไทยเองนั้น ควรพิจารณาให้มีการเปิดเสรีทางด้านการเงินเพิ่มมากขึ้นจากปัจจุบันที่อยู่ใน ลำดับรั้งท้ายของกลุ่มประเทศสมาชิกหลักของอาเซียน อันจะเป็นการช่วยพัฒนาให้ไทยมีความพร้อมด้านภาคการเงินและปัจจัยแวดล้อมด้านสถาบันเพิ่มมากขึ้น

จากการศึกษาของบทวิเคราะห์นี้พบว่า ภาคการเงินของไทย มีการปรับตัวมาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลังวิกฤตการณ์ เศรษฐกิจการเงินปี พ.ศ. 2540 มีการปฏิรูปและปรับโครงสร้างภาคการเงินครั้งใหญ่ หลังวิกฤติปี 2540 ทำให้ภาคการเงินของไทยแข็งแกร่งพอสมควรและสามารถทนทานต่อวิกฤตการณ์การเงิน โลกในช่วงปี พ.ศ. 2552 อย่างไรก็ตาม ภาคการเงินไทยแม้นแข็งแกร่งขึ้นกว่าเดิม แต่ด้วยฐานทุน ฐานเทคโนโลยี การบริหารจัดการ ทรัพยากรมนุษย์ เท่าที่มีอยู่ยังไม่สามารถทำให้อุตสาหกรรมธนาคาร ธุรกิจตลาดทุนของไทยขึ้นมาอยู่ในระดับแนวหน้าของภูมิภาคได้ ศักยภาพในการแข่งขันยังเป็นรองภาคการเงินของสิงคโปร์และมาเลเซีย โดยที่ภาคการเงินของสิงคโปร์และมาเลเซียได้ขยายการลงทุนเข้ามาซื้อกิจการและควบรวมกิจการการเงินในประชาคมอาเซียน เพื่อให้ตัวเองได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากการเปิดเสรีภาคบริการเงินที่จะ เกิดขึ้นในอนาคตภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ธุรกิจหลักทรัพย์ค่านายหน้าและค่าธรรมเนียมต่างๆ ลดลงอย่างต่อเนื่อง กลุ่มธุรกิจหลักทรัพย์มีการเคลื่อนไหวให้ยืดเวลาการเปิดเสรีค่านายหน้าและธรรมเนียม เพราะเกรงว่าบริษัทหลักทรัพย์ขนาดกลางและขนาดเล็กอาจแข่งขันไม่ได้ ภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน การแข่งขันจะรุนแรงยิ่งขึ้น การชะลอการเปิดเสรีทำได้ชั่วคราวเท่านั้น กระแสการแข่งขันที่รุนแรง จะสร้างภาวะให้เกิดการเร่งการควบรวมในธุรกิจนี้มากยิ่งขึ้นในอนาคต

ธุรกิจธนาคาร ปี พ.ศ. 2555 ธนาคารแห่งประเทศไทยอนุญาตให้สาขาธนาคารต่างประเทศ 16 แห่งในไทยยื่นอนุญาตเป็นธนาคารพาณิชย์ที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์ใน ต่างประเทศสามารถขยายสาขาและบริการได้กว้างขวางขึ้น แต่คาดว่าจะยังไม่กระทบต่อความสามารถในการแข่งขันและการกำไรของกลุ่มธนาคาร ไทยมากนักในช่วงแรก เนื่องจากเครือข่ายสาขามีมากกว่ามาก อย่างไรก็ตาม ภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ภาคธนาคารไทยจำเป็นต้องเตรียมความพร้อม เพื่อรองรับธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศโดยเฉพาะธุรกรรมทางการเงินในกลุ่ม ประเทศประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างมีนัยสำคัญ และมีความจำเป็นต้องเปิดสาขา หรือสร้างพันธมิตรทางธุรกิจในกลุ่มอาเซียน

นอกจากนี้ อาเซียนยังมีความร่วมมือทางการเงินระหว่างประเทศภายใต้ Chiang Mai Initiative ในช่วงปี 2008-2009 มีจุดทดสอบสำคัญจากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจการเงินในยุโรปของโครงการความร่วมมือ ทางการเงินของอาเซียนดังกล่าวว่าจะบรรลุความสำเร็จหรือไม่ในการป้องกันไม่ให้ภูมิภาคเอเชียเกิดวิกฤติตามไปด้วย ผลที่ออกมา ก็คือ ไม่มีประเทศอาเซียนที่ต้องใช้ประโยชน์ของโครงการความร่วมมือที่มีอยู่ในช่วง ที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจการเงินโลกช่วงปี พ.ศ. 2552 สาเหตุหนึ่งก็เพราะประเทศในกลุ่มส่วนใหญ่สามารถดูแลเศรษฐกิจของตนได้ โดยไม่ต้องพึ่งเงินช่วยเหลือ แต่ในอีกด้านหนึ่ง บางประเทศที่อาจต้องการความช่วยเหลือขณะนั้น ก็เลือกที่จะไม่ใช้ประโยชน์โครงการความช่วยเหลือของกลุ่มอาเซียนบวกสามที่มีอยู่ด้วยสองเหตุผล

หนึ่ง การเบิกใช้วงเงินตามสิทธิของประเทศที่มีกับโครงการจะเกิดขึ้นได้เต็มจำนวน ก็ต่อเมื่อประเทศที่มีปัญหาเศรษฐกิจสมัครใจที่จะขอความช่วยเหลือจากกองทุน การเงินระหว่างประเทศในรูปโปรแกรมการกู้ยืมพร้อมกันไปด้วย การเชื่อมโยงการช่วยเหลือของโครงการอาเซียนบวกสามกับการกู้ยืมจากไอเอ็มเอฟ จึงเป็นกลไกสำคัญที่ลดทอนแรงจูงใจให้ประเทศอาเซียนใช้ประโยชน์โครงการความ ช่วยเหลือของกลุ่มประเทศอาเซียนบวกสามที่ได้จัดตั้งกันไว้

สอง กลไกการเบิกจ่ายและการอนุมัติความช่วยเหลือของโครงการกลุ่มประเทศอาเซียนบวกสามที่ได้วางไว้ก็ค่อนข้างจะใช้เวลา และมีความไม่แน่นอน ทำให้มีโอกาสสูงที่ความช่วยเหลือจากโครงการดังกล่าว อาจไม่ทันเวลา เมื่อเทียบกับปัญหาและความจำเป็นที่ต้องใช้เงิน แต่ที่สำคัญกลไกและการอนุมัติจะอยู่ภายใต้บทบาทนำของกลุ่มประเทศบวกสาม ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ลดทอนแรงจูงใจของประเทศอาเซียนที่ต้องการความช่วยเหลือที่จะใช้ประโยชน์โครงการความร่วมมืออาเซียนบวกสามที่มีอยู่

ระบบความร่วมมือทางการเงินนี้จำต้องปรับให้ตอบสนองต่อวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในอนาคตได้ดีขึ้น

ส่วนวิกฤติคราวนี้ในยุโรป ผมเชื่อว่า ระบบเศรษฐกิจระบบการเงินของไทยและอาเซียนสามารถรับมือได้ เพียงแต่ว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจและการส่งออกจะปรับตัวลดลงกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิมอย่างแน่นอนครับ

ที่มา : ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ กรุงเทพธุรกิจ

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.thai-aec.com/288