การปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่ต้องรู้ เมื่อน้ำท่วม
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 5.8K views





     ในภาวะน้ำท่วมขณะนี้ นอกจากการเตรียมพร้อมในเรื่องข่าวของเครื่องใช้หรือการดำรงชีวิตอยู่แล้ว อีกหนึ่งเรื่องที่เราไม่ควรมองข้าม คือ การปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพราะอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นจากเหตุการณ์ต่างๆ
เมื่อไฟฟ้าช็อต

     1. รีบปิดสวิชต์ไฟทันที
     2. ถ้าไม่สามารถปิดสวิชต์ไฟได้ห้ามใช้มือหรืออวัยวะอื่นๆสัมผัสคนที่กำลัง ถูกไฟช็อตโดยตรง ให้ยืนในที่แห้งแล้วนำสิ่งของที่ไม่นำไฟฟ้า เช่น ไม้ เขี่ยตัวผู้ป่วยออกจากสายไฟหรือเขี่ยสายไฟออกจากผู้ป่วย
     3. เมื่อเคลื่อนย้ายออกมาได้แล้วให้จับผู้ป่วยนอนหงาย ถ้าหยุดหายใจให้เป่าปากช่วยหายใจ  หากผู้ป่วยไม่หายใจไม่กระดุกกระดิกหรือคลำชีพจรไม่ได้ ให้นวดหัวใจด้วยแล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที

การปฐมพยาบาลผู้ที่จมน้ำหรือตกน้ำ
     1. ให้ช่วยผู้ที่จมน้ำขึ้นจากน้ำก่อน วิธีการช่วยเหลือมี 4 วิธี คือ ยื่น  โยน  พาย  ไปลาก
          - ยื่น  เช่น การยื่นแขน ขา ให้เขาจับ หรือท่อนไม้ ท่อนเหล็ก แต่ผู้ช่วยเหลือต้องยึดตัวเองให้มั่นคง หรือมีคนช่วยจับหรือรั้งไว้ เพื่อไม่ให้ถูกดึงตกน้ำไปด้วย
          - โยน  การ โยนสิ่งของที่เป็นทุ่นลอยน้ำได้ให้เขาเกาะ เช่นห่วงชูชีพ ขอนไม้ ยางในรถยนต์ ลูกมะพร้าว  ลูกบอล ถังพลาสติกปิดฝา ขวดน้ำพลาสติกปิดฝา(หลายๆขวด)  โดยโยนสิ่งของดังกล่าวให้ตกลงบริเวณด้านหน้า ของเขา แล้วให้เขาเกาะลอยตัวว่ายเข้าหาฝั่ง หรือรอการช่วยเหลือ หรือลากเขาเข้ามา
          - พาย  คือการใช้เรือพาย หรือเรือยนต์เข้าไปช่วยเหลือ โดยผู้ตกน้ำอาจต้องลอยคอ หรือเกาะวัสดุสิ่งของลอยน้ำคอยอยู่
          - ไปลาก  ผู้ช่วยเหลือต้องลงไปในน้ำ ซึ่งวิธีการนี้ให้ใช้เป็นทางเลือกสุดท้าย ซึ่งมี 2 กรณี คือ
               ก. เดินลุยน้ำลงไปช่วย  ใช้ในกรณีน้ำ ตื้นพอยืนถึง ไม่เกินระดับอก ส่วนคนตกน้ำอาจเป็นเด็ก หรือคนตัวเตี้ยหยั่งน้ำไม่ถึง โดยผู้ช่วยเหลือควรปลดหรือถอดเสื้อผ้า เครื่องประดับที่เป็นตัวถ่วงออกก่อนแล้วเดินลุยน้ำไปช่วยดึง หรืออาจใช้คนหลายคนเกี่ยวแขนต่อกันเป็นโซ่ หรือมีอุปกรณ์ลงไปช่วยด้วย
               ข. ว่ายน้ำออกไปช่วย   ในกรณีน้ำลึก วิธีการนี้ขอย้ำว่า ผู้ช่วยเหลือต้องมีทักษะการว่ายน้ำที่ดี และควรได้รับการฝึกวิธีการช่วยเหลือมาแล้ว มิ ฉะนั้นผู้ช่วยเหลืออาจหมดแรง จมน้ำ หรือถูกคนที่ตกน้ำกอดรัดให้จมน้ำไปด้วย การช่วยเหลือต้องเข้าทางด้านหลังของคนที่ตกน้ำเสมอ และถ้าหากถูกคนที่ตกน้ำกอดรัดไว้ ให้เราดำน้ำลง จะทำให้เขาปล่อยเราเพราะเขาต้องการขึ้นผิวน้ำ
     2. การปฐมพยาบาล  เมื่อช่วยเหลือคนตกน้ำขึ้นจากน้ำได้แล้วหากมีการหยุดหายใจ ให้รีบทำการช่วยหายใจ ผายปอด ห่มผ้า ให้ความอบอุ่น แล้วรีบนำส่งแพทย์ การช่วยเหลือเพื่อเอาน้ำออกจากปอดโดยแบกร่างคนจมน้ำแล้ว เขย่า หรือวิ่งไปนั้น ไม่ช่วยให้ดีขึ้น แต่อาจใช้วิธีจัดท่าให้คนจมน้ำให้นอนในลักษณะศีรษะต่ำ ปลายเท้าสูงเล็กน้อย หรือจัดท่าให้นอนตะแคง แล้วกดท้องดันให้น้ำออกมาทางปาก
     กรณีเราเป็นผู้ประสบภัย  เมื่อเราเป็นผู้ประสบภัย ไม่สามารถว่ายน้ำเข้าหาฝั่งได้ ในขณะรอความช่วยเหลืออยู่ในน้ำควรปฏิบัติดังนี้
          - ตั้งสติ พยายามปลด ถอดสิ่งที่สวมใส่บางอย่างออกไป เช่นรองเท้า เสื้อผ้า ที่หนาๆ
          - อยู่ในลักษณะนอนหงาย ให้ใบหน้าพ้นน้ำไว้ ถีบขาคล้ายๆ ท่ากบ และใช้มือพุ้ยน้ำเบาๆ จะช่วยให้ลอยอยู่ในน้ำ และเคลื่อนที่ไปได้
          - หรืออีกวิธีเป็นแบบที่อยู่กับที่ โดยใช้แขนกดลงน้ำแล้วกวาดออก  ดึงแขนกลับมาแล้วกดลงน้ำซ้ำอีก ทำซ้ำไปเรื่อยๆ ส่วนขาถีบเบาๆ คล้ายท่ากบ แต่ไม่ต้องพับเข่าเข้ามามากนัก พยายามรักษาระดับศีรษะให้อยู่พ้นน้ำไว้  ท่านี้จะสามารถใช้มือโบกขอความช่วยเหลือได้

การปฐมพยาบาลเมื่อถูกงูกัด
     1. พยายามให้คนไข้อยู่ในอาการสงบ หายใจลึกๆ เคลื่อนไหวให้น้อยที่สุด ไม่ให้ชีพจรเต้นเร็ว เพื่อไม่ให้พิษงูกระจายสู่กระแสเลือดได้เร็วขึ้น ท่าที่ถูกคือให้นอนราบกับพื้น แล้วเคลื่อนย้ายในท่านอน เพราะทำให้หัวใจทำงานน้อยลง
     2. ปลดนาฬิกา แหวน หรือสร้อยที่ใส่อยู่ออกให้หมด เพราะเมื่อบริเวณที่ถูกกัดนั้นบวมแล้ว สร้อยหรือสายนาฬิกาจะรัด และถอดออกยากมาก ซึ่งมันจะทำให้เลือดไหลไม่สะดวก ก่อให้เกิดการคั่งของพิษ ให้ผลเดียวกันกับการรัดแบบขันเชนาะ ซึ่งไม่ดีแน่นอน
     3. บีบเลือดออกจากแผลให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ควรใช้ปากดูดหรือเปิดปากแผลด้วยของมีคม
     4. การรัด ควรรัดเหนือและใต้บาดแผลประมาณ 3 นิ้วมือ
     5. ไม่ควรรัดเหนือบาดแผลให้แน่นมาก เพราะจะทำให้อวัยวะส่วนปลายขาดเลือดและเน่าตาย ควรแน่นพอสอดนิ้วมือได้ 1 นิ้
     6. การห้ามเลือดควรใช้ผ้าสะอาดกดแผลโดยตรง
     7. วางอวัยวะส่วนนั้นให้ต่ำหรือระดับเดียวกับหัวใจ
     8. ให้ยาแก้ปวดได้ แต่ห้ามใช้ยาที่มีฤทธิ์แอลกอฮอล์ ยาระงับประสาท ยานอนหลับ ยาดองเหล้า
     ข้อควรระวัง
          - อาการของพิษงูเกิดได้ตั้งแต่ 15-30 นาที หลังถูกกัด หรือ อาจนานถึง 9 ชม. จึงต้องเฝ้าสังเกตอาการอย่างต่อเนื่อง
          - การฉีดเซรุ่มแก้พิษงู ส่วนใหญ่ทำมาจากม้า ซึ่งอาจแพ้ได้ จึงควรฉีดต่อเมื่อมีอาการของพิษงูเท่านั้น

ขอบคุณข้อมูลจาก : LG Electronics (Thailand)