อาณาจักรธนบุรี
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 199.1K views



อาณาจักรธนบุรี ตอนที่ 1
อาณาจักรธนบุรี ตอนที่ 2

    อาณาจักรธนบุรี เป็นอาณาจักรของคนไทยช่วงสั้น ๆ ระหว่าง พ.ศ. 2310 - 2325 ระยะเวลา 15 ปี มีพระมหากษัตริย์ปกครองเพียงพระองค์เดียว คือ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ภายหลังอาณาจักรอยุธยาล่มสลายไปพร้อมกับการปล้นกรุงศรีอยุธยาของกองทัพพม่า ทว่า ในเวลาต่อมาสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ และทรงย้ายเมืองหลวงไปยังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา คือ กรุงเทพมหานครในปัจจุบัน

พระราชประวัติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

  พ.ศ. 2277 - สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระราชสมภพ เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 5 ขึ้น 15 ค่ำ ปีขาล ฉศก จุลศักราช 1096 ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา มีพระนามเดิมว่า สิน พระราชบิดาเป็นชาวจีนชื่อนายไหฮอง หรือ หยง แซ่แต้ เป็นนายอากรบ่อนเบี้ย มีบรรดาศักดิ์เป็นขุนพัฒน์ พระราชชนนีชื่อนางนกเอี้ยง (ภายหลังได้รับการสถาปนาเป็น กรมพระเทพามาตย์) ตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้กับจวนเจ้าพระยาจักรีที่สมุหนายก

  พ.ศ. 2286 - อายุได้ 9 ขวบ เจ้าพระยาจักรีก็นำไปฝากให้เล่าเรียนหนังสืออยู่ในสำนักของพระอาจารย์ทองดี ณ       วัดโกษาวาส

  พ.ศ. 2290 - อายุได้ 13 ปี เจ้าพระยาจักรีได้นำนายสินเข้าถวายตัวรับราชการเป็นมหาดเล็กในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  บรมโกศ

  พ.ศ. 2298 - อายุได้ 21 ปี เจ้าพระยาจักรีได้ประกอบการอุปสมบทนายสินเป็นพระภิกษุสงฆ์อยู่ในสำนัก อาจารย์ทองดี ณ วัดโกษาวาส

  พ.ศ. 2301 - สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จสวรรคต สมเด็จพระบรมราชาที่ 3 และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้นายสินมหาดเล็กรายงานเป็นข้าหลวงเชิญท้องตราพระราชสีห์ขึ้นไปชำระความหัว เมืองฝ่ายเหนือ ต่อมาจึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นหลวงยกกระบัตรเมืองตาก ช่วยราชการอยู่กับพระยาตาก ครั้นเมื่อพระยาตากถึงแก่กรรมลงก็ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้เลื่อนหลวงยกกระบัตร (สิน) เป็นพระยาตาก ปกครองเมืองตากแทน

  พ.ศ. 2308 - พระยาตาก (สิน) ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เข้ามาช่วยราชการสงครามเพื่อป้องกันพม่าในกรุงศรีอยุธยา พระยาตาก (สิน) มีฝีมือการรบป้องกันพระนครอย่างเข้มแข็งมีความดีความชอบมาก จึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็น พระยาวชิรปราการ (สิน) สำเร็จราชการเมืองกำแพงเพชรแทนเจ้าเมืองเดิมที่ถึงแก่กรรม

  พ.ศ. 2310 - กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าในเดือนเมษายน พระยาตากก็สามารถกอบกู้กรุงศรีอยุธยากลับคืนได้ และได้สถาปนากรุงธนบุรีขึ้นเป็นราชธานี

  พ.ศ. 2325 - สมเด็จหระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จสวรรคต 

 

การสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี
หลังจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชสามารถกู้เอกราชคืนมาจากพม่าแล้ว สภาพบ้านเมืองของกรุงศรีอยุธยาทุดโทรมมาก ไม่เหมาะสมที่จะใช้เป็นเมืองหลวงอีกต่อไป เพราะ
   1.กรุงศรีอยุธยาถูกทำลายชำรุดทรุดโทรมมาก ยากแก่การบูรณะให้ดีดังเดิมได้
   2.กรุงศรีอยุธยามีบริเวณกว้างขวางมาก เกินกว่ากำลังของพระองค์ที่มีอยู่ เพราะผู้คนอาศัยอยู่ตามเมืองน้อย ส่วนมากหลบหนีพม่าไปอยู่ตามป่า จึงยากแก่การรักษาบ้านเมืองได้สะดวกและปลอดภัย
   3.ข้าศึกโดยเฉพาะพม่ารู้ลู่ทางภูมิประเทศและจุดอ่อนของกรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างดี ทำให้ไทยเสียเปรียบในด้านการรบ
   4.ที่ตั้งของกรุงศรีอยุธยาเป็นอันตรายทั้งทางบกและทางน้ำ ข้าศึกสามารถโจมตีได้สะดวก
   5.กรุงศรีอยุธยาตั้งอยู่ห่างจากปากแม่น้ำมากเกินไป ทำให้ไม่สะดวกในการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ ซึ่งนับวันจะเจริญขึ้นเรื่อยๆ

ดังนั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จึงทรงตัดสินใจเลือกเอากรุงธนบุรีเป็นราชธานีด้วยสาเหตุสำคัญต่อไปนี้
   1.กรุงธนบุรีเป็นเมืองขนาดเล็ก เหมาะสมกับกำลังป้องกันทั้งทางบกและทางน้ำ
   2.กรุงธนบุรีตั้งอยู่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา สะดวกในการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ
   3.สะดวกในการควบคุมการลำเลียงอาวุธและเสบียงต่างๆ ไปตามหัวเมืองหรือจากหัวเมืองเข้ามาช่วย เมื่อเกิดศึกสงคราม
   4.ถ้าหากข้าศึกยกกำลังมามากเกินกว่ากำลังของทางกรุงธนบุรีจะต้านทานได้ก็สามารถย้ายไปตั้งมั่นที่จันทบุรีได้ โดยอาศัยทางเรือได้อย่างปลอดภัย
   5.กรุงธนบุรีมีป้อมปราการอยู่ทั้งสองฟากแม่น้ำ ที่สร้างไว้ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชหลงเหลืออยู่ สามารถใช้ในการป้องกันข้าศึกได้บ้างที่จะเข้ามารุกรานโดยยกกำลังมาทางเรือคือ ป้อมวิไชยประสิทธิ์ และป้อมวิไชเยนทร์

พระราชกรณียกิจที่สำคัญ

   ด้านการปกครอง ยังคงใช้ระบบการปกครองแบบกรุงศรีอยุธยา ส่วนด้านกฎหมาย เมื่อครั้งกรุงแตก กฎหมายบ้านเมืองกระจัดกระจายหายสูญไปมาก จึงโปรดให้ทำการสืบเสาะค้นหามารวบรวมไว้ได้ประมาณ 1 ใน 10 และโปรดให้ชำระกฎหมาย

   ด้านเศรษฐกิจ เป็นระยะเวลาที่สร้างบ้านเมืองกันใหม่ การค้าเจริญรุ่งเรืองทั้งของหลวงและของราษฎร สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงทำนุบำรุงการค้าขายทางเรืออย่างเต็มที่ ทรงแต่งสำเภาหลวงออกไปค้าขายทางด้านตะวันออกไปถึงเมืองจีน ทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือถึงอินเดียตอนใต้ เพื่อบรรเทาภาระภาษีของราษฎร

   ด้านศิลปกรรม มีการฟื้นฟู และบำรุงศิลปกรรมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทางด้านนาฏดุริยางค์ และวรรณกรรม ด้านนาฏดุริยางค์

   ด้านการศาสนา โปรด ให้ปฏิสังขรณ์วัดวาอารามต่างๆ ที่รกร้างปรักหักพังตั้งแต่ครั้งพม่าเข้าเผาผลาญทำลายและกวาดต้อนทรัพย์สิน ไปพม่า แล้วโปรดให้อาราธนาพระภิกษุสงฆ์เข้าจำวัดต่าง ๆ ส่วนพระไตรปิฎกยังเหลือตกค้างอยู่ที่ใด ก็โปรดให้คัดลอกสร้างเป็นฉบับหลวง


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%93%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%98%E0%B8%99%E0%B8%9A%E0%B8%B8%E0%B8%A3%E0%B8%B5

https://www.watchoengthar.com/index.php?mo=10&art=224756