ภาษาไทยในชีวิตประจำวัน ตอน ง่าย ๆ ก็ยังตายน้ำตื้น
สมาชิกเลขที่85339 | 03 มี.ค. 55
2.3K views

ภาษาไทยในชีวิตประจำวัน   ตอน ง่าย ๆ แต่ตายน้ำตื้น           บุญช่วย  มีจิต

ภาษาไทยคำหนึ่ง  ง่าย ๆ แต่เขียนผิดกันบ่อยมาก คือคำว่า “ ย่อมเยา”  ซึ่งหมายถึงราคาต่ำ ราคาถูก แต่มักเขียนผิดเป็น “ ย่อมเยาว์ ” ซึ่ง “เยาว์ ” คำนี้เป็นภาษาบาลี-สันสกฤต แปลว่า อายุน้อย หรือ อ่อนวัย

          ไม่น่าเชื่อว่าในการสอบโอเนตปีการศึกษา 2554 ระดับช่วงชั้นที่ 3 กลุ่มสาระสังคมศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม  วิชาเศรษฐศาสตร์ ตัวเลือกที่ 4 ของข้อที่ 28 หรือ 24 ไม่แน่ใจ(ไม่คิดว่าจะนำมาเขียนถึงจึงไม่ได้จำหรือลอกมาทั้งข้อความ จำแต่คำที่เห็นว่าผิดเท่านั้น) มีคำว่า “ ราคาย่อมเยาว์ ” อยู่ด้วย ซึ่งแปลกใจว่า การสอบโอเนตเป็นการสอบระดับชาติ(ตามที่โฆษณากัน) มีนักเรียนเข้าสอบ(ด้วยการบังคับ)นับแสนคนทั่วประเทศ  การออกข้อสอบ หรือ แบบทดสอบควรจะพิถีพิถันให้มากกว่านี้ กระบวนการทำข้อสอบเป็นอย่างไรไม่ทราบได้(เป็นความลับทางราชการ) แต่คงต้องมีผู้ออกข้อสอบ ผู้พิมพ์ ผู้ตรวจทาน(ปรู๊ฟ)เป็นแน่  อาจจะเป็นบุคคลคนเดียวกัน หรือแยกคนละคนก็ได้

                ผู้ออกข้อสอบคงเป็นนักเศรษฐศาสตร์ อาจจะไม่ใส่ใจในเรื่องภาษาไทยเท่าไรนัก แต่คนพิมพ์ คนตรวจปรู๊ฟ น่าจะมีวิจารณญาณในการวินิจฉัยการสะกด การันต์ด้วย ถ้ามีข้อสงสัยก็น่าจะเสนอผู้รับผิดชอบได้  ไม่อยากคิดว่า ทั้งผู้ออกข้อสอบ ผู้พิมพ์ ผู้ตรวจทาน มีประสบการณ์ภาษาไทยเหมือนกัน คือ เห็นว่า “ ราคาย่อมเยาว์” นั้นถูกต้องแล้ว  ถ้าหากเป็นเช่นนั้นจริงก็ไม่รู้จะพูดอะไรต่อไปแล้ว

ผมคิดชั่งใจอยู่นานว่าจะเขียนถึงเรื่องนี้ดีหรือไม่  ก็พึ่งตัดสินใจเมื่อผ่านไปแล้ว 3-4 วัน ในฐานะผู้มีส่วนรับผิดชอบภาษาไทย ไม่อยากปล่อยให้เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างนี้ผ่านไป โดยไม่มีใครทักท้วงเลย จึงได้แสดงความคิดเห็นออกมา ไม่มีเจตนาที่จะว่าใคร ๆ ทั้งสิ้น

บางท่านอาจจะแย้งว่า ก็นี่มันวิชาเศรษฐศาสตร์ไม่ใช่ภาษาไทย สะกดผิดนิดหน่อยจะเป็นไรไป จะเป็นวิชาอะไรก็แล้วแต่ การสะกด การันต์ ไม่ควรผิดพลาด ไม่เช่นนั้นนักเรียนที่เข้าสอบนับแสน ๆ คน อ่านคำนี้แล้วก็จะทึกทัก หรือฝังใจไปว่า ย่อมเยา สะกดอย่างนี้  หรือ อาจจะนำไปเป็นหลักฐานอ้างอิงโต้แย้งกับครูที่สอนภาษาไทยว่า คำนี้ถูกระดับชาติก็ใช้อย่างนี้ แล้วครูสอนภาษาไทยจะกลายเป็นคนผิดไปซะเอง

ผมได้อ่านข้อสอบโอเนตอย่างลวก ๆ เพียงไม่กี่ข้อ ไม่กี่วิชา ก็เลยไม่รู้ว่าจะมีที่อื่น ๆ ผิดอีกหรือไม่ แต่เมื่ออ่านเจอแล้ว ก็อยากแสดงความคิดเห็นให้เป็นประจักษ์พยานเท่านั้นเอง  ถ้าเป็นความผิดพลาดของผู้อื่น คงไม่กระไรนัก  แต่นี่เป็นความผิดพลาดของผู้ที่ใช้คำว่า “ ระดับชาติ ” มันจึงดูใหญ่โตไปโดยอัตโนมัติ 

เวลานักเรียนอ่านไม่ได้ เขียนไม่ถูก นักวิชาการ นักวิจารณ์ และสังคมมักตีโพยตีพายอย่างโน้นอย่างนี้ พาลโยงไปถึงครูผู้สอนภาษาไทยว่า สอนนักเรียนไม่มีคุณภาพ

นี่เป็นออกข้อสอบวัดความรู้ระดับชาติ เป็นการวัดขั้นสูงสุดของประเทศ ชี้เป็นชี้ตายทางการศึกษากันทีเดียว (เพราะผลการสอบสามารถนำไปเรียนต่อได้ และประเมินโรงเรียนจากผลสอบโอเนต)แต่ยังมีความผิดพลาดได้ถึงเพียงนี้ แล้วเราจะหวังอะไรกับระบบการศึกษาของไทย ผู้ที่ชอบวิจารณ์(ด่า)ว่า นักเรียนอ่อนภาษาไทย  พวกท่านจะคิดอย่างไร หรือถ้าเป็นกรรมการระดับชาติแล้วผิดบ้างคำสองคำไม่เป็นไร

โยน(บาป)ไปให้คนพิมพ์ คนตรวจทานว่า เป็นคนสะเพร่าเผอเรอปล่อยให้ผ่านออกมาอย่างนี้กระนั้นหรือ

หลายท่านอาจจะคิดว่า แค่ผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น ไม่ใช่สาระสำคัญของเนื้อหา แต่ผมเห็นว่า ถึงจะผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ แค่แห่งเดียว ข้อเดียว ไม่ใช่สาระสำคัญของเนื้อหาความรู้ที่นักเรียนต้องตอบ ผิดข้อเดียวก็คือผิด มีความสำคัญพอ ๆ กับผิดจำนวนมาก ผิดในสาระสำคัญเหมือนกัน เพราะนี่เป็นการวัดผลระดับชาติ ถึงผิดพลาดเพียงแห่งเดียว ก็สมควรจะท้วงติงได้แล้วมิใช่หรือ

จะเห็นได้ว่า แค่คำง่าย ๆ อย่างนี้ คณะกรรมการทดสอบระดับชาติก็ยังตายน้ำตื้นได้เหมือนกัน

 

Share this