มินามาตะ เรื่องราวที่มากกว่าโรคร้าย ภาค 9
การต่อสู้ยังไม่จบ
”เราได้แสดงความรับผิดชอบไปแล้ว เรื่องมันจบไปแล้ว...” อิชิโร โอฮิระ ผู้บริหารฝ่ายกิจการทั่วไปและทรัพยากรบุคคลของชิสโสะคอร์ปอเรชั่นตอบอย่างไม่เต็มเสียงนัก ในตอนหนึ่งของการเจรจากับกลุ่มตัวแทนผู้ป่วยโรคมินามาตะ เมื่อช่วงเช้าวันที่ 19 มิถุนายน 2549 บนอาคารสูงของบริษัทชิสโสะในกรุงโตเกียว
น้ำเสียงและสีหน้าของเขาถูกควบคุมไว้ในความสงบเย็น ทว่ามือทั้งสองข้างกลับสั่นระริกเกือบตลอดสามชั่งโมงของการโต้ตอบกัน
“คุณหมายความว่ายังไง จบไปแล้ว” เสียงพูดที่ดังออกมาเกือบพร้อมกันของตัวแทนผู้ป่วยกว่า 20 คนที่นั่งเผชิญหน้ากับฝ่ายชิสโสะ พัดโหมให้บรรยากาศแห่งความโกรธและไม่พอใจกระจายไปทั่วห้องประชุม
ข้างๆ โอฮิระมีเจ้าหน้าที่ระดับผู้บริหารขนาบอยู่ คือ อะคิฮิโกะ ซันเป ผู้จัดการฝ่ายกิจการทั่วไปและทรัพยากรบุคคล กับทัตสึยา อะโอคิ หัวหน้าฝ่ายกิจการสิ่งแวดล้อม
กลุ่มผู้ป่วยโรคมินามาตะและผู้สนับสนุนได้นัดพบเพื่อเจรจากับบริษัทชิสโสะอีกครั้งในวาระที่การค้นพบโรคมินามาตะมีอายุครบ 50 ปี พวกเขามาเพื่อทวงถามความรับผิดชอบต่อผู้ป่วยที่ค้นพบเพิ่มอีกกว่า 3,000 ราย และเรียกร้องให้ทางบริษัทหยุดพฤติกรรมการทำลายสิ่งแวดล้อมในเมืองมินามาตะ
“ผมไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจบ แต่เราได้ทำตามข้อตกลงปี 1995 ซึ่งก็ครอบคลุมไปถึงผู้ป่วยที่ยังไม่ได้รับการรับรองแล้ว... ทางบริษัทจะคิดเองว่าเราควรจะทำอะไรเมื่อเวลานั้นมาถึง ตอนนี้ยังไม่ใช่เวลา” โอฮิระยังคงควบคุมน้ำเสียงให้อยู่ในความเยือกเย็นต่อไป
“คุณรู้หรือเปล่าว่าผลกระทบจริงๆ คืออะไรบ้าง ไม่มีใครรับรู้เลยใช่ไหม พวกคุณไม่คิดว่ามันจะต้องพยายามมองปัญหาที่เกิดขึ้นในมุมมองที่ยาวขึ้นบ้างเลยหรือ” ตัวแทนผู้ป่วยคนหนึ่งกล่าวสวนออกมาอย่างเร็ว
”เราไม่ใช่หมอและเราไม่สามารถตัดสินใจได้ มันเกินหน้าที่ของเรา ...เราทำอะไรไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมื่อตอนนี้ช่องทางสาธารณะก็เปิดให้อยู่แล้ว หากเราจ้างหมอมาตรวจผู้ป่วย เราคงต้องล้มละลาย” โอฮิระพยายามตัดบท
เป็นที่ชัดเจนว่า การเจรจาโต้ตอบครึ่งค่อนวันจบลงไม่ต่างจากที่ผ่านๆ มา
บ่ายวันเดียวกันนั้น ตัวแทนผู้ป่วยชุดเดียวกันได้เข้าพบยาซูคิ เอดะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม ที่มาแทนยูริโคะ โคอิเคะ รัฐมนตรีว่าการ
ประมาณ 2 ปีก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2547 ศาลฎีกาได้มีคำตัดสินต่อคดีคันไซ ระบุให้รัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นมีส่วนรับผิดชอบต่อกรณีโรคมินามาตะ พร้อมทั้งมีคำตัดสินที่ชัดเจนเกี่ยวกับอาการของโรคมินามาตะ ว่าเป็นอย่างไรและมีอะไรบ้าง ข้อวินิจฉัยของศาลที่สำคัญและนับว่าเป็นนิมิตหมายใหม่คือ การระบุว่าทั้งรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นละเลยในการควบคุมปัญหามลพิษกรณีนี้จนเป็นเหตุให้ปัญหาลุกลาม อีกทั้งทางการยังไม่ยอมรับผู้ป่วย ปล่อยปละให้ได้รับความทุกข์โดยปราศจากความช่วยเหลือใดๆ ทั้งๆ ที่โดยบทบาทหน้าที่แล้วรัฐบาลต้องให้ความช่วยเหลือ แต่ความจริงกลับตรงกันข้าม ดังนั้นรัฐบาลจึงเป็นผู้ละเมิดผู้ป่วยเหล่านี้เสียเอง
ทางกระทรวงสิ่งแวดล้อมและรัฐบาลญี่ปุ่นได้แถลงคำขอโทษเพื่อแสดงความรับผิดชอบตามการตัดสินของศาลฎีกา และในเดือนมิถุนายน ปีต่อมา รัฐบาลก็จ่ายเงินค่าชดเชยตามคำตัดสิน แต่ก็ยังคงยืนกรานปฏิเสธไม่ยอมเปลี่ยนหลักเกณฑ์การรับรองผู้ป่วยตามที่กลุ่มผู้ป่วยได้เรียกร้องมาตลอด ทั้งยังนิ่งเฉยต่อข้อเรียกร้องที่ขอให้มีการศึกษาทางระบาดวิทยาอย่างจริงจังเพื่อจะได้รู้ถึงขอบเขตและระดับผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงอย่างเป็นวิชาการ
ในอีกทางหนึ่ง คำตัดสินของศาลก็ส่งผลกระตุ้นให้ผู้ป่วยมายื่นขอรับการรับรองมากขึ้น ด้วยสาเหตุหลากหลายประการ นับตั้งแต่ผู้ป่วยคิดตกแล้วที่จะเปิดเผยตัวเอง หลังจากที่ก่อนหน้านั้นกังวลว่าลูกหลานหรือสมาชิกในครอบครัวจะได้รับผลกระทบทางสังคม หรือบางรายก็เนื่องมาจากมีอาการป่วยมากขึ้นตามอายุที่มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยที่เกิดจากมารดาที่บริโภคปลาปนเปื้อนสารประกอบอินทรีย์ของปรอทในระหว่างตั้งครรภ์ กลุ่มนี้มีสุขภาพแย่ลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันก็มีอีกหลายคนที่เพิ่งรู้ว่า อาการเจ็บป่วยต่างๆ ที่เป็นมานานคือกลุ่มอาการของโรคมินามาตะ หรือเพิ่งรู้ว่าตัวเองมีสิทธิที่จะยื่นขอรับการวินิจฉัยเพื่อรับรองว่าเป็นโรคมินามาตะและผู้ป่วยต้องมาใช้สิทธินี้ด้วยตัวเอง
ทั้งนี้นับตั้งแต่ศาลฎีกามีคำตัดสินจนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2548 ปรากฏว่ามีผู้มายื่นขอการรับรองการเป็นผู้ป่วยเป็นจำนวนถึง 3,348 ราย แต่รัฐก็ยังคงไม่แสดงความใส่ใจในการรับผิดชอบต่อผู้ป่วยเหล่านี้เช่นเดิม
ในการเข้าพบรัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อม ชิเกรุ อิซายามา ประธานสมาคมสนับสนุนช่วยเหลือโรคมินามาตะ และฮิเดคิ ซาโตะ ประธานสมาคมช่วยเหลือเหยื่อโรคมินามาตะ พร้อมกลุ่มผู้ป่วยและผู้สนับสนุนกว่า 30 คน จึงยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลรวม 4 ข้อ ได้แก่
1) ขอให้ตั้งองค์กรขึ้นมาตรวจสอบความผิดชอบของรัฐบาลต่อกรณีโรคมินามาตะ
2) ให้ตรวจสอบระดับความรุนแรงของปัญหาและสอบหาผู้ป่วยกลุ่มเพิ่มเติมโดยด่วน เพื่อให้ความช่วยเหลือ เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ป่วยจำนวนมากอยู่ในวัย 30 – 50 ปีที่เป็นโรคมินามาตะมาแต่กำเนิดและอาการป่วยรุนแรงมากขึ้น
3) ปรับปรุงระบบการรับรองผู้ป่วยโรคมินามาตะ และให้มีการตรวจสอบมาตรการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคนี้ตามคำตัดสินของศาลฎีกา รวมทั้งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบความเสียหายที่แท้จริงจากพิษของสารปรอทและปัญหาที่เกิดขึ้นจากระบบการรับรองผู้ป่วยที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
4) ขอให้รัฐบาลจัดหามาตรการช่วยเหลือด้านสวัสดิการ การดำเนินชีวิต การรักษาทางการแพทย์ และอื่นๆ โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องพิการด้วยโรคนี้มาแต่กำเนิด ในฐานะที่รัฐบาลเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ความสูญเสียจากโรคนี้ลุกลามออกไปอย่างรุนแรง