Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

โควิด-19 สายพันธุ์ใหม่

Posted By ostsciencereview | 25 ส.ค. 64
7,985 Views

  Favorite

ไวรัสทุกตัวสามารถกลายพันธุ์ได้เองตามธรรมชาติ  รวมถึง SARS-CoV-2 ที่เป็นไวรัสที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 ก็มีวิวัฒนาการตลอดเวลา การกลายพันธุ์เกิดขึ้นเมื่อไวรัสก็อปปี้ตัวเอง เพื่อเพิ่มจำนวนให้มากขึ้น ซึ่งบางครั้งก็อาจเกิดความผิดพลาด หรือมีการการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในกระบวนการก็อปปี้สารพันธุกรรม ซึ่งเป็นเรื่องปกติสำหรับ “สิ่งเล็ก ๆ ที่เรียกไวรัส” ที่เป็นเพียงองค์ประกอบโปรตีนพิษ ที่ไม่มีกลไกอวัยวะอะไร จะบันทึก จำได้หมายรู้ในรูปในนาม

ภาพ : Shutterstock

 

เมื่อไวรัสแพร่กระจายในกลุ่มประชากรมนุษย์ผู้หลากหลายเชื้อชนชาติและก่อให้เกิดการติดเชื้อจำนวนมาก โอกาสที่ไวรัสจะกลายพันธุ์จะเพิ่มมากขึ้น ยิ่งแพร่ระบาดมากเท่าไร ไวรัสก็จะยิ่งก็อปปี้ตัวเองซ้ำมากขึ้นเท่านั้น และโอกาสที่ไวรัสจะเกิดการกลายพันธุ์ก็จะยิ่งมากขึ้นเช่นเดียวกัน การกลายพันธุ์ของไวรัส ขึ้นอยู่กับว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ใดในสารพันธุกรรมของไวรัส ส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับความสามารถในการทำให้เกิดการติดเชื้อ หรือคุณสมบัติของไวรัส เช่น การแพร่เชื้อ ที่อาจแพร่กระจายได้ง่ายขึ้น หรือความรุนแรงที่ทำให้เกิดโรค

 

วัคซีนป้องกันโควิด -19 ปัจจุบันมีการพัฒนาและอนุมัติการใช้เพื่อป้องกัน โดยกระตุ้นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันของร่างกาย ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงหรือการกลายพันธุ์ของไวรัส จึงไม่ได้หมายความว่า ประสิทธิภาพในการป้องกันของวัคซีนนั้น ๆ จะหมดไปโดยสิ้นเชิง

ภาพ : Shutterstock

 

การกลายพันธุ์ในแต่ละสายพันธุ์ของโควิด -19 นั้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปจากสายพันธุ์ดั้งเดิม ซึ่งปัจจุบันมีการกลายพันธุ์จำนวนมากมายทั่วโลก แต่สำหรับเชื้อที่กลายพันธุ์และเป็นที่น่ากังวลในปัจจุบัน มี 4 สายพันธุ์หลัก ได้แก่

- อัลฟา (Alpha) หรือ B.1.1.7 เป็นสายพันธุ์ที่พบครั้งแรกในสหราชอาณาจักร เมื่อเดือนกันยายน 2563 มีการกลายพันธุ์รหัสพันธุกรรมในตำแหน่ง N501Y และ P681H ทำให้ไวรัสเกาะติดกับเซลล์ร่างกายของมนุษย์ได้ดีขึ้น และทำให้เซลล์ที่ติดเชื้อสร้างโปรตีนหนามใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นผลให้ เชื้อไวรัสเข้าสู่เซลล์ร่างกายของมนุษย์ได้ง่ายกว่าสายพันธุ์ปกติ โดยแพร่ระบาดได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดิมถึง 1.7 เท่า และยังมีงานวิจัยที่ยืนยันว่า เป็นสายพันธุ์ที่เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ และอัตราการเสียชีวิตขึ้นกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมอีกด้วย

- เบตา (Beta) หรือ B.1.351 เป็นสายพันธุ์ที่พบครั้งแรกในแอฟริกาใต้ ในช่วงเดือนตุลาคม 2563 การกลายพันธุ์ที่รหัสพันธุกรรมในตำแหน่ง N501Y, E484K และ K417N ทำให้เชื้อไวรัสเข้าสู่เซลล์ร่างกายของมนุษย์ได้ง่ายกว่าสายพันธุ์ปกติ หรือก็คือ เป็นสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดได้ง่ายขึ้น อีกทั้ง ไวรัสยังอาจหลบเลี่ยงระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ได้ นั่นก็คือ ร่างกายของคนที่เคยติดเชื้อมาแล้ว อาจไม่สามารถต้านทานไวรัสกลายพันธุ์นี้ได้ และประสิทธิภาพของวัคซีนบางตัวก็อาจลดลงเมื่อเจอสายพันธุ์นี้

- แกมมา (Gamma) หรือ P.1 เป็นสายพันธุ์ที่พบครั้งแรกในบราซิล ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 พบการกลายพันธุ์ที่รหัสพันธุกรรมในตำแหน่ง K417T, N501Y และ E484K ซึ่งมีผลให้ไวรัสเกาะติดกับเซลล์ของมนุษย์ได้แน่นขึ้น แพร่ระบาดได้ง่ายขึ้น โดยนักวิจัยระบุว่า เป็นสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดง่ายกว่าสายพันธุ์เดิม 2.5 เท่า และอาจหลบเลี่ยงระบบภูมิคุ้มกันบางอย่างได้ ทำให้ภูมิคุ้มกันของคนที่เคยติดเชื้อมาแล้วอาจรับมือกับไวรัสกลายพันธุ์นี้ไม่ได้

- เดลตา (Delta) หรือ B.1.617.2 เป็นสายพันธุ์ที่พบครั้งแรกในอินเดีย ในช่วงเดือนตุลาคม 2563 เป็นสายพันธุ์ที่ถูกจับตามองมากที่สุดในขณะนี้ เนื่องจากแพร่กระจายได้ง่าย และมีความรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ โดยเดลตามีอัตราแพร่เชื้อสูงกว่าสายพันธุ์อัลฟา ราว 60% แม้ว่าอัลฟามีอัตราแพร่เชื้อสูงกว่าเชื้อโรคโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิมอยู่แล้วถึง 50% นอกจากนี้ สายพันธุ์เดลตายังทำให้เกิดการระบาดระลอกที่สองในอินเดียเมื่อเดือนเมษายน และพฤษภาคม 2564 อีกทั้งยังกลายเป็นเชื้อสายพันธุ์หลักที่กำลังระบาดอังกฤษ  และยังพบว่าเชื้อสายพันธุ์นี้ได้แพร่เข้าไปในกว่า 90 ประเทศทั่วโลกแล้วทั้งในสหรัฐฯ จีน แอฟริกา แถบสแกนดิเนเวีย และภูมิภาคในมหาสมุทรแปซิฟิก

   เดลตาเป็นสายพันธุ์ที่แตกแยกย่อยลงไป 3 สายพันธุ์ย่อย ได้แก่ B.1.617.1, B.1.617.2, และ B.1.617.3 สำหรับ B.1.617.1 และ B.1.617.3 มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่ง E484Q และ L452R ส่วน B.1.617.2 มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่ง L452R ดังนั้น ในสายพันธุ์ B.1.617.1 และ B.1.617.3 ไวรัสจะสามารถหลบเลี่ยงระบบภูมิคุ้มกันบางอย่างได้ หรือวัคซีนบางตัวอาจใช้ไม่ได้ผลกับเชื้อกลายพันธุ์ตัวนี้ และไวรัสยังสามารถเกาะติดกับเซลล์ร่างกายของมนุษย์ เพื่อสร้างทางเข้าไปในสารพันธุกรรมของมนุษย์ได้ด้วย ส่วนในสายพันธุ์ B.1.617.2 ไวรัสจะสามารถเกาะติดกับเซลล์ร่างกายได้

ภาพ : Shutterstock

 

นอกจากนี้ ยังมีเชื้อกลายพันธุ์ที่น่าจับตามอง (Variant of Interest) ที่ส่อแววว่าจะมีความสามารถหลบหนีของภูมิคุ้มกันหรือส่งผลต่อการแพร่ระบาดในอนาคต ได้แก่

- เอปไซลอน (Epsilon) หรือ B.1.427/B.1.429 เป็นสายพันธุ์ที่พบครั้งแรกในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ ทั้งสองสายพันธุ์เพิ่มการแพร่กระจายและติดต่อได้ง่ายขึ้น ประมาณ 20%  ลดผลการทดสอบการตรวจหาภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีน (Reduced neutralization by post-vaccination sera) และลดประสิทธิภาพการทำงานร่วมกันของยา bamlanivimab และยา etesevimab ที่เป็นยาที่อนุญาตให้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน (EUA) สำหรับผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรง - ระดับปานกลาง

- อีตา (Eta) หรือ B.1.525 เป็นสายพันธุ์ที่พบครั้งแรกในอังกฤษ/ไนจีเรีย มีประสิทธิภาพในการลดผลการทดสอบการตรวจหาภูมิคุ้มกันช่วงพักฟื้นและหลังฉีดวัคซีนอย่างมาก (Potential reduction in neutralization by convalescent and post-vaccination sera) ลดประสิทธิภาพของโมโนโคลนอล แอนติบอดี้ (Monoclonal Antibody) บางชนิด คือ สารที่มนุษย์สร้างขึ้นมาให้มีกลไกยับยั้งไวรัสที่ต้องการทดสอบ

- ไอโอตา (Iota) หรือ B.1.526 เป็นสายพันธุ์ที่พบครั้งแรกในรัฐนิวยอร์ก สหรัฐฯ ลดประสิทธิภาพการทำงานร่วมกันของยา bamlanivimab และยา etesevimab แล้วยังลดผลการทดสอบการตรวจหาภูมิคุ้มกันช่วงพักฟื้นและหลังฉีดวัคซีน (Reduced neutralization by convalescent and post-vaccination sera) อีกด้วย

- แคปปา (Kappa) หรือ B.1.617.1/ B.1.617.3 เป็นสายพันธุ์ที่พบครั้งแรกในอินเดีย ลดผลการทดสอบการตรวจหาภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีน (Reduced neutralization by post-vaccination sera) และลดประสิทธิภาพของโมโนโคลนอล แอนติบอดี้ (Monoclonal Antibody) บางชนิด

- ซีตา (Zeta) หรือ P.2 เป็นสายพันธุ์ที่พบครั้งแรกในบราซิล ลดผลการทดสอบการตรวจหาภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีน (Reduced neutralization by post-vaccination sera) และลดประสิทธิภาพของโมโนโคลนอล แอนติบอดี้ (Monoclonal Antibody) บางชนิด

- ธีตา (Theta) หรือ P.3 เป็นสายพันธุ์ที่พบครั้งแรกในฟิลิปปินส์ มีความสามารถในการแพร่กระจายและติดต่อได้ง่ายขึ้น เพิ่มความรุนแรงและเปลี่ยนแปลงอาการของโรค ลดประสิทธิผลของมาตรการด้านสาธารณสุข หรือการวินิจฉัย วัคซีน รวมถึงการรักษาที่มีอยู่ในปัจจุบัน

- แลมบ์ดา (Lambda) หรือ C.37 เป็นสายพันธุ์ที่พบครั้งแรกในเปรู ปัจจุบันมีรายงานว่าพบใน 30 ประเทศทั่วโลก โดย WHO ยังไม่มีข้อมูลเพิ่มเติม บอกได้เพียงแต่ว่า จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพของวัคซีนอย่างต่อเนื่อง

ภาพ : Shutterstock

 

ที่มา

https://www.interacademies.org/publication/different-types-covid-19-vaccines   
https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/variants/variant-info.html
https://www.bbc.com/thai/international-57692589
https://www.who.int/news-room/feature-stories/detail/the-effects-of-virus-variants-on-covid-19-vaccines?gclid=CjwKCAjw_oHBhAsEiwANqYhp4PBcq55s4yO_K8lDFXrGL7uZNjKS5ypBV0RdE80nvQGcCJ_uLbmXhoCpJUQAvD_BwE
https://thematter.co/quick-bite/coronavirus-mutations-explained/144083
https://srhd.org/news/2021/coronavirus-mutations-and-variants-what-does-it-mean

 

เดลตาพลัส (Delta Plus) และ แลมบ์ดา (Lambda)

เดลตาพลัส (Delta Plus)
เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2564 อินเดียได้จัดอันดับให้เชื้อสายพันธุ์เดลตาพลัส (Delta Plus) หรือ AY.1 ซึ่งเป็นเชื้อกลายพันธุ์ของสายพันธุ์เดลตาที่ขยับเข้ามาอยู่ในกลุ่มเชื้อกลายพันธุ์ที่น่ากังวลอีกตัวหนึ่ง หลังจากพบว่าสามารถแพร่กระจายได้ง่าย ก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยที่รุนแรง แอนติบอดีมีความสามารถในการต้านทานเชื้อลดลง หรือประสิทธิผลในการรักษาและการให้วัคซีนลดลง

เดลตาพลัสมีลักษณะคล้ายสายพันธุ์เดลตา แต่มีการกลายพันธุ์เพิ่มที่เรียกว่า K417N ที่โปรตีนหนาม (ซึ่งพบในสายพันธุ์เบตาและแกมมามาแล้ว) ที่ช่วยให้เชื้อไวรัสสามารถยึดเกาะกับเซลล์ที่ติดเชื้อได้ดีขึ้น และอาจจะทนทานต่อการรักษาด้วยแอนติบอดีชนิดโมโนโคลน (monoclonal antibody therapy) ซึ่งเป็นการให้แอนติบอดีทางเส้นเลือดเพื่อฆ่าไวรัส ปัจจุบันพบเดลตาพลัสใน 9 ประเทศคือ สหรัฐฯ อังกฤษ โปรตุเกส สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น โปแลนด์ รัสเซีย และจีน แต่ทั้งนี้ นักไวรัสวิทยาชั้นแนวหน้าระบุว่ายังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่สนับสนุนข้อมูลดังกล่าว และ WHO ก็ยังไม่ได้จัดให้เดลตาพลัสอยู่ในกลุ่มเชื้อกลายพันธุ์ที่น่ากังวลหรือน่าจับตามองแต่อย่างใด

 

แลมบ์ดา (Lambda)
สำหรับสายพันธุ์แลมบ์ดา (Lambda) WHO เพิ่งจะจัดให้อยู่ในกลุ่มเชื้อกลายพันธุ์ที่น่าจับตามอง และเริ่มมีกระแสการแพร่ระบาดเพิ่มมากขึ้น เชื้อสายพันธุ์แลมบ์ดาตรวจพบครั้งแรกในช่วงเดือนสิงหาคม 2563 ในเปรู โดยพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์นี้สูงถึง 81% ของผู้ป่วยโควิดในเปรู และพบมากถึง 1 ใน 3 ของผู้ป่วยโควิดในประเทศชิลี รวมทั้ง พบผู้ติดเชื้อกว่าร้อยรายในเม็กซิโกและอาร์เจนตินาอีกด้วย

ภาพ : Shutterstock

 

ไวรัสสายพันธุ์นี้มียีนกลายพันธุ์ที่ซับซ้อนในหลายตำแหน่ง เมื่อนำไปเทียบกับพันธุกรรมของไวรัสโควิดดั้งเดิมที่พบครั้งแรกที่นครอู่ฮั่น พบการกลายพันธุ์ถึง 7 จุดบนโปรตีนที่เป็นส่วนหนามของไวรัส หากอิงตามทฤษฎี จะทำให้กลายเป็นสายพันธุ์ที่มีศักยภาพสูงที่จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้น รวมทั้งสามารถลดประสิทธิภาพของแอนติบอดีบางตัวที่ใช้เพื่อยับยั้งไวรัสได้อีกด้วย ตัวอย่างเช่นการกลายพันธุ์ที่ F490S ซึ่งอยู่บนพื้นที่จับกับตัวรับ (Receptor Binding Domain: RBD) ของหนามไวรัสสายพันธุ์แลมบ์ดา ถือว่าเป็นการกลายพันธุ์ที่อาจจะทำให้ไวรัสรอดพ้นจากวัคซีนไปได้  โดยจะทำให้แอนติบอดีที่มีประสิทธิภาพต่ำลง ไม่อาจทำให้ภูมิคุ้มกันจดจำและเข้าทำลายไวรัสกลายพันธุ์ได้

 

ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์กของสหรัฐฯ เผยแพร่ผลการศึกษาโดยระบุว่าสายพันธุ์นี้มีความสามารถในการต้านทานแอนติบอดีจากวัคซีนสูงกว่าไวรัส SARS-CoV-2 แบบดั้งเดิม 3.3 เท่า และเมื่อทดลองใช้วัคซีนป้องกันโควิดชนิด mRNA (Pfizer และ Moderna) กับไวรัสสายพันธุ์แลมบ์ดา ผลปรากฏว่าไวรัสมีความสามารถต้านทานแอนติบอดีจากวัคซีนต่ำลงกว่าเดิม โดยอยู่ในเกณฑ์ที่วัคซีน mRNA ซึ่งใช้กันอยู่ทั่วไป จะสามารถรับมือกับไวรัสกลายพันธุ์ชนิดนี้ได้ แต่ทั้งนี้ ยังไม่มีการระบุอย่างชัดเจนว่า เชื้อสายพันธุ์แลมป์ดาจะทำให้เกิดโรคโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรงกว่าปกติ หรือทำให้วัคซีนที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันมีประสิทธิภาพลดลงเพียงใด

ภาพ : Shutterstock

 

โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) มีการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับไวรัสสายพันธุ์ SARS-CoV-2 นี้ โดยมีทีม Virus Evolution Working Group ที่เป็นเครือข่ายห้องปฏิบัติการทั่วโลกร่วมกันศึกษาเพื่อตรวจหาการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในเชื้อไวรัสและประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น โดยทีมนักวิจัยศึกษาและแชร์ข้อมูลการจัดลำดับจีโนมของไวรัสนี้ รวมถึง แชร์ข้อมูลให้กับหน่วยงาน GISAID ที่เป็นศูนย์ข้อมูลกลางโควิดโลก เพื่อให้นานาชาติใช้ประโยชน์ในการพัฒนาวิธีตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดกรอบ SARS-CoV-2 Risk Monitoring and Evaluation Framework เพื่อระบุ ติดตาม และประเมินข้อกังวล ที่เกี่ยวกับ การเฝ้าระวัง การวิจัย และการประเมินผลกระทบต่อการวินิจฉัย การรักษา และวัคซีน กรอบนี้จะใช้เป็นแนวทางสำหรับผู้ผลิตและประเทศต่างๆ เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่อาจจำเป็นสำหรับวัคซีนโควิด-19

ที่มา
https://www.bbc.com/thai/international-57752238
https://www.bbc.com/thai/international-57692589
https://www.who.int/news-room/feature-stories/detail/the-effects-of-virus-variants-on-covid-19-vaccines?gclid=CjwKCAjw_o-HBhAsEiwANqYhp4PBcq55s4yO_K8lDFXrGL7uZNjKS5ypBV0RdE80nvQGcCJ_uLbmXhoCpJUQAvD_BwE


จากวิทย์ปริทัศน์ ฉบับที่ 6/2564 ประจำเดือนมิถุนายน 2564


บทความที่เกี่ยวข้อง
- แอนติเจนกับแอนติบอดีต่างกันอย่างไร
- การกลายพันธุ์หรือการผ่าเหล่า (Mutation)
 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • ostsciencereview
  • 0 Followers
  • Follow