การเรียนรู้แบบบูรณาการ ตอนที่ 3
สมาชิกเลขที่65496 | 16 ต.ค. 54
11.6K views

1.  การเรียนรู้แบบบูรณาการ

 

                        1.1 แนวคิด

การเรียนรู้แบบบูรณาการ  คือ  การจัดการเรียนรู้โดยการนำสาระการเรียนรู้ที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน  นำมาจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้ผู้เรียนเกิดความรู้  ความเข้าใจในลักษณะที่เป็นองค์รวม  และสามารถนำความรู้  ความเข้าใจไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้  การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการมีหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์  ความเหมาะสมกับผู้เรียนและสาระการเรียนรู้

                        1.2 แนวทางการจัดการเรียนรู้

                        การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการสามารถทำได้หลายลักษณะในที่นี้จะขอเสนอแนวคิดการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ  โดยใช้กลุ่มสาระการเรียนรู้เป็นหลัก  ซึ่งแบ่งได้เป็น  2 ประเภท คือ

                                    1.2.1 การบูรณาการภายในกลุ่มสาระการเรียนรู้ เป็นการจัดการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงเนื้อหาด้านความรู้ ทักษะ / กระบวนการ หรือคุณลักษณะอันพึงประสงค์ในกลุ่มสาระการเรียนรู้เดียวกันเข้าด้วยกัน เพื่อมุ่งศึกษาเกี่ยวกับเรื่องราว ประเด็น ปัญหา หัวเรื่องหรือประสบการณ์เรื่องใดเรื่องหนึ่ง

                                    การบูรณาการภายในกลุ่มสาระการเรียนรู้เดียวกันนั้นสามารถจัดการเรียนรู้โดยผู้สอนในกลุ่มสาระการเรียนรู้นั้นๆ ไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่นๆ

 

                                    1.2.2 การบูรณาการระหว่างกลุ่มสาระการเรียนรู้ เป็นการจัดการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงสาระการเรียนรู้ ทักษะ / กระบวนการ หรือคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ตั้งแต่สองกลุ่มสาระการเรียนรู้ขึ้นไปเข้าด้วยกัน เพื่อมุ่งศึกษาเกี่ยวกับเรื่องราว ประเด็น ปัญหา หัวเรื่องหรือประสบการณ์เรื่องใดเรื่องหนึ่งซึ่งช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ในเรื่องนั้นๆ อย่างเข้าใจลึกซึ้ง และชัดเจนใกล้เคียงกับความเป็นจริงในชีวิต

                                    การบูรณาการระหว่างกลุ่มสาระการเรียนรู้  โดยทั่วไปจะเป็นการจัดการเรียนรู้โดยครูผู้สอนคนเดียว แต่ในระดับสูงขั้นไปจะเป็นการสอนเป็นทีมตั้งแต่สองคนขึ้นไป  หรือทำความตกลงกันแล้วแยกกันสอนตามรายวิชาที่รับผิดชอบ

                                    การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการทั้งสองประเภทนี้จะทำให้กระบวนการจัดการเรียนรู้มีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อครูผู้สอนเลือกใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้  วิธีการจัดการเรียนรู้หรือเทคนิคการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับบทเรียน  และศักยภาพของผู้เรียน  ด้วยเหตุนี้การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการจึงต้องคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้

                                    1.  เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

                                    2.  จัดประสบการณ์ตรงที่สอดคล้องกับผู้เรียน โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล

                                    3.  เน้นการปลูกฝังจิตสำนึก ค่านิยม และจริยธรรมที่ถูกต้องดีงาม

                                    4.  จัดบรรยากาศที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนกล้าคิด กล้าทำ

                                    5.  ให้ผู้เรียนได้ร่วมทำงานเป็นกลุ่ม มีปฏิสัมพันธ์และมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

                        1.3 ผลที่เกิดกับผู้เรียน

                                    1.3.1 เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้การแก้ปัญหาโดยใช้ความรู้หลายๆ ด้านประกอบกันและช่วยให้ผู้เรียนเกิดพัฒนาการทั้งด้านความรู้ตามมาตรฐานการเรียนรู้ / ตัวชี้วัด สมรรถนะสำคัญของผู้เรียนและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ไปพร้อมๆ กัน

                                    1.3.2 เปิดโลกทัศน์ของทั้งครูผู้สอนและผู้เรียนให้กว้างขึ้น ไม่จำกัดเฉพาะด้านเฉพาะทาง ช่วยให้การเรียนรู้น่าสนใจ น่าตื่นเต้น ผู้เรียนเกิดแรงจูงใจในการเรียนรู้ และมีความคิดและมุมมองที่กว้างขึ้น

                                    1.3.3 เปิดโอกาสให้ครูผู้สอนในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ ได้ทำงานร่วมกันในการบูรณาการความรู้ ความเข้าใจตามมาตรฐานการเรียนรู้ / ตัวชี้วัด สมรรถนะสำคัญของผู้เรียนและคุณลักษณะอันพึงประสงค์สู่ตัวผู้เรียน ช่วยให้ผู้เรียนได้ตระหนักถึงคุณค่าในการนำความรู้ที่เรียนไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง

                                    1.3.4  ผู้เรียนได้รับความรู้  ความเข้าใจในลักษณะองค์รวม  สามารถเชื่อมโยงความรู้และประสบการณ์การเรียนรู้ได้อย่างมีจุดมุ่งหมายและมีความหมาย  สามารถแสวงหาความรู้  ความเข้าใจสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัว  เปิดโอกาสให้ผู้เรียนทำงานเป็นกลุ่ม  แลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน  สามารถพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนได้อย่างไม่จำกัด  ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ตลอดชีวิต  โดยใช้ภูมิปัญญาและชุมชนเป็นแหล่งเรียนรู้

 

ตัวอย่าง  การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ

                    โรงเรียนทุ่งแสงทองได้จัดการเรียนรู้แบบบูรณาการโดยร่วมกันจำทำโครงงานบูรณาการกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยและกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี  เรื่องฝ้ายทอใย  สายใจชีวิต  โดยมีเป้าหมายให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เรื่องที่ใกล้เคียงกับชีวิตจริง  ครูใช้เวลาตลอดภาคเรียนให้ผู้เรียนไปเรียนรู้วิธีการปลูกฝ้ายและทอผ้าจากผู้ประกอบการทอผ้าในชุมชน  แล้วมาร่วมกันออกแบบการจัดการเรียนรู้  ซึ่งมีขั้นตอนตั้งแต่การเก็บดอกฝ้าย  ปั่นฝ้ายเป็นเส้น  การลงมือทอ  ฝึกให้ผู้เรียนได้ใช้พื้นที่ข้างโรงเรียนสำหรับปลูกฝ้าย  ทำเครื่องมือทอผ้าอย่างง่าย  และให้ผู้เรียนบันทึกขั้นตอนการทำงาน  และเขียนสะท้อนความรู้สึกที่มีต่อกระบวนการทอผ้า  ได้เรียนรู้ความยากลำบากจากเส้นฝ้ายสู่ผืนผ้า  โครงงานนี้เป็นโครงงานขนาดใหญ่ที่ผู้เรียนได้เรียนรู้ตลอดภาคเรียน  ในช่วงก่อนปิดภาคเรียนให้ผู้เรียนจัดนิทรรศการ “ทอฝัน”  แสดงผลงาน

 

Share this