ตอนที่7 ชวนลูกดูนกอย่างไรให้สนุก
สมาชิกเลขที่6035 | 17 ก.พ. 53
1.3K views

มาถึงตรงนี้ คุณพ่อคุณแม่ คุณครู เชื่อผมหรือยังครับว่า การดูนก เป็นเรื่องน่าสนใจ แม้จะเป็นบทเรียนเล็กๆน้อยๆจากธรรมชาติ แต่คุ้มค่า ยิ่งใหญ่ในผลลัพธ์และผมคิดว่ามันเป็นแบบจำลองการเรียนรู้ธรรมชาติที่ดีตามพระราชบัญญัติการศึกษา พ.ศ. 2542 ที่เน้นให้เด็กเป็นศูนย์กลางการเรียน รู้จักเรียนรู้ด้วยตนเอง
 
ผมว่าเมืองไทยโชคดี เรามีนกอาศัยอยู่ทั่วไปทั้งในเมือง ชนบท ท้องไร่ท้องนา ป่าเขาลำเนาไพร ชายทะเล แม้แต่ในหลอดไฟ ไม่เชื่อไปดูซิครับ นกกระจอกยังสามารถอยู่ได้ นกจึงเป็นสัตว์ที่พบเห็นง่ายอยู่กับธรรมชาติมากที่สุด จากการสำรวจนกในประเทศไทย ตัวเลขชนิดนกบ้านเราก็ราวกว่า 900 ชนิด คนวงการดูนกบอกว่า มากกว่ายุโรปทั้งทวีปเขามี  400 กว่าชนิด
                                      
ขณะเดียวกันในจำนวน 900 กว่าชนิด เรายังมีนกอพยพทั้งบินผ่านและอาศัยอยู่ชั่วคราวร่วม 200 ชนิด แถมยังโชคดีเด้งที่สามคือ นกในเมืองไทยมาจาก 2 คาบสมุทรนะครับ พวกหนึ่งก็มาจากคาบสมุทรอินโดจีนอย่าง ลาว เขมร เวียดนาม อีกคาบสมุทรก็มาจากมาลายู นกเมืองไทยจึงสวยสดงดงาม แปลกตา ชนิดว่านักดูนกเมืองไทยชอบไปตามๆกัน ยังไม่พอยังมีนักท่องเที่ยวธรรมชาติ นักดูนกจากทั่วโลกบินมาดูนกเมืองไทยกัน ผมก็ได้แต่เสียดายที่ สังคมไทยไม่ได้นำ “ นก”มาเป็นวัตถุดิบการเรียนรู้แก่เด็กๆ
                  
ทีนี้เรามาว่ากันเรื่องจะชวนลูกและศิษย์ดูนกอย่างไร ตามหลักของการดูนกก็มีการแนะนำกันว่า 1.ต้องมีหนังสือคู่มือดูนก อุปกรณ์กล้องสองตา ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้อาจจะแพงไปสำหรับหลายท่าน ผมก็คิดว่า ถ้าจะให้ดี เราก็ส่งเสริมให้ลูกและศิษย์ของเราไปฝึกดูนกจากพวกชมรม หน่วยงานที่ทำการส่งเสริมดูนกอย่างที่ผมแนะนำ หรือถ้าจะดี ยุให้เด็กๆตั้งชมรม ตามหมู่บ้าน ตามโรงเรียน รวมกลุ่มกันแล้วก็ไปขอการสนับสนุนจากพี่ๆที่ตั้งชมรมดูนกในมหาวิทยาลัยหรือชมรมดูนกหรือผู้ใจบุญสุนทานจากห้างร้าน บริษัท นักการเมือง นักธุรกิจที่มีแนวทางสนับสนุนเรื่องธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ก็ดี จะช่วยเป็นจุดเริ่มต้นและประหยัดค่าใช้จ่าย แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่ คุณครูพอจะลงทุนไหวก็เชิญเลยครับ เดี๋ยวนี้ อุปกรณ์กล้องส่องทางไกลราคาถูกๆมีมากขึ้น
     
หลักข้อที่ 2 เรื่องการแต่งกาย ก็สบายๆ แต่จะให้ดี ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่มีสีกลมกลืนกับธรรมชาติก็จะดี นกจะได้ไม่ตกใจ หลักที่ 3 การชวนให้ลูกและศิษย์ดูนกครั้งแรกๆ ผมคิดว่าไม่จำเป็นต้องเริ่มด้วยการเข้าป่าเข้าพง เราอาจเริ่มจากในโรงเรียน ในหมู่บ้านที่ยังพอมีแหล่งธรรมชาติอยู่ หรือถ้าไม่มีเลย ถ้าเป็นในเมืองก็เริ่มจากสวนสาธารณก่อนก็ดี ส่วนท่านที่อยู่ต่างจังหวัดก็อาจจะง่ายเพราะยังมีธรรมชาติอยู่ หรือบางท่านอาจจะพาลูกและศิษย์ไปเที่ยวป่าตามอุทยานแห่งชาติก็ไม่ว่ากัน
                                                                                               
หลักที่ 4 ตอนเริ่มต้นสำหรับคุณพ่อคุณแม่ คุณครูที่ไม่เคยพาลูกและศิษย์ดู นก อย่าเพิ่งเริ่มจากสิ่งที่ยากลำบากเกินไป เดี๋ยวจะกลายเป็นว่าเด็กจะรู้สึกว่าการดูนกเป็นเรื่องยากลำบาก และอย่าเพิ่งบังคับ เอาเป็นเอาตาย สบายๆครับ ทำให้ การดูนกครั้งแรกเป็นเรื่องที่สนุก ประทับใจและอยากดูอีก ตรงนี้ คุณพ่อคุณแม่ คุณครูก็ต้องทำการบ้านหาอุบายท้าทายเด็กๆหรือชวนสนุกกับการดูนก เช่น ถามเด็กๆว่าใครเห็นนกมากที่สุด นกกำลังทำอะไร จะบันทึกหรือวาดรูปก็ได้ตามความถนัดของลูกและศิษย์
                             
หลักที่ 5 ช่วงเวลาของการดูนกที่นิยมกันก็ควรจะเป็นระหว่างเช้ากับเย็น เพราะสายหรือกลางวันไป มันร้อนแล้วดูนกไม่สนุกหรอกครับ และนกเค้าก็รู้ว่าสายหรือบ่ายไม่อยากออกมาบินให้ดูเพราะอากาศร้อน ดูนกยามเช้าก็ดีคือได้ฝึกลูกและศิษย์ให้เป็นคนรู้จักตื่นเช้า และดูนกตอนเช้าๆมันสุขกายสบายใจกว่าเพราะอากาศยังไม่ร้อนเกินไปและโอกาสเห็นนกมีมาก ส่วนตอนเย็นก็เช่นกัน นกจะมีกิจกรรมสนุกๆ แปลกๆให้เราเห็นก่อนเข้ารัง อันนี้ก็ต้องดูความเหมาะสมของแต่ละครอบครัวหรือโรงเรียน 
 
สำหรับคุณพ่อคุณแม่อาจจะไม่มีเวลาพาลูกไปดูนกได้ทุกวัน ก็อาจจะเป็นวันเสาร์หรืออาทิตย์ก็ได้ครับ ส่วนคุณครูนั้น หากจัดกิจกรรมดูนกเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนก็อาจจะจัดดูนกที่โรงเรียนหรือแหล่งธรรมชาติในชุมชน ตอนเช้าทุกวันหรือจะเป็นวันหยุดก็แล้วแต่การจัดการของแต่ละคน
 
เพราะฉะนั้น คุณพ่อคุณแม่คุณครูจะเห็นว่าการจัดกิจกรรมดูนก เป็นเรื่องไม่ยากเกินไป ในขณะเดียวกันคุณพ่อคุณแม่คุณครูก็จะได้ถือโอกาสเรียนรู้เรื่องของนกและธรรมชาติไปพร้อมกันกับลูกและศิษย์
 
 เดี๋ยวนี้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนกในเมืองไทยก็มีมากขึ้น นอกเหนือจากคู่มือดูนกหรือBird guide of thailand  ได้มีคนเขียนแนะนำเรื่องของนกในสื่อต่างๆมากมาย ทั้ง หนังสือพิมพ์รายวัน นิตยสารด้านการท่องเที่ยวธรรมชาติหรือในอินเทอร์เน็ตที่มีผู้ถ่ายภาพนกในประเทศไทยมาไว้ให้ชื่นชมกัน ต่างกับ10 ปีที่ผ่านมา ที่ข้อมูลจำกัดในวงแคบๆ  
 
ผมขอยกตัวอย่าง 1-2 เว็บไซต์ เช่น www.birdinghome. Com  เป็นเว็บที่มีเรื่องของการชมนกในบ้าน ซึ่งมีเทคนิค วิธีการ ที่จะชวนนกเข้ามาอยู่ในบ้าน การเตรียมอาหารและแหล่งน้ำสำหรับนก การสร้างบ้านให้นก นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวของนกในเมืองไทย นกในแง่ของงานศิลป์ ห้องสมุดปักษี หรืออีกเว็บ www.bird-home.com ที่แนะนำการจัดสถานที่อยู่อาศัยของนก ความรู้เกี่ยวกับนกในธรรมชาติ การแนะนำสถานที่ดูนกในประเทศไทย ข่าวสารเกี่ยวกับนกในด้านต่างๆ
Share this