หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (ตอนที่ 6)
สมาชิกเลขที่24780 | 06 ก.ย. 54
7.6K views

การผลิตและการออกแบบหนังสืออิเล็กทรอนิกส์

การผลิตหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ 

           ปัจจุบันการผลิตหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ เป็นเรื่องไม่ยุ่งยากอีกต่อไป  เนื่องจากมีโปรแกรมประยุกต์หลายตัวที่สนับสนุนการสร้างสื่อตัวนี้  แต่ทั้งนี้ การพัฒนาการสร้างหนังสืออิเล็กทรอนิกส์  ควรคำนึงถึงการเข้ากันได้ของเทคโนโลยีด้วย  เพราะในการผลิตอาจต้องใช้เครื่องมือที่แตกต่างกัน  เมื่อนำมารวมเข้าด้วยกันควรจะทำให้ง่ายในการพิมพ์ครั้งสุดท้าย  ในการออกแบบหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด  ซึ่งกำหนดการเชื่อมประสาน (Interface) กับผู้อ่าน  โดยยึดหลักการของหนังสือ  และโครงสร้างของหน้าหนังที่แน่นอน  ในการออกแบบแต่ละหน้าจะต้องคำนึงถึงยุทธศาสตร์การนำเสนอ  ยุทธศาสตร์การเรียน  การออกแบบปุ่มควบคุม  ควรมีแบบฝึกหัดระหว่างเรียนและคำถามท้ายบทเพื่อประเมินผลว่า  ผู้อ่านได้รับความรู้ไปมากน้อยเพียงใด  อาจมีสถานการณ์จำลองเพื่อกระตุ้นให้ผู้อ่านเกิดความสนใจต่อเนื้อหาที่มีอยู่  สิ่งสำคัญที่ลืมไม่ได้  คือ  เนื้อหาที่ใช้ต้องเป็นเนื้อหาที่มาจากหนังสือ (Barker and Manji. 1991 : 277) และจะต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้อ่าน ได้แก่  การค้นหา  บุ๊คมาร์ค  ดัชนีช่วยค้น  เป็นต้น  สิ่งที่ปรากฏอยู่อย่างสม่ำเสมอในขั้นตอนการผลิตหนังสืออิเล็กทรอนิกส์  คือ  การสร้าง(Authoring) และการเลียนแบบ (Emulation) ลำดับขั้นตอนการสร้างหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ จะประกอบด้วย

          1.  การเขียนสคริปต์และทรัพยากรพวกมัลติมีเดีย  เช่น  ตัวอักษร  เสียง  ภาพนิ่ง  ภาพเคลื่อนไหว  วีดิโอ

          2.  การรวบรวมการเชื่อมโยงและทำให้ทรัพยากรทั้งหมดเข้าด้วยกันได้  ในรูปแบบของหนังสือ

          3.  ในการประเมินผลและทดสอบจะใช้ซอฟต์แวร์เลียนแบบรูปแบบของหนังสือ  Bakes (1993. อ้างถึงใน วิภพ  ไชยธรรม.2545:12) ได้กล่าว ถึงพื้นฐานการสร้างส่วนประกอบพื้นฐานที่จำเป็นต้องมี  เพื่อช่วยให้เกิดความสะดวกของการใช้หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีอยู่ 3 ประการ  คือ

          1.  ข้อมูลในลักษณะของมัลติมีเดีย (A Multimedia Information) ซึ่งจะถูกจัดเก็บไว้ในเครื่องมือที่สร้างขึ้นเพื่อบรรจุข้อมูลเหล่านั้น เช่น  แผ่นซีดี - รอม

          2.  สิ่งอำนวยความสะดวกในการนำเสนอข้อมูล (A Display Facility) คือ  สิ่งที่ช่วยให้ผู้สร้างสามารถเห็นและรับฟัง  ข้อมูลที่บรรจุในหนังสืออิเล็กทรอนิกส์  นั้นได้

          3.  เครื่องมือที่ควบคุมในการประเมินอย่างเหมาะสม (A Suitable Access ControlMechanism) ประกอบด้วยการออกแบบฮาร์ดแวร์  ที่ทำให้เกิดการประสานกันระหว่างผู้ใช้กับคอมพิวเตอร์ เช่น อุปกรณ์ Mouse. Keyboard และซอฟต์แวร์อื่นๆ ที่ควบคุมการดึงข้อมูลและการนำเสนอข้อมูลโดยทั่วๆ ไปแล้ว  ซอฟต์แวร์ที่ใช้กับหนังสืออิเล็กทรอนิกส์จะมีมากตามการตัดสินใจที่จะเลือกใช้ และสามารถใช้ได้ในวิธีการที่แตกต่างกันไป  เพื่อจะส่งผลที่ว่าผู้ใช้มีความเข้าใจเป็นอย่างดีได้โดยทั่วกัน

โครงสร้างหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Book Construction)

          ลักษณะโครงสร้างของหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ จะมีความคล้ายคลึงกับหนังสือทั่วไปที่พิมพ์ด้วยกระดาษ  หากจะมีความแตกต่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ  กระบวนการผลิต  รูปแบบ  และวิธีการอ่านหนังสือ  สรุปโครงสร้างทั่วไปของหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (ไพฑูรย์  ศรีฟ้า. 2551 : ออนไลน์) ประกอบด้วย

     1.  หน้าปก (Front Cover)หมายถึง  ปกด้านหน้าของหนังสือ  ซึ่งจะอยู่ส่วนแรก  เป็นตัวบ่งบอกว่าหนังสือเล่มนี้ชื่ออะไร  ใครเป็นผู้แต่ง

     2.  คำนำ (Introduction) หมายถึง  คำบอกกล่าวของผู้เขียนเพื่อสร้างความรู้  ความเข้าใจเกี่ยวกับข้อมูลและเรื่องราวต่างๆ ของหนังสือเล่มนั้น

     3.  สารบัญ (Contents) หมายถึง  ตัวบ่งบอกหัวเรื่องสำคัญ  ที่อยู่ภายในเล่มว่าประกอบด้วยอะไรบ้าง  อยู่ที่หน้าใดของหนังสือ  สามารถเชื่อมโยงไปสู่หน้าต่างๆ ภายในเล่มได้

     4.  สาระของหนังสือแต่ละหน้า (Pages Contents) หมายถึง  ส่วนประกอบสำคัญในแต่ละหน้า  ที่ปรากฏภายในเล่ม  ประกอบด้วย

          1)  หน้าหนังสือ (Page Number)

          2)  ข้อความ (Texts)

          3)  ภาพประกอบ (Graphics) .jpg. .gif. .bmp. .pang. .tiff

          4)  เสียง (Sounds) .mp3. .wav. .midi

          5)  ภาพเคลื่อนไหว (Video Clips. flash) .mpeg. .wav. .avis

          6)  จุดเชื่อมโยง (Links)

     5.  อ้างอิง (Reference) หมายถึง  แหล่งข้อมูลที่ใช้นำมาอ้างอิง  อาจเป็นเอกสาร  ตำราหรือเว็บไซต์ก็ได้

     6.  ดัชนี (Index)  หมายถึง  การระบุคำสำคัญหรือคำหลักต่างๆ ที่อยู่ภายในเล่มโดยเรียงลำดับตัวอักษรให้สะดวกต่อการค้นหา  พร้อมระบุเลขหน้าและจุดเชื่อมโยง

     7.  ปกหลัง (Back Cover) หมายถึง  ปกด้านหลังของหนังสือซึ่งจะอยู่ส่วนท้ายเล่ม

แหล่งที่มา / รายงานผลการใช้หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ รายวิชา ง 31102 คอมพิวเตอร์  เรื่อง  การใช้โปรแกรม Microsoft Word เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1

 

 

Share this