Home โฮม เปิดหน้าต่างโลก
สมาชิกเลขที่58067 | 03 ก.ย. 54
7.5K views

2009-06-04
สารดคี
ยานน์ อาร์ทัส-เบอร์ทรานด์

 


โฮม Home เปิดหน้าต่างโลก หนังตัวอย่าง สารคดี – ดูวิดีโอทั้งหมด กดที่นี่

คุณเคยเห็นโลกภาคพื้นดิน ผ่านท้องฟ้าสีครามหรือไม่ ผืนน้ำใสสะอาด ถนนหนทาง ตึกรามบ้านช่อง ป่าไม้เขียวขจี เสมือนเรากำลังโอบกอดโลกทั้งใบไว้ได้ด้วยสองมือของเรา

ยานน์ อาร์ทัส-เบอร์ทรานด์ กำลังแสดงให้เราเห็นถึงโลกที่เขาเชื่อว่ายังมีอีกหลายคนที่ยังไม่เคยพบ มุมมองที่มนุษย์เดินดินไม่มีวันได้เห็น โลกที่เหมือนเพชรสีน้ำเงินลอยอยู่ในห้วงแห่งอวกาศอันมืดมิด ทำให้เราได้เห็น ได้เข้าใจและตระหนักถึงภัยพิบัติที่กำลังจะเกิดขึ้นผ่านช่วงเวลายาวนานจนทรัพย์สมบัติที่มีชื่อว่า ธรรมชาติ กำลังจะสูญสลายไปด้วยมือของเราและนั่นอาจหมายถึงสัญญาณที่เตือนว่าคงถึงเวลาที่เราจำเป็นปกป้อง บ้าน หลังใหญ่นี้ไว้ด้วยตัวของเราเอง

 


 

จุดเด่น – ภาพยนตร์สารคดีเรื่องเยี่ยมด้วยมุมมองการมองเห็นโลกอันสวยงามผ่านสายตาของช่างภาพชาวฝรั่งเศสฝีมือระดับโลกอย่าง ยานน์ อาร์ทัส-เบอร์ทรานด์ ช่างภาพทางอากาศที่เคยเปิดนิทรรศการเผยแพร่ภาพถ่ายของโลก

และเคยมาเปิดนิทรรศการในกรุงเทพที่ใช้ชื่อว่า Earth From Above ที่รวบรวมผลงานภาพถ่ายอันงดงามจากทั่วโลกมานานถึง 10 ปี ที่มีภาพอันโดงดังอย่าง หัวใจแห่งเมืองโวห์ นิวคาลีโดเนีย, ดวงตาแห่งมัลดีฟส์ และชาวนากลางทุ่งนา พื้นที่รอยต่อจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย เป็นต้น

 


 

home เปิดหน้าต่างโลก วันสิ่งแวดล้อมโลก

HOME

ตลอด 200,000 ปีบนโลก มนุษยชาติพลิกผันดุลยภาพของดาวดวงนี้ ซึ่งกว่าจะเข้ารูปเข้ารอยก็ต้องอาศัยวิวัฒนาการเกือบ 4 พันล้านปี ทุกวันนี้คือเวลาแห่งการชดใช้อย่างสาสม และสายเกินกว่าจะคร่ำครวญ

มนุษยชาติเหลือเวลาอีกไม่ถึง 10 ปีเพื่อกลับตัวกลับใจ เพื่อตระหนักถึงความอุดมสมบูรณ์ของโลกที่สูญสิ้นไปทุกหย่อมหญ้า และเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการผลาญทรัพยากร

นอกจากจะได้เห็นฟุตเทจแปลกตาซึ่งรวบรวมมาจากเหนือพื้นดินของกว่า 50 ประเทศ รวมถึงได้ร่วมแบ่งปันความพิศวงสงสัยและความกังวลใจ ญานน์ อาร์ทูส์-แบร์ทรองด์ ยังหวังว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นให้เราร่วมแรงร่วมใจกันฟื้นฟูบ้านหลังใหญ่ขึ้นมาอีกครั้ง

- 20% ของประชากรโลกถลุงทรัพยาการของดาวดวงนี้ไปถึง 80%
- ทั้งโลกใช้จ่ายด้านยุทโธปกรณ์มากกว่านำเงินไปช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาถึง 12 เท่า
- 5 พันคนต่อวันเสียชีวิตเพราะน้ำดื่มที่ปนเปื้อน และ 1 พันล้านคนไม่มีน้ำสะอาดไว้ดื่ม
- 1 พันล้านคนกำลังหิวโหย
กว่า 50% ของเมล็ดธัญพืชที่ซื้อขายกันทั่วโลกใช้เป็นอาหารสัตว์และผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ
- พื้นที่กสิกรรมเสื่อมสภาพไปถึง 40%
ทุกๆ ปี พื้นที่ป่าสูญหายไป 13 ล้านเฮกตาร์
1 ใน 4 ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม, 1 ใน 8 ของนก และ 1 ใน 3 ของสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำใกล้จะสูญพันธุ์ 
- สัตว์หลายๆ สปีชี่ตายเร็วกว่าอายุขัยตามธรรมชาติถึง 1 พันเท่า
- ผลิตผลทางการประมงลดน้อยลง สูญสิ้น หรือเสี่ยงต่อการสูญสิ้นถึง 75%
- ตั้งแต่เริ่มบันทึกสถิติ อุณหภูมิเฉลี่ยในช่วง 15 ปีที่ผ่านมานับว่าสูงที่สุด
- แผ่นน้ำแข็งขั้วโลกบางลงถึง 40% ในระยะเวลา 40 ปี
ก่อนถึงปี 2050 คาดว่าจะมีผู้ลี้ภัยจากสภาพอากาศอันเลวร้าย 200 ล้านคน

 


 

217 วันของการถ่ายทำ…และแผนการดำเนินงาน
(เบื้องหลังการถ่ายทำ)

ญานน์ อาร์ทูส์-แบร์ทรองด์ พร้อมด้วยทีมเบื้องหลังใช้เวลาเกือบ 3 ปีเพื่อสร้างหนังซึ่งเป็นทั้งจุดสูงสุดบนเส้นทางแห่งงานอันหนักหน่วงตลอด 30 ปีที่ผ่านมา รวมถึงเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อโลกโดยรวม

แนวคิดอันยิ่งใหญ่

ในปี 2006 เมื่อได้แนวคิดสำหรับหนังเรื่องนี้ ญานน์ อาร์ทูส์-แบร์ทรองด์ ก็รีบไปติดต่อพูดคุยกับผู้คุมงานสร้าง เดอนีส์ กาโรต์ (จาก Elzévir Films) ซึ่งเชื่อมั่นศรัทธาในโปรเจกต์นี้ทันที แม้ว่าผู้กำกับจะมีความคิดที่ไม่ค่อยฉลาดนัก อย่างเผยแพร่หนังให้ได้ดูกันแบบไม่ต้องเสียสตางค์ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็น การหลุดพ้นออกไปจากวงจรธุรกิจหรือหาผู้สนับสนุนด้านเงินทุน ล้วนแต่สำคัญอย่างยิ่งต่อหนังเรื่องนี้

แต่ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ หนังต้องการผู้จัดจำหน่ายที่สามารถพามันไปสู่รอบโลกอย่างแท้จริง ตอนที่คนในแวดวงธุรกิจภาพยนตร์ได้รู้ข่าวเกี่ยวกับโปรเจกต์นี้ เดอนีส์ กาโรต์ ยังจำได้ ผู้จัดจำหน่ายแทบทุกเจ้าโทรมาคุยกับเรา แม้กระทั่งตัวแทนของกลุ่มผู้จัดจำหน่ายใหญ่ยักษ์ในอเมริกาก็ยังโทรมา ซึ่งไม่บ่อยนักหรอกสำหรับบริษัทสร้างหนังอิสระสักบริษัทหนึ่ง

แต่แล้วพวกเขาก็ส่ายหัวกันหมดพอรู้ว่าเราอยากเผยแพร่หนังให้ได้ดูกันแบบฟรีๆ จนแล้วจนรอด ก็มี ลุค เบซซง กับบริษัท EuropaCorp นี่แหละที่เชื่อมั่นศรัทธาในโปรเจกต์นี้ และส่งต่อไปให้กับ PPR ซึ่งมีศักยภาพพอจะหนุนหลังเราได้ หลังจากนั้น ตารางการถ่ายทำก็เสร็จสมบูรณ์ โดยมีรายละเอียดคือถ่ายทำใน 54 ประเทศ ใช้เวลา 217 วัน เพื่อให้ได้ฟุตเทจที่รวมแล้วยาวเหยียด 488 ชั่วโมง!

นอกจากจะอาศัยประโยชน์จากที่เคยเดินทางเสาะแสวงหาโลเกชั่นต่างๆ มากมายเพื่อเขียนหนังสือ (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง The Earth From The Air หนังสือขายดีทั่วโลกซึ่งพุ่งทะยานไปเฉียด 3 ล้านฉบับ) และถ่ายทำรายการโทรทัศน์ (ชื่อ Seen From The Air) ญานน์ อาร์ทูส์-แบร์ทรองด์ ยังดึงตัวที่ปรึกษาทางด้านเทคนิคและศิลปะมาร่วมงานด้วย

เป็นต้นว่า อิซาเบล เดอลันนัว มาช่วยเขียนบทบรรยาย และ โดโรธี มาร์แตง ซึ่งเป็นผู้หาข่าวประจำรายการ Seen From The Air กลายมาเป็นผู้ช่วยผู้กำกับที่ 1 ในโปรเจกต์นี้ ในขณะที่ ผู้จัดการงานสร้าง (ฌอง เดอ เทรโกแมง) และผู้จัดการฝ่ายโลเกชั่น (โคลด กานาเปลอ) ได้รับการว่าจ้างมาเพื่อวางตารางการทำงานอันน่าทึ่ง ซึ่งกำหนดให้ทีมเบื้องหลังแค่สามคนทำงานประสานกันเป็นหนึ่งเดียวตลอด 21 เดือนจนครบถ้วนทั้งสี่มุมโลก

โดโรธี มาร์แตง กล่าว การบินไปรอบโลกด้วยเฮลิคอปเตอร์อาจจะดูเหมือนง่าย แต่จริงๆ แล้ว แต่ละงานที่ได้รับมอบหมาย แต่ละฉากที่ถ่ายทำ ล้วนแต่เป็นงานที่หนักหนาสาหัสทั้งนั้น

 


 

ทีมเบื้องหลัง

จากประสบการณ์การเก็บภาพทางอากาศอันโดดเด่น อย่างที่เห็นกันชัดๆ ใน Winged Migration ฌอง เดอ เทรโกแมง คาดการณ์ถึงงานที่ได้รับมอบหมายว่า ด้วยความที่เป็นหนังซึ่งดำเนินเรื่องไปด้วยตัวของมันเอง แต่ละภารกิจก็คงไม่ต่างจากการตามล่าหาสมบัติ คือ ต้องเลือกให้ถูกทั้งสถานที่ ทั้งเฮลิคอปเตอร์ ทั้งนักบิน

นอกจากการเดินทางเพื่อเสาะหาโลเกชั่นแล้ว องค์กรต่างๆ ในปารีสยังร่วมแรงร่วมใจกันจัดหาลูกมือภาคสนามมาเป็นส่วนหนึ่งในตารางเวลาอันเคร่งคร
ัดและแผนการเดินทาง ทว่าบนเฮลิคอปเตอร์ ทีมงานจะถูกจำกัดให้เหลือเพียงผู้กำกับหรือไม่ก็หนึ่งในผู้ช่วยผู้กำกับ ช่างกล้องจาก Cineflex และผู้คุมงานภาพเท่านั้น

ยิ่งไปกว่านั้น การถ่ายทำฟุตเทจทางอากาศยังอยู่ภายใต้เงื่อนไขทางเทคนิคอีกมากมาย เริ่มจากต้องใช้กล้องตามที่กำหนด นั่นคือ Gyro-Stabilized Cineflex HD ซึ่งชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นกล้องที่ให้ภาพราวกับการเคลื่อนไหวของเครนไม่ว่าจะอยู่
ในสภาวะสั่นสะเทือนหรือไม่ก็ตาม แรกเริ่มเดิมที กล้องรุ่นนี้พัฒนาขึ้นมาโดยวัตถุประสงค์ทางการทหาร กล่าวคือ เพื่อช่วยในการค้นหาเป้าหมาย มันจึงซูมได้ในระยะไกลมาก และยังเปลี่ยนเทปบันทึกภาพได้ทันทีบนเฮลิคอปเตอร์ อย่างไรก็ตาม อุปกรณ์ทั้งหมดก็หนักร่วมๆ 120 กิโลกรัม มิหนำซ้ำยังต้องติดตั้งในพื้นที่อันจำกัด

หนึ่งในช่างกล้องที่เข้ามาร่วมงานกับ Home คือ ทังกี จูด์ ซึ่งอัดแน่นไปด้วยประสบการณ์การถ่ายทำทางอากาศ 12 ปี และเคยขึ้นบินกับ ญานน์ อาร์ทูส์-แบร์ทรองด์ สมัยถ่ายทำรายการ Seen From The Air มาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน เขาเน้นย้ำว่าระหว่างที่ถ่ายทำก็จำเป็นต้องรู้จักยืดหยุ่นผ่อนปรนกันบ้าง

ก็ในเมื่อเลือกใช้เฮลิคอปเตอร์หรือนักบินของเราเองไม่ได้ทุกครั้ง หากแต่การถ่ายทำทางอากาศนั้น 60% ของผลงานขึ้นอยู่กับกำลังของเฮลิคอปเตอร์และความสามารถในการควบคุมเครื่องของนักบิน


โดยที่ยังไม่พูดถึงปัญหาเกี่ยวกับอุปกรณ์ สภาพอากาศ และการสื่อสาร ในภารกิจแรก ญานน์เองก็ต้องถ่ายภาพนิ่งไปด้วยระหว่างที่ผมถ่ายภาพเคลื่อนไหว เพราะบางครั้งเขาต้องแสดงภาพตัวอย่างจากที่เขาถ่ายให้ผมดูด้วย ผมจะได้รู้ว่าเขาอยากได้ภาพแบบไหน

ทุกๆ ภารกิจ ช่างกล้องจะต้องทำงานควบคู่ไปกับผู้คุมงานภาพเสมอ สเตฟาน อซูเซอ หนึ่งในผู้คุมงานภาพ ชื่นชอบผลงานอันแสนวิเศษที่ได้จากกล้อง Cineflex ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของเขา ทั้งเรื่องการขนย้าย ตรวจเช็ค และติดตั้งในเฮลิคอปเตอร์ก่อนจะต้องไปช่วยช่างกล้องอีกแรง ฟุตเทจในม้วนเทปจะต้องดิบๆ หยาบๆ เพื่อจะได้เพิ่มคุณภาพแสงในระดับแม็กซิมัมได้ในช่วงปรับแต่งสี สเตฟาน อซูเซอ อธิบาย หมายความว่าภาพที่ได้มาจะสีหม่นๆ แบนๆ และไม่น่ามองเลยแม้แต่น้อย ซึ่งน่าหงุดหงิดทีเดียว แต่ไม่นานก็ฝึกปรับเปลี่ยนสายตาให้เข้ากับสภาวะนั้นได้

ปัญหาใหญ่ที่สุดในการถ่ายทำบนเฮลิคอปเตอร์คือเวลาบินอันจำกัด โดโรธี มาร์แตง อธิบาย เรามีเชื้อเพลิงให้เครื่องยนต์เผาผลาญอย่างจำกัด ทุกๆ นาทีมีค่ามาก และจะต้องขจัดโอกาสที่จะเกิดเหตุไม่คาดฝันให้เหลือน้อยที่สุด โดยประมาณแล้ว เฮลิคอปเตอร์จะอยู่บนท้องฟ้าได้ราวๆ 2 ถึง 2 ชั่วโมงครึ่งเป็นอย่างมาก ในขณะที่เราก็มักจะถ่ายทำกันไกลออกไปจากที่เติมน้ำมัน เพราะฉะนั้น จะมีเวลาให้ถ่ายช็อตที่ต้องการแค่ 30 นาทีเท่านั้นแหละ เราถึงต้องมุ่งมั่นตั้งใจและใช้เวลาให้คุ้มค่าที่สุดเท่าที่จะทำได้

ระบบระเบียบ!

อาจกล่าวได้ว่าข้อขัดข้องทางเทคนิคไม่หนักหนาเลย เมื่อเทียบกับปัญหาจากระบบบริหารจัดการของแต่ละประเทศซึ่งทีมงานต้องเผชิญ ฌอง เดอ เทรโกแมง ให้ความกระจ่างว่าในแต่ละประเทศ

เราต้องเข้าใจวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างถ่องแท้ ต้องเข้าใจวิธีการทำงานของพวกเขา และปรับตัวเข้ากับมันให้ได้ กล่าวคือ ระดับการอนุญาตจะมากน้อยแตกต่างกันไปตามแต่ มาตรการด้านความปลอดภัย ในแต่ละประเทศ โดยที่ทีมงานยกตำแหน่งเจ้าแห่งความเรื่องมากให้อินเดียไปครอง เริ่มแรก เราต้องยื่นคำขอไปที่กระทรวงกลาโหม, กระทรวงต่างประเทศ, สถานทูต, กองทัพบก แล้วก็กองทัพอากาศพร้อมๆ กัน โดโรธี มาร์แตง เล่า

ก่อนนั้น เราทำความเข้าใจทุกอย่างแจ่มแจ้งแล้วตั้งแต่ที่ปารีส ต่อมาก็เที่ยวเสาะหาโลเกชั่นและหาตำแหน่งจีพีเอสของพื้นที่ที่จะเข้าไปถ่ายทำ หลังจากนั้นก็รอคำตอบรับ รออยู่หนึ่งปีเพื่อ 2 นาทีครึ่งในหนัง และเพื่อพบกับมาตรการคุมเข้ม พอถึงวันถ่ายทำ เจ้าหน้าด้านความปลอดภัยท่านหนึ่งขึ้นเครื่องไปกับเราด้วยเพื่อตรวจตราแผนการบิน ตรวจตำแหน่งอ้างอิงจีพีเอส และตรวจว่าเราเก็บภาพอะไรไปบ้าง

เย็นนั้น เขานั่งดูฟุตเทจอยู่กับเรา และในที่สุดก็ไม่อนุญาตให้นำเทปออกนอกประเทศ ฉันต้องปล่อยม้วนเทปทั้งหมดไว้กับกองเซ็นเซอร์ รวมๆ แล้วก็ 15 ม้วน แต่พอได้คืนมา 2 ม้วนครึ่งถูกลบเกลี้ยงไม่มีเหลือ เหตุที่ต้องระแวดระวังรัดกุมก็เพราะประสิทธิภาพการซูมของกล้อง Cineflex นั้นทำให้มันไม่ต่างจากกล้องสอดแนมชั้นเลิศเลยทีเดียว บางประเทศ อย่างเช่น ซีเรีย ถึงกับสั่งห้ามไม่ให้ใช้กล้องรุ่นนี้เด็ดขาด

เขียนบทเมื่อ…ถ่ายทำไปครึ่งเรื่อง

ความแปลกใหม่ของหนังเรื่องนี้อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งถือเป็นหลักในการถ่ายทำก็ว่าได้ นั่นคือ เริ่มถ่ายทำโดยไม่มีบท กระทั่งถ่ายทำไปแล้วหนึ่งปี ญานน์ อาร์ทูส์-แบร์ทรองด์ ก็ขอให้ อิซาเบล เดอลันนัว ซึ่งเป็นทั้งนักข่าวและเพื่อนร่วมงานผู้ซื่อสัตย์ มาช่วยเขียนบท ฉันคิดว่านี่เป็นหนังดีเรื่องหนึ่งเลยทีเดียว ทุกๆ ภาพที่เห็นบอกเล่าเรื่องราวด้วยลีลาท่าทางเฉพาะของตัวมันเอง เธอบอก

โดยในระหว่างที่นั่งดูฟุตเทจ ถ้อยคำบรรยายก็ผุดออกมาเรื่อยๆ นอกจากนี้ อิซาเบล เดอลันนัว ยังแสดงความความเห็น ฉันนึกถึงความรู้สึกอึ้งไปชั่วขณะตอนที่เห็นช็อตซึ่งจับภาพสัมพันธไมตรีระหว่างผืนน
้ำ แผ่นฟ้า และโลก หลังจากนั้น ญานน์กับฉันก็ได้ตระหนักถึงพันธะที่ไม่มีวันแยกขาดจากกันระหว่างธาตุต่างๆ มนุษย์ และโลก ซึ่งตรึงตาตรึงใจเรามากๆ มันนำเรากลับไปสู่ยุคแรกเริ่มของโลก และบอกว่าธาตุเหล็กในตัวเราน่ะได้มาจากการระเบิดของดวงดาวเมื่อหลายๆ พันล้านปีก่อนโน้นไง!

เหนือสิ่งอื่นใดคือ อย่าตกลงไปในกับดักแห่งความสิ้นหวัง ซึ่งจะยิ่งทำให้หดหู่ สารที่หนังต้องการสื่อนั้นสรุปออกมาได้เป็นข้อความที่ขัดแย้งกันอยู่ในที คือเราไม่เคยเอาชีวิตไปผูกติดกับทรัพยากรธรรมชาติ แต่กระนั้นก็ไม่เคยตัดขาดจากธรรมชาติเช่นกัน เราใช้ชีวิตแบบออกนอกลู่นอกทางกันมามากเกินไปแล้ว ตอนนี้ถึงเวลาต้องเปลี่ยนสักที เราเปลี่ยนได้แน่ถ้าตระหนักและเข้าใจว่านั่นสำคัญต่อชีวิตของเรามาก ฟุตเทจทางอากาศนี่แหละจะแสดงให้เห็นความจริงข้อนั้น พร้อมๆ กับนำเสนอทัศนคติที่จำเป็นต่อการขบคิดถึงปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นด้วย

นอกจากนี้ อิซาเบล เดอลันนัว ยังใส่ข้อมูลที่ให้ความรู้ โดยความร่วมมือของ ทิวฟิก แฟร์ ไว้ในบทบรรยาย ก่อนจะส่งท้าย เราเท่านั้นที่จะดำเนินเรื่องราวของเราต่อไป…ด้วยกัน

 

 


 

ตบท้ายด้วย ดูภาพที่เห็นแล้วจะทึ่งในความอุตสาหะ ไปเก็บภาพมาของทีมงานหนังเรื่องนี้

home เปิดหน้าต่างโลก วันสิ่งแวดล้อมโลก

ความแห้งแล้ง แสดงออกผ่านชาวบ้านในคูเดียลา, ราชาสถาน อินเดีย มาตักน้ำ ที่บ่อน้ำ

home เปิดหน้าต่างโลก วันสิ่งแวดล้อมโลก

สภาพซากเศษตกค้างของการขุดเจาะบ่อน้ำมัน ในฟอร์ท แมคเมอร์เรย์, อัลเบอร์ต้า ประเทศแคนาดา

home เปิดหน้าต่างโลก วันสิ่งแวดล้อมโลก

ทะเลสาปโพเวลล์, รัฐยูท่าห์, อเมริกา ที่เริ่มถูกกลืนกินไปจนเห็นริ้วรอยอย่างเห็นได้ชัด

home เปิดหน้าต่างโลก วันสิ่งแวดล้อมโลก

บ่อน้ำพุสีรุ้ง, อุทยานแห่งชาติเยลโล่สโตน, รัฐไวโอมิ่ง, อเมริกา ที่เริ่มขาดสมดุล

home เปิดหน้าต่างโลก วันสิ่งแวดล้อมโลก

โรงงานใกล้ กรินดาวิค ที่ปล่อยความร้อนในประเทศที่ได้ชื่อว่าหนาวเย็นอย่าง ไอซ์แลนด์ กำลังพ่นไอร้อนลงในทะเลสาบทำลายสมดุลธรรมชาติ

home เปิดหน้าต่างโลก วันสิ่งแวดล้อมโลก

การย่อยสลายของภูเขาไฟ ลาคากิการ์ ในประเทศไอซ์แลนด์

home เปิดหน้าต่างโลก วันสิ่งแวดล้อมโลก

บ้านที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ในเมือง ไฟร์บวร์ก ประเทศ เยอรมันนี

home เปิดหน้าต่างโลก วันสิ่งแวดล้อมโลก

เรือบรรทุกน้ำมันที่ลอยอยู่บนน่านน้ำใน ฝรั่งเศส

home เปิดหน้าต่างโลก วันสิ่งแวดล้อมโลก

แผนผังบ้านธรรมชาติในซาน ออกุสติน ใกล้เมืองอัลเมเรีย แคว้นอันดาลูเซีย ประเทศสเปน 

home เปิดหน้าต่างโลก วันสิ่งแวดล้อมโลก

วิถีชีวิตชาวบ้าน กับการเก็บเกี่ยวข้าวสาลีในประเทศเนปาล

home เปิดหน้าต่างโลก วันสิ่งแวดล้อมโลก

คาราวานที่สัญจรด้วยอูฐ ใกล้ทิจิต, มอริตาเนีย

home เปิดหน้าต่างโลก วันสิ่งแวดล้อมโลก

เรือประมงเข้าเทียบท่า มอฟติ บนแม่น้ำไนเจอร์ ประเทศมาลี

home เปิดหน้าต่างโลก วันสิ่งแวดล้อมโลก

สภาพสลัมใน มาโกโก้ ใกล้เกาะลากอส เมืองหลวงประเทศไนจีเรีย

home เปิดหน้าต่างโลก วันสิ่งแวดล้อมโลก

ภาพกราฟฟิกของภูเขาน้ำแข็งที่เริ่มหลอมละลายที่ไซบีเรีย, รัสเซีย

home เปิดหน้าต่างโลก วันสิ่งแวดล้อมโลก

ฝูงควายแห่งทุ่งซาวันน่า ในศูนย์โอคาวานโก้, ประเทศบอตสวาน่า 

home เปิดหน้าต่างโลก วันสิ่งแวดล้อมโลก

สภาพพื้นที่ดิบชื้นใกล้โครัมบา มาโต กรอสโซ่ เด ซูล ประเทศบราซิล

home เปิดหน้าต่างโลก วันสิ่งแวดล้อมโลก

น้ำตกอิกัวซู ที่อาเจนติน่า และ บราซิล

home เปิดหน้าต่างโลก วันสิ่งแวดล้อมโลก

แนวปะการังที่ ควีนส์แลนด์, ออสเตรเลีย

home เปิดหน้าต่างโลก วันสิ่งแวดล้อมโลก

ฝูงชนที่เดินทางสัญจรบนถนนชิบูย่า โตเกียว ฮอนชู ญี่ปุ่น

home เปิดหน้าต่างโลก วันสิ่งแวดล้อมโลก

แท่นขุดเจาะน้ำมันในเบเกอร์สฟิลด์ รัฐแคลิฟอเนียร์ อเมริกา

home เปิดหน้าต่างโลก วันสิ่งแวดล้อมโลก

การเก็บเกี่ยว ข้าวสาลี ในเมืองลามาร์ รัฐโคโลราโด้ อเมริกา

Share this