กะเทยเพื่อสังคม...เพศภาวะกับการพัฒนาสังคม
สมาชิกเลขที่58067 | 19 ส.ค. 54
1.8K views

เกริ่นนำเรื่องของกะเท้ยเทย......ที่ไม่ลับเฉพาะ
 
โดย ยุคนธร พรมเดช
 
ก่อนขีดเขียนเรื่องนี้ชั่งใจอยู่นานมากว่าจะเขียนดีหรือไม่ ซึ่งทางผู้อาวุโสหลายท่าน (เช่น อาจารย์ อรพิน วิมลภูษิต คุณมัทนา  โกสุมภ์ อาจารย์นบนอบ พงษ์สวัสดิ์) บอกว่า “นี่เธอเมื่อไรจะเขียนบทความที่แสดงถึงลักษณะเฉพาะกลุ่มคนที่ทำงานเพื่อสังคม” (คำเท่ๆ คือ อัตลักษณ์)  จนแล้วจนเล่าเฝ้าแต่คิด (มากไปหรือเปล่า) จะเขียนดีไหมหนอ จึงตัดสินใจโดยได้แรงดลบันดาลใจ ขอย้ำแรงดลบันดาลใจที่เกย์ท่านหนึ่งได้ทำหน้าที่เป็นภาพลักษณ์องค์กรฯ ที่เน้นคนดูแล กายตนเอง ใจตนเอง สังคมส่วนรวม อารมณ์ และสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา  (เหมารวมๆ ว่า รอบตัวทุกคนนั่นแหละ)  ยอมรับทำหน้าที่ได้ดี แต่สิ่งที่ต้องปรับปรุง คือ การแต่งกายที่เหมาะสมกับคน เวลา สถานที่ และกับตำแหน่งตนเอง นี่คือแรงดลบันดาลใจในแง่บวกพร้อมกับข้อติติงไปพร้อมกัน  
 
เมื่อคิดตกแล้ว ในวันนี้จึงได้มีงานเขียนกะเทยเพื่อสังคม........เพศภาวะกับการพัฒนาสังคม ที่อาจารย์อรพินกับเพื่อนร่วมงานอีกหลายๆ ท่าน  ได้กรุณานั่งถกนั่งเถียง และสนับสนุนให้สะท้อนภาพลักษณ์คนทำงานเพื่อสังคมที่เป็นกลุ่มคนที่มีลักษณะเฉพาะตน (อัตลักษณ์) ซึ่งมุ่งมั่นตั้งใจทำงานแบบทุ่มเทสุดตัว มอบใจ กาย ทรัพย์ เวลา เพื่องานอย่างเดียว เป็นแง่มุมคนทำงานด้านสังคม ที่สนใจงานพัฒนา และเป็น   กลุ่มที่ไม่ได้ถูกกล่าวถึงมากนัก ทั้งที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่มุ่งทำงานแบบทุ่มเท ไม่ว่าจะในชนบท เมือง และอีกทุกพื้นที่ในโลกนี้ ตามที่พระพจน์กล่าวว่า ทำงานอย่างมีความสุขได้ต้องมีองค์ประกอบชีวิต คือ ฉันทะ ความพอใจ  วิริยะ ความสม่ำเสมออย่างไม่ย่อหย่อนต่องาน จิตตะ ใส่ใจต่องานนั้น และวิมังสา น้อมนำมาทบทบตลอดเวลาถึงข้อดี ข้อบกพร่อง ในการทำงานเพื่อพัฒนาให้มีคุณภาพ
 
บทความ “กะเทยเพื่อสังคม” จะสะท้อนแง่มุมคนทำงานที่ประกอบไปด้วยชีวิตจริงของคนที่มี   “จิตสาธารณะ” (ใจที่มุ่งหวังเพื่อการทำงานกับทุกคนส่วนรวม) นำเสนอแง่มุมชีวิตกระเทยที่ประกอบอาชีพนักพัฒนาชุมชน  คนทำเสริมอาชีพเสริมสวย คนจัดงานประเพณีตามเทศกาลต่างๆ คนทำหน้าอาสาสมัครสาธารณสุขมูลฐาน (อสม.) นักวิชาการสาธารณสุข และอีกหลายที่หน้าที่ๆ ไม่สามารถนำมากล่าวไว้ได้ในที่นี้ (ติดขัดในลักษณะบุคคลที่ควรเคารพบูชาและสังคมไทยยังไม่ยอมรับเท่าที่ควร ตรงนี้จึงไม่ขอกล่าว) ในสภาพสังคมปัจจุบันมีหญิง ชาย ผู้สูงอายุ เด็ก คนพิการ มีสุขมีทุกข์ ตรอมตรมในชีวิต กะเทยก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกันทุกอย่าง เฉกเช่น ”กะเทยเพื่อสังคม” ในที่นี้จะเป็นผู้หนึ่งที่อยู่ตรงกลาง คอยเติมสิ่งที่ผู้คนทั่วไปขาด เช่น ขาดสุขใจ เติมกำลังใจ เศร้าใจ เติมเรื่องสนุกสนาน ขาดคำปรึกษาให้ข้อคิด เป็นต้น
 
บทความนี้จะนำเสนอตัวอย่าง ”กะเทยเพื่อสังคม” ในวงเวทีการพัฒนาศักยภาพผู้นำแรงงานนอกระบบในภาคเหนือเป็นหลัก เพราะเป็นพื้นที่ปฏิบัติการในโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ ซึ่งเป็นชุดโครงการหนึ่งที่มุ่งเน้นแรงงานในชุมชนท้องถิ่น ลดความเสี่ยงจากการทำงาน สามารถเข้าถึงสวัสดิการที่พึงมีพึงได้ตามลักษณะอาชีพ และท้องถิ่น (องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) มีนโยบายสาธารณะสนับสนุนกลุ่มคนทำงานและคนทำอาชีพหลัก/เสริม ในการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน เงินทุนต่อยอดในลักษณะกลุ่มอาชีพ และป้องกัน ส่งเสริม ฟื้นฟูสุขภาพคนทำงานให้มีคุณภาพชีวิตที่พึงหวังกับทุกแรงงานทุกคน
 
Share this