พลังงานสะอาด แนวทางการพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืน
สมาชิกเลขที่183656 | 26 ธ.ค. 56
821 views

ปัจจุบันไทยมีการสำรองน้ำมันเป็นอันดับที่ 55 ของโลก สามารถผลิตน้ำมันได้เป็นอันดับที่ 33 และติดอันดับการใช้น้ำมันมากเป็นอันดับที่ 22 ขณะที่ก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า มีสำรองเป็นอันดับ 44 กำลังการผลิตเป็นอันดับที่ 25 และมีการใช้สูงถึงอันดับที่ 17 ทั้งนี้ ไทยต้องนำเข้าพลังงานไม่ต่ำกว่า 60% ของการใช้ทั้งหมด จะเห็นได้ว่าไทยมีพลังงานน้อยแต่ใช้มากกว่าที่มีอยู่ แนวทางที่จะแก้ปัญหาและรองรับวิกฤติพลังงานในอนาคตได้อีกทางหนึ่ง คือการช่วยกันประหยัดพลังงาน และส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน พลังงานหมุนเวียนทุกรูปแบบ พลังงานจากพืช จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ซึ่งจะช่วยเพิ่มความมั่นคง และการขาดดุลการค้าจากการนำเข้าพลังงานด้วย

ส่วนใหญ่การผลิตไฟฟ้าจะได้จากเชื้อเพลิงฟอสซิลซึ่งเป็นตัวการหลักในการทำให้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง เกิดภาวะโลกร้อน กระทรวงพลังงานได้ออกมาช่วยในการสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนซึ่งเป็นพลังงานสะอาด กระตุ้นการใช้งานพลังงานสีเขียว ให้สอดคล้องกับการพัฒนาพลังงานตามความเจริญเติบโตของเศรษฐกิจและสังคมให้ยั่งยืนอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas: GHG) ในภาคพลังงานให้ต่ำกว่า 4 ตัน / คน / ปี มีการปรับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 25 % ใน 10 ปี (พ.ศ. 2555 - 2564) เพื่อกำหนดกรอบและ ทิศทางการพัฒนาพลังงานทดแทนของประเทศจากเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร จากเดิมอยู่ที่ 3,630 MW เพิ่มขึ้นอีก 1,170 MW ทำให้เป้าหมายใหม่เพิ่มขึ้นเป็น 4,800 MW

เพื่อให้การผลิตไฟฟ้าจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ในแผนดังกล่าวจึงมีแนวทาง วิธีการเพื่อให้บรรลุผล โดยมีการวางแผนในการดำเนินการ เช่น การส่งเสริมการปลูกไม้โตเร็วในพื้นที่รกร้างว่างเปล่า พื้นที่ที่ไม่ได้มีการใช้ประโยชน์ พร้อมแปรรูปเพื่อจำหน่ายเป็นเชื้อเพลิงให้สถานีผลิตพลังงานใกล้ชุมชนนำไปใช้การผลิตไฟฟ้าต่อไป การจัดเตรียมมาตรการด้านการเงินเพื่อสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรให้เป็น High pressure boiler พิจารณาขยายระบบสายส่ง สายจำหน่ายไฟฟ้าเพื่อรองรับการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีศักยภาพพลังงานจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรสูง พร้อมสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการพลังงานสะอาดจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร พร้อมกันนี้ยังมีมาตรการแนวทาวในการวิจัย สนับสนุนเทคโนโลยี เครื่องมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนแบบครบวงจรอีกด้วย

จากแผนดังกล่าวทำให้ประเทศไทยมีแผนปฏิบัติการที่ชัดเจน ซึ่งในปี 2564 ตามแผนจะทำให้ได้กำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมีเป้าหมายอยู่ที่ 13,927 MW ช่วยลดการนำเข้าน้ำมันและช่วยส่งเสริมการลงทุนในภาคเอกชนเพิ่มมากขึ้น พร้อมกันนี้ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และยังสามารถขายคาร์บอนเครดิตให้แก่ประเทศที่ต้องการในอนาคตได้อีกด้วย

ติดตามข้อมูลข่าวสารของพลังงานสะอาด พลังงานทดแทนในประเทศไทยที่ได้จาก
วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรได้ที่ สมาคมโรงไฟฟ้าชีวมวล และ Fanpage

Share this