มินามาตะ เรื่องราวที่มากกว่าโรคร้าย ภาค 4
ศักดิ์ศรีของวิชาการ
เมื่อถูกชี้ว่าเป็นต้นเหตุ บรรดาผู้บริหารของบริษัทชิสโสะทั้งประธานบริษัทและผู้จัดการโรงงานต่างก็ออกมาปฏิเสธ โดยยืนยันว่า โรงงานของชิสโสะไม่ได้ทำให้เกิดโรค และยังอ้างว่าสารพิษที่เจือปนออกมาย่อมละลายไปหมด
เพื่อที่จะคัดค้านทฤษฎีว่าด้วยพิษจากสารประกอบอินทรีย์ของปรอทที่คณะแพทย์จากมหาวิทยาลัยคุมาโมโตสรุปออกมา ทางบริษัทร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมเคมีแห่งญี่ปุ่นได้ทุ่มเงินจ้างนักวิทยาศาสตร์หลายคนคินค้นทฤษฎีอื่นๆ ที่น่าจะเป็นสาเหตุของโรคนี้
หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ที่ออกมาคัดง้างคือ ศ. คิยูระ ไรซาคุ วิศวกรเคมีดังจากสถาบันเทคโนโลยีโตเกียว เขาระบุว่า ปลาในมินามาตะนั้นปนเปื้อนปรอทน้อยกว่าปลาบริเวณอื่นๆ ทั่วประเทศ ทั้งยังเบี่ยงเบนให้คนคล้อยตามว่า สาเหตุของโรคน่าจะเกิดจากสารประกอบอินทรีย์ที่มีไนโตรเจน (amines) ที่เกิดจากปลาเน่า
อีกคนคือ ศ. ทามิยะ ทาเคียว แห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานสมาคมแพทย์ญี่ปุ่นด้วย ศาสตราจารย์วัยเกษียณผู้นี้ตั้งคณะกรรมการชุดทามิยะขึ้นในสมาคมอุตสาหกรรมเคมีแห่งญี่ปุ่น เพื่อหาทางทำลายความน่าเชื่อถือของทฤษฎีเรื่องพิษจากสารประกอบอินทรีย์ของปรอทโดยตรง นอกจากนั้นยังมีโอชิมา ทาเคจิ ประธานสมาคมเคมีญี่ปุ่น ซึ่งได้พิมพ์เอกสารออกเผยแพร่เพื่ออธิบายว่า สาเหตุของโรคมินามาตะเกิดจากวัตถุระเบิดจำนวนมากที่ทางกองทัพญี่ปุ่นได้แอบขนไปทิ้งไว้ในบริเวณอ่าวมินามาตะ แม้ว่าในข้อเท็จจริงไม่เคยเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวในทะเลแถบนั้นก็ตาม
อย่างไรก็ดี ในอีกทางหนึ่งก็มีนักวิทยาศาสตร์ แพทย์ และนักวิชาการจำนวนไม่น้อยที่ออกมาสนับสนุนทฤษฎีของคณะแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยคุมาโมโต รวมทั้งชี้ว่าชิสโสะเป็นสาเหตุของโรคมินามาตะ ทั้งนี้หนึ่งในแรงสนับสนุนที่มีน้ำหนักนั้นมาจาก ศ. อิรุคายามา ผู้ซึ่งเก็บตะกอนจากปลายท่อของโรงงานไปตรวจเมื่อปี 2503 จากนั้นจึงได้แถลงผลการศึกษาในเดือนกุมภาพันธ์ 2506 ว่าพบ methyl mercury ปนอยู่จริงในปริมาณสูง
นอกจากนี้ยังมีการตรวจพบการสะสมของสารปรอทในเส้มผมของผู้ป่วย ซึ่งค่าสูงสุดที่พบนั้นสูงถึง 705 ppm ส่วนค่าสูงสุดที่พบในคนที่มีสุขภาพปกติคือ 191 ppm เทียบกับคนที่อาศัยอยู่นอกพื้นที่มินามาตะมีค่าเฉลี่ย 4.42 ppm ขณะเดียวกันก็มีการตรวจพบสารปรอทสะสมในปลาและหอยจากอ่าวมินามาตะอยู่ในช่วง 20-40 ppm ในขณะที่ค่ามาตรฐานของสารปรอทที่กฎหมายญี่ปุ่นยอมให้มีในสิ่งแวดล้อมคือไม่เกิน 1 ppm
ท่ามกลางหลักฐานมากมายนี้ ในที่สุดรัฐบาลจึงยอมรับออกมาอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2511 ว่าโรคมินามาตะเป็นโรคที่เกิดจากมลพิษ พร้อมทั้งมีข้อสรุปเกี่ยวกับสาเหตุของโรค โดยโซโนดะ ซูนาโอะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการ ประกาศในนามรัฐบาลว่า “โรคมินามาตะในจังหวัดคุมาโมโตเกิดจาก methyl mercury ซึ่งเกิดขึ้นจากโรงงานผลิต acetaldehyde acetic acid ของบริษัทชิสโสะในมินามาตะ และโรคมินามาตะในนีกะตะเกิดจากน้ำเสียที่ปนเปื้อน methyl mercury ซึ่งเกิดขึ้นจากกระบวนการผลิต acetaldehyde ในโรงงานของโชวะ เดงโกะคาโนเซะ”
แต่พร้อมกันนี้ก็มีการระบุด้วยว่า มลพิษที่เกิดขึ้นนั้นจำกัดวงอยู่เฉพาะที่อ่าวมินามาตะ และเครื่องบำบัดน้ำเสียของโรงงานสามารถบำบัด methyl mercury ได้ โดยที่หลังจากปี 2503 เป็นต้นมาไม่ปรากฏว่ามีผู้ป่วยใหม่เกิดขึ้นอีก นอกจากนี้ให้ถือว่าข้อตกลงการจ่ายเงินทำขวัญเป็นการตกลงนอกศาลที่ถูกต้องตามกฎหมาย
การยอมรับนี้เกิดขึ้นหลังจากที่มีการรายงานการเกิดโรคอย่างเป็นทางการแล้วถึง 12 ปี