“เพราะได้ทำ เราจึงทำได้” โทรทัศน์เด็กเพื่อการสร้างคนเบื้องหลัง
สมาชิกเลขที่73381 | 27 ก.ค. 55
1K views

โรงเรียนประทีปธรรม มูลนิธิ โรงเรียนบูรณาการอิสลามกับความรู้สามัญ มุ่งพัฒนาการศึกษาไทยสู่การปั้นเด็กให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ทั้งร่างกาย จิตใจ และขีดความสามารถของพัฒนาการตามวัย จึงนำเรื่องราวของ เด็กทำทีวี มาแลกเปลี่ยน หวังให้เกิดแนวทางใหม่ๆของการสร้างคนในอนาคต

ได้มีโอกาสเยี่ยมเยือนโรงเรียนที่กล้านอกกรอบหลายๆโรง ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ร่วมกับคณะผู้บริหารโรงเรียนในโครงการพัฒนาเครือข่ายบูรณาการอิสลามเพื่อเสริมสร้างสุขภาวะ จากการแลกเปลี่ยนแนวคิดกับโรงเรียนที่ได้เข้าเยี่ยมชมแล้ว เห็นได้ชัดว่า สิ่งที่สำคัญสูงสุดของการจัดการศึกษาทางเลือกก็คือความศรัทธา ที่อาศัยความกล้าแตกต่าง สร้างจุดเด่น หลากหลาย และไม่ยึดติดกับการศึกษากระแสหลักแก่เด็กรุ่นใหม่ ผมลองสรุปออกมาเป็นแนวทางหลักๆคือ เริ่มต้นที่สร้างสมาธิให้เด็ก ค้นหาจุดเด่นหรือความถนัดในตัวเด็กให้เจอ แล้วพัฒนาเด็กจากจุดที่เขามีหรือสนใจ แล้วสร้างการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับโลกแห่งความจริงโดยผ่านการแก้ปัญหาโดยใช้การเรียนรู้แบบโครงงาน ( Project-Based Learning-PBL ซึ่งแตกต่างจาก Problem-Based Learning ซึ่งหมายถึงการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน เป็นวิธีการเรียนรู้ที่เป็นผลจากการแก้ปัญหา โดยใช้ความรู้ที่ผู้เรียนทำการสืบค้นเอง แต่ทั้งสองแบบดันใช้ตัวย่อว่า PBL เหมือนกัน) หัวใจคือ ทำงานเป็นทีม เผชิญปัญหาของจริง และจัดการมันได้ จนเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง

ในโลกสมัยใหม่ที่เด็กจำนวนมากทั่วโลก ใช้เวลาส่วนใหญ่กับการนั่งจ้องมองหน้าจอทีวี เกมส์คอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นเหมือนดั่งการให้เด็กดาวน์โหลดข้อมูลที่หมายรวมถึง อารมณ์ ความรู้สึก ความนึกคิด และแบบในการจัดการกับปัญหามากมายมหาศาลในแต่ละวัน จึงไม่น่าแปลกใจที่เราเห็นคนร้องไห้หน้าจอทีวี เพราะอินกับละคร แล้ววันนึงมันได้กลายเป็นโปรแกรมที่คอยควบคุมพฤติกรรมโดยที่พวกเขาไม่อาจรู้ตัว คำถาม...ย้อนกลับมาที่นักการศึกษาว่าแล้วเราจะสร้างข้อมูลเพื่อเป็นโปรแกรมควบคุมในการสร้างคนดี ไปสู่สังคมที่ดีกันได้อย่างไร...ผมจะจับเรื่องจากสองย่อหน้าก่อนหน้านี้มายำรวมกันดูนะครับว่าจะออกมาอย่างไรกันบ้าง

เรื่องแรกที่ได้จากการยำรวมกันได้ว่า แม้นักการศึกษาปัจจุบันจะมีแนวคิดไกลที่จะสร้างชุดโปรแกรมสร้างคนดีในโทรทัศน์เพียงใดแต่มักติดปัญหาทางเทคนิค เนื่องจากการศึกษายุคเราไม่เน้นเจอกับปัญหาจริง ทำจริง ได้ผลออกมาจริง เราก็ทำแบบโมเดลกันมากกว่า ในผลสำเร็จจึงเต็มไปด้วยความกลัว เรากลัวว่าถ้าสิ่งโน้นสิ่งนี้มาเป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้แล้ว เราจะล้มเหลว.. หากเรามองไปที่เด็กรุ่นใหม่ที่ได้ร่ำเรียนในหลักสูตรการเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ พวกเขาเต็มไปด้วยไฟฝัน ความกล้า และพอใจกับความสำเร็จ แม้คนทั่วไปอาจมองว่ามันคือความล้มเหลว คนกลุ่มนี้น่าสนใจอย่างยิ่งที่จะก้าวเข้ามาเป็นผู้รับภารกิจที่ยิ่งใหญ่ในการสร้างโปรแกรมคนดีในรายการโทรทัศน์...

เมื่อฝันของเราไปไม่ถึงก็มอบภารกิจนี้ให้เด็กรุ่นใหม่ ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งอยู่ทางตอนใต้ฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทย ชื่อโรงเรียนประทีปธรรมมูลนิธิ เห็นความสำคัญเรื่องนี้ตั้งแต่ตอนก่อตั้งโรงเรียน มุ่งหวังสร้างคนทำโทรทัศน์แห่งอนาคต ให้เด็กๆสามารถใช้กล้องโทรศัพท์มือถือ กล้องดิจิตอล และวีดีโอ ตัดต่ออย่างง่าย แต่หวังผลไกลไปถึงให้คนทั่วโลกได้รับรู้...Tham TV ทีวีที่เด็กได้ทำ ขอเล่าสั้นๆนะครับ  

ตอนเริ่มโปรเจ็กต์ ครูดุรรี ยะก๊บ พ่อมดโครงการของโรงเรียนแห่งนี้เปิดประชุมเร่งด่วนกับคุณครูใสๆและนักเรียนซื่อๆ ชั้นม. 1 จำนวนหนึ่งของชมรมโครงการโทรทัศน์นักเรียน ครูดุรรี เริ่มประชุมถามนักเรียนว่า “นักเรียนรู้ไหมว่า นักข่าวพลเมืองคืออะไร” นักเรียนงงๆ ตอบไปว่า “ไม่รู้ครู” ครูดุรรีจึงใช้สิทธิเปลี่ยนคำถาม ถามใหม่ว่า“นักเรียนอยากถ่ายวีดีโอไหม แล้วอยากให้ที่ถ่ายมาออกทีวีไหม สนุกนะ” นักเรียนตอบสวนทันทีว่า “อยากครู ผมทำเป็น เราลองเป็นพิธีกรแล้วครู น่าจะใช้ได้ แต่....แต่ว่า เราจะได้ออกทีวีจริงหรือครับครู” ครูยิ้ม การสอนเข้าเป้า คำถามเปลี่ยน...ชีวิตเปลี่ยนจริงๆ  ครูดุรรีงัดไม้เด็ด “นักเรียนขอรับ ถ้าอยากทำเรื่องนี้จริง ก่อนอื่น เอากล้องพวกนี้ไปฝึกถ่ายกันก่อน ถ้าถ่ายแล้วมีปัญหาเรียกครู หรือจะลองเองก็ได้ ตั้งเมนูยังไงตรงไหนไม่เข้าใจถามได้ ลองได้นะครับ จนกว่ากล้องจะพัง”  ครับ โรงเรียนเราเน้นการเรียนรู้แบบทำจริง พังจริง ซ่อมจริง...

“แล้วเราจะไปออกที่ช่องไหนครู” อิสมาแอนถาม ครูซากีตอบแทรก “ช่องยูทูบครับนักเรียน แล้วสักวันนึงจะมีรายการโทรทัศน์มาของานของเราไปออกอากาศ..คอยดูนะ” นักเรียนงงๆ ถามอีกว่า“แล้วยูทูบ..เขาเรียกว่าทีวีหรือครู” ถึงคราวที่ครูซากี ต้องอธิบายเพิ่ม “ใช่แล้วเขาเรียกว่า โทรทัศน์อินเตอร์เน็ต ดูได้ทั่วโลก” ครูดุรรีกล่าวเสริมว่า “งั้นเรามาคิดสโลแกนของช่องดีกว่า อืม...ทีวีที่เด็กทำได้”  แต่ยูซา หนึ่งในนักเรียนแย้ง“ไม่เอาครู เราทำไม่เป็นที แต่เราได้ทำแล้วครู” ทุกคนหัวเราะและส่งเสียงเฮเป็นการสนับสนุน ครูดุรรีจึงขอตัดสิน “เด็กๆได้ทำงั้นหรือ...งั้นชื่อก็เอาจากชื่อโรงเรียนด้วยเลยแล้วกันนะ ประทีปธรรม...ทำทีวี... ก็จะเป็น ธรรมทีวี ทีวีที่เด็กได้ทำ” ทุกคนเริ่มเห็นด้วย นับจากนาทีนั้น นักเรียนก็ได้เริ่มทำการฝึกปรือวิทยายุทธ์ด้านการถ่ายภาพเคลื่อนไหวและภาพนิ่ง ผลงานปรากฏมากมายในช่องยูทูบ

จนวันหนึ่งผลงานไปสู่การออกรายการนักข่าวพลเมือง ทางสถานีไทยพีบีเอส และเหล่าเด็กๆได้สร้างความฮือฮาจากการที่ไปโผล่ประกบนายกรัฐมนตรี (ในสมัยนั้น) จุฬาราชมนตรี เลขาธิการอาเซียน ฯลฯ ไปจนถึงงานกินบุญที่สุเหร่าแถวโรงเรียน และวันนี้ได้ยินเสียงทาบทามมาไกลๆ จากช่อง YATEEM TV –ยาตีมทีวี ว่าอยากให้เด็กๆมีส่วนร่วมในการผลิตชิ้นงานออกอากาศทางช่องโทรทัศน์ดาวเทียมที่คนมือบนได้เจอกับคนมือล่าง... 

“ครูสักวันนึง..ผมจะเป็นนักข่าวของโทรทัศน์อัลญาซีเราะห์” “ครูผมลองทำงานเอนิเมชั่นมาโพสต์ในช่องยูทูปของเรา” “ครูวันนี้มีงานชุมชนให้เราถ่ายทำ..เราไปกันนะ” “ครูเราได้ทำรายการโทรทัศน์จริงๆหรือคะ” คำถามมากมายที่คำตอบคงไม่ใช่มาจากตัวครู แต่คำตอบอยู่ในตัวของพวกเขา เด็กน้อยนอกคอกทุกคน ที่ตอนนี้ “ได้ทำ” แล้ว

ปล. ขอเป็นแรงใจให้ครูดุรรี ยะก๊บ ที่ขอลาออกไปทำสิ่งที่ยังค้างคา และเอื้อเฟื้อโอกาสให้กับเด็กๆได้เรียนรู้ “ครูอย่าลืมพวกเรานะ ครูมาสอนพวกเราทำทีวีต่อนะ” เด็กน้อยนริศ ส่งเสียงจากหัวใจไปหาครูของเขา

 

 

Share this