Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เล่นอย่างไร...ให้ลูกฉลาด (ตอนที่ 2)

Posted By สุภาพรรณ ศรีสุข | 09 มิ.ย. 63
2,503 Views

  Favorite

จากตอนที่แล้ว เราได้พูดถึงการเล่นที่พัฒนาการเรียนรู้ในเรื่องของประสาทสัมผัส, กล้ามเนื้อมัดเล็ก และกล้ามเนื้อมัดใหญ่ไปแล้ว วันนี้เราจะมาพูดถึงการเล่นที่ช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ทักษะวิชาการในเรื่องต่าง ๆ กันค่ะ

 

Early Math Play

คือ การเล่นเพื่อพัฒนาทักษะคณิตศาสตร์เบื้องต้นที่จะกระตุ้นให้เด็กเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องการสังเกต การแยกประเภท และการเปรียบเทียบของที่เหมือนหรือต่างกัน เพื่อเป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ในชั้นอนุบาล

ตัวอย่างกิจกรรมการเล่น Early Math Play

การเล่นที่ช่วยกระตุ้นทักษะการเรียนรู้ในเรื่องคณิตศาสตร์นั้นมีได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นการ์ดเกมที่เกี่ยวกับจำนวน การเล่นโดมิโน การเล่นเกมเศรษฐี หรือแม้แต่การเล่นบอร์ดเกมต่าง ๆ ที่พ่อแม่สามารถหาได้ง่าย ๆ ใกล้ตัว หรือหากลูกเบื่อการทำกิจกรรมในบ้าน อาจดัดแปลงการเล่นให้เป็นการทำกิจกรรมนอกบ้านก็ได้ เช่น การเล่นตั้งเต โดยวาดตารางและเขียนตัวเลขลงไปบนพื้น และกำหนดเงื่อนไขการเล่นร่วมกัน

 

ภาพ : Shutterstock

 

Memory Game

คือ เล่นเพื่อพัฒนาความจำ ซึ่งเป็นความสามารถในการดึงข้อมูลที่เก็บไว้ในสมองมาใช้ โดยการมีความจำที่ดี จะส่งผลให้มีพัฒนาการในด้านอื่น ๆ ตามมาด้วย

ตัวอย่างกิจกรรมการเล่น Memory Game

เกมที่เกี่ยวกับการฝึกความจำนั้น สามารถเล่นได้หลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นการใช้การ์ดเกม โดยนำภาพที่เหมือนกันมาฝึกให้ลูกจับคู่ โดยวางเปิดไว้ ให้ลูกจำ หลังจากนั้นคว่ำภาพ และทบทวนว่าลูกสามารถจดจำตำแหน่งของภาพที่เหมือนกันได้หรือไม่ หรืออาจใช้บอร์ดเกมที่เกี่ยวกับการฝึกความจำโดยเฉพาะ และอีก 1 กิจกรรมที่ช่วยฝึกความจำให้กับลูกได้เป็นอย่างดี นั่นก็คือ การเล่านิทานให้ลูกฟัง หลังจากนั้นตั้งคำถาม เพื่อทบทวนว่าลูกสามารถจดจำเนื้อหาจากนิทานเรื่องนั้น ๆ ได้มากน้อยเพียงใด

 

Problem Solving Game

คือ การเล่นเพื่อพัฒนาทักษะในการแก้ปัญหา เป็นการส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีทั้งสติปัญญา สังคม อารมณ์ เนื่องจากเมื่อเด็กเชื่อว่าปัญหาทุกอย่างสามารถแก้ไขได้ เด็กจะสามารถควบคุมอารมณ์และการแสดงออกได้อย่างเหมาะสม

ตัวอย่างกิจกรรมการเล่น Problem Solving Game

พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องไปหาซื้อเกมราคาแพง ๆ ที่มีขายอยู่ทั่วไป แต่สามารถออกแบบการเล่นร่วมกับลูกด้วยกิจกรรมง่าย ๆ ใกล้ตัว เช่น การเล่นใบ้คำ เพื่อหาของในบ้าน หรือการเล่นตั้งคำถามอะไรเอ่ย ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้สามารถช่วยฝึกทักษะการฟัง เพื่อประมวลผล นำไปสู่การตีความแก้ปัญหาให้กับลูกได้ หรือหากพ่อแม่มีความพร้อมก็สามารถหาบอร์ดเกมต่าง ๆ เพื่อมาช่วยฝึกทักษะการแก้ปัญหาให้กับลูกได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น เกม 7 ชิ้นมหัศจรรย์ หรือเกมจราจรอัจฉริยะ ก็เป็นเกมที่สามารถหาซื้อได้ทั่ว ๆ ไปในราคาที่ไม่แพง

 

Language Game

เล่นเพื่อพัฒนาการทางภาษา มีความสำคัญและความจำเป็นต่อการพัฒนาด้านสติปัญญา สังคม อารมณ์ของเด็กในช่วง 6 ปีแรก เพื่อใช้สื่อสารความคิดและความต้องการของตนเองกับผู้อื่น

ตัวอย่างกิจกรรมการเล่น Language Game

การเล่นเกมที่เกี่ยวกับการใช้ภาษา ซึ่งทำได้หลายแบบไม่ว่าจะเป็นการเล่นเกมทายภาพคำศัพท์ การเล่นเกมการตั้งคำถาม What, When, Where, Why, How โดยเริ่มจากสิ่งใกล้ตัว เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้และทบทวนคำศัพท์จากง่ายไปหายาก

 

เป็นยังไงกันบ้างคะสำหรับกิจกรรมการเล่นพัฒนาทักษะกระบวนการเรียนรู้ที่ช่วยต่อยอดไปสู่การเรียนเนื้อหาวิชาการให้กับลูกในโรงเรียนได้ ตอนต่อไปเราจะมาพูดถึงการเล่นที่ช่วยพัฒนาทักษะสังคมและส่งเสริมจินตนาการกันค่ะ

 

 

สุภาพรรณ ศรีสุข (ครูแหม่ม)
ที่ปรึกษาวิชาการ โรงเรียนศิลปพัฒนาการสมองเด็ก K.D.S.
 
ติดตามเทคนิคการเล่นให้ลูกฉลาดตอนอื่น ๆ ได้ที่นี่
 
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • สุภาพรรณ ศรีสุข
  • 4 Followers
  • Follow