Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เล่นอย่างไร....ให้ลูกฉลาด (ตอนที่ 1)

Posted By สุภาพรรณ ศรีสุข | 09 มิ.ย. 63
2,777 Views

  Favorite

เพราะการได้เล่น คือส่วนสำคัญในการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ให้กับลูก โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้ลูกเกิดกระบวนการเรียนรู้ผ่านการเล่นนั่นก็เพราะ การเล่นก่อให้เด็กเกิดความสุข ซึ่งในงานวิจัยทางการแพทย์หลายชิ้นได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า การที่เด็กมีความสุขเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นให้สมองมีการทำงานประสานระหว่างเซลล์สมองกับการทำงานของระบบต่าง ๆ ของร่างกายได้ดีขึ้น

 

ดังนั้น หากพ่อแม่เปิดโอกาสให้ลูกได้เล่นมาก ย่อมเป็นการสร้างความฉลาดให้ลูกมากขึ้นเช่นกัน โดยการเล่นถูกแบ่งออกเป็นหลากหลายประเภท ตามกระบวนการเรียนรู้ของเด็กในแต่ละด้านดังนี้

 

ภาพ : Shutterstock

 

Sensory Play 

คือการเล่นเพื่อกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้ง 5 ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น และทางร่างกาย ซึ่งประสาทสัมผัส เป็นพื้นฐานเริ่มต้นของการเรียนรู้ในเรื่องต่าง ๆ เด็กทุกคนใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ในการพยายามทำความเข้าใจกับโลกรอบตัวและเรียนรู้ เพื่อเก็บข้อมูลและนำมาประมวลผลเพื่อเรียนรู้ในสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบ ๆ ตัว ดังนั้น กิจกรรมการเล่น Sensory จึงเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาสมองของเด็กตั้งแต่วัยแรกเกิด จนเข้าสู่วัยอนุบาล

ตัวอย่างกิจกรรมการเล่น Sensory Play

การเล่นเพื่อกระตุ้นการมองเห็น (ตา)

ในเด็กเล็ก ควรให้ดูแผ่นกระตุ้นสายตาที่มีสีตัดกัน เพื่อกระตุ้นการรับภาพ หากระจกบานใหญ่ให้ลูกได้สำรวจตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ตื่นตาตื่นใจอย่างมากในเด็กเล็ก หาของสีสดใสหลายสีมาให้ดู ซึ่งสามารถต่อยอดไปสู่การสอนเรื่องสีได้

การเล่นเพื่อกระตุ้นการได้ยิน (หู)

ซึ่งการกระตุ้นเรื่องการได้ยิน สามารถทำได้ตั้งแต่ในท้อง โดยการเปิดเพลงเบา ๆ ที่มีจังหวะผ่อนคลาย และเมื่อลูกเริ่มโตขึ้น ก็ค่อย ๆ เพิ่มจังหวะที่มีความน่าสนใจและหลากหลายมากขึ้น หรือพาลูกออกไปเดินเล่นข้างนอกบ้าน เพื่อชวนฟังเสียงรอบตัว เช่น หมาเห่า, ฟ้าร้อง, เครื่องบิน, นาฬิกาฟังเพลง หรือพ่อแม่อาจชวนลูกร้องเพลง และสนับสนุนให้ลูกเต้นหรือมีท่าทางประกอบไปด้วยก็ได้

การเล่นเพื่อกระตุ้นการดมกลิ่น (จมูก)

เริ่มจากการให้ลูกลองดมสิ่งของใกล้ตัวที่อยู่ในชีวิตประจำวัน เช่น ผลไม้, ข้าว, นม, ดอกไม้, สบู่ อาจทายโดยนำสิ่งของที่มีกลิ่น มาใส่กล่องทึบให้ดม แล้วทายว่าข้างในคืออะไร

การเล่นเพื่อรับรส (ชิม)

หาสิ่งที่มีรสต่าง ๆ กันให้ลูกได้ลองชิม เช่น มะนาว น้ำตาล เกลือ มะระ เพื่อสอนเรื่อง เปรี้ยว หวาน เค็ม ขม

การเล่นเพื่อกระตุ้นการสัมผัส

การเล่นเพื่อกระตุ้นการสัมผัส สามารถเริ่มได้ตั้งแต่วัยแบเบาะ โดนหาสิ่งของที่มีพื้นผิว ความแข็งนุ่ม ความร้อนเย็นที่ต่างกัน มาให้จับ ขยำ เล่น และในเด็กเล็กควรเลือกสิ่งที่ไม่อันตรายหากหยิบเข้าปาก เช่น ผลไม้, ข้าว, ขนมปัง, เยลลี่, เส้นก๋วยเตี๋ยว เป็นต้น

 

Gross Motor Play

การเล่นเพื่อพัฒนาทักษะการพัฒนากล้ามเนื้อ (Motor Skills) คือ ทักษะการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

ทักษะพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ (Gross Motor Skills)

คือ การเล่นเพื่อพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ เช่น แขน ขา ลำตัว ความสามารถในการทรงตัวและเคลื่อนที่ เน้นให้เด็กเรียนรู้การสร้างสมดุลร่างกายให้มีความแข็งแรง มีความทะมัดทะแมง ความคล่องแคล่ว ว่องไวในการเปลี่ยนท่าทาง มีทักษะที่ดีในการเล่นกีฬา ซึ่งเป็นรากฐานของระบบการเรียนรู้ทั้งหมด และเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กพบเห็นสิ่งแวดล้อมและผู้คนใหม่ ๆ   

ทักษะพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก (Fine Motor Skills)

เป็นการเคลื่อนไหวส่วนของร่างกายที่เล็กกว่า ส่วนใหญ่คือกล้ามเนื้อนิ้วมือ เอ็นข้อต่อต่าง ๆ ที่เรียกว่า กล้ามเนื้อมัดเล็ก ที่เป็นส่วนสำคัญในการเรียนรู้และต่อยอดเนื้อหาวิชาการที่ลูกได้เรียน

ตัวอย่างกิจกรรมการเล่น Gross Motor Play

1. พาลูกออกกำลังกายเพื่อกระตุ้นกล้ามเนื้อมัดใหญ่

พ่อแม่ควรพาลูกทำกิจกรรมที่เคลื่อนไหวร่างกาย เช่น การวิ่ง การคลาน การกระโดด หรือพาลูกออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านโดยเป็นผู้ดูแลความปลอดภัยอยู่ห่าง ๆ เช่น พาลูกไปเล่นที่สนามเด็กเล่น ให้ลูกได้ปีนป่าย เล่นเครื่องเล่น โยน-รับ-เตะฟุตบอล

2. การทำกิจรรมศิลปะเพื่อกระตุ้นกล้ามเนื้อมัดเล็ก

พ่อแม่อาจหากิจกรรมให้ลูกได้ทำเพื่อกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อมัดเล็ก โดยการให้ลูกได้ขีดเขียน และฝึกการบังคับทิศทาง โดยอาจเริ่มจากการวาดเป็นเส่นต่าง ๆ แล้วค่อย ๆ ต่อยอดเป็นรูปทรง และภาพตามจินตนาการ หลังจากนั้นเมื่อลูกเริ่มโตขึ้น อาจต่อยอดไปสู่การทำผลงานศิลปะที่มีความยากและมีขั้นตอนที่ซับซ้อนมากขึ้นได้

 

เห็นไหมคะว่าการเล่นสามารถกระตุ้นการทำงานระบบต่าง ๆ ของร่างกาย และต่อยอดไปสู่การเรียนรู้ได้ แต่การเล่นที่สร้างพัฒนาการให้ลูกได้ยังมีอีกมากมาย ติดตามตอนต่อไปนะคะ

 

 

สุภาพรรณ ศรีสุข (ครูแหม่ม)
ที่ปรึกษาวิชาการ โรงเรียนศิลปพัฒนาการสมองเด็ก K.D.S.
 
ติดตามเทคนิคการเล่นให้ลูกฉลาดตอนอื่น ๆ ได้ที่นี่
 
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • สุภาพรรณ ศรีสุข
  • 4 Followers
  • Follow