Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การขยายพันธุ์และการคัดเลือกพันธุ์

Posted By Plookpedia | 22 มิ.ย. 60
3,012 Views

  Favorite

การขยายพันธุ์และการคัดเลือกพันธุ์

      การขยายพันธุ์และการคัดเลือกพันธุ์พืช แต่เดิมใช้วิธีปลูกพืชจำนวนมากแล้วคัดเลือกเอาเฉพาะต้นที่มีลักษณะดีตามต้องการทำการเก็บเมล็ดหรือท่อนพันธุ์ไว้เพื่อนำมาใช้ในการขยายพันธุ์ในฤดูกาลถัดไป แต่มีข้อจำกัดหลายประการ คือ ต้องใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ในการปลูกเพื่อการคัดเลือกและการขยายพันธุ์ได้รับอิทธิพลจากสภาพแวดล้อมสูงซึ่งยากต่อการคัดเลือกพืชที่มีลักษณะทางพันธุกรรมตามจริง รวมทั้งต้องใช้แรงงานจำนวนมากในการปฏิบัติงาน  ในส่วนของพันธุ์ก็ยากต่อการได้ต้นพืชที่คงลักษณะทางพันธุกรรมเช่นเดิมได้เมื่อผ่านการเพาะปลูกในหลาย ๆ รุ่น อาจเกิดจากการผสมข้ามพันธุ์หรือเกิดจากการกลายพันธุ์ได้ 
      การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชจึงได้นำมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการคัดเลือกและขยายพันธุ์พืชเพราะสามารถควบคุมสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ที่พืชใช้ในการเจริญเติบโตได้  ต้นพืชที่ได้จากการเพาะเลี้ยงจึงมีลักษณะตรงตามลักษณะทางพันธุกรรมสามารถใช้เพิ่มจำนวนต้นพืชให้ได้ปริมาณมากโดยทุกต้นมีลักษณะเหมือนกับพืชต้นแบบทุกประการ นอกจากนี้การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชยังได้นำมาใช้เพื่อการสร้างพืชที่มีลักษณะทางพันธุกรรมใหม่ ๆ โดยการปรับสภาพการเพาะเลี้ยงให้แตกต่างไปจากเดิมหรือเติมสารบางชนิดในอาหารเพาะเลี้ยงเพื่อการคัดเลือกต้นพืชที่สามารถตอบสนองต่อสารหรือสภาพการเพาะเลี้ยงที่ใช้ เช่น การสร้างพืชทนดินเค็มและการสร้างพืชทนต่อสารกำจัดวัชพืช ทั้งยังช่วยประหยัด พื้นที่ เวลา และแรงงานที่นำมาใช้ในการคัดเลือกและการขยายพันธุ์  ในประเทศไทยการขยายพันธุ์และการคัดเลือกพันธุ์พืชโดยใช้เทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อได้นำมาใช้ในธุรกิจการผลิตกล้าไม้ต่าง ๆ เช่น กล้วยไม้ ต้นสัก ต้นยูคาลิปตัส ไม้ป่า และไม้ยืนต้นอื่น ๆ 
      เครื่องหมายดีเอ็นเอจึงเป็นวิธีการทางเทคโนโลยีชีวภาพอย่างหนึ่งที่ได้นำมาใช้คัดเลือกพืชหรือสัตว์เพื่อที่จะนำมาเพาะปลูกเพาะเลี้ยงหรือนำมาใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์โดยอาศัยคุณสมบัติของเครื่องหมายดีเอ็นเอที่สามารถตรวจสอบได้ในทุกระยะการเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิต  ทำให้สามารถคัดแยกพืชหรือสัตว์ที่มีลักษณะทางพันธุกรรมที่ต้องการได้ขณะที่เพิ่งเริ่มเจริญเติบโตจึงมีส่วนช่วยลดแรงงาน ค่าต้นทุน และพื้นที่ในการเพาะปลูกหรือเพาะเลี้ยง เช่น ในสุกรมีลักษณะพันธุกรรมฮาโลเทนบวก (halothane positive) ที่ส่งผลต่อคุณภาพของเนื้อสุกรทำให้เนื้อมีคุณภาพไม่ดีจึงได้นำเครื่องหมายดีเอ็นเอมาใช้เพื่อคัดแยกสุกรที่มีลักษณะพันธุกรรมฮาโลเทนบวกออกจากสุกรปกติช่วยให้ประหยัดเวลา ลดต้นทุนในการผลิตและสามารถผลิตสุกรที่มีคุณภาพเนื้อที่ดีได้

 

การตรวจสอบหาลักษณะฮาโลเทนในสุกร
การตรวจสอบหาลักษณะฮาโลเทนในสุกร
โดยที่ลักษณะแถบดีเอ็นเอแบบ NN คือสุกรปกติ ส่วน Nn คือสุกรที่เป็นพาหะนำลักษณะฮาโลเทน และ nn คือสุกรที่มีลักษณะฮาโลเทนบวก

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow