Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การเจ็บท้องคลอดและการคลอด

Posted By Plookpedia | 21 เม.ย. 60
364 Views

  Favorite

การเจ็บท้องคลอดและการคลอด

เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นเพื่อขับเด็ก รก และน้ำคร่ำออกจากโพรงมดลูกมาสู่ภายนอกเมื่อครบกำหนดโดยต่อมใต้สมองกลีบหลังจะหลั่งฮอร์โมนชนิดหนึ่งไปกระตุ้นให้มดลูกมีการบีบรัดตัวอย่างสม่ำเสมอและถี่ขึ้น เพื่อที่จะดันศีรษะของทารกในครรภ์ให้ลงไปอุ้งเชิงกรานมากขึ้นในขณะเดียวกันถุงน้ำคร่ำและศีรษะทารกในครรภ์จะช่วยทำให้ปากมดลูกขยายตัวมีมูกเลือดออกทางช่องคลอดซึ่งเป็นอาการอย่างหนึ่งที่บอกให้รู้ว่าเริ่มเข้าสู่ระยะเจ็บครรภ์แล้ว 
 

การคลอดแบ่งออกเป็น 3 ระยะด้วยกัน คือ 
ระยะที่ 1
เป็นระยะการเปิดขยายของปากมดลูกเริ่มตั้งแต่เจ็บครรภ์จริงปากมดลูกเริ่มเปิดเมื่อปากมดลูกเปิดเต็มที่ระยะนี้จะสิ้นสุดลงโดยใช้เวลาประมาณ 8-12 ชั่วโมงในครรภ์แรกและ 6-8 ชั่วโมงในครรภ์หลัง 
ระยะที่ 2 
เป็นระยะที่ทารกในครรภ์ถูกขับออกจากโพรงมดลูกเริ่มตั้งแต่ปากมดลูกเปิดเต็มที่จนทารกคลอดออกมาทั้งตัวขณะที่ทารกเคลื่อนลงต่ำกดเบียดทวารหนักทำให้รู้สึกอยากเบ่งอุจจาระที่เรียกว่า "มีลมเบ่ง" ระยะนี้เป็นระยะที่มีกลไกของการคลอดเกิดขึ้น ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงในครรภ์แรก และ 1 ชั่วโมงในครรภ์หลัง 
ระยะที่ 3 
เริ่มตั้งแต่ทารกคลอดแล้วไปจนกระทั่งรกคลอด ใช้เวลาไม่เกิน 30 นาที ไม่ว่าจะเป็นครรภ์แรกหรือครรภ์หลังๆ 

การเจ็บท้องคลอด
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 9

 

การคลอดที่กล่าวมาแล้วนั้นถือว่าเป็นการคลอดปกติส่วนการคลอดที่ผิดปกติ ได้แก่ 

1. การใช้เครื่องมือช่วยคลอด 
ถ้าระยะที่ 2 ของการคลอดไม่เป็นไปตามปกติ เช่น มดลูกบีบรัดตัวไม่ดีแรงเบ่งไม่ดีหรือแม่มีโรคบางอย่างที่ไม่สมควรให้เบ่งนาน ๆ เพราะจะเกิดอันตรายได้ต้องใช้เครื่องมือช่วยคลอดเครื่องมือที่ใช้มี 2 ชนิด คือ เครื่องสูญญากาศดูดศีรษะทารกและคีมจับศีรษะทารกซึ่งถ้าแพทย์ใช้อย่างถูกต้องจะไม่มีอันตรายต่อทารกแต่จะมีประโยชน์เพราะศีรษะทารกไม่ถูกกดบีบอยู่ในทางคลอดนานและช่วยให้แม่ไม่ต้องเบ่งมากอันจะเป็นอันตรายต่อทารก 

2. การผ่าท้องคลอด 
หมายถึง การผ่าตัดเอาทารกออกทางหน้าท้องแทนการคลอดทางช่องคลอดอย่างปกติจะกระทำต่อเมื่อแพทย์เห็นว่าทารกไม่สามารถคลอดทางช่องคลอดได้ เช่น ขนาดของทารกกับช่องเชิงกรานไม่ได้สัดส่วนกันรกเกาะต่ำ หรือทารกอยู่ในท่าผิดปกติ เป็นต้น หรือมีภาวะแทรกซ้อนที่จำเป็นต้องรีบผ่าตัดเอาทารกออกมิฉะนั้นจะเป็นอันตรายต่อมารดาและทารกในท้อง เช่น รกลอกตัวก่อนกำหนดภาวะพิษแห่งครรภ์ เป็นต้น การผ่าท้องคลอดนี้อาจทำก่อนเจ็บท้องหรือขณะเจ็บท้องก็ได้สุดแต่ข้อบ่งชี้ในการทำผ่าตัด

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow