Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์

Posted By Plookpedia | 21 เม.ย. 60
1,080 Views

  Favorite

ภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ 

ภาวะแทรกซ้อนในระหว่างตั้งครรภ์อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตมารดา และทารกในท้อง ถ้าได้รับการดูแลที่ไม่ถูกต้อง ที่พบบ่อยๆ ได้แก่
1. การคลื่นไส้อาเจียนอย่างมากระหว่างตั้งครรภ์

อาการแพ้ท้อง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะจะพบได้ 1 ใน 3 ของหญิงตั้งครรภ์ทั้งหมดมักจะเกิดระหว่างอายุครรภ์ 6-12 สัปดาห์และจะหายไปเองภายหลังอายุครรภ์ 12 สัปดาห์แต่บางรายอาจเป็นนานกว่านั้นก็ได้

ถ้าอาการคลื่นไส้อาเจียนเป็นมากและเป็นตลอดทั้งวันจนกระทั่งร่างกายได้รับอาหารและน้ำไม่เพียงพอทำให้มีผลร้ายอื่น ๆ ตามมาจนอาจเป็นอันตรายได้ถ้าได้รับการช่วยเหลือและดูแลไม่ทัน 

การป้องกันภาวะการแทรกซ้อนชนิดนี้ควรกระทำโดยรีบปรึกษาแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติดังกล่าวเพื่อหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างถูกวิธีรวมทั้งป้องกันอาการแทรกซ้อนอันตรายอื่น ๆ ที่จะตามมา

 

๒. การแท้ง 
การแท้งเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของการตกเลือดระหว่างตั้งครรภ์พบประมาณร้อยละ 10-15 ของการตั้งครรภ์ 

การแท้ง
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 9

 

ส่วนใหญ่อาการเมื่อเริ่มจะแท้งจะมีเลือดออกทางช่องคลอดในระยะแรกมักจะออกไม่มาก ต่อมาจะปวดท้องเป็นพัก ๆ คล้ายปวดประจำเดือนแต่มากกว่าอันตรายสำคัญของการแท้ง คือ การตกเลือดเพราะอาจทำให้เสียชีวิตได้ ในรายที่ไปทำแท้งโดยผิดกฎหมายอาจพบอาการแทรกซ้อนได้มากเนื่องจากมีการติดเชื้อ เช่น มีไข้สูง เลือดเป็นพิษ เยื่อบุช่องท้องอักเสบ มดลูกทะลุ เนื้อเน่าตาย และบาดทะยัก เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตทั้งสิ้น บางรายอาจทำให้ท่อนำไข่ตันทั้งสองข้างอันเป็นสาเหตุของการเป็นหมันในภายหลัง

 

3. การตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก
การตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก คือ ภาวะที่รกเปลี่ยนเป็นเม็ดใส ๆ คล้ายเม็ดสาคูหรือไข่ปลาอุกรวมกันเป็นพวงคล้ายพวงองุ่นอยู่ภายในโพรงมดลูกทำให้มดลูกมีขนาดโตอย่างรวดเร็วไม่ได้สัดส่วนกับระยะที่ขาดประจำเดือนมักมีอาการแพ้ท้องมากกว่าธรรมดาและอาจมีอาการของพิษแห่งครรภ์ร่วมด้วย เช่น บวม ความดันเลือดสูงและมีไข่ขาวในปัสสาวะอาการที่สำคัญ ได้แก่ เลือดออกทางช่องคลอดกะปริบกะปรอยหรืออาจออกครั้งละมาก ๆ พร้อมกับมีเม็ดคล้ายเม็ดสาคูออกมาด้วย

ครรภ์ไข่ปลาอุก
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 9

 

โรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุแน่นอนแต่ครรภ์ผิดปกติชนิดนี้จะต้องแท้งออกมาเสมออันตรายที่สำคัญ คือ การตกเลือดขณะแท้ง ดังนั้น ถ้ามีอาการดังกล่าวข้างต้นควรรีบไปปรึกษาแพทย์ทันที 

อันตรายที่สำคัญมากอีกอย่างหนึ่ง คือ ครรภ์ไข่ปลาอุกอาจเปลี่ยนแปลงเป็นมะเร็งได้ ดังนั้นผู้ป่วยโรคนี้จำเป็นต้องไปรับการตรวจเพื่อติดตามผลการรักษาและดูการเปลี่ยนแปลงเป็นระยะ ๆ อย่างสม่ำเสมอในบางรายที่มีบุตรเพียงพอแล้วแพทย์อาจพิจารณาตัดมดลูกออกในกรณีที่ไม่ได้ตัดมดลูกออกผู้ป่วยไม่ควรตั้งครรภ์อีกในระยะหลังแท้งอย่างน้อย 1 ปี

 

๔. การตั้งครรภ์นอกมดลูก 

การตั้งครรภ์นอกมดลูกเกิดจากไข่ที่ผสมแล้วฝังตัวและเจริญเติบโตภายนอกโพรงมดลูกพบได้ประมาณร้อยละ 0.5-1 ของการตั้งครรภ์ส่วนใหญ่เกิดที่ท่อนำไข่

สาเหตุเกิดจากเหตุต่าง ๆ ที่ทำให้ไข่ผสมแล้วเดินทางเข้าไปถึงโพรงมดลูกไม่ได้หรือไปช้ากว่าธรรมดาจึงต้องฝังตัวก่อน เช่น การตีบของท่อนำไข่

การตั้งครรภ์นอกมดลูกมักจะดำเนินไปไม่ตลอดถึงครบกำหนดส่วนมากจะพบว่ามีการแท้งหลุดออกมาหรือการแตกของท่อนำไข่เป็นสาเหตุให้มีเลือดออกในช่องท้องถ้าได้รับการรักษาไม่ทันอาจเสียชีวิตได้ 

อาการสำคัญนำมาพบแพทย์ คือ ปวดท้องน้อยในระยะแรกอาจปวดข้างใดข้างหนึ่งแต่ต่อมามักปวดทั้งสองข้างมักมีประวัติขาดประจำเดือนอาจมีเลือดออกทางช่องคลอดกะปริบกะปรอย

ถ้ามีเลือดออกในช่องท้องเนื่องจากการแท้งหรือท่อนำไข่แตกจะมีอาการเป็นลม ซีด เหงื่อแตก ใจสั่นและหมดสติในที่สุด 

การรักษา คือ การผ่าตัด

 

๕. ภาวะพิษแห่งครรภ์ 
ภาวะพิษแห่งครรภ์เป็นกลุ่มอาการผิดปกติประกอบด้วยอาการบวมความดันเลือดสูงและมีไข่ขาวในปัสสาวะมักเกิดในระยะท้ายของการตั้งครรภ์พบในครรภ์แรกมากกว่าในครรภ์หลัง

ความดันโลหิตสูง
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 9

 

ภาวะนี้เป็นสาเหตุของการตายของแม่และทารก ถ้าไม่ได้รับการดูแลที่ถูกต้อง จะทำให้ผู้ตั้งครรภ์ชัก หลอดเลือดในสมองแตก และหัวใจวายได้

 

สาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบแน่ชัดเป็นภาวะที่ ไม่สามารถป้องกันมิให้เกิดขึ้นได้แต่ถ้าได้ฝากครรภ์และได้รับการตรวจครรภ์อย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้สามารถตรวจพบและให้การรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่ระยะเริ่มแรกซึ่งสามารถลดอันตรายลงได้อย่างมากทั้งแก่แม่และทารกในท้อง

ในบางรายการรักษาไม่ได้และผลมีอาการรุนแรงขึ้นแพทย์อาจพิจารณาช่วยให้ทารกคลอดก่อนกำหนดเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดต่อแม่ได้

 

6. รกเกาะต่ำ 
รกเกาะต่ำหมายถึงการที่รกบางส่วน หรือทั้งหมดเกาะที่ตอนล่างของมดลูกซึ่งในครรภ์ปกติแล้วรกจะเกาะที่ผนังตอนบนของมดลูกความผิดปกติชนิดนี้พบบ่อยขึ้นในหญิงมีครรภ์ที่มีอายุมากและมีลูกแล้วหลายคน

รกเกาะต่ำ
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 9

 

การรักษาถ้าทารกในท้องยังเล็กมากและเลือดออกไม่มากแพทย์จะรักษาแบบประคับประคองไปก่อนจนกว่าทารกในท้องจะโตพอเลี้ยงรอดแต่ถ้าเลือดออกมากก็จำเป็นต้องเอาทารกในท้องและรกออกให้เร็วที่สุดเพื่อให้เลือดหยุด การคลอดจะเป็นไปโดยวิธีใดนั้นต้องพิจารณาตามความเหมาะสมเป็นราย ๆ ไปแต่ส่วนใหญ่มักจะเป็นการผ่าท้องคลอด

 

7. รกลอกตัวก่อนกำหนด 
ในภาวะปกติรกจะลอกตัวจากผนังมดลูกหลังจากทารกคลอดออกมาแล้วแต่ถ้ารกลอกตัวก่อนทารกคลอดออกมาโดยอาจจะเกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์หรือขณะเจ็บท้องจะคลอดก็ได้จะทำให้มีเลือดออกในโพรงมดลูกทารกในท้องขาดออกซิเจนไปเลี้ยงอาจเสียชีวิตได้

รกลอกตัวก่อนกำหนด
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 9

 

 

อาการขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงของการลอกตัวของรกอาการที่สำคัญ คือ เลือดออกทางช่องคลอดและปวดท้องซึ่งอาจจะปวดเพียงเล็กน้อยหรือปวดมากจนหมดสติไปหน้าท้องจะแข็งตึงและกดเจ็บมดลูกมักโตขึ้นอย่างรวดเร็วเพราะเลือดขังอยู่ภายในทารกอาจตายในท้องได้ถ้าได้รับการช่วยเหลือไม่ทัน 

การรักษาจำเป็นต้องเร่งให้การคลอดทารกและรกนั้นสิ้นสุดโดยเร็วเพื่อป้องกันอันตรายหรือภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรง ซึ่งอาจเกิดตามมา

 

8. ครรภ์แฝด 
ครรภ์แฝดหมายถึงการตั้งครรภ์ที่มีทารกในครรภ์มากกว่า 1 คนขึ้นไปอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทั้งต่อแม่และทารก เช่น โลหิตจาง ภาวะพิษแห่งครรภ์ คลอดก่อนกำหนด และคลอดผิดปกติ ครรภ์แฝดอาจเกิดจากการผสมของไข่ใบเดียวหรือหลายใบก็ได้ 

ครรภ์แฝด
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 9

 

แฝดคู่อาจเกิดจากการผสมของไข่ 2 ใบ หรือ ใบเดียวก็ได้
แฝดคู่ที่เกิดจากไข่ 2 ใบ มีสาเหตุเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์เป็นจำนวนมากกล่าวคือถ้าทั้งพ่อและแม่มีประวัติทางกรรมพันธุ์ว่ามีครรภ์แฝดจะมีอัตราการเกิดครรภ์แฝดสูงขึ้นสองในสามของคู่แฝดที่คลอดจะเป็นเพศเดียวกัน

แพทย์สามารถวินิจฉัยการตั้งครรภ์แฝดได้จากการตรวจครรภ์ โดยคลำส่วนต่าง ๆ ของทารกในท้อง เช่น ศีรษะ ก้น แขนขา ได้มากกว่าปกติและฟังเสียงหัวใจทารกในท้องได้ชัดเจนมากกว่า 1 ตำแหน่งโดยมีอัตราการเต้นของหัวใจแตกต่างกันมากกว่า 10 ครั้ง ต่อนาที ในกรณีที่ตรวจแล้วไม่แน่ใจอาจอาศัยการตรวจอย่างอื่นเพิ่มเติม เช่น การถ่ายภาพรังสีหรือการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง

ผู้ที่ตั้งครรภ์แฝดควรพักผ่อนให้มากในระยะ 2 เดือนสุดท้ายของครรภ์เพื่อป้องกันการคลอดก่อนกำหนด

 

9. ครรภ์แฝดน้ำ 
ในการตั้งครรภ์ปกติจะพบว่า มีน้ำหล่อทารกในครรภ์ หรือน้ำคร่ำประมาณ 1,000-2,000 ลูกบาศก์เซนติเมตร ถ้ามีจำนวนน้ำคร่ำมากกว่า 2,000 ลูกบาศก์เซนติเมตรขึ้นไปถือว่าเป็นครรภ์แฝดน้ำซึ่งมักพบร่วมกับความผิดปกติบางอย่างของทารกในท้อง เช่น ความพิการแต่กำเนิดของระบบประสาทหรือการตีบตันของระบบทางเดินอาหารของทารกครรภ์แฝดการติดเชื้อซิฟิลิส (syphilis) ภาวะพิษแห่งครรภ์และมารดาเป็นเบาหวาน เป็นต้น 

ครรภ์แฝดน้ำ
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 9

 

การรักษาขึ้นอยู่กับอาการของแม่บางครั้งถ้าแน่นท้องมากจนหายใจลำบากอาจต้องเจาะน้ำคร่ำออกเป็นครั้งคราว 

10. ครรภ์เกินกำหนด 

โดยทั่วไป หมายถึง การตั้งครรภ์เกิน 42 สัปดาห์ (ต้องจำวันที่มีประจำเดือนครั้งสุดท้ายได้แม่นยำและประจำเดือนต้องมาสม่ำเสมอด้วย)

สาเหตุยังไม่ทราบแน่นอนภาวะนี้มีผลเสีย คือ รกทำงานเลวลงปริมาณน้ำคร่ำลดลงทารกจะผอมผิวหนังเหี่ยวย่นมีเล็บยาวกะโหลกศีรษะแข็งขึ้นซึ่งอาจจะมีผลให้คลอดยากและทารกมีภาวะขาดออกซิเจนได้ง่า

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow