แพทย์นิติเวช
แพทย์นิติเวช
แพทย์นิติเวช
แพทย์นิติเวช

       แพทย์นิติเวช หมอนิติเวช คือแพทย์เฉพาะทางพิเศษผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบหาหลักฐานและสาเหตุเการเสียชีวิต ด้วยหลักการทางการแพทย์และนิติเวช โดยทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่หน่วยพิสูจน์หลักฐานของหน่วยงานรัฐฯ มีหน้าที่หลักคือการตรวจสอบ พิสูจน์ และส่งข้อมูลให้กับทางฝ่ายกฎหมายพิจารณา จึงเปรียบเสมือนคนที่ส่งสารจากผู้ตายผ่านร่องรอยที่หลงเหลืออยู่ 

       นอกจากนั้นแพทย์นิติเวชยังตรวจผู้ป่วยทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับคดีอาชญากรรมต่าง ๆ เพื่อเก็บข้อมูลที่จำเป็นส่งให้แก่ทางตำรวจ เช่น คดีข่มขืน คดีทำร้ายร่างกาย ฯลฯ อีกด้วย รวมไปถึงการตรวจ DNA เพื่อหาหลักฐานความเชื่อมโยงในสายตระกูล
       สิ่งที่แพทย์นิติเวชทำการตรวจสอบนั้นจะกลายเป็นหลักฐานสำคัญในการพิจารณาข้อเท็จจริงของรูปคดี ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุการตายเกิดจากอะไร ระบบร่างกายหยุดทำงาน (หรือเสียชีวิตโดยสมบูรณ์) ที่เวลาใด นานเท่าไร เกิดอะไรขึ้นกับสภาพร่างกายก่อนหน้านั้นบ้าง ฯลฯ ซึ่งจะถูกตรวจสอบเมื่อข้อมูลที่ทางตำรวจหรือพยานมีอยู่ไม่เพียงพอ รวมถึงการตายที่ผิดธรรมชาติ ซึ่งอาจนำไปสู่คดีอาญาที่จำเป็นต้องหาตัวผู้กระทำผิดมารับโทษ ดังนั้นแพทย์นิติเวชจึงไม่ได้ทำงานภายในห้องตรวจอย่างเดียว แต่อาจต้องออกไปยังสถานที่เกิดเหตุหรือไปขึ้นศาลด้วย
       คำว่านิติเวชศาสตร์นั้น มาจาก นิติศาสตร์ ที่หมายถึงวิชาทางกฎหมาย กับ เวชศาสตร์ ที่หมายถึงวิชาทางการแพทย์ รวมกันจึงกลายเป็นศาสตร์ที่นำความรู้ความเข้าใจทางการแพทย์มาใช้ในทางกฎหมายนั่นเอง และต่างจากนิติวิทยาศาสตร์ตรงที่นิติเวชจะเน้นตรวจสภาพศพ และร่างกายของมนุษย์ ส่วนนิติวิทยาศาสตร์จะตรวจสภาพที่เกิดเหตุ และหลักฐานวัตถุอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องทางชีวภาพแทน

แพทย์นิติเวช

แพทย์นิติเวช

แพทย์นิติเวช

 

ลักษณะการทำงาน 

       งานของแพทย์นิติเวชอาจไม่ได้เน้นการตรวจรักษาคนไข้ทั่วไปในโรงพยาบาลมากเท่าใดนัก แต่จะได้เริ่มงานเมื่อมีเคสหรือคดีเข้ามา เป้าหมายหลักคือการหาสาเหตุที่แท้จริงของการเสียชีวิต จากรองรอยหลักฐานต่าง ๆ ที่หลงเหลืออยู่จากตัวศพ โดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ องค์ความรู้ด้านแพทย์ศาสตร์ รวมถึงความรู้ทางนิติศาสตร์ ในการตรวจสอบ มักจะทำงานเป็นทีม โดยอาจมีผู้ช่วย หรือนักนิติวิทยาศาสตร์ ช่วยตรวจสอบในกระบวนการชันสูตรศพ
       ตามกฎหมายอาญานั้นระบุว่าการชันสูตรพลิกศพ จะทำเมื่อมีการตายอย่างผิดธรรมชาติ คือ ฆ่าตัวตาย ถูกทำร้ายจนตาย ตายโดยอุบัติเหตุ หรือตายโดยไม่ทราบสาเหตุ ต้องทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและทีมกฎหมายหรือทีมสืบสวน ลักษณะงานจึงค่อนข้างต่างจากแพทย์สายอื่นที่เน้นการรักษาผู้คน แต่ออกไปทางสืบค้นหาความจริงเสียมากกว่า ดังนั้นจึงมีการได้ออกไปลุยงานในที่เกิดเหตุด้วย เช่น เวลามีอุบัติเหตุรถชน ไม่ได้อยู่รอแต่ในห้องตรวจอย่างเดียว  
       การตรวจสภาพศพนั้นจะมีทั้งตรวจภายนอกและภายใน โดยทั่วไปหากตรวจภายนอกได้หลักฐานเพียงพอแล้วก็ไม่จำเป็นต้องผ่าอีก เวลาตรวจจะต้องทำโดยละเอียด เน้นที่ช่องทางเปิดของร่างกาย เช่น บริเวณลูกตาและเปลือกตา รูจมูก รูหู ในช่องปาก ช่องทวารต่าง ๆ ตามบาดแผลเปิด เก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อ เส้นผมและขน ฯลฯ นอกจากนั้นก็ทำการบันทึกข้อมูลทั่วไปอย่างเพศ อายุ ลักษณะร่างกาย เชท้อชาติ น้ำหนัก ส่วนสูง สีผม สีตา และลักษณะอื่น ๆ ที่ผิดปกติของร่างกาย รวมถึงเสื้อผ้าและของใช้ติดตัว ยิ่งกรณีที่ไม่รู้ว่าผู้ตายเป็นใครยิ่งต้องตรวจอย่างละเอียด โดยจดบันทึกทั้งในรูปแบบการเขียนและภาพถ่าย 

 

ขั้นตอนการทำงาน 

  • รับแจ้งเรื่องว่ามีคดีหรือมีผู้เสียชีวิต
  • ออกไปยังจุดเกิดเหตุ เพื่อประเมินสภาพ สถานการณ์ เก็บข้อมูลของผู้เสียชีวิต เวลาที่เสียชีวิต สาเหตุการตายเบื้องต้น ประเมินว่ามีความจำเป็นต้องผ่าเพื่อเก็บข้อมูลเพิ่มเติมไหมในกรณีที่น่าสงสัย
  • การชันสูตรพลิกศพ ณ ที่เกิดเหตุ แพทย์จะทำการตรวจสอบศพ พลิกไปมาทั้งด้านหน้าและหลัง สำรวจทั้งร่างเพื่อหาร่องรอยบาดแผลหรือสิ่งผิดปกติและเก็บข้อมูลอย่างละเอียด
  • กรณีที่ต้องสงสัยว่าเป็นคดีฆาตกรรม หรือต้องสงสัยว่ามีการเสพยา มักจะต้องมีการผ่าพิสูจน์ด้วย
  • หากมีหลักฐานยืนยันการตายเพียงพอ เช่น เสียชีวิตที่บ้าน มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว ไม่น่าสงสัย ก็ไม่จำเป็นต้องผ่า
  • เมื่อนำศพมาทำการผ่า ก็จะทำการตรวจสอบอวัยวะตามขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อหาร่องรอยบ่งชี้ที่เป็นประโยชน์ต่อการให้ข้อมูลการเสียชีวิตของผู้ตาย จากนั้นก็จะทำการบันทึกข้อมูลต่าง ๆ ไว้
  • ทั้งข้อมูลของที่เกิดเหตุและข้อมูลที่ได้จากการผ่าพิสูจน์นั้นจะรวบรวมส่งให้ทางตำรวจไปจัดการอีกที
  • หากว่าคดีมีความจำเป็นต้องขึ้นศาล แพทย์ผู้ตรวจก็จำเป็นต้องไปศาลด้วยตามหมายศาล บางคดีอาจยืดเยื้อเป็นปี
  • เนื่องด้วยงานด้านนิติเวชนั้นไม่ได้มีเยอะมาก บางครั้งจึงอาจได้ไปทำหน้าที่แพทย์ทั่วไปในยามขาดแคลนบ้าง

สถานที่ทำงาน 

  • สถานที่เกิดเหตุ ไม่ว่าจะเป็นตามท้องถนนที่เกิดอุบัติเหตุ หรือจุดที่อาจเกิดคดีอาชญากรรมขึ้น 
  • โรงพยาบาล 
  • สำนักงานนิติเวช
  • ห้องตรวจ
  • ศาล ในกรณีี่ผลการชันสูตรมีผลเป็นหลักฐานในชั้นศาล แพทย์นิติเวชจะมีส่วน
  • สถานีตำรวจ แพทย์นิติเวชมักจะทำงานร่วมกับตำรวจอยู่บ่อยครั้ง สถานีตำรวจจึงเป็นอีกสถานที่ที่ต้องไปในเวลาทำงาน แต่ขึ้นอยู่กับแต่ละคดี 

ผู้ที่ต้องทำงานด้วย

  • เจ้าหน้าที่ตำรวจ ตำรวจกลุ่มพิสูจน์หลักฐาน เจ้าหน้าที่นิติวิทยาศาสตร์

  • ญาติผู้เสียชีวิต 

  • มูลนิธิ 

  • คนไข้กลุ่มศัลยกรรม คนไข้กลุ่มหมอกระดูก ที่ส่งมาจากแพทย์เจ้าของไข้

 

เงินเดือน แพทย์นิติเวช

ตำแหน่งและเส้นทางการเติบโตในสายอาชีพ

  • ภาครัฐบาล ความก้าวหน้าจะเป็นไปตามโครงสร้างของระบบราชการ มีการไต่ลำดับขั้น มีเงินประจำตำแหน่ง หรือมีโอกาสได้ขึ้นไปทำงานด้านการบริหารหากมีความสามารถและผลงาน
  • ต่อยอดสายวิชาการ เป็นอาจารย์หรือเติบโตตามลำดับสายวิชาการ เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ ตามลำดับ
  • ภาคเอกชน สำหรับภาคเอกชนนั้นแทบไม่มีในสายงานนี้เลย เพราะแพทย์นิติเวชนั้นต้องทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ของภาครัฐฯ แต่ก็อาจไปเปิดคลินิกของตัวเองหากมีเวลาได้เช่นกัน

รายได้

       เนื่องจากทำงานในระบบราชการ เงินเดือนจึงยึดตามระบบข้าราชการเป็นหลัก มีการเลื่อนขั้นตามระยะเวลาและผลงาน

การแข่งขันและความต้องการของตลาด

       การรับผิดชอบเคสที่ต้องชันสูตรศพของสำนักนิติเวชต่าง ๆ นั้นจะแบ่งกันตามพื้นที่ ซึ่งในทุกวันนี้ยอดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุและอาชญากรรมต่าง ๆ นั้นมีค่อนข้างมาก ในขณะที่เจ้าหน้าที่ในสถาบันยังมีจำนวนน้อยอยู่ ทั้งในเมืองใหญ่และต่างจังหวัด เพราะเป็นสาขาที่คนมักไม่อยากเรียน อาจกลัวศพ กลัวกลิ่น หรือกลัวการขึ้นศาล รวมไปถึงบางครอบครัวก็ไม่อยากให้ลูกเรียนสายนี้ด้วย ดังนั้นอาชีพนี้จึงเป็นอาชีพที่ยังมีความต้องการสูงและขาดแคลนอยู่ในปัจจุบัน

 

 

  • การตรวจเคสมักจะตรวจแล้วจบเลย ไม่ต้องตามผลยืดเยื้อเหมือนการดูแลคนไข้ทั่วไป ยกเว้นเคสใหญ่ ๆ บางเคส
  • มีคุณค่าทางจิตใจ แม้จะไม่ใช่อาชีพที่รักษาคนไข้แบบแพทย์ทั่วไปแต่ก็เป็นอาชีพที่ช่วยค้นหาความจริงและทวงคืนความยุติธรรมต่าง ๆ ให้แก่ประชาชน
  • ไม่มีความกดดันในแง่การรักษาชีวิตคนไข้เท่าแพทย์สายอื่น
  • เหมาะสำหรับคนที่ชอบความตื่นเต้น ท้าทาย ไม่จำเจหรือไม่ชอบอยู่แต่ในห้องแล็บในโรงพยาบาล
  • รายได้ค่อนข้างน้อยกว่าแพทย์สายอื่น
  • เป็นอาชีพที่ต้องเจอภาพการสูญเสียและความหดหู่อยู่บ่อย ๆ (แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็จะคุ้นเคยไปเอง)
  • เป็นอาชีพที่ต้องมีใจรัก ใจกล้า และชอบงานแนวนี้ จึงจะทำงานได้อย่างมีความสุข
  • บางครั้งต้องรับมือกับผู้คนหลายฝ่าย ทั้งทางเจ้าหน้าที่และทางญาติของผู้เสียชีวิต
  • ชอบหรือมีใจรักในงาน กระบวนการวิทยาศาสตร์ รักการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ชอบความท้าทาย การหาข้อพิสูจน์ 
  • ไม่กลัวเลือด ไม่กลัวศพ ใจกล้า สามารถทำงานกับสภาพและกลิ่นไม่พึงประสงค์ได้
  • ช่างสังเกต ใส่ใจรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ปกติแล้วหากเป็นแพทย์ทั่วไป ก็สามารถซักถามข้อมูลจากคนไข้ได้ แต่สำหรับแพทย์นิติเวช การเก็บข้อมูลและหลักฐานนั้นไม่สามารถสอบปากคำจากผู้ตายได้ ความรอบคอบไม่ปล่อยให้รายละเอียดในจุดเล็ก ๆ ผ่านไปจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก อาจทำให้รูปคดีพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือเลยก็ได้
  • มีคุณธรรม จริยธรรม จรรยาบรรณในวิชาชีพ เพราะสิ่งที่สรุปออกมาสามารถตัดสินหรือพลิกรูปคดีและเกี่ยวเนื่องไปถึงคนอื่น ๆ ได้
  • ร่างกายที่แข็งแรง บางครั้งการชันสูตรอาจต้องใช้พละกำลังในการพลิกศพที่มีน้ำหนักมาก หรือออกแรงในการผ่า เช่น ใช้เลื่อยในการผ่าตัดกะโหลกศีรษะ รวมถึงต้องออกไปลุยในสถานที่เกิดเหตุอีกด้วย
  • ทักษะทางการแพทย์และทักษะทางนิติเวชศาสตร์
  • ทักษะการสื่อสาร จิตวิทยา ทั้งการสื่อสารกับผู้ร่วมงาน การรับมือกับญาติผู้เสียชีวิต ฯลฯ
  • ทักษะภาษาอังกฤษ ซึ่งจำเป็นกับผู้เกี่ยวข้องในสายอาชีพแพทย์ทุกสาย

เรียน นิติเวช

การศึกษา

       แพทย์นิติเวชนั้นเป็นสาขาเฉพาะทางของแพทย์ ดังนั้นผู้ที่จะศึกษาต่อจึงจำเป็นต้องจบหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตก่อน โดยเลือกเรียนสายวิทย์-คณิต ในระดับมัธยมศึกษา และเข้าเรียนคณะแพทย์เป็นเวลา 6 ปี ตามหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตจากนั้นสอบใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม หากใครต้องใช้ทุน จากนี้จะเป็นช่วงที่ทำงานชดใช้ทุนก่อนประมาณ 1-3 ปี (อาจไม่ถึง 3 ปีหากได้ทุนไปเรียนเฉพาะทางก่อน) ทั้งนี้แล้วแต่เงื่อนไขของแต่ละสถาบันด้วย หลังจากนั้นจึงเลือกศึกษาต่อแพทย์เฉพาะทางด้านนิติเวชศาสตร์อีก 3 ปี

       ส่วนมากมหาวิทยาลัยที่มีสอนสาขาเฉพาะทางมักจะมีสาขานี้หมด อาทิ

  • จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์ ภาควิชานิติเวชศาสตร์
  • มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ภาควิชานิติเวชศาสตร์
  • มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ คณะแพทยศาสตร์ ภาควิชานิติเวชวิทยา
  • มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ ภาควิชานิติเวชศาสตร์
  • มหาวิทยาลัยนเรศวร คณะแพทยศาสตร์ ภาควิชานิติเวชศาสตร์

 

Hard Skills 

  • วิชาพื้นฐานสำหรับการสอบเรียนแพทย์ต่าง ๆ
  • ทักษะทางภาษาอังกฤษ ซึ่งต้องใช้เยอะในสายแพทย์

Soft Skills 

  • ทักษะการสื่อสาร เน้นพูดและการเขียนเป็นพิเศษ เพราะต้องใช้ในการอธิบายแก่ผู้ร่วมงานและญาติผู้เสียชีวิต รวมถึงการเขียนรายงานสรุปข้อมูลส่งให้กับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ
  • ฝึกการสังเกต การตรวจสอบรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ความรอบคอบถี่ถ้วน และทักษะการคิดเชื่อมโยง

กิจกรรมต่าง ๆ 

       ในประเทศไทยมีนิติวิทยาศาสตร์สมาคมแห่งประเทศไทย (The Forensic Science Association of Thailand) เป็นสมาคมเพื่อวัตถุประสงค์หลักในการส่งเสริมการศึกษา การวินิจฉัยในทางวิทยาศาสตร์ทุกสาขาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายและเผยแพร่และโฆษณาความรู้อันจะเป็นประโยชน์ ต่อประชาชนในด้านวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับกฎหมาย ทางสมาคมฯ มีการประชุมวิชาการและอบรมในวิชานิติวิทยาศาสตร์ประจำทุกปี มีการออกวารสารนิติวิทยาศาสตร์ปีละ 2 เล่ม เพื่อเผยแพร่วิชาความรู้ทางนิติวิทยาศาสตร์ให้เป็นที่รู้จักและนำประโยชน์มาใช้แก่ขบวนการยุติธรรม ด้านความรู้ทั่วไปสามารถหาอ่านตามหนังสือเกี่ยวกับแพทยศาสตร์ทั่วไปได้เลย บางครั้งตามสถาบันต่าง ๆ อาจมีการ Open house ให้เข้าไปดูกระบวนการทำงานหรือการผ่าศพด้วย

วิชาที่เรียน 

นิติพยาธิวิทยา (Forensic Pathology)
       ศึกษาเรื่องการตายต่าง ๆ ที่ผิดธรรมชาติ รวมทั้งการตายโดยธรรมชาติแบบกะทันหันและไม่คาดคิด ซึ่งเป็นการตายที่ส่วนใหญ่ยังไม่ทราบสาเหตุ การตายที่ผิดธรรมชาติในบางครั้งการชันสูตรพลิกศพอย่างเดียวก็ไม่สามารถบอกเหตุตายได้จำต้องทำการผ่าตัดหาเหตุตาย เช่น การตายจากยาบางชนิด กินยานอนหลับเกินขนาดต้องเอาของเหลวในกระเพาะอาหาร เลือด น้ำปัสสาวะไปตรวจหายาที่เกินขนาดทางพิษวิทยา เป็นต้น 
พิษวิทยา (Toxicology)
       ศึกษาเกี่ยวกับยาพิษและสารพิษทั้งหลายไม่ว่าจะมาจากสารเคมี จากพืชและจากสัตว์
นิติซีโรวิทยา (Forensic Serology)
       ตรวจเลือดและน้ำเหลืองในส่วนที่เกี่ยวกับแอนติเจนและแอนติบอดี้ (Antigen and Antibody) และดีเอ็นเอ
วัตถุพยานทางชีววิทยา (Biological trace evidence)
       ตรวจวัตถุพยานทางชีววิทยา เช่น เลือด น้ำลาย ขน เส้นผม ตัวอสุจิ และน้ำอสุจิ เป็นต้น เป็นการตรวจยืนยันว่าเป็นของใครในที่เกิดเหตุ และที่พบในร่างกายของผู้เสียหาย
การตรวจฟันทางนิติเวชศาสตร์ (Forensic Odontology)
       วิชาทันตแพทย์ในเรื่องของการตรวจฟัน เช่น ตรวจเรื่องอายุ การตรวจเพื่อพิสูจน์ตัวบุคคลโดยเปรียบเทียบกับการบันทึกของฟันขณะที่มีชีวิตอยู่ กับลักษณะฟันของคนตาย โดยเฉพาะในรายเน่ามาก ๆ หรือศพที่พบในกองเพลิง
นิติจิตเวชศาสตร์ (Forensic Psychiatry)
       เป็นแขนงหนึ่งของสาขาวิชาจิตเวชศาสตร์ (Psychiatry) ว่าด้วยเรื่องทางจิตและโรคทางจิต เช่น มีจิตบกพร่อง โรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือน มีประโยชน์มากในกระบวนการยุติธรรมทั้งในคดีอาญาและในคดีแพ่ง

เคล็ดลับการเรียน

       ต้องมีใจรักและมีความตั้งใจที่เลือกเรียนสายนี้ ในการเรียนนั้นมีทั้งด้านทฤษฎีและปฏิบัติ ฝึกสังเกตและเรียนรู้จากผู้ที่มีประสบการณ์ให้มาก ยิ่งผ่านเคสมาเยอะ ก็จะยิ่งเข้าใจง่ายว่าร่องรอยบาดแผลแบบไหนเกิดจากอะไร สาเหตุการตายมักมาจากสิ่งไหน

ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย 

       ขณะที่เรียนแพทย์ ในช่วงปี 5 - ปี 6 อาจมีวิชาเลือกทางนิติเวชศาสตร์ให้ลองศึกษา ด้านเนื้อหาอาจมีบางส่วนที่ทับซ้อนกับพยาธิวิทยา แต่จะต่างกันตรงที่นิติเวชจะเน้นหาสาเหตุการตาย บาดแผลจากอุบัติเหตุ การบาดเจ็บมากกว่า แต่จะมีการเรียนวิชาพื้นฐานของพยาธิวิทยาด้วยในหลักสูตร

 

 

  • นักนิติวิทยาศาสตร์

  • พยาธิแพทย์

  • นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ 

 

 

 

ขอขอบพระคุณ นพ.กรวิก มีศิลปวิกกัย อาจารย์ภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ให้สัมภาษณ์และเอื้อเฟื้อข้อมูล


Copyright © 2019 TruePlookpanya. All rights reserved.
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ห้ามมิให้ผู้ใดคัดลอก ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข หรือเผยแพร่ส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ก่อนได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร