Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ทำความเข้าใจเกี่ยวกับ การเคลื่อนไหวร่างกายประเภทต่าง ๆ

Posted By channi kang | 10 ก.พ. 68
433 Views

  Favorite

การเคลื่อนไหวร่างกาย เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันอยู่แล้ว เพราะคนเราต้องเดิน วิ่ง ปรับเปลี่ยนลักษณะท่าทางของร่างกาย ไปจนถึงการยกและดึงสิ่งของต่าง ๆ ล้วนต้องอาศัยทักษะในการเคลื่อนไหวของร่างกายเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่เสมอ บทความนี้จะพาทุกคนไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับ การเคลื่อนไหวร่างกายประเภทต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้ในการเคลื่อนไหวร่างกายตอนออกกำลังกายอย่างถูกวิธี โดยไม่เสียเวลาเปล่า

 

การเคลื่อนไหวของร่างกาย คือ การเปลี่ยนแปลงตำแหน่งที่ต่อเนื่องกัน โดยส่วนที่เกี่ยวข้องที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหว ได้แก่ กลไกการทำงานของข้อต่อ กล้ามเนื้อและระบบประสาท ซึ่งการเคลื่อนไหวเบื้องต้นของร่างกายโดยทั่วไปแล้วจะมีอยู่ 4 ประเภท ได้แก่
 

1. การเคลื่อนไหวแบบเคลื่อนที่ 

การเคลื่อนไหวแบบเคลื่อนที่ เป็นการเคลื่อนที่จากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนลักษณะท่าทางของร่างกายเพื่อปฏิบัติกิจกรรมที่ทำให้ร่างกายเคลื่อนที่ไปยังทิศทางต่าง ๆ อย่างถูกต้อง เช่น การเดิน (walk) , การวิ่ง (Run) , การกระโดดเขย่ง (Hop) , การกระโดด (Jump) , การกระโจน (Leap) , กระโดดสลับเท้า (Skip) , การสไลด์ (Slide) และ การควบม้า (Gallop)

2. การเคลื่อนไหวแบบไม่เคลื่อนที่  

การเคลื่อนไหวแบบไม่เคลื่อนที่ เป็นการใช้ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเคลื่อนไหวโดยที่ร่างกายอยู่กับที่ เช่น การอ้าปาก หุบปาก การยกไหล่ขึ้นลง และการกระพริบตา ส่วนท่าทางในการปฏิบัติภารกิจประจำวัน และท่าทางที่ใช้ในการออกกำลังกาย หรือเล่นกีฬาโดยทั่วไป ดังนี้

การก้ม คือ การงอพับตัวให้ร่างกายส่วนบนลงมาใกล้กับส่วนล่าง

การยืดเหยียด คือ การเคลื่อนไหวในทางตรงข้ามกับการก้ม โดยพยายามยืดเหยียดกล้ามเนื้อให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

การบิด คือ การทำส่วนต่าง ๆ ของร่างกายบิดไปจากแกนตั้ง เช่น การบิดลำตัว

การดึง คือ การพยายามทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเข้ามาหาร่างกายหรือทิศทางใดทิศทางหนึ่ง

การดัน คือ การพยายามทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้ห่างออกจากร่างกาย เช่น การดันโต๊ะ

การเหวี่ยง คือ การเคลื่อนไหวสิ่งใดสิ่งหนึ่ง โดยหมุนรอบจุดให้เป็นเส้นโค้งหรือรูปวงกลม เช่น การเหวี่ยงแขน

การหมุน คือ การกระทำที่มากกว่าการบิด โดยกระทำรอบ ๆ แกน เช่น การหมุนตัว

การโยก คือ การถ่ายน้ำหนักตัวจากส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายไปยังอีกส่วนหนึ่ง โดยเท้าทั้งสองแตะพื้นสลับกัน

การเอียง คือ การทิ้งน้ำหนักไปยังส่วนใดส่วนหนึ่งโดยไม่ถ่ายน้ำหนัก เช่น ยืนเอียงคอ

การสั่นหรือเขย่า คือ การเคลื่อนไหวสั่นสะเทือนส่วนต่าง ๆ ของร่างกายซ้ำ ๆ ต่อเนื่องกัน เช่น การสั่นหน้า เขย่ามือ สั่นแขนขา

การส่าย คือ การบิดไปกลับติดต่อกันหลาย ๆ ครั้ง เช่น การส่ายสะโพก ส่ายศีรษะ

3. การเคลื่อนไหวร่างกายแบบใช้อุปกรณ์ประกอบ

การเคลื่อนไหวร่างกายแบบใช้อุปกรณ์ประกอบ เป็นกิจกรรมทางกาย ที่ผู้ปฏิบัติต้องมีทักษะในการเคลื่อนไหวแบบผสมผสาน และยังต้องมีทักษะการใช้อุปกรณ์ควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้การเคลื่อนไหวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การขว้างลูกบอล , การเตะฟุตบอล และการโยนลูกบอล 

4. การเคลื่อนไหวแบบผสมผสาน

การเคลื่อนไหวแบบผสมผสาน หมายถึงการนำทักษะการเคลื่อนไหวร่างกายขั้นพื้นฐาน ทั้งแบบ อยู่กับที่ แบบเคลื่อนที่ และใช้อุปกรณ์ประกอบ ผสมผสานให้มีการเคลื่อนไหวที่ต่อเนื่องสัมพันธ์กัน เพื่อปฏิบัติกิจกรรมทางกาย เช่น การทำงาน , การออกกำลังกาย , การเล่นเกม และการพัฒนาทักษะการเล่นกีฬาประเภทต่าง ๆ

 

การใช้ชีวิตประจำวันของคนเราในทุกวันนี้ ตั้งแต่ตื่นเช้าลืมตาขึ้นมาไปตลอดจนถึงเวลาเข้านอน ไม่่ว่าจะต้องทำกิจกรรมใด ๆ แน่นอนว่าต้องอาศัยการเคลื่อนไหวในแบบต่าง ๆ อยู่แล้ว ดังนั้น การเรียนรู้หลักการเคลื่อนไหวร่างกายประเภทต่าง ๆ จึงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะจะทำให้เราเคลื่อนไหวได้อย่างมีประสิทธิภาพ และปลอดภัยกับร่างกายเป็นที่สุด

 
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • channi kang
  • 0 Followers
  • Follow