Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ปวดเท้าบอกโรค วิธีรักษาเมื่อปวดเท้า

Posted By Plook Magazine | 10 ก.ค. 66
1,511 Views

  Favorite

‘ปวดเท้า’ อาจหมายถึงการปวดฝ่าเท้า เจ็บที่ส้นเท้าแล้วลามไปทั่วฝ่าเท้า ลักษณะของอาการปวดมีทั้งปวดจี๊ดขึ้นมา และปวดอักเสบทั่วบริเวณเท้าโดยไม่รู้สาเหตุ หากมีอาการปวดเท้าและสงสัยว่าอาจเป็นโรครองช้ำ ไม่ควรปล่อยไว้จนเรื้อรัง ควรหาทางรักษาอาการให้ทุเลา เพราะคนเราต้องใช้เท้าเดินทางทำกิจกรรมอยู่ตลอดเวลา 

 

trueplookpanya

 

ปวดฝ่าเท้าด้านหน้า

ปัญหาของการปวดฝ่าเท้าด้านหน้ามักเกิดขึ้นบ่อย ๆ กับคนที่ใส่รองเท้าส้นสูงเป็นประจำ เนื่องจากน้ำหนักตัวจะถ่ายเทไปที่ฝ่าเท้าด้านหน้า บางครั้งอาจมีอาการปวดร้าวไปที่นิ้วเท้าและข้อเท้า อีกทั้งยังทำให้ใต้ฝ่าเท้าหรือใต้นิ้วเท้าเกิดหนังด้านด้วย ดังนั้นผู้ที่มีอาการนี้จึงควรใส่รองเท้าส้นเตี้ย มีพื้นนิ่ม และมีหน้ารองเท้ากว้าง เพื่อลดการบีบและเสียดสีของเท้า

ปวดกลางฝ่าเท้า

พังผืดใต้ฝ่าเท้าเป็นเส้นเอ็นบาง ๆ ทอดยาวใต้ส้นเท้าตั้งแต่ส้นเท้าถึงด้านหน้าของเท้า ส่วนใหญ่จะปวดจากการมีก้อนพังผืดกลางฝ่าเท้าอักเสบ เพราะตัวพังผืดขาดความยืดหยุ่น เวลาเดินลงน้ำหนักจะเกิดการฉีกขาดทีละเล็กทีละน้อยจนทำให้ความแข็งแรงลดลงและเกิดการอักเสบเกิดขึ้น หากก้อนมีขนาดใหญ่จะเจ็บปวดคล้ายเหยียบหินเมื่อเดินลงน้ำหนัก หรือบางคนฝ่าเท้าแบนทำให้ปวดบริเวณกลางฝ่าเท้าได้ เนื่องจากเอ็นซึ่งทำหน้าที่ยกอุ้งเท้าถูกดึงยืด ดังนั้นควรสวมรองเท้าที่เสริมอุ้งเท้า (พื้นรองเท้านูนขึ้นตรงอุ้งเท้า) เพื่อช่วยเส้นเอ็นพยุงอุ้งเท้า 

ปวดส้นเท้า

การปวดส้นเท้าส่วนใหญ่เกิดจากจุดยึดพังผืดบริเวณส้นเท้าอักเสบ ซึ่งมักปวดมากในการเดินก้าวแรกหลังตื่นนอนเพราะพังผืดถูกยืดทันทีทันใด ในลักษณะปวดจี๊ดและปวดอักเสบ มักเกิดจากโรครองช้ำอักเสบ หากปล่อยไว้นานอาการอักเสบจะเรื้อรังและเกิดกระดูกเท้างอกที่เท้าได้ ควรเลือกรองเท้าที่มีพื้นนิ่ม มีส้นเล็กน้อยเพื่อถ่ายน้ำหนักไปยังเท้าส่วนหน้า การใส่รองเท้าที่มีการเสริมอุ้งเท้าจะช่วยให้อาการปวดทุเลาลงได้

รักษา ‘อาการปวดเท้า’ เบื้องต้น 

1. ปรับพฤติกรรม ได้แก่ ลดระยะเวลาการยืน เดิน หรือวิ่งต่อเนื่องนานเกินไป เปลี่ยนรูปแบบการออกกำลัง เป็นแบบไร้แรงกระแทก เช่น ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ เป็นต้น

2. ลดน้ำหนัก เพราะน้ำหนักตัวที่มากเกินกว่ามาตรฐานเป็นหนึ่งในสาเหตุของอาการปวดส้นเท้า โดยตำแหน่งที่อักเสบบ่อยคือจุดเกาะที่ตำแหน่งส้นเท้า โดยเริ่มจากอาการบาดเจ็บเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่สะสมมานาน และควรเลือกออกกำลังกายที่ไม่มีการกระแทกบริเวณส้นเท้า

3. เลือกรองเท้าที่เหมาะสม หรือใช้แผ่นเจลรองเท้า เพื่อลดแรงกระแทก หลีกเลี่ยนการใส่รองเท้าส้นสูงป็นเวลานาน ๆ เลือกรองเท้าที่มีพื้นรองเท้าด้านในนุ่ม และมีการเสริมบริเวณอุ้งเท้า พื้นรองเท้าด้านนอกค่อนข้างแข็ง และบริเวณพื้นรองเท้าด้านหน้าโค้งขึ้น

4. ยืดเหยียดเอ็นรองฝ่าเท้า เอ็นร้อยหวาย และกล้ามเนื้อน่องเป็นประจำ ทำได้โดยการนั่งเหยียดขาข้างที่ต้องการยืด ใช้ผ้าคล้องปลายเท้าไว้ แล้วดึงเข้าหาตัวจนรู้สึกว่าน่องด้านหลังตึงค้างไว้นับ 1 - 10 ถือเป็น 1 ครั้ง ทำแบบนี้ประมาณ 10 - 15 ครั้ง แนะนำให้บริหารท่านี้ทุกเช้าก่อนลงจากเตียง

5. ประคบเย็นร่วมกับการนวดบริเวณส้นเท้า และฝ่าเท้า 

6. รับประทานยาลดปวดกลุ่ม NSAIDs เพื่อลดปวดในระยะสั้น

7. การฉีดยาลดอักเสบกลุ่มสเตียรอยด์


8. การใช้คลื่นกระแทกการผ่าตัด

 

อาการปวดฝ่าเท้าแม้จะดูเป็นเรื่องเล็ก ๆ แต่อาการปวดฝ่าเท้ายังเกิดได้จากอีกหลายสาเหตุ มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือโรคร้ายแรงที่อาจซ่อนอยู่ได้ ควรเข้าพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะหากปวดเรื้อรังอาการปวดเท้าจะทำให้การใช้ชีวิตลำบาก 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow