Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ระวัง! โรคที่มากับหน้าฝน

Posted By Plook Creator | 15 มิ.ย. 66
915 Views

  Favorite

ฤดูฝนเป็นอีกหนึ่งฤดูที่นำพาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ มาด้วย ด้วยสภาพอากาศและความชื้นที่เปลี่ยนแปลงไป นำมาซึ่งเชื้อไวรัสและแบคทีเรียนอันเป็นสาเหตุให้เกิดโรคภัยต่างๆ ดังนั้นเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องรู้ถึงโรคต่างๆ ที่มาพร้อมกับฤดูฝน เพื่อระมัดระวังป้องกันตนเอง
 

ภาพ : ONB PHOTO - shutterstock

 


กลุ่มโรคติดต่อที่เกิดจากยุง
 

ภาพ : sun ok - shutterstock



ไข้เลือดออก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue Virus) มียุงลายเป็นพาหะนำโรค เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย อาการเริ่มต้นจะมีไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัว มีผื่นหรือจุดเลือดออกตามลำตัว แขน ขา หากอาการรุนแรง ไข้จะลดลงอย่างรวดเร็ว มือเท้าเย็น และช็อกได้

     วิธีป้องกัน : ระวังไม่ให้ยุงกัด กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ผู้ที่เคยเป็นไข้เลือดออกมาแล้วควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก

ไข้สมองอักเสบเจอี เกิดจากเชื้อไวรัสได้หลายชนิด มักพบโรคนี้ในเด็กอายุ 5-10 ปี มียุงรำคาญเป็นพาหะนำโรค อาการเริ่มแรกมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตัว อาเจียน ท้องเสีย หากรุนแรงถึงขั้นสมองอักเสบจะมีอาการซึมหรือชัก ถ้าไม่ได้รับการรักษาอาจพิการหรือเสียชีวิตได้

     วิธีป้องกัน : ระวังไม่ให้ยุงกัด กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง วัคซีนป้องกันไข้สมองอักเสบเจอี

ไข้มาลาเรีย เกิดจากการติดเชื้อโปรโตซัวพลาสโมเดียม มียุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรคจากผู้ป่วยไปสู่อีกคนหนึ่ง ชุกชุมมากตามบริเวณป่าเขาและแหล่งน้ำ อาการโดยทั่วไป มีไข้ หนาวสั่น ไม่มีน้ำมูก ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัวและกล้ามเนื้อ ซีดลง ตาเหลืองตัวเหลือง เลือดออกผิดปกติ สับสัน ซึมและช็อกได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจเสียชีวิตได้

     วิธีป้องกัน : หากจำเป็นต้องค้างแรมในป่าควรทายากันยุง หรือกางมุ้งนอน และปรึกษาแพทย์เพื่อรับยามากินป้องกันโรค


กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ
 

ภาพ : Gorynvd - shutterstock



ไข้หวัดใหญ่ เกิดจาการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่ อาการมีไข้สูง คัดจมูก มีน้ำมูก ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ไอแห้ง

     วิธีป้องกัน : ปฏิบัติตนตามหลักสุขอนามัย ใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันเชื้อ ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี

โรคปอดอักเสบหรือปอดบวม เกิดจากการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง ทำให้เกิดหนองหรือสารคัดหลั่งในถุงลมปอด อาการมีไข้สูง ตัวร้อน หนาวสั่น เจ็บหน้าอก หอบเหนื่อย หายใจลำบาก คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ซึม สับสน และอาจชักได้

     วิธีป้องกัน : ทานอาหารมีประโยชน์ พักผ่อนอย่างเพียงพอ ไม่สูบบุหรี่ เมื่อเป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ควรรีบรักษาให้หายขาด ผู้มีอายุ 65 ปีขึ้นไปควรฉีดวัคซีนป้องกันปอดอักเสบ


กลุ่มโรคติดต่อทางระบบทางเดินอาหาร
 

ภาพ : New Africa - shutterstock



โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน บิด อาหารเป็นพิษ เกิดจากการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรค ทำให้มีอาการท้องเสีย ถ่ายเหลวเป็นน้ำ ปวดบิด อาจมีไข้ร่วมด้วย และหากติดเชื้อบิดอาจมีมูกเลือดปนมากับอุจจาระ

     วิธีป้องกัน : รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ ดื่มน้ำสะอาด ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น ปฏิบัติตามหลักสุขอนามัย

โรคตับอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ รวมถึงจากสาเหตุอื่นๆ เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก การใช้ยาเสพติด ได้รับสารพิษ โรคอ้วน ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและตามข้อ จุกแน่นชายโครงขวา คลื่นไส้ อาเจียน ปัสสาวะสีเข้ม ตัวเหลือง ตาเหลือง

     วิธีป้องกัน : รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ ดื่มน้ำสะอาด ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ


โรคติดเชื้อทางบาดแผลและเยื่อบุผิวหนัง
 

ภาพ : khlungcenter - shutterstock



โรคไข้ฉี่หนู เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในฉี่ของสัตว์พาหะ เช่น หนู สุนัข สุกร ม้า ที่ปนเปื้อนอยู่ในบริเวณที่มีน้ำท่วมขัง ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง ตาแดง หากปล่อยให้อาการรุนแรงอาจเกิดภาวะดีซ่าน ไตวาย หรือช็อกได้

     วิธีป้องกัน : หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ที่เป็นพาหะของโรค สวมชุดป้องกันให้มิดชิดหากต้องลุยน้ำขัง หากย่ำหรือแช่ในแหล่งน้ำที่สงสัยว่าปนเปื้อนให้รีบอาบน้ำทำความสะอาดโดยเร็ว

โรคตาแดง เป็นการอักเสบของเยื่อบุตา เกิดจากการติดเชื้อที่ทำให้เกิดโรคตาแดง เช่น เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย ติดต่อกันได้จากการสัมผัสโดยตรง การใช้สิ่งของร่วมกัน หายใจหรือไอจามรดกัน โดยจะมีอาการตาแดง ปวดในเบ้าตา คันและเคืองตา น้ำตาไหล หากติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วยจะมีขี้ตามาก ทำให้ลืมตายากในช่วงตื่นนอน

     วิธีป้องกัน : หลีกเลี่ยงการสัมผัสการสัมผัสหรือขยี้ตา ล้างมือให้สะอาดบ่อยๆ ไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น หยุดเรียนหรือหยุดงานจนกว่าจะหายเพื่อไม่ให้เชื้อแพร่กระจาย พักการใช้สายตา


วิธีดูแลตัวเองไม่ให้เสี่ยงติดโรคที่มากับฤดูฝน

1. ฉีดวัคซีนป้องกันโรค
2. รับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์
3. ดื่มน้ำอุ่นและสะอาดอย่างพอเพียง
4. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
5. ล้างมือบ่อยๆ รักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล
6. รักษาสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยให้สะอาด กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
7. หากจำเป็นควรใช้ยาทากันยุง ชุดป้องกัน หรือกางมุ้งนอน
8. หลีกเหลี่ยงสัมผัสสัตว์ที่เป็นพาหนำโรค
9. หลีกเลี่ยงการใช้น้ำจากแหล่งน้ำที่อาจปนเปื้อนเชื้อโรค
10. รับประทานวิตามินเสริม
11. สวมหน้ากากอนามัยอยู่เสมอเมื่ออยู่ในที่ชุมนุมชน เพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่กระจายของเชื้อ

 
 
 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 44 Followers
  • Follow