Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

รู้ทัน ภาวะหัวใจล้มเหลว เกิดจากอะไร ป้องกันได้อย่างไรบ้าง

Posted By Plook Blog | 09 พ.ค. 66
1,274 Views

  Favorite

ภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart Failure) หรือ หัวใจวาย คือ ภาวะที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้พอเพียง เกิดจากลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดหัวใจเฉียบพลัน ซึ่งไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร ในบางรายอาจมีสุขภาพปกติ แข็งแรง แต่อยู่ ๆ ก็กลับมีอาการผิดปกติ เช่น แน่นหน้าอก รู้สึกอึดอัด เหนื่อย และอาจเสียชีวิตได้ในชั่วพริบตา


ในปัจจุบันภาวะหัวใจล้มเหลว เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตเป็นอันดับต้น ๆ ดังนั้น การที่เราได้เข้าใจถึงสาเหตุ อาการเบื้องต้น การปฐมพยาบาล และแนวทางป้องกันการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว จะช่วยลดความสูญเสีย และสามารถช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยได้ทันท่วงที

 

Plook Blog

                               

.......................................................................................................................

หัวข้อในบทความ

• ภาวะหัวใจล้มเหลว เกิดขึ้นได้อย่างไร

1. สาเหตุของภาวะหัวใจล้มเหลว ที่เกิดจากความผิดปกติของร่างกาย

2. สาเหตุของภาวะหัวใจล้มเหลว ที่เกิดจากปัญหาสุขภาพและโรคต่าง ๆ

3. สาเหตุของภาวะหัวใจล้มเหลวที่เกิดจาก ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ

• สัญญาณเตือนอาการภาวะหัวใจล้มเหลวที่สังเกตได้เบื้องต้น

• วิธีช่วยเหลือและการปฐมพยาบาลเบื้องต้นผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว

• วิธีป้องกันภาวะหัวใจล้มเหลวเบื้องต้น

.......................................................................................................................

 

ภาวะหัวใจล้มเหลว เกิดขึ้นได้อย่างไร

1. สาเหตุของภาวะหัวใจล้มเหลว ที่เกิดจากความผิดปกติของร่างกาย ได้แก่

– กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ซึ่งสร้างความเสียหายต่อกล้ามเนื้อหัวใจ
– ความดันเลือดสูง
– ความผิดปกติของลิ้นหัวใจ
– หัวใจเต้นผิดปกติอย่างรุนแรง
– กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
– กล้ามเนื้อหัวใจทำงานผิดปกติ
– การติดเชื้อไวรัสที่ส่งผลต่อหัวใจ

 

 

2. สาเหตุของภาวะหัวใจล้มเหลว ที่เกิดจากปัญหาสุขภาพและโรคต่าง ๆ ที่ทำให้หัวใจเกิดความเครียด ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว ได้แก่

– โรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งอาจทำให้หลอดเลือดตีบตันได้
– โรคไตระยะท้าย
– โรคพิษสุราเรื้อรัง
– โรคลิ่มเลือดอุดตันในปอด
– โรคเบาหวาน
– โรคความดันเลือดสูง
– โรคต่อมไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติ (hyperthyroidism)
– มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
– โรคหลอดเลือดสมอง
– โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
– โรคปอดขั้นรุนแรง

 

 

3. สาเหตุของภาวะหัวใจล้มเหลวที่เกิดจาก ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ได้แก่

- มีภาวะอ้วน ไขมันในเลือดสูง
- การใช้ยาเคมีบำบัด 
- ความหนาวเย็น ผู้ป่วยที่กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด จะไวต่อความหนาวเย็น ความหนาวเย็นทำให้เส้นเลือดเป็นตะคริว หดเล็ก เลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่พอ ยิ่งกว่านั้นคือทำให้เส้นเลือดอุดตัน เกิดหัวใจวายได้
- ความเครียด กดดัน กังวล พักผ่อนน้อย นอนดึก ใช้สมองมาก เหน็ดเหนื่อยต่อเนื่อง ทำให้เส้นเลือดหัวใจเป็นตะคริวจนอุดตัน
- กินข้าวอิ่มไป หลังกินอาหารกระเพาะต้องแบ่งเลือดมาช่วยย่อย ทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจน้อยลง รวมทั้งกระเพาะมีอาหารดันกระบังลมขึ้นไปเบียดดันหัวใจ ทำให้หัวใจที่อ่อนแออยู่ทำงานไม่ดี ทั้งสองอย่างเป็นสาเหตุให้เกิดน็อกตายกะทันหัน
- ดื่มเหล้ามาก ทำให้ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว เกล็ดเลือดรวมตัวกันมากกระทบถึงการทำงานของหัวใจ
- ออกกำลังกายหักโหม หรือใช้แรงกายอย่างหนัก ต้องใช้เลือดมาก หัวใจต้องใช้ออกซิเจนมาก เส้นเลือดหัวใจเป็นตะคริว กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ก่อให้เกิดหัวใจวายได้เช่นกัน

การมีปัจจัยเสี่ยงเพียงอย่างเดียวก็เพียงพอที่จะทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้ แต่การมีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่าง หมายถึงโอกาสการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวที่สูงขึ้น
 
 

 

สัญญาณเตือนอาการภาวะหัวใจล้มเหลวที่สังเกตได้เบื้องต้น

- มีอาการเหนื่อยง่าย อาจเป็นได้ในขณะพัก หรือเวลาออกแรง 
- แน่นหน้าอก ใจสั่น รู้สึกใจเต้นเร็วผิดปกติ
- นอนราบไม่ได้เวลากลางคืน หายใจลำบาก อาจต้องลุกขึ้นมาเพื่อช่วยหายใจ 
- มีอาการไอมากขึ้น ลักษณะเสมหะเป็นฟองสีชมพู
- บวมที่ขา บวมที่หน้าแข้ง หลังเท้าหรือข้อเท้า เมื่อกดไปจะพบมีรอยบุ๋ม
- บางรายอาจมีอาการทางระบบประสาท มึนงง สับสนหรือเป็นลมหมดสติ

 
 

 

วิธีช่วยเหลือและการปฐมพยาบาลเบื้องต้นผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว

1. หากพบว่ามีผู้ป่วยหัวใจหัวใจล้มเหลวหรือหัวใจวาย หรือมีอาการเข่าข่าย ให้ติดต่อขอความช่วยเหลือจากผู้ที่อยู่ในบริเวณนั้น หรือ ติดต่อ 1669  หรือโรงพยาบาล หรือทีมกู้ภัยใกล้เคียงทันที

2. ในกรณีที่ผู้ป่วยยังมีสติ ให้สังเกตอาการของผู้ป่วยว่าสามารถหายใจเองได้หรือไม่ ชีพจรเต้นแรงหรือเปล่า หากว่าผู้ป่วยยังหายใจได้ จัดท่าผู้ป่วยในท่านั่ง หรือนอนราบกับพื้นในท่าที่สบายที่สุด ปลดเสื้อผ้าให้คลายออกเพื่อให้หายใจได้สะดวก เพื่อรอรถพยาบาลมารับ

3. ในกรณีผู้ป่วยหมดสติ ให้ประเมินความปลอดภัยของสถานที่เกิดเหตุก่อนเป็นอันดับแรก โดยตรวจดูบริเวณรอบ ๆ ก่อนเข้าไปช่วยเหลือ พร้อมกับให้ตรวจการรู้สึกตัว การหายใจ และปลุกเรียกผู้ป่วยด้วยการตบไหล่ทั้งสองข้าง เรียกเสียงดัง ๆ หากไม่รู้สึกตัวและไม่หายใจ หรือหายใจผิดปกติที่เรียกว่า หายใจเฮือก ให้รีบขอความช่วยเหลือและทำการ CPR ทันที

4. จัดท่าผู้ป่วยให้นอนราบกับพื้นแข็ง โดยให้คุกเข่าบริเวณข้างลำตัวผู้ป่วยในระดับไหล่ จัดท่าผู้ป่วยนอนหงายเพื่อเปิดทางเดินหายใจโดยการ ดันหน้าผาก - ดึงคางขึ้น และตรวจสอบการหายใจโดยการเอียงหูฟังแนบที่จมูกผู้ป่วย จากนั้นให้เริ่ม ช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) ด้วยการกดหน้าอก โดยวางสันมือข้างที่ถนัดบริเวณกึ่งกลางกระดูกหน้าอกระดับเต้านม และวางมืออีกข้างทับประสานกันไว้ เริ่มการกดหน้าอกด้วยความลึกอย่างน้อย 5 เซนติเมตร โดยให้แขนเหยียดตรง ไม่งอแขน ในอัตราความเร็ว 100 - 120 ครั้งต่อนาที และทำไปเรื่อย ๆ จนกว่าผู้ป่วยจะรู้ตัว หรือจนกว่าความช่วยเหลือจะมาถึง

5. หากมีเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (Automated External Defibrillators: AED) สามารถนำมาใช้ช่วยชีวิตผู้ป่วยได้

อย่างไรก็ตาม หากพบผู้ป่วยมีปัญหาเรื่องการหายใจ หมดสติ ผู้ไปพบต้องมีสติ อย่าตื่นเต้นตกใจจนทำอะไรไม่ถูก รีบให้การช่วยเหลือเบื้องต้นเท่าที่จะทำได้ รวมถึงพยายามติดต่อขอความช่วยเหลือจากหน่วยกู้ชีพ โรงพยาบาล ที่ใกล้ที่สุด ก็จะสามารถช่วยผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เขามีโอกาสรอดชีวิตมากขึ้น

 

 

วิธีป้องกันภาวะหัวใจล้มเหลวเบื้องต้น

• ถึงแม้จะมีสุขภาพดี ก็ควรตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี เพื่อจะได้เช็คอาการผิดปกติต่าง ๆ ของร่างกาย
• ผู้ที่มีโรคประตัว เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ควรหมั่นพบแพทย์เป็นประจำและทานยาสม่ำเสมอ
• ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำรงชีวิต เช่น ออกกำลังสม่ำเสมอแต่ไม่ควรหักโหม รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ และพักผ่อนให้เพียงพอ
• รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ในปริมาณที่พอเหมาะ


ภาวะหัวใจล้มเหลว เมื่อก่อนจะเกิดกับวัยกลางคนและผู้สูงอายุ แต่ปัจจุบันเกิดกับคนอายุน้อยลงทุกที ซึ่งบางรายผู้ป่วยอาจไม่มีอาการของโรคหัวใจปรากฏมาก่อนเลย ดังนั้นเราควรดูแลสุขภาพให้ดีและหมั่นสังเกตตัวเอง หากพบอาการผิดปกติต่าง ๆ ที่เข้าข่ายภาวะหัวใจล้มเหลว อย่านิ่งนอนใจ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อจะได้รักษาอย่างทันท่วงที

 

 

***********************************************

 

ที่มาข้อมูล : โรคหัวใจวาย หรือหัวใจล้มเหลว (Heart Failure)

ภาวะหัวใจล้มเหลว ➤ รู้ทัน สาเหตุ อาการ วิธีรักษา

การปฐมพยาบาลเบื้องต้น เมื่อพบผู้ป่วยโรคหัวใจวาย

 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Blog
  • 5 Followers
  • Follow