Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

วัคซีนป้องกันมะเร็งมีไหม? เรื่องควรรู้ก่อนฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก

Posted By Plook Creator | 03 พ.ค. 66
880 Views

  Favorite

วัคซีน คือ ยาหรือสารที่ฉีดเข้าสู่ร่างกายเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรคต่างๆ ซึ่งวัคซีนอาจผลิตจากเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียที่อ่อนตัวแล้ว หรือส่วนประกอบของเชื้อ แล้วนำมาฉีดเพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันโรคนั้นๆ การฉีดวัคซีนไม่ได้ฉีดเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันเฉพาะเด็กเท่านั้น แต่วัคซีนบางประเภทก็มีจุดประสงค์เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ผู้ใหญ่ด้วยเช่นกัน เช่น วัคซีนมะเร็ง หรือวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก

 

ภาพ : GBJSTOCK - shutterstock

 


วัคซีนมะเร็งคืออะไร?

วัคซีนมะเร็ง เป็นวีคซีนชนิดหนึ่งที่มุ่งหมายเพื่อกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้รู้จักและโจมตีเซลล์มะเร็ง ซึ่งต่างจากวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อทั่วไป วัคซีนมะเร็งผลิตมาเพื่อการรักษาหรือป้องกันโรคมะเร็ง


วัคซีนมะเร็งมีอะไรบ้าง

วัคซีนมะเร็งมี 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ

1. วัคซีนป้องกันการเกิดมะเร็ง
วัคซีนป้องกันการเกิดมะเร็ง เป็นวัคซีนที่ผลิตขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์ในการป้องกันการติดเชื้อที่เป็นสาเหตุและอาจนำไปสู่การพัฒนาเป็นมะเร็งได้ วัคซีนป้องกันมะเร็งมี 2 ชนิดที่ได้รับการรับรองโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา FDA คือ

     - วัคซีน HPV หรือ วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก เป็นวัคซีนป้องกันการเชื้อไวรัส HPV (Human Papilloma Virus) ที่เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูก
     - วัคซีน HBV หรือ วัคซีนตับอักเสบบี เป็นวัคซีนที่ป้องกันไม่ให้ไวรัสกลายพันธุ์ไปเป็นมะเร็งตับ

2. วัคซีนที่ใช้รักษามะเร็ง
เป็นวัคซีนสำหรับช่วยรักษามะเร็งที่เป็นอยู่เดิม โดยทำหน้าที่เพิ่มระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เพื่อต่อสู้กับเซลล์มะเร็งในร่างกาย ซึ่งวัคซีนรักษามะเร็งจะช่วยทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นอีก


วัคซีนป้องกันมะเร็งกับวัคซีนรักษามะเร็งต่างกันอย่างไร?

วัคซีนป้องกันมะเร็งใช้ในคนที่มีสุขภาพร่างกายปกติ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคมะเร็งชนิดนั้น ส่วนวัคซีนรักษามะเร็งใช้เพื่อรักษาในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็ง ซึ่งวัคซีนรักษามะเร็งกำลังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาวัคซีนให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด
 

ภาพ : KT Stock photos - shutterstock


มะเร็งปากมดลูก

มะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในผู้หญิงไทย และทำให้มีผู้ป่วยเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก สาเหตุของโรคเกิดจากการติดเชื้อ HPV (Human Papilloma Virus) ได้จากการมีเพศสัมพันธ์ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อปริเวณปากมดลูกและทำให้เกิดโรคต่างๆ เช่น หูดหงอนไก่ มะเร็งปากมดลูก เป็นต้น นอกนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ อีก ได้แก่

- อายุ มะเร็งปากมดลูกมักพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป
- การมีเพศสัมพันธุ์แบบมากคู่นอน ทำให้มีโอกาสติดเชื้อ HPV มากขึ้น
- การสูบบุหรี่
- มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (โรคเอดส์)
- มีบุตรจำนวนมาก
- ไม่เคยตรวจภายในเพื่อหารอยโรคระยะก่อนเป็นมะเร็ง

อาการและสัญญาณเตือนมะเร็งปากมดลูก
- มีตกขาวมากผิดปกติ หรือตกขาวมีเลือดปน
- มีเลือดออกจากช่องคลอดโดยไม่ทราบสาเหตุ มีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ เลือดออกหลังจากหมดประจำเดือน
- ปวดท้องน้อย ปวดหัวหน่าว
- ประจำเดือนมาผิดปกติ
- เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์
- ปัสสาวะหรืออุจจาระมีเลือดปน
- ปัสสาวะไม่ออก ปวดบวม
- น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
- เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
- ปวดหลัง ขาบวม ไตวาย (ระยะมะเร็งลุกลามรุนแรง)

การป้องกันมะเร็งปากมดลูก
การป้องกันมะเร็งปากมดลูกทำได้ด้วยการดูแลสุขภาพตนเองไม่ให้เสี่ยงต่อการเกิดโรค และผู้หญิงควรตรวจภายในเป็นประจำทุกปีเพื่อหารอยโรคก่อนเป็นมะเร็ง และในปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกที่สามารถฉีดได้ตั้งแต่วัยเด็ก
 

ภาพ : Jarun Ontakrai - shutterstock

 


สิ่งควรรู้ก่อนฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูก หรือวัคซีน HPV

1. วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลมี 3 ชนิด คือ
     - ชนิด 2 สายพันธุ์ (สายพันธุ์ 16 และ 18) ป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ถึง 70%
     - ชนิด 4 สายพันธุ์ (สายพันธุ์ 6, 11, 16 และ 18) ป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ถึง 70% และป้องกันโรคหูดหงอนไก่และมะเร็งทวารหนักในเด็กผู้ชายได้
     - ชนิด 9 สายพันธุ์ (สายพันธุ์ 6, 11, 16, 18, 31, 33, 45, 52 และ 58) ป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ถึง 90%
 

2. เนื่องจากวัคซีน HPV ป้องกันการติดเชื้อ HPV ซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกได้ประมาณ 70% ดังนั้นผู้หญิงควรฉีดวัคซีน HPV จะลดโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งปากมดลูกได้ถึง 70%

3. ฉีดได้ทั้งเพศหญิงและชาย
     - ผู้หญิงฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9-45 ปี
     - ผู้หญิงฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9-26 ปี

4. วัคซีนจะได้ผลดีในคนที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ ส่วนคนที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว หรือยังมีเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอก็ควรฉีดเพื่อป้องกันการติดเชื้อ HPV และยังช่วยป้องกันการติดเชื้อไปสู่คู่นอนได้ด้วย

5. สำหรับผู้หญิงหากตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำและมีผลปกติสามารถไปฉีดได้ แต่หากไม่เคยตรวจเลย ควรตรวจคัดกรองหารอยโรคก่อน เนื่องจากวัคซีนป้องกันมะเร็งจะฉีดให้กับคนที่มีสุขภาพปกติ

6. จำนวนเข็มที่ต้องฉีด คือ
     - ช่วงอายุ 9 – 15 ปี ฉีด 2 เข็ม โดยเข็มแรกฉีดได้ทันที และเข็มที่สองฉีดห่างจากเข็มแรกอย่างน้อย 6 เดือน แต่ไม่เกิน 12 เดือน
     - อายุมากกว่า 15 ปีขึ้นไป ฉีด 3 เข็ม โดยเข็มแรกฉีดได้ทันที และเข็มที่สองฉีดห่างจากเข็มแรก 1-2 เดือน และเข็มที่สามฉีดห่างจากเข็มแรก 6 เดือน
 

ภาพ : KT Stock photos - shutterstock



7. หากตั้งครรภ์ไม่แนะนำให้ฉีด แม้ว่าวัคซีน HPV จะค่อนข้างปลอดภัยสำหรับหญิงมีครรภ์ก็ตาม อย่างไรก็ตามหากฉีดเข็มที่ 1 และ 2 ไปแล้วเกิดตั้งครรภ์ ให้ฉีดเข็มที่เหลือจนครบ 3 เข็มช่วงหลังคลอดหรือช่วงให้นมบุตร

8. คนที่เคยติดเชื้อ HPV มาแล้วก็สามารถฉีดได้ เพราะช่วยป้องกันการติดเชื้อ HPV ในสายพันธุ์อื่นๆ ที่ยังไม่เคยติดมาก่อนได้

9. ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน อาจมีอาการปวด บวม แดง คัน มีจ้ำเลือด มีตุ่มนูนบริเวณที่ฉีด ปวดศีรษะ มีไข้ คลื่นไส้ เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย ถ่ายเหลว ปวดบริเวณช่องท้องส่วนบน

10. ยังไม่มีการแนะนำให้ฉีดกระตุ้นซ้ำ เนื่องจากหลังฉีดวัคซีน HPV จะสามารถป้องกันโรคได้ 10 ปี โดยจากข้อมูลพบว่าหลังจาก 10 ปีวัคซีนยังคงประสิทธิภาพในการป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ถึง 90% 
 
11. หากเคยฉีดวัคซีนชนิด 2 สายพันธุ์และ 4 สายพันธุ์มาแล้ว สามารถฉีดชนิด 9 สายพันธุ์ซ้ำได้ โดยให้ฉีดห่างจากเข็มสุดท้ายของชนิด 2 และ 4 สายพันธุ์อย่างน้อย 12 เดือน แต่เนื่องจากค่าใช้จ่ายชนิด 9 สายพันธุ์ค่อนข้างสูง แพทย์อาจไม่แนะนำเพราะชนิด 2 และ 4 สายพันธุ์ก็มีประสิทธิภาพป้องกันได้ถึง 70%

12. ราคาวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูก

     - ชนิด 2 สายพันธุ์
          แบบ 2 เข็ม ราคาประมาณ 5,000 – 6,000 บาท
          แบบ 3 เข็ม ราคาประมาณ 6,800 – 9,000 บาท

     - ชนิด 4 สายพันธุ์
          แบบ 2 เข็ม ราคาประมาณ 5,500 – 7,500 บาท
          แบบ 3 เข็ม ราคาประมาณ 8,000 – 11,000 บาท

     - ชนิด 9 สายพันธุ์
          แบบ 2 เข็ม ราคาประมาณ 13,000 – 16,500 บาท
          แบบ 3 เข็ม ราคาประมาณ 19,000 – 23,500 บาท


 

แหล่งที่มาข้อมูล
Cancer.Net, Knowledge Conquers Cancer, สืบค้นเมื่อ 3 พฤษภาคม 2566 จากเว็บไซต์: https://www.cancer.net/
โรงพยาบาลวิภาวดี, รศ. นพ.วิชัย เติมรุ่งเรืองเลิศ ภาควิชาสูติศาสตร์ - นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย; 10 ข้อควรรู้ ก่อนตัดสินใจฉีดวัคซีนเอชพีวี เพื่อป้องกันมะเร็งปากมดลูก, สืบค้นเมื่อ 3 พฤษภาคม 2566 จากเว็บไซต์: https://www.vibhavadi.com/
Chula Cancer, วัคซีนและการป้องกันมะเร็ง, สืบค้นเมื่อ 3 พฤษภาคม 2566 จากเว็บไซต์: https://www.chulacancer.net/index.php
Roojai, วัคซีนป้องกันมะเร็งมีชนิดใดบ้าง นอกจากวัคซีนมะเร็งปากมดลูก, สืบค้นเมื่อ 3 พฤษภาคม 2566 จากเว็บไซต์: https://www.roojai.com/
Praram9 Hospital, พญ.สมฤดี อุปลวัณณา; HPV vaccine ป้องกันมะเร็งปากมดลูก พร้อมถาม-ตอบ, สืบค้นเมื่อ 3 พฤษภาคม 2566 จากเว็บไซต์: https://www.praram9.com/
Sikarin Hospital, สัญญาณเตือน อาการแบบนี้ เสี่ยง “มะเร็งปากมดลูก”, สืบค้นเมื่อ 3 พฤษภาคม 2566 จากเว็บไซต์: https://www.sikarin.com/
 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 44 Followers
  • Follow