Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

วิกฤตโลกร้อนส่งผลต่อสุขภาพของเราให้แย่ลง

Posted By Plook Magazine | 24 มี.ค. 66
323 Views

  Favorite

คนไทยคงได้เห็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงโลกร้อนชัดขึ้น จากกรณีข่าวคุณหมอวัย 28 ปี ที่เปิดเพจเล่าเรื่องราวของตัวเองหลังจากตรวจพบว่าเป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้าย ทั้งที่ดูแลสุขภาพอย่างดี เป็นนักกีฬา ออกกำลังกายเป็นประจำและไม่สูบบุหรี่เลย นี่คือหนึ่งในล้านตัวอย่างของคนทั่วโลกที่กำลังประสบกับภัยด้านสุขภาพจากวิกฤตโลกร้อน

trueplookpanya

 

เวลาที่มีคนบอกว่า โลกร้อน สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง มีผลกระทบต่อตัวเราทุกคน หลายคนก็มักจะฟังแล้วไม่ค่อยเข้าใจ เพราะคิดว่ามันเป็นเรื่องไกลตัว บางคนยังคิดว่าเรื่องปัญหาโลกร้อนเป็น Fake News หรือว่าข่าวปลอมเสียด้วยซ้ำไป บ้างก็บอกว่ามันเป็นปกติที่อากาศจะเปลี่ยนแปลงเพื่อเกิดเป็นฤดูกาล บ้างก็บอกว่าน้ำแข็งขั่วโลกไม่ได้ละลาย น้ำทะเลมันสูงเพราะปรากฏการณ์น้ำขึ้น น้ำลง และอีกมากมาย 

สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงคืออะไร ? 

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ Climate change  หมายถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากผลกระทบทั้งทางตรงหรือทางอ้อมจากการทำกิจกรรมของมนุษย์ทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคประชาชน เช่น การใช้รถยนต์ การใช้ไฟฟ้า การทำโรงงานอุตสาหกรรม ฯลฯ ที่ทำให้องค์ประกอบของบรรยากาศเปลี่ยนแปลงไปนอกเหนือจากความแปรผันตามธรรมชาติ 
 

สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นผลมาจากภาวะโลกร้อนที่เกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การใช้รถยนต์ การเปิดเครื่องปรับอากาศ การเพาะปลูกเลี้ยงสัตว์ การทิ้งขยะ การตัดไม้ทำลายป่า การทำนาข้าว ฯลฯ ทำให้รังสีและความร้อนจากดวงอาทิตย์ที่ส่งมายังโลก ไม่สามารถสะท้อนกลับออกไป เพราะก๊าซเรือนกระจกที่สะสมจนหนามาบดบังเอาไว้ เเละเมื่อความร้อนไม่สามารถสะท้อนกลับออกไปได้ จึงทำให้เกิดภาวะโลกร้อนส่งผลให้อากาศเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน 
 

โดยประเทศไทยได้รับการจัดลำดับจากองค์กร Germanwatch ให้เป็น 1 ใน 10 ประเทศที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเปลี่ยนแปลงโลกร้อนในระยะยาวโดยเฉพาะน้ำท่วม ไม่เพียงเท่านั้นเมื่อไม่นานมานี้ปีพ.ศ. 2566 ประเทศไทยก็ติดอันดับของประเทศที่มี ‘มลพิษทางอากาศ’ มากที่สุดในโลกเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคกลาง ซึ่งผลกระทบโดยตรงที่ตาเห็นก็คือ เราต้องใส่แมสมันตลอดเวลาเพราะฝุ่น PM 2.5 เป็นฝุ่นที่มีละอองขนาดเล็กมากกว่าเส้นผมถึง 3 เท่า ทำให้มันผ่านการกรอกของขนจมูกเข้าไปสู่ปอดของเราได้อย่างง่ายดาย ส่งผลให้ปอดถูกทำลายแม้จะไม่ได้สูบบุหรี่ก็ตาม 
 

ซึ่งทุกคนที่หายใจเอาฝุ่น PM 2.5 เข้าไปเป็นประจำก็สามารถเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจได้ เพราะฝุ่น PM 2.5 จะเป็นตัวนำสารพิษที่ก่อโรคต่าง ๆ อย่างโรคมะเร็งให้เข้าไปทำลายปอดของเราอย่างช้า ๆ และอย่าลืมว่าโรคที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจไม่ได้มีแค่มะเร็งปอดเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายโรคเช่นกัน

ฝุ่น PM 2.5 ทำให้คนไทยป่วยโรคทางเดินหายใจ 

shutterstock/witsarut sakorn

 

ฝุ่น PM 2.5 ก็ไม่ได้เกิดจากใครที่ไหน มันก็เกิดจากการใช้ชีวิตประจำวันของเรา เช่น การใช้รถใช้ถนน การทิ้งขยะ การผลิตไฟฟ้า การเผาตอซังข้าว เผาขยะในที่โล่ง การทำนา เลี้ยงสัตว์ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้เป็นกิจกรรมที่ใช้ทรัพยากรมาก ผลิตทีหนึ่งก็ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมหาศาล เมื่อเข้าสู่หน้าหนาวของทุกปี ฝุ่น PM 2.5 ก็จะยิ่งมาเยอะและอยู่กับเรานานขึ้น ยิ่งจังหวัดไหนหรือพื้นที่ไหนมีคนอาศัยอยู่หนาแน่น ใช้รถยนต์เยอะ และไม่มีพื้นที่สีเขียวเพียงพอ พื้นที่นั้นก็จะเกิดปรากฏการณ์โดมความร้อน (Heat Island Effect) กล่าวคือ ร้อนมาก ๆ ร้อนเหมือนมีคนเอาฝาชีใหญ่ ๆ มาครอบเมืองไว้ให้หายใจไม่ออก อากาศก็ไม่ถ่ายเทได้สะดวกซึ่งปรากฏการณ์นี้ก็เกิดขึ้นเรียบร้อยแล้วที่กรุงเทพฯ ในรอบ 40 ปีที่ผ่านมา 

 

ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปีพ.ศ. 2562
อันดับ 1 ภาคพลังงานและการขนส่ง 
อันดับ 2 อุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ 
อันดับ 3 ภาคเกษตร 
อันดับ 4 ภาคของเสีย
 


การใช้ชีวิตปกติธรรมดาของเราปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดวิกฤตโลกร้อน และภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงทำให้ทุกประเทศทั่วโลกต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนรุนแรง เราจะเห็นได้เลยว่าทุกวันนี้เรามีวันที่อากาศร้อนมากกว่าและนานกว่าวันที่อากาศเย็น เช่นกันกับประเทศในยุโรปที่หลายคนป่วยเพราะความร้อนมากขึ้น สุดท้ายแล้ววิกฤตโลกร้อนและอุณภูมิที่สูงขึ้นจะทำให้เกิดโรคและความเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากความร้อน และอย่าลืมว่าเชื้อโรคชอบอากาศร้อนและเติบโตได้ดีหากมีอุณหภูมิสูง 

โรคที่เกิดจากการวิกฤตโลกร้อน

shutterstock/palidachan

 

1. โรคขาดสารอาหาร 

คนไทยเราอาจยังไม่มีตัวอย่างที่ชัดเจน เพราะบ้านเราถือเป็นประเทศที่โชคดีที่มีครบทุกอย่าง ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว แต่สำหรับประเทศแอฟริกาและเคนยา พื้นที่ส่วนใหญ่ไม่สามารถเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ได้แล้วเพราะความร้อนทำให้แหล่งน้ำแห้งและพื้นที่ทุ่งหญ้าสำหรับเลี้ยงสัตว์ลดลง ความแห้งแล้งจะยิ่งทำให้พายุฝุ่นและพายุทรายรุนแรงมากขึ้นจนอาจพัดพาทรายปริมาณหลายพันตันข้ามทวีปได้ ทะเลทรายที่ขยายตัวทำให้พื้นที่ในการเพาะปลูกลดลง ผู้คนมากมายไม่มีน้ำดื่มน้ำใช้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ไม่สามารถเพาะปลูกหรือหาอาหารได้เพียงพอ ผู้คนก็ต้องเผชิญผลเสียต่อสุขภาพในด้านอื่นด้วย เช่น ความอดอยากและภาวะทุพโภชนาการในเด็ก 

2. โรคจากฝุ่น PM 2.5 

ฝุ่นควัน PM 2.5 เป็นมลพิษทางอากาศทำให้เสี่ยงเป็นโรคทางเดินหายใจและภูมิแพ้ได้ง่าย โดยเฉพาะโรคมะเร็งปอดเพราะฝุ่นควัน PM 2.5 มีสารก่อมะเร็งขนาดเล็กทำลายเนื้อเยื่อปอดให้เสียหาย แถมสภาพอากาศที่ร้อนจัดทำให้โรคปอดทุกชนิดกำเริบได้ง่าย เพราะปอดจะทำงานหนักกว่าปกติเสี่ยงทำให้เกิดโรคปอดอักเสบ ทำให้ต้นปีพ.ศ. 2566 กรมอนามันประกาศว่า คนไทยป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจเพราะมลพิษ กว่า 1.32 ล้านคน โดยแบ่งได้ดังนี้


กลุ่มโรคทางเดินหายใจ 583,238 ราย 
กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ 267,161 ราย 
กลุ่มโรคตาอักเสบ 242,805 ราย 
โรคหัวใจ หลอดเลือดและสมอง 208,880 ราย 
รวมทั้งสิ้น 1,325,838 ราย 

 

ตอนนี้ผู้คนบนโลกกว่า 99% กำลังสูดอากาศที่มีมลพิษเข้าสู่ร่างกายมากเกินไปโดยเฉพาะประเทศเขตเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแอฟริกา 


 

shutterstock/Richard Whitcombe

 

3. การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด 19 

โรคโควิด 19 ถือเป็นโรคอุบัติใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และไม่เคยมีบันทึกการรักษามาก่อนเลย เป็นโรคที่ถูกวินิจฉัยแล้วว่าเกิดจากการแพร่เชื้อโรคจากสัตว์สู่คน โดยมีค้างคาวเป็นพาหะนำโรค การบุกรุกพื้นที่อยู่อาศัยของสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ในป่าลึกจากการตัดไม้ทำลายป่า ทำให้มนุษย์ต้องเข้าไปสัมผัสกับสัตว์ป่ามากขึ้น เช่นกันกับสัตว์ป่าที่ถูกรุกล้ำที่อยู่อาศัย ทำให้พวกมันต้องอพยบเข้าใกล้เมืองเข้ามาหาอาหารตามสัญชาตญาณ เสี่ยงที่จะนำเชื้อโรคมาสู่คนสูง แล้วถามว่าแล้วทำไมคนต้องตัดไม้ทำลายป่า ส่วนใหญ่นั่นก็เป็นเพราะว่า เราต้องการพื้นที่ป่ามาทำปศุสัตว์ ปลูกพืชเลี้ยงเดี่ยวมากขึ้นจากความต้องการที่จะบริโภคเนื้อสัตว์ที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง  

4. โรคลมแดดและเพลียแดด 

ข่าวร้ายก็คือ หากโลกของเราร้อนขึ้นอีก 2 องศา ประเทศในเขตร้อนอาจไม่สามารถอาศัยอยู่ได้เพราะจะร้อนมากเกินกว่าอุณหภูมิร่างกายจะรับไหว ซึ่งเกิดจากคลื่นความร้อนที่รุนแรงมากเนื่องจากร่างกายไม่สามารถทนความร้อนจัดสูงกว่า 40 องศาเซลเซียสได้ (อุณหภูมิร่างกายของคนเราปกติอยู่ที่ 37-38 องศาฯ) ความน่ากลัวของโรคลมแดดก็คือ มันมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ อาการแรกเริ่มจะมีอาการเหมือนเพลียทั่วโลก ดูไม่ออกว่ากำลังเป็นอะไร ผิวแห้งไม่มีเหงื่อ หอบหายใจเร็ว หัวใจเต้นเร็วและอาจมีอาการทางสมองร่วมด้วย เช่น เห็นภาพหลอน สับสน หงุดหงิด ชักหรือหมดสติ ภาวะนี้สามารถทำให้เกิดตับและไตวาย กล้ามเนื้อสลายตัว หัวใจเต้นผิดจังหวะ น้ำท่วมปอด เกิดลิ่มเลือดอุดตันในกระแสเลือด และช็อกได้ กลุ่มที่เป็นกลุ่มเสี่ยงมากที่สุดก็คือ คนที่ต้องทำงานกลางแจ้ง 

 

shutterstock/Risto Raunio

 

5. โรคอุบัติใหม่จะกลับมาระบาดทั่วโลก 

เราอาจจะได้เจอกับโรคระบาดที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนจากชั้นดินเยือกแข็ง เมื่อนํ้าแข็งขั้วโลกเหนือละลายเชื้อโรคบางชนิดที่ถูกแช่แข็งไว้เมื่อหมื่นปีที่แล้วอาจแพร่ระบาดมาสู่คนได้จากการปนเปื้อนในแหล่งน้ำ ขณะนี้ชั้นดินเยือกแข็งในทวีปอาร์กติกที่ไม่ควรจะละลายตลอดทั้งปีกำลังบางลงเรื่อย ๆ เพราะความร้อน ทำให้นักไวรัสวิทยาหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า จุลินทรีย์และแบคทีเรียที่ยังคงถูกแช่ไว้ตรงพื้นดินของโลกเมื่อ 1 ล้านปี 500,000 ปี หรือ 50,000 ปีที่แล้ว ที่อยู่ลึกลงไปในชั้นดินเยือกแข็งอาจฟื้นคืนชีพ และกลับมามีชีวิตอีกครั้ง เมื่อนั้นมนุษย์อาจจะต้องเจอกับการระบาดของเชื้อโรคที่ไม่เคยเจอมาก่อนที่หนักกว่าโควิด 19 

 

ยังมีอีกหลายโรคปัญหาสุขภาพที่เราต้องเผชิญ และที่เรายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เนื่องจากวิกฤตโลกร้อนที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรุนแรง ไหนจะการขาดแคลนน้ำจืดหากน้ำทะเลสูงขึ้น ประเทศไทยเราก็ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำ แน่นอนว่าจะต้องมีคนสูญเสียที่อยู่อาศัยและเสี่ยงกับโรคติดต่อที่มากับน้ำท่วม หรือการที่เราจะต้องเสี่ยงกับการกินอาหารทะเลที่ปนเปื้อนพยาธิบนตัวปลาและในกระเพาะลำไส้ของปลาขั้วโลกมากขึ้น เมื่ออุณหภูมิของโลกสูงขึ้นสุขภาพเราจะแย่ลงเพราะยังไงมนุษย์ก็ต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติอยู่วันยังค่ำ

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow