Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

รวมเทคนิคการกินอาหารที่จะช่วยเพิ่มพลังให้ผู้ป่วยมะเร็ง

Posted By Plook Magazine | 26 เม.ย. 66
879 Views

  Favorite

‘อาหาร’ ถือเป็นหัวใจสำคัญในการช่วยฟื้นฟู บรรเทา และดูแลร่างกายของผู้ป่วยโรคมะเร็ง มาดูหลักการกินที่จะช่วยเพิ่มพลังให้ผู้ป่วยรู้สึกแข็งแรง มีกำลังวังชา และไม่รู้สึกอ่อนเพลียกัน !!!

 

 

กินให้สมดุลคือหัวใจสำคัญ

ควรกินผักผลไม้ให้ได้วันละ 5 ส่วน โดยเน้นกินผักมากกว่าผลไม้ เช่น ผัก 3 ส่วน ผลไม้ 2 ส่วน หรือ ผัก 4 ส่วน ผลไม้ 1 ส่วน เป็นต้น ส่วนการกะปริมาณผัก 1 ส่วน สามารถประมาณได้ง่าย ๆ คือ ผักสุก 1 ส่วน ประมาณเท่ากับ 1 ทัพพี หรือ 1 กำมือ และผักสด 1 ส่วนต้องปริมาณมากกว่า 2 เท่า คือ ผักสด 1 ส่วน เท่ากับ 2 ทัพพี หรือ 2 กำมือนั่นเอง 

 

เพิ่มโปรตีนและพลังงาน

ผู้ป่วยมะเร็งจะต้องต่อสู้กับช่วงของโรค คือ ก่อนรับการรักษา ระหว่างรับการรักษา และหลังรับการรักษา ซึ่งในแต่ละช่วงก็จะมีหลักการบริโภคอาหารที่เหมาะสมแตกต่างกันไป แต่หัวใจหลักที่เป็นพื้นฐานคือ ‘การกินให้ครบ’ โดยควรกินอาหารหลากชนิดเพื่อให้ได้สารอาหารที่ครบถ้วน ซึ่งอาหารพื้นฐาน 6 ชนิดหลักที่จำเป็นต้องได้รับมีดังนี้ 

● ไขมัน

● ข้าว/แป้ง

● นม

● ปลา/เนื้อสัตว์/ถั่ว/ไข่

● ผัก

● ผลไม้

 

ในทุกช่วงเวลาของผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผู้ป่วยจะต้องการโปรตีนมากกว่าปกติประมาณ 50% เนื่องจากโครงสร้างของกล้ามเนื้อ เลือด ผิวหนัง อวัยวะ ผม รวมถึงเล็บ ต่างก็มีโปรตีนเป็นองค์ประกอบ ทั้งยังช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตของร่างกายและให้พลังงาน รวมถึงซ่อมแซมและฟื้นฟูเนื้อเยื่อที่ถูกทำลายด้วย ส่วนพลังงานควรได้รับมากกว่าปกติประมาณ 20% ซึ่งการได้รับพลังงานที่เพีองพอจะทำให้ผู้ป่วยมีพละกำลัง 


โดยอาหารที่ผู้ป่วยควรได้รับในแต่ละวัน คือ ข้าว 3 ถ้วย นม 1-2 แก้ว ไข่ 4-6 ฟอง (หรือโปรตีนจากถั่ว ปลา เนื้อสัตว์ต่าง ๆ) ผัก 3-5 ส่วน ผลไม้ 2-4 ส่วน และน้ำมัน 2-3 ช้อนโต๊ะ โดยปริมาณอาจปรับเปลี่ยนไปตามรูปร่างและกิจกรรมในชีวิตประจำวันของแต่ละคน

 

 

Good to Know

โปรตีนชนิดดี คือ โปรตีนที่มีโครงสร้างใกล้เคียงกับโปรตีนในร่างกาย ทำให้ดูดซึมและนำไปใช้ประโยชน์ได้เร็ว เช่น โปรตีนจากวัว แกะ หมู ไก่ ปลา อาหารทะเล เต้าหู้ ไข่ นม ฯลฯ ส่วนโปรตีนที่ผ่านกระบวนการแปรรูปแล้วหรือปรุงด้วยอุณหภูมิสูงเป็นเวลานาน โครงส้รางของโปรตีนจะถูกทำลายไปมาก ร่างกายอาจใช้เวลานานในการย่อยสลายและดูดซึม และมีประโยชน์น้อย เช่น เนื้อตุ๋น พะโล้ เป็นต้น

 

งดกินของดิบและอาหารเหลือค้าง

ในช่วงรับเคมีบำบัดต้องระวังเรื่องการเก็บรักษาอาหาร หากเป็นอาหารเหลือค้างควรอุ่นอาหารให้เดือดก่อนเสมอ และถ้าอุ่นแล้วกินไม่หมดก็ควรทิ้ง อาหารที่ปรุงด้วยวิธีการตุ๋นที่ต้องให้ความร้อนอย่างต่อเนื่องจะค่อนข้างดีต่อผู้ป่วย เพราะช่วยป้องกันเชื้อโรคได้ ส่วนในผู้ป่วยที่รับเคมีบำบัดปกติ รวมถึงผู้ป่วยเปลี่ยนถ่ายไขกระดูก ควรงดการดื่มน้ำผลไม้ปั่นสด โดยให้กินผลไม้ที่ผ่านการห่อหุ้มด้วยพลาสติกห่ออาหาร หรือน้ำผลไม้บรรจุกระป๋องแทน และควรเลือกกินผลไม้ที่ต้องปอกเปลือก

 

เลี่ยงอาหารที่ทำให้ท้องอืดหรืออาหารมัน ๆ

ในช่วงรับการรักษาผู้ป่วยอาจมีอาการท้องเสีย การปรับอาหารจึงมีส่วนช่วยไม่ให้เกิดอาการดังกล่าว โดยควรงดกินอาหารที่มีความหยาบและเส้นใยอาหารสูง เพราะอาจทำให้มีอาการท้องเสียรุนแรงขึ้น ได้แก่

ธัญพืชไม่ขัดขาว 

● ถั่ว ถั่วลิสง 

● ผลไม้แห้ง 

● ผักหรือผลไม้สด 

● อาหารที่มีน้ำมันมาก ประเภทผัด ทอด หรือมันเลี่ยน 

● อาหารที่มีหวานหรือเผ็ดเกินไป

 

นอกจากอาการท้องเสียแล้ว ผู้ป่วยยังอาจรู้สึกท้องอืด จึงควรเลี่ยงอาหารหรือเครื่องดื่มที่ทำให้เกิดแก๊สหรือทำให้ท้องอืดง่ายด้วย เช่น หอมหัวใหญ่ กะหล่ำปลี กุยช่าย บรอกโคลี ถั่วงอก ถั่วหวาน ถั่วที่ไม่ผ่านการขัดขาวหรือแปรรูป มันเทศ เผือก เบียร์ นมวัว เนย เครื่องดื่มที่มีกรดคาร์บอนิกอย่างน้ำอัดลมหรือโซดา รวมถึงการเคี้ยวหมากฝรั่งซึ่งจะทำให้กลืนอากาศมากขึ้น ยิ่งทำให้รู้สึกแน่นท้อง 


 

แหล่งข้อมูล

หวัง ลี่หมิน. (2558). กินอาหารบำบัดมะเร็ง. แปลโดยเพ็ญศิริ รัตนศรี กรุงเทพฯ: ซีเอ็ดยูเคชั่น

 
 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow