Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

รู้จัก โรคไวรัสมาร์บวร์ก โรคติดเชื้อที่ต้องจับตา อัตราการตายสูง

Posted By Plook Creator | 17 ก.พ. 66
2,298 Views

  Favorite

หลังจากซาร์ส อีโบลา โควิด 19 ขณะนี้โลกต้องจับตาเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสตัวฉกาจอีกครั้ง โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก โรคติดเชื้อที่มีความรุนแรงสูงที่ประเทศไทยกำหนดให้เป็น 1 ใน 13 โรคติดต่ออันตรายตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 โดยมีอัตราการป่วยเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 88 เลยทีเดียว ดังนั้นมาทำความรู้จัก โรคไวรัสมาร์บวร์ก เพื่อระวังและป้องกันตัวเองอย่างไม่ตื่นตระหนก
 

Shyntartanya - shutterstock


โรคไวรัสมาร์บวร์กคืออะไร?

โรคไวรัสมาร์บวร์ก (Marburg virus disease, MVD) เดิมเรียกว่า ไข้เลือดออกมาร์บวร์ก เป็นโรคติดเชื้อไวรัสชนิดเฉียบพลันที่มีอัตราการตายสูง มีลักษณะคล้ายโรคไวรัสอีโบลา โรคไวรัสมาร์บวร์กถูกพบครั้งแรกในปี ค.ศ. 1967 เมื่อเกิดการแพร่ระบาดในห้องปฏิบัติการการทดลองที่เมืองมาบวร์กและแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมันนี และเมืองเบลเกรด เมืองหลวงของประเทศเซอร์เบีย ซึ่งผู้ติดเชื้อติดเชื้อจากลิงเขียวที่นำเข้ามาจากประเทศยูกันดาเพื่อใช้ในการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโปลิโอ

โรคไวรัสมาร์บวร์กมีอาการอย่างไร?

โรคไวรัสมาร์บวร์กมีระยะฟักตัว 2-21 วัน อาการจะเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน มีไข้สูง อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะมาก ประมาณวันที่ห้าหลังจากเริ่มแสดงอาการอาจมีผื่นนูนแดงตามตัว คลื่นไส้ อาเจียน เจ็บหน้าอก เจ็บคอ ปวดท้อง ท้องเสีย อาการอาจรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงภาวะดีซ่าน มีการอักเสบของตับอ่อน น้ำหนักลดอย่างรุนแรง มีเลือดออกง่ายมักเกิดร่วมกับภาวะตับถูกทำลาย ตับวาย ช็อก อวัยวะหลายส่วนทำงานผิดปกติ

สาเหตุการเกิดโรคไวรัสมาร์บวร์กคืออะไร?

โรคไวรัสมาร์บวร์กเกิดจากไวรัสมาร์บวร์กและไวรัสแรเวิน ซึ่งเป็นไวรัสเฉพาะถิ่นที่พบในป่าแล้งแถบเส้นศูนย์สูตรของทวีปแอฟริกา การติดเชื้อส่วนใหญ่เกิดจากการไปถ้ำที่เป็นถิ่นอาศัยของค้างคาวที่เป็นพาหะโรค
 

Azahara Perez - shutterstock


ปัจจัยเสี่ยงในการติดเชื้อโรคไวรัสมาร์บวร์ก

- บริโภคผลิตภัณพ์อาหารที่ปนเปื้อน
- สัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์ติดเชื้อ
- สัมผัสของเหลวในร่างกายของสัตว์ที่ติดเชื้อ
- สัมผัสกับผู้ติดเชื้อผ่านทางของเหลวในร่างกาย
- การสัมผัสร่างกายโดยตรงกับผู้ติดเชื้อ

การวินิจฉัยโรคไวรัสมาร์บวร์กทำได้อย่างไร?

เนื่องจากโรคไวรัสมาร์บวร์กมีลักษณะคล้ายโรคไวรัสอีโบลา ไข้มาลาเรีย ไข้ไทฟอยด์ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ จึงค่อนข้างยากที่แยกโรคได้ ดังนั้นการวินิจฉัยที่สำคัญคือการซักประวัติผู้ป่วย เช่น ประวัติการเดินทาง การทำงาน การสัมผัสสัตว์ป่า และการยืนยันโรคไวรัสมาร์บวร์กทำได้ด้วยการแยกไวรัส หรือส่งเลือดตรวจหาแอนติเจนหรือ RNA ของไวรัส
 

Arif biswas - shutterstock


การรักษาโรคไวรัสมาร์บวร์ก

เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีการรักษาจำเพาะ จึงมุ่งเน้นไปที่การรักษาแบบประคับประคองตามอาการ

การป้องกันโรคไวรัสมาร์บวร์ก

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนสำหรับป้องกันไวรัสมาร์บวร์ก ดังนั้นการป้องกันหลักๆ อยู่ที่การแยกผู้ป่วยและหลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ป่วยโดยตรง รวมถึงเลี่ยงการสัมผัสปัจจัยเสี่ยงต่างๆ  

 


แหล่งที่มาข้อมูล
Centers for Disease Control and Prevention (CDC), Marburg (Marburg Virus Disease), สืบค้นเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2566 จากเว็บไซต์: https://www.cdc.gov/
World Health Organization (WHO), Marburg virus disease, สืบค้นเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2566 จากเว็บไซต์: https://www.who.int/
WebMD, Alexandra Benisek, Marburg Virus Disease: What to Know, สืบค้นเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2566 จากเว็บไซต์: https://www.webmd.com/
Osmosis, Ali Syed, PharmD, Marburg Virus What Is It, Causes, Treatment, and More, สืบค้นเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2566 จากเว็บไซต์: https://www.osmosis.org/
PIDST สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย, โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา-มาร์บูร์ก (EBOLA-MARBURG VIRAL DISEASES), สืบค้นเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2566 จากเว็บไซต์: https://www.pidst.or.th/A236.html
Wikipedia, โรคไวรัสมาร์บวร์ค, สืบค้นเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2566 จากเว็บไซต์: https://th.wikipedia.org/

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 44 Followers
  • Follow