Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

สนทนาภาษาสัตว์

Posted By Plook Creator | 15 ก.ย. 64
9,786 Views

  Favorite

สัตว์ส่วนใหญ่มีเสียงเรียก เสียงร้องที่ใช้กัน เรารู้ว่ามันทำเสียงออกมาเพื่อเรียกร้องความสนใจ อาจจะมีเหตุผลเฉพาะเช่น หาคู่ ขู่ให้กลัว หรือต้องการให้สนใจ หากแต่มันมีภาษาเป็นของตัวเองหรือไม่ เสียงโทนเดียวกันจะสามารถใช้สื่อความหมายที่ลึกซึ้ง มีจุดประสงค์ที่แตกต่างออกไป หรือมีความซับซ้อนเหมือนภาษาของคนหรือไม่ แต่คงต้องพิจารณาจากความหมายของภาษาเสียก่อนว่า จริง ๆ แล้วภาษาคืออะไร

ภาพ : Shutterstock

 

ภาษาคือกิริยาอาการที่แสดงออกมา เพื่อสื่อสาร ระหว่างกัน ภาษาจึงไม่ได้จำกัดอยู่แค่เสียงที่เปล่งออกมาเป็นภาษาพูด แต่รวมถึงท่าทางการกระทำต่าง ๆ ที่สื่อออกมาเป็นภาษากายอีกด้วย และก็ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การสื่อสารระหว่างมนุษย์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการสื่อสารระหว่างมนุษย์และสัตว์ หรืออาจจะรวมถึงระหว่างสัตว์ด้วยกัน ซึ่งเป็นประเด็นถัดไปที่เราต้องมาพิจารณา อย่างไรก็ตาม การปรากฏอยู่และการใช้ภาษานั้นทำให้เกิดการถ่ายทอดความหมาย สร้างความเข้าใจ ซึ่งนำไปสู่การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล จนเกิดเป็นสังคมที่ซับซ้อนขึ้น และนั่นอาจจะทำให้เราอุปมาได้ว่า หากมีโครงสร้างทางสังคมจะต้องมีภาษาเป็นส่วนหนึ่งในสื่อกลาง

 

สำหรับสัตว์นั้นหากมันมีภาษาใช้ระหว่างกันก็เป็นไปได้ทั้งภาษาพูดและภาษากาย เพราะว่าสัตว์นั้นเคลื่อนที่ได้ ขยับตัวได้ ย่อมก่อให้เกิดภาษากายได้ และส่วนใหญ่สามารถเปล่งเสียงออกมาได้ การเปล่งเสียงของสัตว์อาจจะมีหลายรูปแบบ อาจจะเป็นการใช้กล่องเสียงแบบที่มนุษย์ทำอย่างเช่น ลิงหรือวานรต่าง ๆ หรืออาจจะเป็นการยุบและพองของหลอดลมบริเวณคออย่างสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำจำพวกกบ หรืออาจจะเป็นการใช้ถุงลมพิเศษเหมือนที่วาฬใช้ร้องเพลงใต้น้ำ ล้วนแต่ทำให้เกิดเสียงที่อาจสื่อความหมายเฉพาะได้

 

ภาษากายอย่างการโบกก้ามปู การเต้นระบำของผึ้งที่มีลักษณะเฉพาะ การเปลี่ยนสีของหมึกยักษ์ ล้วนแต่เป็นการส่งสัญญาณในรูปแบบของมัน โครงสร้างของภาษาประกอบไปด้วย การแยกออกอย่างชัดเจน (Discreteness) ซึ่งหมายถึงมันจะต้องมีเสียงหรือคำที่เป็นหน่วยย่อยที่สุดของภาษา และสามารถนำมาติด มาต่อ หรือเชื่อมกันให้กลายเป็นกลุ่มคำที่ใหญ่กว่า ที่อาจจะมีความหมายคล้ายเดิมหรือเปลี่ยนไปได้ ไวยากรณ์ (Grammar) ใช้กำหนดการประกอบกันของหน่วยย่อย เป็นเหมือนกฎมาตรฐานกลาง ซึ่งผู้ส่งและรับสารต้องใช้ร่วมกันเพื่อให้สามารถแปลความหมายที่ต้องการส่งได้สมบูรณ์และถูกต้อง ผลิตภาพ (Productivity) หมายรวมถึงการทำซ้ำ สร้างข้อความ หรือประโยคที่ไม่มีที่สิ้นสุด สามารถส่งต่อและบิดเปลี่ยนความหมายที่ต้องการจะสื่อออกไปโดยใช้หน่วยย่อยที่สุดของภาษามาประกอบกัน และการกระจายส่งต่อ (Displacement) เป็นการอ้างอิงถึงสิ่งที่ไม่ได้อยู่ตรงหน้าได้ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต หรือคาดว่าจะเกิดในอนาคตเพื่อให้ผู้รับสารสามารถเข้าใจไปในทิศทางเดียวกันได้

ภาพ : Shutterstock
ภาพ : Shutterstock

 

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าสัตว์ทุกชนิดจะมีการสื่อสารที่มีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะเป็นภาษาได้ เราคงไม่เห็นปูหรือหมึกเล่าเรื่องของอาหารที่เพิ่งกินไปในมื้อก่อน หรือนัดแนะกันไปล่าเหยื่อ แต่สำหรับสัตว์อีกหลายชนิดที่เรารู้จักสามารถสื่อความหมายที่ซับซ้อนได้ เช่น ผึ้งสามารถเต้นระบำไปรอบ ๆ รังเพื่อบอกได้ว่า เมื่อสักครู่ไปพบแหล่งอาหารจากที่ไหน ทิศใด ระยะห่างจากรังเท่าไร หรือสิงโตและไฮยีน่าสามารถสื่อสารระหว่างกลุ่ม เพื่อนัดแนะออกล่าเหยื่อเป็นอาหารหรือบอกที่ซ่อนของซากเหยื่อที่เพิ่งล่าและยังกินไม่หมดในมื้อที่แล้วได้ และนั่นนับว่าเป็นการใช้หน่วยย่อยของภาษามาประกอบอย่างสร้างสรรค์เพื่อบอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ

ภาพ : Shutterstock

 

กรณีศึกษาที่น่าสนใจเห็นจะเป็นการที่กอริลล่าชื่อ โคโค่ (Koko) สามารถใช้สัญลักษณ์และภาษามือสื่อสารกับผู้ฝึกสอนได้ เป็นตัวอย่างที่ดีในการใช้สัญลักษณ์รวมถึงอุปกรณ์ที่มันเรียนรู้อยู่แล้ว มาผสมเป็นประโยคเพื่อบอกเรื่องราวความต้องการของมัน หรือสนทนาโต้ตอบกับผู้ฝึกสอนผ่านอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้ โคโค่ยังสามารถแสดงความเห็นถึงความเศร้าเสียใจที่ต้องสูญเสียลูกแมวที่ตายไปได้ และนั่นทำให้องค์ประกอบทางด้านภาษาของโคโค่ชัดเจน ทั้งการเข้าใจหน่วยของคำ ไวยากรณ์ การประกอบคำเป็นประโยค และอ้างอิงถึงสิ่งที่เคยเกิดขึ้น

ภาพ : Shutterstock

 

สิ่งที่เรากำลังทำการศึกษาเปิดโลกทัศน์ให้เห็นว่าอันที่จริงแล้วสัตว์แต่ละสายพันธุ์มีภาษาและการสื่อสารเป็นของตัวเอง เพียงแต่เรายังไม่สามารถเข้าใจได้ครบถ้วนตามที่สัตว์เหล่านั้นใช้และเข้าใจ เหมือนกับที่โคโค่เข้าใจภาษาของเราเป็นส่วนใหญ่หากได้รับการฝึก พอ ๆ กับที่เราสามารถเข้าใจเสียงและท่าทางของกอริลล่าได้หากเราศึกษาและฝึกมา และไม่ว่าเราจะยังไม่มีภาษากลางที่เอาไว้สื่อสารระหว่างสายพันธุ์ แต่ท้ายที่สุดแล้วเราล้วนต่างเป็นสัตว์ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันบนโลกใบนี้ทั้งสิ้น มันคงจะดีถ้าเราเปิดใจกว้างขึ้นและมองในมุมที่ต่างออกไป มุมที่สัตว์เองก็มีสิทธิ์เสียงบนโลกใบนี้ เหมือนที่เรามี และการเบียดเบียนสัตว์สายพันธุ์อื่นก็ไม่ใช่การกระทำที่ดีต่อเพื่อนร่วมโลกของเรา

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 15 Followers
  • Follow