Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

วันหมดอายุของเจลล้างมือและสเปรย์แอลกอฮอล์

Posted By sanomaru | 16 ก.ย. 64
20,647 Views

  Favorite

ในช่วงเวลานี้ทุกคนต่างพกเจลล้างมือหรือสเปรย์แอลกอฮอล์ติดตัวตลอดเวลาเสมือนหนึ่งอาวุธคู่กาย เมื่อออกจากบ้านแต่ละทีก็ต้องพ่นแอลกอฮอล์ต้องบีบเจลเพื่อล้างมือของเราที่อาจไปสัมผัสกับสิ่งต่าง ๆ โดยให้มือของเราสะอาดที่สุดและปราศจากการปนเปื้อนของเชื้อโรคต่าง ๆ ที่อาจเข้าสู่ร่างกายและนำไปสู่ความเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตได้

 

ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบเพื่อสุขอนามัย (alcohol base hand sanitizer) ระบุว่า เอทิลแอลกอฮอล์หรือไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์ เป็นชนิดของแอลกอฮอล์ที่มีอยู่ในตำรับยา โดย alcohol based hand sanitizer มีความหมายว่า ผลิตภัณฑ์ที่ประกอบด้วยเอทิลแอลกอฮอล์ (ethyl alcohol หรือ ethanol, C2H5OH) และ/หรือไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์ (isopropyl alcohol หรือ isopropanol, C3H8O) ตั้งแต่หรือมากกว่าร้อยละ 70 โดยปริมาตร (volume by volume) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อทำความสะอาดมือโดยไม่ใช้น้ำ และอยู่ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น โลชั่น (lotion), สารละลาย (solution), ครีม (cream), เจล (gel), โฟม (foam), สเปรย์ (spray)

ภาพ : Shutterstock

 

ส่วนประกอบของเจลล้างมือและสเปรย์แอลกอฮอล์

แอลกอฮอล์โดยทั่วไปมีลักษณะใส ไม่มีสี แต่มีกลิ่นชัดเจน แอลกอฮอล์แบ่งเป็น 3 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่
1) เมทิลแอลกอฮอล์ เรียกอีกอย่างว่า เมทานอล ส่วนใหญ่ใช้เป็นตัวทำละลายในอุตสาหกรรมต่าง ๆ มีจุดวาบไฟต่ำ ระเหยง่าย
2) เอทิลแอลกอฮอล์ เรียกอีกอย่างว่า เอทานอล เป็นแอลกอฮอล์ที่ได้มาจากข้าวหรือเมล็ดพืช และเป็นแอลกอฮอล์ชนิดเดียวที่มนุษย์สามารถนำมาบริโภคได้
3) ไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์หรือไอโซโพรพานอล ส่วนใหญ่ใช้ในทางการแพทย์หรือตามบ้านเรือนทั่วไป เช่น ล้างเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ ฆ่าเชื้อ

 

นอกจากนี้เรายังใช้เอทิลแอลกอฮอล์หรือไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์ในการเช็ดถูหรือทำความสะอาดข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น หน้าจอโทรศัพท์มือถือ ลูกบิดประตู สวิตช์ไฟ คีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์ รีโมท ที่จับตู้เย็นหรือไมโครเวฟ หรือแม้แต่ราวบันได สำหรับแอลกอฮอล์ชนิดเอทิลแอลกอฮอล์หรือชนิดไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์ จะเป็นส่วนประกอบหลักที่นำไปผลิตเจลล้างมือหรือสเปรย์แอลกอฮอล์ที่เราใช้กันอยู่ในทุกวันนี้ด้วย เจลล้างมือหรือสเปรย์แอลกอฮอล์ส่วนใหญ่จะมีไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือคือน้ำหรือส่วนผสมอื่น ๆ ยิ่งเปอร์เซ็นต์ของไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์มากเท่าไร ประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อก็จะมากขึ้นเท่านั้น แต่ก็ไม่ใช่เช่นนั้นเสมอไป

ภาพ : Shutterstock

 

สารละลายที่ประกอบไปด้วยไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์ 60-90% กับน้ำบริสุทธิ์ 10-40% สามารถต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และไวรัสได้อย่างรวดเร็ว แต่เมื่อความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ลดลงต่ำกว่า 50% ประสิทธิภาพก็จะลดลงอย่างรวดเร็วด้วย ในขณะที่สารละลายที่ประกอบไปด้วยไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์มากกว่า 91% อาจต้องใช้เวลาในการฆ่าเชื้อนานกว่าสารละลายที่ประกอบไปด้วยไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์ 60-90%  รวมถึงสปอร์ของแบคทีเรียหรือเชื้อราก็ยังไม่ถูกกำจัดเสียทีเดียว เพียงแต่อยู่ในสภาวะพักตัว

เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

 

น้ำบริสุทธิ์ที่เป็นหนึ่งในองค์ประกอบของสเปรย์แอลกอฮอล์หรือเจลล้างมือ และเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งในการช่วยทำลายหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ เนื่องจากมันเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาและมีบทบาทสำคัญในการทำลายโปรตีนที่บริเวณเยื่อหุ้มเซลล์ โดยสารละลายไอโซโพรพิลจะแทรกซึมไปตามผนังเซลล์และกระจายไปทั่วทั้งเซลล์ แล้วจับตัวกันกลายเป็นก้อนโปรตีน ทำให้จุลินทรีย์ตายลง ปริมาณน้ำส่วนเกินช่วยให้สารละลายระเหยช้าลง จึงช่วยเพิ่มระยะเวลาในการสัมผัสกันระหว่างสารละลายกับจุลินทรีย์ ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำลายสูงขึ้น

ภาพ : Shutterstock

 

วันหมดอายุของเจลล้างมือและสเปรย์แอลกอฮอล์

เราใช้เจลล้างมือและสเปรย์แอลกอฮอล์กันอยู่เป็นประจำในช่วงเวลานี้ วันหมดอายุจึงอาจกลายเป็นเรื่องที่ถูกมองข้ามไป แต่ทราบหรือไม่ว่า เจลล้างมือและสเปรย์แอลกอฮอล์ก็มีความหมดอายุเช่นกัน อายุของแอลกอฮอล์อาจยาวนานถึง 2-3 ปี นับจากวันที่ผลิต หากถูกเก็บรักษาอย่างมิดชิดโดยการปิดผนึกและวางให้พ้นจากแสงแดดหรือในที่อุณหภูมิสูง

 

การหมดอายุของแอลกอฮอล์เกิดขึ้นจากการที่ไอโซโพรพิลสัมผัสกับอากาศและระเหยออกไป แม้ว่าจะปิดบรรจุภัณฑ์จนสนิทไว้เกือบตลอดเวลา แต่อากาศบางส่วนก็ยังเข้าไปได้อยู่ดี ขณะที่ส่วนผสมที่เป็นน้ำยังคงอยู่ ส่งผลให้เปอร์เซ็นต์ไอโซโพรพานอลลดลงเมื่อเวลาผ่านไป จึงมีความเป็นไปได้ที่เจลล้างมือหรือสเปรย์แอลกอฮอล์ที่หมดอายุแล้วจะมีเปอร์เซ็นต์ของไอโซโพรพานอลต่ำกว่าผลิตภัณฑ์ที่ยังไม่หมดอายุ และประสิทธิภาพในการทำลายหรือฆ่าเชื้อจุลินทรีย์จึงลดน้อยลงด้วย แม้ว่ามันจะยังคงใช้งานได้ เช่น ทำความสะอาดพื้นผิวบ้าน แต่ก็ไม่ได้หมายความมันจะสามารถฆ่าเชื้อโรคทั้งหมดบนพื้นผิวเหล่านี้ได้ หากใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์จึงก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ นอกจากนี้ยังต้องตระหนักไปถึงการหมดอายุของบรรจุภัณฑ์อีกด้วย

 

การใช้เจลล้างมือและสเปรย์แอลกอฮอล์อย่างมีประสิทธิภาพ

การใช้เจลล้างมือและสเปรย์แอลกอฮอล์อย่างมีประสิทธิภาพ อันดับแรกคือการตรวจสอบให้แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวยังไม่ถึงวันหมดอายุ จากนั้นจึงเทผลิตภัณฑ์ในปริมาณที่พอเหมาะบนฝ่ามือข้างหนึ่ง ถูมือให้เจลครอบคลุมไปทั่ว ๆ ของมือและนิ้ว เพื่อให้เจลเข้าสู่ผิวมือ โดยใช้เวลา 30-60 วินาที หรือจนกว่ามือจะแห้ง

ภาพ : Shutterstock

 

เจลล้างมือหรือสเปรย์แอลกอฮอล์เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ภายนอกเท่านั้น สิ่งที่ต้องระวังในการใช้เจลล้างมือและสเปรย์แอลกอฮอล์คือ พยายามหลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์ที่อาจเข้าตาหรือจมูก แต่หากเป็นเช่นนั้น ให้ล้างบริเวณดังกล่าวด้วยน้ำเป็นเวลา 15 นาที หรือหากกลืนลงไป อาจทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น อาเจียน ปวดท้อง ไอ ระคายเคืองภายในปากหรือมีการอักเสบของดวงตาได้ นอกจากนี้ ควรเก็บรักษาให้ห่างจากความร้อน ประกายไฟ หรือเต้าเสียบ เป็นต้น

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง
- เอทานอล (ethanol) แอลกอฮอล์กินได้
 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • sanomaru
  • 17 Followers
  • Follow