Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เอทานอล (ethanol) แอลกอฮอล์กินได้

Posted By Atiphat | 20 ส.ค. 61
68,573 Views

  Favorite

แอลกอฮอล์ เรียกได้ว่าเป็นสารเคมีสารพัดประโยชน์ในชีวิตประจำวันของเรา ตั้งแต่การใช้งานในครัวเรือนทั่วไปจนไปถึงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ๆ อย่างไรก็ตาม การใช้ประโยชน์จากแอลกอฮอล์จำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ถึงชนิดของแอลกอฮอล์ รวมถึงปริมาณการใช้ เพื่อให้เหมาะสมต่อการใช้งานด้วย

แอลกอฮอล์คืออะไร

แอลกอฮอล์ เป็นสารประกอบอินทรีย์ที่มีหมู่ฟังก์ชันไฮดรอกซิล Hydroxyl (-OH) ทำพันธะกับอะตอมคาร์บอนของหมู่แอลคิล (R-) โดยโครงสร้างของแอลกอฮอล์ทั่วไปนั้น มีสูตรทั่วไปอย่างง่ายคือ CnH2n+1OH เป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่เป็นสายตรง เมื่อทำปฏิกิริยากับโลหะ เช่น โซเดียม (Na) จะเกิดปฏิกิริยาแทนที่และให้ก๊าซไฮโดรเจน (H2) ออกมา ซึ่งถือเป็นคุณสมบัติทางเคมีที่ใช้บ่งบอกความเป็นแอลกอฮอล์ได้

 

ตัวอย่างสมการเคมีเมื่อทำปฏิกิริยากับโลหะ

2CH3OH + 2Na -----> 2CH3ONa + H2


ลักษณะทั่วไปที่สำคัญของแอลกอฮอล์ คือ เป็นสารที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ติดไฟได้ และสามารถละลายน้ำได้ดีเพราะแรงยึดเหนี่ยวระหว่างโมเลกุลแบบมีขั้ว (Dipole Interactions) ซึ่งทำให้แอลกอฮอล์สามารถละลายน้ำได้ดีเนื่องจากเป็นสารละลายมีขั้วเหมือนกันกับน้ำ

 

แอลกอฮอล์แบบไหนกินได้

เรารู้กันอยู่แล้วว่าเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ต่าง ๆ นั้นสามารถกินได้ ถึงแม้ว่าจะกินแล้วเมา ๆ หน่อยก็เถอะ แต่แอลกอฮอล์แบบไหนกันล่ะที่สามารถกินได้ คำตอบก็คือ เอทานอล (Ethanol) หรือเอทิลแอลกอฮอล์ (Ethyl Alcohol) มีสูตรเคมีคือ C2H5OH หรือ CH3-CH2-OH

 

การผลิตเอทานอล

เอทานอลเป็นแอลกอฮอล์ที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการหมักน้ำตาล หรือใช้ในการหมักเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยกตัวอย่างเช่น เบียร์ บรั่นดี สุรา ที่ใช้พืชตระกูลข้าวโพด มอลต์ ข้าวบาร์เลย์ในการหมักควบคู่กับยีสต์ เอนไซม์จากยีสต์ที่ผสมลงไปจะคอยทำหน้าที่เปลี่ยนให้คาร์โบไฮเดรตในพืชชนิดดังกล่าวเป็นน้ำตาลกลูโคส และเปลี่ยนจากน้ำตาลกลูโคสเป็นเอทานอลในที่สุด

C12H22O11 (คาร์โบไฮเดรต) + H2O + ยีสต์ → 2C6H12O6 (น้ำตาลกลูโคส)

C6H12O6 (น้ำตาลกลูโคส) + ยีสต์ → 2CH3CH2OH (เอทานอล) + 2CO2

 

ในส่วนของแอลกอฮอล์สำหรับการบริโภค สามารถบริโภคได้แน่นอนในปริมาณที่เหมาะสม ความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเครื่องดื่มต้องเป็นไปตามปริมาณการดื่ม 1 ดื่มมาตรฐาน เช่น เบียร์มีปริมาณแอลกอฮอล์ผสมอยู่ 3.5% ต่อกระป๋องหรือขวดเล็ก วิสกี้หรือเหล้าแดงทั่วไปมีปริมาณแอลกอฮอล์ 35% ต่อ 2 ฝาใหญ่ เป็นต้น การบริโภคตามนี้จะช่วยให้ไม่เกิดผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพได้

 

เอทานอลที่ห้ามกิน !

นอกจากการดื่มแล้ว แอลกอฮอล์อย่างเอทานอลยังใช้ผสมในเครื่องสำอางหรือล้างแผลได้ เพราะไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่ต้องใช้ในปริมาณและความเข้มข้นที่เหมาะสม แต่สำหรับส่วนของแอลกอฮอล์สำหรับใช้ภายนอกหรือเรียกว่า เมทานอลหรือเมทิลแอลกอฮอล์นั้น ไม่สามารถกินได้ เพราะเกินปริมาณที่ร่างกายจะรับได้ อาจเกิดอันตรายต่อร่างกายได้ เช่น แอลกอฮล์สำหรับล้างแผลที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ผสมอยู่สูงถึง 70% ลองนึกดูสิว่าขนาดทาลงบนแผลยังแสบ หรือบางครั้งก็เกิดการระคายเคือง ถ้าเผลอกลืนเข้าไปจะรู้สึกทรมานขนาดไหน   

 

อีกหนึ่งข้อที่บางคนอาจจะยังสับสนก็คือ เมทานอล กับ เอทานอล เพราะชื่อเรียกใกล้เคียงกันมาก เมทานอล หรือ เมทิลแอลกอฮอล์ กินไม่ได้แน่นอนถึงแม้ว่าคุณสมบัติทางเคมีจะเหมือนเอทานอลในเรื่องของลักษณะที่ใส ไม่มีสี แต่ความจริงเมทานอลมีสูตรทางเคมีคือ CH3OH หรือ CH3-OH ซึ่งใช้ในอุตสาหกรรมล้วน ๆ มีพิษมาก หากได้รับเมทานอลมาก ๆ ผ่านทางผิวหนัง ลมหายใจ จะทำให้เกิดระคายเคืองต่อระบบการมองเห็นและระบบการหายใจ จนเป็นอันตรายต่อร่างกายในที่สุด 

 

สุดท้ายนี้ก่อนจะไปซื้อแอลกอฮอล์แต่ละชนิดนั้นจำไว้ง่าย ๆ ว่า “เอ-อีท” (eat, eatable = กินได้) “เม-ม้วยมรณา” (ม้วย = มรณะหรือตาย) เวลาที่เราไปซื้อเครื่องดื่ม ไปร้านขายยา หรือไปร้านขายวัสดุหรือสารเคมีในบ้านจะได้ซื้ออย่างถูกต้อง งานนี้เกิดประโยชน์ไม่เกิดโทษอย่างแน่นอน

 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Atiphat
  • 2 Followers
  • Follow