Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การกลายพันธุ์หรือการผ่าเหล่า (Mutation)

Posted By sanomaru | 14 ก.ค. 64
40,825 Views

  Favorite

หากเป็นในภาพยนตร์จอยักษ์ การกลายพันธุ์หรือการผ่าเหล่า อาจจะทำให้คุณกลายเป็นยอดมนุษย์ มีพลังพิเศษที่เหนือมนุษย์ธรรมดาทั่วไป แต่ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อเกิดการกลายพันธุ์หรือการผ่าเหล่าขึ้น ผลลัพธ์อาจจะเป็นผลดี เช่น มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้มากขึ้น หรือเป็นผลเสีย เช่น ป่วยง่าย ทนทานต่อโรคต่าง ๆ ต่ำ ก็ได้

ภาพ : Shutterstock

 

การกลายพันธฺุ์หรือการผ่าเหล่า (Mutation) คืออะไร

การกลายพันธุ์เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นบนสายของ DNA (Deoxyribonucleic acid) ซึ่งเป็นสารพันธุกรรมที่พบได้ในเซลล์ของสิ่งมีชีวิต ทำหน้าที่เก็บข้อมูลทางพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต แล้วนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงลักษณะที่แสดงออก

 

DNA ประกอบด้วยหน่วยย่อยที่เรียกว่า นิวคลิโอไทด์ (Nucleotide) เป็นสารประกอบไนโตรจีนัสเบส (nitrogenous base) ซึ่งมี 4 ชนิด ได้แก่ ไทมีน (Thymine, T) ไซโทซีน (Cytosine, C) อะดีนีน (Adenine, A) และกัวนีน (Guanine, G) นิวคลิโอไทด์จะต่อกันยาวเป็นสายพอลินิวคลิโอไทด์ โดยมี 2 สายเรียงขนานกัน อะดีนีนจะเข้าคู่กับไทมีน (A=T) และไซโทซีนจะเข้าคู่กับกัวนีน (C ≡ G) การกลายพันธุ์จะเกิดขึ้นที่ลำดับเบสนี้ ซึ่งเป็นผลมาจากการคัดลอกสาย DNA ที่ผิดพลาดในระหว่างการแบ่งเซลล์เอง หรือเกิดจากการสัมผัสกับรังสี สารเคมี หรือไวรัสบางชนิด

ภาพ : Shutterstock

 

หากเปรียบเทียบสาย DNA เป็นประโยคหนึ่งประโยค การกลายพันธุ์ก็เป็นเหมือนความผิดพลาดของการสะกดคำที่ใช้ในประโยคนั้น ซึ่งบางครั้งก็อาจจะไม่ได้มีความสำคัญหรือมีผลมากนัก เช่นเดียวกับคำที่สะกดผิดแต่เรายังสามารถอ่านและเข้าใจความหมายได้อย่างชัดเจน ขณะที่บางครั้งความหมายในประโยคก็อาจจะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงเช่นเดียวกับการกลายพันธุ์ที่รุนแรง

 

การกลายพันธุ์เป็นสาเหตุหนึ่งนอกเหนือจากการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศที่นำไปสู่การแปรผันทางพันธุกรรมหรือความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต เนื่องมันอาจมีผลได้ทั้งเฉพาะบุคคลหรือส่งต่อผลกระทบนี้ไปยังลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไปได้

 

ประเภทของการกลายพันธุ์

หากแบ่งตามระดับของการกลายพันธุ์จะแบ่งได้เป็น
1. การกลายพันธุ์ของยีน (Gene Mutations) เป็นการเปลี่ยนแปลงของยีนหรือนิวคลีโอไทด์บน DNA ในลักษณะที่เบสขาดหายไป (Deletion)  หรือมีเบสแทรกเพิ่มเข้ามา (Insertion) หรือมีเบสตัวอื่นเข้ามาแทนที่ตัวเดิม (Substitution) ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้ลำดับเบสเปลี่ยนไปได้ทั้งสิ้น

ภาพ : Shutterstock

 

2. การกลายพันธุ์ของโครโมโซม (Chromosomal mutation) เกิดจากการเปลี่ยนแปลงจำนวนของโครโมโซมหรือการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของโครโมโซมเอง ในลักษณะที่บางส่วนของโครโมโซมขาดหายไป (Deletion), เกิดการจำลองเพิ่มขึ้นมา (Duplication), มีการกลับด้านกันของชิ้นส่วนโครโมโซม (inversion), มีการแทนที่จากโครโมโซมอื่น (Subitution) หรือมีการสลับที่กันระหว่างชิ้นส่วนโครโมโซมอื่น (Translocation)

ภาพ : Sanomaru

 

หากแบ่งตามเซลล์ที่เกิดการกลายพันธุ์จะแบ่งได้เป็น
1. การกลายพันธุ์ที่เซลล์ร่างกาย (Somatic Cell) เป็นการกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นที่เซลล์ต่าง ๆ ของร่างกาย ยกเว้นเซลล์สืบพันธุ์ เช่น เซลล์ผิวหนัง ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดเนื้องอกหรือมะเร็งได้ แต่การกลายพันธุ์รูปแบบนี้จะไม่สามารถส่งต่อไปยังลูกหลานในรุ่นต่อ ๆ ไปได้
2. การกลายพันธุ์ที่เซลล์สืบพันธุ์ (Germline mutation) เป็นการกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นในเซลล์สืบพันธุ์อย่างอสุจิหรือเซลล์ไข่ โดยสามารถส่งต่อไปยังลูกหลานในรุ่นต่อ ๆ ไปได้ และอาจส่งผลให้เกิดความผิดปกติในรุ่นต่อ ๆ ไปได้อีกด้วย

 

แม้ว่าการกลายพันธุ์อาจจะฟังดูน่ากลัว หรือทำให้เกิดความผิดแผกไปจากเดิม แต่ท้ายที่สุดแล้วการกลายพันธุ์ก็ยังมีความสำคัญต่อการคงอยู่ของมนุษย์ เพื่อที่จะให้มนุษย์รุ่นต่อ ๆ ไป สามารถดำรงชีวิตอยู่ ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อม และสืบเผ่าพันธุ์ต่อไปได้นั่นเอง

 


บทความที่เกี่ยวข้อง
- ดีเอ็นเอ (DNA) ยีน (Gene) โครโมโซม (Chromosome) อะไรเป็นอะไร
- โครโมโซม ดีเอ็นเอ และยีน
- การแบ่งเซลล์ แบบไมโทซิสและไมโอซิส
 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • sanomaru
  • 17 Followers
  • Follow