Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

รวมอาการแพ้ฝุ่น PM2.5 พร้อมวิธีการดูแลตัวเองเบื้องต้น

Posted By Plook Blog | 21 ม.ค. 63
25,756 Views

  Favorite

เมื่อฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 มีปริมาณมากขึ้นจนน่าตกใจ เรามาสำรวจตัวเองกันดีกว่าว่ามีอาการแพ้ฝุ่นดังกล่าวหรือไม่ และเมื่อมีอาการแล้วจะต้องดูแลตัวเองอย่างไรต่อไป

 

 

PM2.5 คือฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (หรือมีขนาดประมาณ 1 ใน 25 ของเส้นผ่านศูนย์กลางเส้นผมมนุษย์) เกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ อาทิ การเผาไหม้ในที่โล่ง การคมนาคม การรวมตัวของก๊าซต่าง ๆ ในอากาศ อุตสาหกรรมการเกษตร และโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น ซึ่งฝุ่นละอองขนาดเล็กนี้ขนจมูกไม่สามารถกรองหรือดักไว้ได้ ดังนั้น ฝุ่นละอองจึงเข้าสู่ทางเดินหายใจ กระแสเลือด และส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ง่าย และอาจเป็นพาหะนำสารอื่น อาทิ แคดเมียม ปรอท โลหะหนัก และสารก่อมะเร็งต่าง ๆ เข้าสู่ร่างกายได้เช่นกัน

 

PM2.5 อันตรายมากแค่ไหน ?

PM2.5 เป็นภัยร้ายที่มองไม่เห็น เมื่อฝุ่นขนาดเล็กนี้เข้าไปสะสมในร่างกาย จะเกิดผลเสียต่อสุขภาพทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยในเด็กจะเสี่ยงอันตรายมากกว่า เพราะระบบภูมิคุ้มกันยังทำงานได้ไม่เต็มที่ โดยฝุ่นละอองนี้จะเข้าไปรบกวนระบบทางเดินหายใจเป็นหลัก ส่งผลให้ระบบอื่น ๆ ในร่างกายได้รับผลกระทบตามไปด้วย

 

ภาพ : Shutterstock

 

อาการเมื่อร่างกายแพ้ฝุ่น PM2.5

อาการของแต่ละคนที่มีอาการแพ้ฝุ่น PM2.5 อาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับคน ๆ นั้นมีอาการภูมิแพ้ร่วมด้วยหรือไม่ แต่อาการหลักที่สามารถสังเกตได้เอง มีดังนี้

1. แสบตา แสบจมูก มีไข้

เป็นอาการระยะแรกที่สังเกตได้ทันทีที่ได้รับฝุ่นละออง PM2.5 อาจมีอาการทั้งแสบตา แสบจมูก ตาแดง และเป็นไข้รวมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีโรคประจำตัว อาทิ หอบหืด ภูมิแพ้ อาจมีอาการหายใจเร็วเฉียบพลันและแน่นหน้าอกร่วมด้วย

2. มีผื่นคัน หรือผิวหนังแดงเป็นจ้ำ

สำหรับคนที่ผิวหนังบอบบางหรือไวต่อสิ่งผิดปกติต่าง ๆ อาจเกิดรอยแดง รอยจ้ำ หรือผื่นคันเนื่องจากฝุ่น PM2.5 มีขนาดเล็กมาก และก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังได้ง่าย

3. ไอ มีเสมหะ เจ็บคอ

สืบเนื่องจากฝุ่น PM2.5 มีขนาดเล็กมาก ส่งผลให้เข้าสู่ร่างกายได้โดยง่าย อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองบริเวณลำคอ ปอด ร่างกายจึงส่งสัญญาณบอกว่าพบสิ่งผิดปกติด้วยการไอ และขับเสมหะออกมา

4. ถุงลมขยายไม่เต็มที่

หากไม่หาวิธีป้องกันอย่างทันท่วงที อาจทำให้ปอดทำงานไม่เต็มที่ เสี่ยงต่อการเป็นภูมิแพ้ที่รุนแรงขึ้น และลุกลามไปจนถึงมะเร็งปอดได้

5. สมองทำงานผิดปกติ

เมื่อร่างกายได้รับฝุ่นละอองสะสมอย่างต่อเนื่อง ฝุ่นเหล่านี้จะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ส่งผลให้การทำงานของสมองช้าลง ทำให้เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายอักเสบ ระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานผิดปกติ และส่งผลให้มีสมาธิสั้นลง

6. ภูมิคุ้มกันเสื่อม และติดเชื้อรุนแรง

เมื่อฝุ่นละอองเข้าสู่กระแสเลือด จะส่งผลให้ภูมิต้านทานของร่างกายเสื่อมลง ส่งผลให้ติดเชื้อง่าย และมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

 

ภาพ : Shutterstock

 

วิธีการดูแลตัวเองจากฝุ่น PM2.5

1. ไม่ออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้ง

การออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้งในภาวะที่อากาศเต็มไปด้วยฝุ่นละออง PM2.5 เท่ากับเพิ่มความเสี่ยงในการได้รับสารพิษต่าง ๆ ในอากาศ แม้จะสวมหน้ากาก N95 ก็ไม่ควร เพราะฝุ่น PM2.5 สามารถแทรกซึมเข้าสู่ร่างกายได้นอกเหนือจากการหายใจ

2. ติดตั้งเครื่องกรองอากาศ

แม้จะอยู่ภายในอาคาร แต่ฝุ่นก็อาจเล็ดรอดเข้ามาได้จากการเปิดปิดประตูหน้าต่าง ดังนั้น ควรติดตั้งเครื่องกรองอากาศไว้ในบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้องนอน เพื่อให้ฝุ่น PM2.5 อยู่ห่างไกลมากที่สุด นอกจากนี้ควรปิดประตูหน้าต่างของบ้านให้มิดชิด และเปิดพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศเพื่อให้อากาศหมุนเวียน

3. ซื้อหน้ากากป้องกัน PM2.5 มาใส่

แม้จะอึดอัดเล็กน้อย แต่การใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นละออง PM2.5 หรือหน้ากาก N95 ก็เป็นสิ่งจำเป็นเมื่อต้องออกจากบ้าน เพราะหน้ากากนี้สามารถป้องกันฝุ่น PM2.5 ไม่ให้เข้าสู่ร่างกายได้ แต่ถ้าหากไม่มีหน้ากาก N95 การสวมใส่หน้ากากกรองฝุ่นธรรมดาก็พอบรรเทาฝุ่นที่อาจเข้าสู่ร่างกายได้เล็กน้อย

4. ดื่มน้ำสะอาดมาก ๆ

การดื่มน้ำ จะช่วยขับสารพิษออกจากร่างกายได้ ควรจิบน้ำบ่อย ๆ เพื่อให้ขับสารพิษต่าง ๆ ออกจากร่างกาย

5. หากมีโรคประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์อย่างใกล้ชิด

คนที่มีโรคประจำตัว เช่น หอบหืด ภูมิแพ้ ควรปรึกษาแพทย์และสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากพบอาการผิดปกติต่าง ๆ ควรรีบมาพบแพทย์โดยเร็วที่สุด

6. ช่วยกันลดปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดมลพิษ

หากทุกบ้านช่วยกันลดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ อาทิ การเผาไหม้ที่ไม่จำเป็น การติดเครื่องยนต์ทิ้งไว้ ก็จะช่วยลดมลภาวะฝุ่นละอองเกินมาตรฐานได้อีกทางหนึ่ง

7. ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด

ควรติดตามข่าวสารความเข้มข้นของฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่ต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้เตรียมรับมือและหาวิธีการป้องกันอย่างทันท่วงที

 

ช่องทางการติดตามข่าวสาร

     - กรมอนามัย

     - กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง

     - แอปลิเคชั่น Air4Thai : Android l iOS

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Blog
  • 5 Followers
  • Follow