Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

หาวเพราะง่วงจริงหรือ?

Posted By Guide NT | 07 ก.พ. 63
13,066 Views

  Favorite

ก่อนอื่นต้องขอถามก่อนว่าเคยมีอาการหาวกันหรือไม่? อาการหาวมักจะเกิดขึ้นเฉพาะตอนที่เรารู้สึกง่วงนอนหรือเปล่า? และที่สำคัญหากมีการหาวเกิดขึ้นบ่อย ๆ จะบ่งบอกถึงอะไร?

 

อาการหาวที่เรารู้จักกันนั้นคือลักษณะที่เราอ้าปากกว้าง ๆ เพื่อสูดเอาอากาศเข้าไปในปอด แล้วหายใจออกมา โดยเกี่ยวข้องกับการยืดของกล้ามเนื้อกราม อก กระบังลม และหลอดลม การกระทำเช่นนี้ช่วยให้ปอดได้รับอากาศมากขึ้น

ภาพ : Shutterstock

 

อาการหาวไม่ได้เกิดขึ้นในมนุษย์เท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นในสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังด้วย มันเกิดขึ้นโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจและอาจจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้น ๆ  ๆ หรืออาจจะนานก็ได้ โดยบางครั้งอาการหาวอาจทำให้น้ำตาไหลหรือเกิดเสียงในขณะที่กำลังหาวอยู่ได้ด้วยเช่นกัน

 

การหาวนั้นเป็นกลไกอย่างหนึ่งของร่างกาย เมื่อร่างกายได้รับแก๊สออกซิเจนไม่เพียงพอ หรือมีแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในกระแสเลือดมากเกินไป ดังนั้น การหาวจึงเป็นวิธีที่รวดเร็วในการแลกเปลี่ยนแก๊สออกซิเจนกับแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อรักษาสมดุลของร่างกายนั้นเอง แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่เข้าใจวัตถุประสงค์ที่แท้จริงทั้งหมดของการหาว และไม่สามารถบอกได้แน่ชัดว่ามีสาเหตุมาจากอะไร แต่ก็มีหลายทฤษฎีและหลายความเชื่อ เช่น

 

1. ความเมื่อยล้า ง่วงนอน นอนหลับไม่เพียงพอ และความเบื่อหน่าย ซึ่งสาเหตุพวกนี้จะทำให้เราไม่สามารถหายใจได้ตามปกติ ร่างกายจึงสั่งให้มีอาการหาวเพื่อนำออกซิเจนเข้าสู่ร่างกาย

ภาพ : Shutterstock

 

2. กระบวนการสร้างความเย็นให้แก่สมอง จากการศึกษาวิจัยระบุว่าการหาวช่วยให้สมองเย็นลงได้ เนื่องจากเมื่อเราหาว อัตราการเต้นของหัวใจจะเพิ่มขึ้น และหายใจนำอากาศเข้าไปได้มากขึ้น นอกจากนี้การที่กล้ามเนื้อขากรรไกรถูกยืดจากการหาวก็ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดบริเวณลำคอ ใบหน้า และศีรษะ ทำให้อากาศที่เย็นกว่าสามารถหมุนเวียนไปสู่สมอง ส่งผลให้ช่วงอุณหภูมิของสมองเป็นปกติ ซึ่งนี่อาจหมายถึงการควบคุมอุณหภูมิอีกทางหนึ่งของร่างกาย และช่วยอธิบายสาเหตุว่า ทำไมเราจึงหาวบ่อยครั้งหลังจากเพิ่งตื่นนอน

ภาพ : Shutterstock

 

3. กลุ่มคนที่รับประทานยา ที่ตัวยาส่งผลข้างเคียงทำให้มีอาการง่วงซึม หรือนอนไม่หลับ

ภาพ : Shutterstock

 

4. อาการป่วยต่าง ๆ เช่น เนื้องอกในสมอง เนื่องจากระบบประสาทที่ควบคุมการเคลื่อนไหวถูกกดทับ ทำให้เลือดส่งออกซิเจนมาเลี้ยงสมองได้ลำบาก จนทำให้ร่างกายต้องมีอาการหาวบ่อย ๆ เพื่อรับออกซิเจน หรือโรคลมชัก เกิดจากความผิดปกติของเซลล์สมอง ทำให้สมองทำงานผิดปกติไม่สามารถควบคุมตนเองได้ และอาการหาวบ่อยก็พบในผู้ป่วยที่เป็นโรคลมชัก เป็นต้น

ภาพ : Shutterstock

 

ถึงแม้ว่าอาการหาวจะไม่ได้ทำให้เกิดความเจ็บปวดแก่ร่างกาย (ยกเว้นการหาวที่อ้าปากกว้างจนกรามค้าง) แต่ถ้าหากเกิดอาการหาวบ่อย ๆ โดยไม่ทราบสาเหตุก็สามารถไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้

 

วิธีในการแก้อาการหาวนั้นทำได้หลายวิธี เช่น นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำเปล่าให้มาก ๆ ออกกำลังกายเป็นประจำ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่และมีประโยชน์ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เป็นต้น

 

หลายคนอาจจะเคยเห็นคนที่กำลังหาวอยู่ แล้วอีกคนก็เกิดอาการหาวตาม ซึ่งเรื่องนี้อาจจะเกี่ยวข้องกับการสื่อสารทางสังคม โดยคนส่วนใหญ่จะหาวหรืออยากจะหาวเมื่อเห็นคนอื่นหาวอยู่ หรือแม้แต่การคิดนึกถึงอาการหาวก็สามารถทำให้เราเกิดอาการหาวได้

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

- 3 หาวเพิ่มพลังสมอง
- วันละนิดวิทย์เทคโน ตอน ทำไมคนเราถึงหาว
- ทำไมเราจึงหาวตาม ๆ กัน
 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Guide NT
  • 2 Followers
  • Follow