Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ทำไมคนเราไม่กินหญ้า

Posted By Plook Creator | 18 มี.ค. 62
10,779 Views

  Favorite

สัตว์ขนาดใหญ่ที่ฉลาดหลายสายพันธุ์กินพืชเป็นอาหาร เช่น ยีราฟ ช้าง วัว พวกมันต่างกินพืชเป็นอาหารหลัก และสัตว์บางชนิดอาจกินแมลงผสมอยู่บ้างเป็นบางที แล้วทำไมคนเราไม่กินผักหญ้าเป็นอาหารหลักบ้าง หากเราต้องการขนาดตัวที่ใหญ่ขึ้นเทียบเท่าช้าง ทำไมไม่กินตามแบบช้าง หรือว่ากินแพลงก์ตอนพืชและสัตว์จำนวนมากแบบวาฬ เราอาจจะตัวใหญ่เท่าวาฬก็ได้ แน่นอนว่าสัดส่วนของแป้งหรือคาร์โบไฮเดรตซึ่งผลิตมาจากพืชก็อยู่ในอาหารหลักของเรา แต่เราก็กินเนื้อสัตว์อยู่มากเช่นกัน มันเป็นเพราะว่ามนุษย์เรานับแต่อดีตกาล ไม่กินพืชเป็นหลักอยู่แล้ว เราเลือกที่จะไม่กินเยอะ หรือเพราะว่าเรากินเยอะไม่ได้กันแน่

 

ทำไมวัว ควาย ช้าง ม้า กวาง เก้ง ลิง ต่าง ๆ ล้วนแต่สนุกกับการกินพืช กินผักผลไม้

 

ผลิตผลจากต้นไม้บางชนิดนั้นให้น้ำตาล และแน่นอนว่ามันเป็นแหล่งพลังงานที่เมื่อรับเข้าไปแล้วสามารถใช้ได้เลยแทบจะในทันที มันเหมือนคุณกินขนมหวาน คุณรู้สึกมีความสุขแทบจะทันทีที่เห็นด้วยซ้ำ คุณมีพลังงานในการทำกิจกรรมต่าง ๆ แต่อย่างพวกใบพืช ต้น หรือรากไม้ อาจจะต้องใช้กรรมวิธีที่ต่างออกไปในการเปลี่ยนแปลงเป็นพลังงานหรือสารอาหารที่สัตว์หรือคนเราจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ สำหรับสัตว์อย่างปลวก หรือสัตว์กินพืชอย่างวัว ม้า หมีแพนด้า อันที่จริงแล้วพวกมันไม่ได้มีความสามารถในการย่อยเซลลูโลส (Cellulose) ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักในใบหรือต้นของพืชโดยตรง แต่พวกมันมีจุลชีพที่มีเอนไซม์ที่สามารถย่อยและส่งต่อสารอาหารให้สัตว์ที่กินเข้าไปอีกที

 

ไตรโคนิมฟา (Trichonympha) คือชื่อของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ร่วมกับปลวก มันอยู่ในลำไส้ปลวกและช่วยย่อยเนื้อไม้ที่ปลวกกินเข้าไป จากนั้นจึงแปลงเป็นสารอาหารให้กับปลวก ส่วนสัตว์กินพืชอย่างวัวก็มีแบคทีเรียชนิดพิเศษอาศัยอยู่ในกระเพาะ วัวและสัตว์บางชนิดยังมีระบบย่อยอาหารแบบที่แตกต่างจากมนุษย์ ทำให้มันถูกเรียกว่า สัตว์เคี้ยวเอื้อง (Ruminants) กล่าวคือ มันสามารถขย้อนเอาสิ่งที่มันกินเข้าไปแล้ว ออกมาบดเคี้ยวได้อีก และมันมี 4 กระเพาะ การย่อยใบไม้หรือหญ้าที่มันกินเข้าไปก็เกิดจากการทำงานของแบคทีเรียในกระเพาะ และการเคี้ยวเอื้องเรื่อย ๆ นี่เองที่ทำให้สามารถย่อยเซลลูโลสให้กลายเป็นสารอาหารสำหรับร่างกายของมันได้ สัตว์ชนิดอื่น ๆ ก็มีวิธีในการย่อยเซลลูโลสที่คล้าย ๆ กันด้วย

 

สำหรับคนเราซึ่งกินผักได้ หรืออาจจะเข้าใจไปว่าเราย่อยผักบางชนิดได้ แต่ย่อยหญ้าไม่ได้ อันที่จริงผลไม้และผักบางชนิดที่เรารับประทานเข้าไปได้นั้นมีเซลลูโลสเป็นส่วนประกอบอยู่น้อย มันจึงสามารถผ่านระบบย่อยอาหารของเราไปได้โดยไม่ได้ทำให้เราป่วยแต่อย่างใด ทั้งยังมีส่วนช่วยทำให้อาหารต่าง ๆ เคลื่อนผ่านระบบย่อยอาหารไปได้เร็วขึ้น ลดการสะสมของสารตกค้างตามลำไส้ ซึ่งทำให้ลดอัตราการเกิดมะเร็งลำไส้ลงได้อีก

 

ทั้งนี้ หากเราอยากจะย่อยหญ้าได้จริง ๆ แบบสัตว์เคี้ยวเอื้อง เราก็คงต้องมีเอนไซม์ที่ดีกว่าสัตว์เหล่านั้น ไม่อย่างนั้นเราก็คงต้องกินหญ้าหรือพืชเข้าไปในปริมาณมาก รวมถึงใช้เวลาในการเคี้ยว คาย เคี้ยวใหม่ บดขยี้วนไปหลายรอบเหมือนสัตว์เคี้ยงเอื้อง เพื่อให้ได้พลังงานเพียงพอต่อการใช้งานของร่างกายของเรา และมันก็ดูจะไม่ใช่เรื่องที่น่าลงทุนลงแรงในการศึกษาวิจัยและพัฒนาเอนไซม์เท่าไรนักหากเราต้องการเพียงแค่สารอาหารจากหญ้า เพราะเราสามารถได้จากอาหารชนิดอื่นได้ดีอยู่แล้ว และถ้าคนเราจะกินหญ้าได้เหมือนวัวหรือช้าง โดยไม่บาดปากหรือบาดระบบทางเดินอาหารของเรา แต่แน่นอนว่าเราไม่ได้ประโยชน์จากมันมากไปกว่ากากใย มันไม่ได้มีสารอาหารที่เป็นประโยชน์สำหรับเราอยู่ในใบของหญ้า และเพราะว่าร่างกายและเพื่อนตัวน้อยอย่างพวกจุลชีพในลำไส้ของเราไม่สามารถย่อยได้ เพราะเรามีชนิดอื่นที่เอาไว้ย่อยอาหารรูปแบบอื่น ๆ ดังนั้น จึงจบที่ว่า แล้วเราจะกินมันเข้าไปทำไมในเมื่อไม่ได้ประโยชน์เช่นนี้เอง

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง
- ระบบย่อยอาหารของวัว
 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 15 Followers
  • Follow