Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ต่อมไทรอยด์และหน้าที่ของต่อมไทรอยด์

Posted By sanomaru | 04 มี.ค. 62
56,396 Views

  Favorite

ร่างกายของเราประกอบด้วยระบบต่าง ๆ ทำงานร่วมกันอย่างสมดุล จึงทำให้เราสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ เช่น ระบบประสาท ระบบการหมุนเวียนโลหิต ระบบขับถ่าย ระบบย่อยอาหาร รวมถึงระบบต่อมไร้ท่อ ซึ่งเป็นระบบที่มีความสำคัญอย่างยิ่งระบบหนึ่ง แต่กลับไม่ค่อยได้รับการพูดถึงเท่าไรนัก โดยระบบต่อมไร้ท่อนี้จะมีต่อมไทรอยด์เป็นต่อมไร้ท่อขนาดใหญ่และมีความสำคัญต่อมหนึ่ง และวันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับต่อมไทรอยด์และความสำคัญของต่อมไทรอยด์กัน

 

ต่อมไทรอยด์และหน้าที่ของต่อมไทรอยด์

ต่อมไทรอยด์เป็นต่อมไร้ท่อขนาดใหญ่ ที่อยู่บริเวณภายในลำคอ ใต้ลูกกระเดือก (Adam's apple) หรือกระดูกอ่อนไทรอยด์ (Thyroid Cartilage) และกล่องเสียง โดยแบ่งเป็น 2 พู อยู่ด้านซ้ายและขวาของหลอดลม เชื่อมต่อกันด้วยเนื้อเยื่อที่เรียกว่า Isthmus ลักษณะของต่อมไทรอยด์จะคล้ายกับปีกผีเสื้อที่กางสยายออก มีความยาวประมาณ 2 นิ้ว มีสีน้ำตาลแดง และมีน้ำหนักประมาณ 20 - 60 กรัม

ภาพ : Shutterstock

 

ต่อมไทรอยด์มีอิทธิพลอย่างมากต่อเซลล์เกือบทุกเซลล์ในร่างกาย เนื่องจากหลั่งไทรอยด์ฮอร์โมนที่ช่วยควบคุมกระบวนการเมทาบอลิซึมของร่างกาย อัตราการหายใจ อัตราการเต้นของหัวใจ กระตุ้นความอยากอาหาร การย่อยอาหาร การสลายและดูดซึมสารอาหาร ซึ่งผลก็คือ ทำให้เกิดความร้อนในร่างกายนั่นเอง นอกจากนี้ไทรอยด์ฮอร์โมนยังจำเป็นสำหรับการเติบโตของกระดูกและพัฒนาการของทารกในครรภ์ รวมถึงกระบวนการทางสรีรวิทยาที่เกิดขึ้นในร่างกายด้วย ซึ่งโดยทั่วไปไทรอยด์ฮอร์โมนจะถูกหลั่งออกมาเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูหนาวเพื่อรักษาความร้อนของร่างกายให้อยู่ในระดับสมดุล

 

การทำงานของต่อมไทรอยด์

แท้จริงแล้วไทรอยด์ฮอร์โมนก็คือ ชื่อเรียกของฮอร์โมน 2 ชนิดรวมกัน ได้แก่ ไตรไอโอโดไทโรนีน (Triiodothyronine, T3) และไทรอกซิน (Thyroxine, T4) ที่ผลิตมาจากต่อมไทรอยด์ โดยตัวเลข T3 และ T4 บ่งชี้ถึงจำนวนอะตอมของไอโอดีนในโมเลกุลของฮอร์โมนแต่ละชนิดนั่นเอง นอกจากนี้ต่อมไทรอยด์ยังผลิตฮอร์โมน อีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ไดไอโอโดไทโรซีน (Diiodothyronine, T2) ด้วย แต่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่แน่ใจเกี่ยวกับการทำงานของฮอร์โมนชนิดนี้มากนัก ซึ่งทำให้ยังคงมีการศึกษาอย่างต่อเนื่องต่อไป และฮอร์โมนแคลซิโทนิน (Calcitonin) ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมสมดุลของแคลเซียมในเลือดและกระดูก แต่ก็เป็นเพียงส่วนน้อย ดังนั้น บทบาทและหน้าที่หลักของต่อมไทรอยด์ก็คือการผลิต T3 และ T4

 

สำหรับการหลั่งไทรอยด์ฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์จะอยู่ภายใต้การควบคุมของฮอร์โมนที่ชื่อว่า TSH (Thyroid-stimulating hormone) ซึ่งหลั่งมาจากต่อมพิทูอิทารีส่วนหน้าที่อยู่ในสมอง (Anterior Pituitary Gland) ขณะที่ฮอร์โมน TSH ก็อยู่ภายใต้การควบคุมของฮอร์โมน TRH (Thyrotropin-releasing hormone) ซึ่งหลั่งมาจากสมองส่วนไฮโปทาลามัส Hypothalamus) อีกที

ภาพ : Shutterstock

 

ปริมาณหมุนเวียนของไทรอยด์ฮอร์โมนจะถูกควบคุมด้วยระบบที่เรียกว่า การควบคุมการหลั่งฮอร์โมนแบบยับยั้งย้อนกลับ (Negative feedback) นั่นคือเมื่อระดับของไทรอยด์ฮอร์โมนสูงขึ้น มันก็จะไปยับยั้งการผลิต TSH และ TRH อย่างต่อเนื่อง ซึ่งถ้าทุกระบบทำงานสมดุล ไทรอยด์ฮอร์โมนก็จะถูกผลิตขึ้นมาอย่างพอเหมาะ และสามารถควบคุมกระบวนการเมทาบอลิซึมของเซลล์ให้เป็นไปได้อย่างปกติ แต่เมื่อใดก็ตามที่การผลิตไทรอยด์ฮอร์โมนถูกรบกวนจากความไม่สมดุลในเรื่องของสารอาหาร สารพิษ สิ่งกระตุ้น การติดเชื้อ หรือความเครียด ก็จะทำให้ร่างกายเกิดภาวะผิดปกติได้

 

ความผิดปกติของต่อมไทรอยด์

ภาวะผิดปกติที่เกิดขึ้นกับต่อมไทรอยด์โดยส่วนใหญ่แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

1. Hypothyroidsm ภาวะนี้เกิดขึ้นเมื่อไทรอยด์ฮอร์โมนถูกผลิตออกมาได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ทำให้อัตราเมทาบอลิซึมลดต่ำลง การหายใจช้าลง ระบบการไหลเวียนเลือดและระบบย่อยอาหารได้รับผลกระทบ ผู้ที่มีภาวะนี้จะมีอาการเหนื่อยง่าย ไม่อยากอาหารแต่น้ำหนักกลับขึ้น ท้องผูก ทนความหนาวเย็นไม่ค่อยได้

 

สาเหตุของภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ มาจากร่างกายได้รับไอโอดีนในปริมาณที่น้อยเกินไปหรือภาวะขาดไอโอดีน ทำให้ไม่สามารถสร้างฮอร์โมนไทรอกซิน (T4) ได้ เมื่อร่างกายพยายามจะรักษาสมดุลของระดับฮอร์โมนไทรอกซินให้กลับสู่ระดับปกติ ต่อมพิทูอิทารีจะผลิต TSH ที่มากขึ้นเพื่อกระตุ้นต่อมไทรอยด์ ขณะที่ต่อมไทรอยด์ก็ไม่สามารถผลิตฮอร์โมนได้เนื่องจากขาดวัตถุดิบอย่างไอโอดีน มันจึงตอบสนองต่อ TSH ด้วยการเพิ่มขนาดของต่อมไทรอยด์ให้ใหญ่ขึ้น ซึ่งนำไปสู่อาการบวมของต่อมไทรอยด์ที่เรียกว่า คอหอยพอก (Goiter) นอกจากสาเหตุดังกล่าวแล้ว ภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำยังอาจมาจากโรคต่อมไทรอยด์อักเสบ (Hashimoto's  thyroiditis) ซึ่งเกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกายทำลายต่อมไทรอยด์ของตนเองได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำสามารถรักษาได้ด้วยการให้ฮอร์โมนไทรอยด์ทดแทน

ภาพ : Shutterstock

 

2. Hyperthyroidism เป็นภาวะที่ต่อมไทรอยด์ผลิตไทรอยด์ฮอร์โมนมากเกินไป ทำให้กระบวนการเมทาบอลิซึมสูงมาก อัตราการหายใจและการไหลเวียนเลือดสูงกว่าที่จำเป็น ผู้ที่มีภาวะนี้จะมีอาการนอนไม่หลับ หัวใจเต้นเร็ว อยากอาหารแต่น้ำหนักลด ท้องร่วง และไม่สามารถทนต่ออากาศร้อนได้

 

สาเหตุของภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนสูง ส่วนใหญ่มาจาก Graves' disease ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย สร้างสารแอนติบอดี ชื่อว่า Thyroid-stimulating immunoglobulin (TSI) กระตุ้นให้ต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป และอาจนำไปสู่โรคคอหอยพอกได้อีกด้วย ส่วนการรักษาสามารถรักษาได้ด้วยการให้ยา เพื่อยับยั้งการทำงานของต่อมไทรอยด์ การฉายรังสีซึ่งเป็นตัวเลือกในการทำลายต่อมไทรอยด์ หรือการผ่าตัดเอาบางส่วนของต่อมไทรอยด์ออกไป

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • sanomaru
  • 17 Followers
  • Follow