Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การเกิดฟ้าผ่า

Posted By Thananthorn | 22 ก.พ. 62
19,571 Views

  Favorite

เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนทีไร ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เราเลี่ยงไม่ได้อยู่เสมอนั่นคือ ฝนตก ซึ่งมักจะมาพร้อมกับลมพายุ ฟ้าแลบ ฟ้าร้อง และฟ้าผ่าที่ฟาดลงมาให้เห็นอยู่เป็นระยะ แต่น้อยคนจะเข้าใจถึงกลไกการเกิดฟ้าผ่านี้ว่ามีกระบวนการอย่างไรบ้าง
 

ปรากฏการณ์ฟ้าผ่าที่เราเห็นได้นั้นเกิดขึ้นจากการความไม่สมดุลระหว่างประจุในก้อนเมฆและพื้นดิน โดยเริ่มต้นจากการที่ก้อนเมฆถูกลมพัดให้เคลื่อนที่ไปมาในอากาศ และเกิดการชนหรือเสียดสีกันระหว่างโมเลกุลของหยดน้ำหรือน้ำแข็งในก้อนเมฆ จึงเกิดประจุไฟฟ้าสะสมขึ้นในก้อนเมฆ ซึ่งมีทั้งประจุบวกและประจุลบ ประจุบวกจะเคลื่อนที่ขึ้นไปอยู่ด้านบนยอดเมฆ ขณะที่ประจุลบจะเคลื่อนตัวลงมาด้านล่างหรือบริเวณฐานเมฆ และเมื่อมีประจุลบสะสมอยู่จำนวนมากพอ มันจะสามารถเหนี่ยวนำให้วัตถุทุกชนิดที่อยู่ใต้ก้อนเมฆนั้นกลายเป็นประจุบวกทั้งหมด ประจุลบบริเวณฐานเมฆนี้จะทำให้อากาศด้านล่างก้อนเมฆแตกตัวและเดินทางแทรกลงมาด้านล่าง ขณะเดียวกันประจุบวกจากพื้นจะถูกประจุลบดึงดูดให้วิ่งขึ้นมาและบรรจบกัน ณ จุดจุดหนึ่ง และเกิดเป็นปรากฏการณ์ฟ้าผ่าได้ในที่สุด

ภาพ : Shutterstock

 

ด้วยสาเหตุข้างต้นที่กล่าวมา ทำให้ทุกบริเวณใต้ก้อนเมฆที่สะสมประจุอยู่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดฟ้าผ่าได้ทั้งหมด แต่จุดที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดฟ้าผ่ามากที่สุด คือ ที่โล่งแจ้งและจุดที่สูงในบริเวณนั้น ๆ เช่น ต้นไม้หรืออาคารสูงที่ตั้งอยู่ในที่โล่งแจ้ง เนื่องจากประจุไฟฟ้ามีโอกาสเคลื่อนที่มาเจอกันได้รวดเร็วที่สุด ส่วนวัตถุที่เป็นตัวการทำให้ฟ้าผ่าใส่คนเราได้ คือ วัตถุที่อยู่เหนือจากศีรษะขึ้นไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัตถุที่มีปลายแหลม เช่น ร่มที่ปลายด้านบนเป็นเหล็กแหลม เป็นต้น

 

ฟ้าผ่ามีความร้อนสูงมาก ซึ่งมีอุณหภูมิสูงกว่าพื้นผิวของดวงอาทิตย์ถึงประมาณ 5 เท่า ความร้อนนี้ทำให้อากาศโดยรอบขยายตัวและสั่นสะเทือนอย่างรวดเร็ว เกิดเป็นเสียงฟ้าร้องในที่สุด ความร้อนจากฟ้าผ่านี้อันตรายมาก แต่นอกจากคนเราจะได้รับอันตรายจากการถูกฟ้าผ่าโดยตรงแล้ว แต่ยังมีอันตรายจากฟ้าผ่าประเภทอื่น ๆ เช่น อันตรายจากกระแสไฟฟ้าวิ่งตามพื้น (Ground current) ซึ่งเกิดจากแรงดันไฟฟ้าช่วงก้าว (Step voltage) เพราะเมื่อฟ้าผ่าลงมายังพื้นแล้วกระแสไฟฟ้ายังสามารถกระจายออกไปยังบริเวณโดยรอบบริเวณที่ถูกฟ้าผ่าได้ เช่น จากตัวตึกลงมาที่ฐานและกระจายออกไปตามพื้นที่มีน้ำนอง เป็นต้น หรืออันตรายจากฟ้าแลบด้านข้าง หรือก็คือ กระแสไฟฟ้าที่ “กระโดด” เข้าสู่ตัวคนทางด้านข้าง ในกรณีที่หลบอยู่ใต้บริเวณที่ถูกฟ้าผ่า เช่น ต้นไม้ ถ้าหากกระแสไฟฟ้าวิ่งผ่านเข้าสู่สิ่งมีชีวิต ก็อาจได้รับอันตรายเช่นกัน

 

ฟ้าผ่าก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ ถึงแม้ว่าจะมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่าได้บางส่วน เช่น การติดตั้งสายล่อฟ้าไว้ที่ตึกสูง แต่ในประเทศไทยซึ่งเป็นพื้นที่ที่เกิดมรสุมขึ้นบ่อยครั้ง การเกิดฟ้าผ่าจึงหลีกเลี่ยงได้ยาก ดังนั้น หากเผชิญหน้ากับปรากฏการณ์ฟ้าผ่า จึงควรหาที่หลบให้ได้เร็วที่สุด แต่ในกรณีที่อยู่ในพื้นที่โล่งแจ้งแล้วหาที่หลบไม่ทัน เมื่อเกิดพายุฝนฟ้าคะนองและคิดว่าน่าจะเกิดฟ้าผ่า ให้พยายามสัมผัสกับพื้นให้น้อยที่สุด เพื่อป้องกันการที่กระแสไฟฟ้าจะไหลเข้าสู่ร่างกายของเราจากจุดหนึ่งและไหลออกอีกจุดหนึ่ง ซึ่งนำไปสู่ภาวะหัวใจวายและเสียชีวิตได้

 


บทความที่เกี่ยวข้อง
- การทำงานของสายล่อฟ้า
- ฟ้าผ่าไม่ได้ทำให้เครื่องบินตก
 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Thananthorn
  • 4 Followers
  • Follow