Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เรื่องมะเร็งที่ผู้หญิงทุกคนต้องรู้ ! ไขทุกข้อข้องใจของ มะเร็งที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมในสตรี

Posted By Glimmergirl | 10 ธ.ค. 61
2,334 Views

  Favorite

อะไรนะ ! มะเร็งเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ด้วยเหรอ ? ข่าวร้ายคือจริงแท้แน่นนอน แล้วมะเร็งที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมในสตรีคืออะไร ป้องกันได้หรือไม่ ที่นี่มีคำตอบ

 

"มะเร็ง" โรคร้ายที่หลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว คิดว่าหากดูแลสุขภาพให้ดี กินดี มีสุข ออกกำลังกายสม่ำเสมอจะเป็นคาถาคุ้มครองให้รอด แต่ก็บ่อยครั้งที่เราเห็นว่าคนที่ดูแลสุขภาพเป็นอย่างดี ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ก็เป็นโรคมะเร็งได้ เพราะอะไร ?

แม้ว่าปัจจุบันทางการแพทย์ยังหาสาเหตุที่แน่ชัดไม่ได้ว่ามะเร็งเกิดจากอะไร แต่โดยหลัก ๆ แล้วปัจจัยที่ทำให้เกิดมะเร็งมี 2 อย่างคือ

 

ภาพ : Pixabay

 

1. ปัจจัยทีี่ควบคุมได้

คือ พฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิตของเรา ที่เป็นตัวทำให้เราเอาสุขภาพไปเสี่ยง เช่น การสูบบุหรี่ การกินอาหารปิ้งย่างมาก ๆ และดื่มแอลกอฮอล์ เมื่อควบคุมและหลีกเลี่ยงได้ก็จะช่วยลดความเสี่ยงลง

2. ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้

เพราะเป็นกลไกจากธรรมชาติติดตัวมาตั้งแต่เกิด ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้นั่นคือ เพศ วัย เชื้อชาติ และพันธุกรรม

 

แต่ไม่ใช่มะเร็งทุกชนิดจะถ่ายทอดทางพันธุกรรมไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลานเรานะคะ อย่าพึ่งตกใจไป มาดูกันว่ามะเร็งที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมในสตรีคืออะไร และเราเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ ไปพร้อมกันค่ะ

 

มะเร็งที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมในสตรีคืออะไร ? สำคัญอย่างไร ?

ภาพ : Pixabay

 

คือมะเร็งที่พบการกลายพันธุ์ของยีนบางชนิด และสามารถถ่ายทอดจากพ่อแม่ไปสู่ลูกและสมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัวได้ พบว่าเป็นสาเหตุของมะเร็งทั้งหมดประมาณ 5-10 % ทำให้เพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งได้มากกว่าคนทั่วไป ส่วนมากมักพบว่าเป็นมะเร็งตั้งแต่อายุน้อย และเป็นได้มากกว่า 1 อวัยวะ

มะเร็งที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมในสตรีที่พบบ่อยที่สุด คือ มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก และมะเร็งลำไส้ใหญ่

 

จะรู้ได้อย่างไรว่าเราอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมหรือไม่ ?

ภาพ : Pixabay

 

ก่อนอื่นต้องสำรวจสมาชิกในครอบครัวทั้งหมด เรียกว่าต้องดูกันไปถึงวงศาคณาญาติทั้งฝั่งพ่อและแม่เลยทีเดียวว่า มีใครเข้าข่ายเหล่านี้หรือไม่

     - เป็นมะเร็งตั้งแต่อายุน้อย โดยเฉพาะน้อยกว่าอายุ 50 ปี

     - เป็นมะเร็งหลายอวัยวะในคนเดียว เช่น มะเร็งเต้านม + มะเร็งรังไข่ หรือมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มะเร็งรังไข่ + มะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น

     - เป็นมะเร็งหลายตำแหน่งในอวัยวะเดียวกัน เช่น เป็นมะเร็งเต้านมทั้งสองข้าง

     - เป็นมะเร็งรังไข่ชนิดเยื่อบุผิว รวมถึงมะเร็งหลอดมดลูกและมะเร็งเยื่อบุช่องท้อง

     - มีสมาชิกใกล้ชิดในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ มะเร็งลำไส้ใหญ่ รวมถึงมะเร็งในระบบทางเดินอาหารอื่น ๆ และมะเร็งไต หรือท่อไตมากกว่า 1 คน

หากสำรวจแล้วพบควรตรวจหาการกลายพันธุ์ของยีนโดยการตรวจทางพันธุกรรม (โดยปรกติจะทำการตรวจจากตัวอย่างเลือดและส่งตรวจยังห้องปฏิบัติการพิเศษ ใช้เวลาไม่เกิด 8 สัปดาห์) ควรเริ่มตรวจจากสมาชิกในครอบครัวที่เป็นมะเร็ง โดยเฉพาะคนที่เป็นมะเร็งตอนอายุน้อยที่สุดก่อน ถ้าหากตรวจแล้วไม่พบการกลายพันธฺุ์ของยีนก็เบาใจได้ สมาชิกคนอื่น ๆ ก็ไม่จำเป็นต้องตรวจทางพันธุกรรมค่ะ

 

ถ้าตรวจแล้วพบการกลายพันธุ์ของยีน ต้องทำอย่างไร ?

ภาพ : Pixabay

 

หากสาวคนไหนที่เป็นมะเร็งแล้วตรวจพบการกลายพันธุ์ของยีน จะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนการรักษาที่จำเพาะเจาะจงกับยีนที่มีการกลายพันธุ์ รวมไปถึงการป้องกันไม่ให้เกิดมะเร็งในอวัยวะอื่นที่มีโอกาสเสี่ยงเกิดได้ค่ะ

ส่วนสาวคนไหนที่ตรวจพบการกลายพันธุ์ของยีน แต่ยังไม่ได้เป็นมะเร็ง ก็ไม่ได้แปลว่าต้องเป็นมะเร็งแน่นอนเสมอไป แต่ก็ควรเข้าไปขอคำแนะนำจากแพทย์เพื่อรับการดูแลรักษาที่จะช่วยลดความเสี่ยง เช่น เข้ารับการตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอ อย่างการเอ็กซเรย์เต้านม อัลตร้าซาวน์ท้องน้อย ตรวจระดับสารเคมีในเลือดที่สัมพันธ์กับมะเร็ง ส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ ร่วมกับการกินยาบางชนิด และการผ่าตัด เช่น ผ่าตัดมดลูกและรังไข่ทั้งสองข้าง หรือตัดเต้านมทั้งสองข้าง เป็นต้น

 

อย่างที่บอกไว้อย่างสม่ำเสมอ มะเร็งเป็นโรคร้ายแต่ถ้าตรวจพบเร็วก็รักษาได้ แม้จะเป็นมะเร็งที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ก็สามารถรับมือและวางแผนป้องกันลดความเสี่ยงได้ค่ะ ถ้าเป็นเรื่องสุขภาพ คิดมากดีกว่าคิดน้อย หากเช็คเครือข่ายครอบครัวแล้วมีใครเข้าข่ายมีโอกาสเสี่ยงเกิดมะเร็งที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมในสตรีแล้ว ก็ควรรีบเข้ารับการตรวจหายีนกลายพันธุ์เสียตั้งแต่เนิ่น ๆ จะได้ป้องกันได้ทันนะคะ 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Glimmergirl
  • 5 Followers
  • Follow