Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ความขี้เกียจมาจากไหน

Posted By Plook Creator | 13 ก.ย. 61
16,621 Views

  Favorite

เช้าวันเสาร์ฝนพรำ ๆ บนเตียงนุ่ม ๆ ในห้องนอนที่แอร์กำลังเย็นฉ่ำ เป็นบรรยากาศที่ทำให้หลายคนไม่อยากลุก ไม่อยากขยับตัว หรือแม้แต่ไม่อยากจะลืมตานานไปกว่านี้ การทอดตัวอยู่บนที่นอน ปล่อยใจให้สบาย ไม่มีเรื่องอะไรให้กังวล ไม่ต้องคิดเรื่องงาน ไม่ต้องคิดเรื่องอะไรให้รกสมอง ถ้าทุกวันทุกเวลาเป็นเหมือนที่กล่าวมาก็คงดี การปล่อยตัวปล่อยใจให้สบายไม่ต้องลุกมาทำความสะอาดบ้าน เคลียร์งาน หรือหาของกิน เป็นสิ่งที่หลาย ๆ คนฝันหา บ้างบอกว่ามันคือ ความขี้เกียจ (Sloth) หนึ่งในเจ็ดบาปของศาสนาคริสต์ บ้างก็ว่ามันคือการพักผ่อน หรือความขี้เกียจจะอยู่ที่มุมมองของแต่ละคนกันแน่ ลักษณะไหนถึงเรียกว่าขี้เกียจ

 

Jules Renard กล่าวว่า
"Laziness is nothing more than the habit of resting before you get tired."
ความขี้เกียจไม่ใช่อะไรมากไปกว่านิสัยที่ชอบจะหยุดพักก่อนที่จะรู้สึกเหนื่อย

 

จากคำกล่าวข้างต้น นักปรัชญาและนักวิทยาศาสตร์บางคนกลับคิดมุมกลับว่าอันที่จริงแล้ว ความขี้เกียจเป็นสัญชาตญาณดั้งเดิมของมนุษย์ และมันเป็นสิ่งที่ดีด้วยซ้ำ ความขี้เกียจสอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ว่า สมัยก่อนนั้นแหล่งพลังงานเป็นสิ่งหายากและสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ล้วนแต่ต้องสะสมพลังงานเอาไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน และทำกิจกรรมต่าง ๆ หรือออกแรงใช้พลังงานในสิ่งที่จำเป็นเมื่อคราวจำเป็นจริง ๆ เท่านั้น ดังนั้น การอยู่นิ่ง ๆ เฉย ๆ ไม่ใช้พลังงาน ไม่ขยับตัวไปทำอะไร หรือที่เรียกว่าขี้เกียจนั้นก็ออกจะสอดคล้องกับแนวคิดด้านการสะสมพลังงานนี้เช่นกัน

 

ยกตัวอย่างเช่น หมีแพนด้า ซึ่งมักถูกกล่าวว่าเป็นหนึ่งในสัตว์ที่ขี้เกียจที่สุดในโลก นักวิทยาศาสตร์พบว่า แพนด้าโตเต็มวัยเผาผลาญพลังงานเพียง 38% ของพลังงานที่สิ่งมีชีวิตขนาดใกล้เคียงอื่น ๆ ใช้ไปในแต่ละวัน เหมือนมันเข้าสู่โหมดประหยัดพลังงานอยู่ตลอดเวลา ซึ่งนั่นน้อยกว่าพลังงานที่คนปกติที่มีน้ำหนักตัวเท่ากันใช้ขณะนอนหลับเสียอีก พลังงานทั้งหมดของแพนด้าได้มาจากการกินใบไผ่ซึ่งย่อยได้ยากและให้พลังงานต่ำ มันจำเป็นต้องมีแบคทีเรียชนิดพิเศษในลำไส้เพื่อย่อยใบไผ่เหล่านี้ และเคลื่อนไหวร่างกายอย่างเชื่องช้า นักวิทยาศาสตร์จึงเทียบเคียงความขี้เกียจของคนเราเข้ากับสัญชาตญาณการประหยัดพลังงานซึ่งสิ่งมีชีวิตทั้งหลายต่างมีเช่นกัน

 

หลายครั้งเมื่อเราผิดหวังกับการทำงานให้ถึงเป้าหมาย ความผิดหวัง ความผิดพลาด มักทำให้เราหมดกำลังใจ และหลาย ๆ ครั้งก็ล้มเลิกที่จะทำกิจกรรมนั้น ๆ ไป ขี้เกียจที่จะทำ ไม่ให้ความสนใจและจัดลำดับความสำคัญของกิจกรรมนั้น ๆ ให้ไปอยู่ท้าย ๆ ซึ่งมันก็คงจะไม่ใช่เรื่องเสียหายหากสิ่งนั้น ๆ เป็นเรื่องเล็กน้อยที่ไม่ได้มีผลอะไรต่อชีวิตประจำวัน เช่น อยากไปกินอาหารร้านดัง แต่พลาดการจองหลายครั้ง หรือไปไม่ทันเพราะรถติด จนสุดท้ายก็เบื่อหน่ายและไม่อยากไปกินแม้จะมีคนชวนไปอีกครั้งก็ตาม

 

อย่างไรก็ตาม ความขี้เกียจหรือการผัดวันประกันพรุ่งจะกลายเป็นปัญหาในทันทีหากสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ เช่น งาน นัดหมายสำคัญ หรือการชำระหนี้ต่าง ๆ คนญี่ปุ่นมีวิธีกำจัดความขี้เกียจที่เรียกว่า Kaizen หรือกฎหนึ่งนาที โดยใช้แนวคิดที่ว่าคุณไม่ต้องเปลี่ยนตัวเองทันทีทันใด แต่การไปถึงเป้าหมายได้อย่างที่ตั้งไว้คือ การค่อย ๆ เปลี่ยน ค่อย ๆ เป็น ค่อย ๆ ไปอย่างชาญฉลาด แนวคิดคือ การฝึกฝนสิ่งที่ต้องการจะทำเพียงแค่ 1 นาที แต่ทำเป็นประจำทุกวัน ด้วยเวลาน้อยนิดเพียง 1 นาที คนส่วนใหญ่ก็คงจะไม่ขี้เกียจที่จะทำมัน มันง่ายกว่างานที่ต้องทำเป็นชั่วโมง เป็นวัน เป็นสัปดาห์​ ซึ่งอาจจะเป็นงานที่ไม่คุ้นและอาจน่าเบื่อ การทำอะไรบางอย่างเพียงระยะเวลาสั้น ๆ นอกจากจะไม่ทำให้รู้สึกไม่อยากทำแล้ว มันยังน่าสนุกและเห็นผลชัดเจนกว่า แต่ถ้าความขี้เกียจคือการล้มเลิกกลางคันก่อนที่จะรู้สึกเหนื่อยหรือเบื่อกับบางสิ่งบางอย่าง แล้วสิ่งที่เราควรจะทำ หรือตั้งเป้าไว้เหล่านั้นมันจำเป็นต้องทำจริงหรือ ?

 

คนส่วนใหญ่เมื่อไฟลนก้นก็มักจะทำงานชิ้นนั้น ๆ เสร็จได้ แม้คุณภาพจะไม่ดีก็ตาม ถ้าหากงานหรือกิจกรรมนั้น ๆ มีการบีบบังคับหรือสำคัญจริงๆ  แต่ถ้าหากไม่สำคัญแล้ว เราจะอยากทำหรือ แล้วความขี้เกียจควรใช้กับกิจกรรม งาน หรือเป้าหมายชนิดใดกันแน่ หรือความขี้เกียจคือสิ่งที่ปลูกฝังลงไปในยีน เป็นสัญชาตญาณที่สัตว์ส่วนใหญ่ก็มักเลือก เราเลือกที่จะประหยัดพลังงาน เราเลือกความสบาย ซึ่งหลาย ๆ ครั้ง ความขี้เกียจก็อาจเป็นตัวกระตุ้นให้สามารถแก้ปัญหาในหลาย ๆ เรื่องได้ ลองคิดดูว่าหากบรรพบุรุษของเราไม่ขี้เกียจซักผ้าทีละชิ้น จนต้องแก้ด้วยการประดิษฐ์เครื่องซักผ้าแล้ว ป่านนี้เราจะใช้ชีวิตอย่างไร หรือแม้แต่หากสมัยก่อนเราไม่ขี้เกียจที่จะคัดสำเนาเอกสารด้วยมือ ในตอนนี้เราจะมีเครื่องถ่ายเอกสารหรือไม่ หรือบางทีแล้วความขี้เกียจก็ยังคงเป็นสิ่งจำเป็นอยู่บ้างเช่นกัน แต่มันก็ไม่อาจใช้ได้กับทุกเรื่องหรือเสมอไป

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 15 Followers
  • Follow