Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

น้ำหอมฟีโรโมน ช่วยดึงดูดเพศตรงข้ามได้จริงหรือ

Posted By Ammay | 04 ม.ค. 62
35,406 Views

  Favorite

ปัจจุบันนี้โลกของเราได้มีการเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง และพัฒนาสิ่งต่าง ๆ ไปมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่าง ๆ ซึ่งสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กับนวัตกรรมอื่น ๆ เลยนั่นก็คือ “น้ำหอมฟีโรโมน”

 

หากท่านผู้อ่านเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ชอบเล่นอินเทอร์เน็ต คงจะเคยเห็นคำโฆษณาเกี่ยวกับน้ำหอมฟีโรโมนมาบ้างว่า สามารถช่วยกระตุ้นให้ผู้ที่ได้กลิ่นมีความต้องการทางเพศสูงขึ้น คำโฆษณาข้างต้นนั้นจะเป็นจริงหรือไม่ เรามาศึกษาไปพร้อม ๆ กันนะคะ

 

ฟีโรโมนคืออะไร?

มนุษย์และสัตว์ต่าง ๆ มีระบบรับกลิ่นที่สามารถตรวจสอบและแยกแยะกลิ่นของสารประกอบเคมีได้หลายพันกลิ่น ซึ่งฟีโรโมนก็เป็นสารเคมีชนิดหนึ่งที่มนุษย์และสัตว์สามารถแยกแยะได้เช่นกัน ฟีโรโมนนี้อาจมีลักษณะคล้ายน้ำมันหรือเหงื่อ โดยถูกสร้างและหลั่งออกมาตามธรรมชาติเพื่อใช้ในการสื่อสารระหว่างสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกัน

 

ประเภทของฟีโรโมน

ฟีโรโมนแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ

1.  ฟีโรโมนที่ทำให้เกิดพฤติกรรมทันที (Releaser Pheromone) เป็นฟีโรโมนที่มีผลต่อการควบคุมพฤติกรรมและการแสดงออก โดยจะไปกระตุ้นการตอบสนองในทันที แบ่งได้เป็น

1.1 ฟีโรโมนที่ใช้เพื่อกระตุ้นความต้องการทางเพศ (Sex Attractant Pheromone) เป็นฟีโรโมนที่จะถูกปล่อยออกมาเพื่อดึงดูดเพศตรงข้ามให้มาหาและกระตุ้นให้เกิดการผสมพันธุ์ เช่น ผีเสื้อตัวเมียจะปล่อยสารที่เรียกว่า บอมบายโก (Bombygol) ออกมาเพื่อดึงดูดตัวผู้ให้เข้าหาและมาผสมพันธุ์

 

1.2 ฟีโรโมนที่ใช้เพื่อเตือนภัย (Alarm Pheromone) เมื่อมีอันตรายเกิดขึ้น สัตว์จะปล่อยฟีโรโมนชนิดนี้ออกมาเพื่อเตือนให้ตัวอื่น ๆ ได้รู้ เช่น การปล่อยสารไอโซเอมิลแอซิเตต (Isoamyl Acetate) ของผึ้งยามเพื่อให้ผึ้งตัวอื่น ๆ ช่วยกันต่อสู้เมื่อมีศัตรูหรืออันตรายเข้ามา

 

1.3  ฟีโรโมนที่ใช้เพื่อปลุกระดมพล (Recruitment Pheromone) เป็นฟีโรโมนที่มักจะพบได้เฉพาะในสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่เป็นกลุ่ม โดยจะถูกปล่อยออกมาเพื่อเป็นสัญญาณให้ตัวอื่น ๆ รู้ว่าได้เวลาของการผสมพันธุ์หรือการออกล่าหาอาหารแล้ว

 

1.4 ฟีโรโมนที่ใช้เพื่อตามรอย (Trial Marking Pheromone) เป็นฟีโรโมนที่ถูกปล่อยออกมาเมื่อสัตว์ต้องการที่จะนำทางตัวอื่น ๆ เพื่อไปยังแหล่งอาหารหรือสถานที่ที่ต้องการ เช่น การที่มดปล่อยฟีโรโมนออกมาเพื่อให้มดตัวอื่น ๆ ตามไปยังแหล่งอาหารได้ถูกต้อง

 

1.5 ฟีโรโมนที่ใช้เพื่อแสดงอาณาเขต (Territory Pheromone) เมื่อสัตว์ต้องการที่จะประกาศเขตแดนของตนเอง พวกมันจะปล่อยฟีโรโมนชนิดนี้ออกมา เช่น สุนัขจะปล่อยฟีโรโมนออกมาพร้อมกับฉี่เมื่อต้องการที่จะประกาศเขตแดนของตนเอง

 

2. ฟีโรโมนที่ไปกระตุ้น แต่ไม่เกิดพฤติกรรมทันที (Primer Pheromone) เป็นฟีโรโมนที่เมื่อได้รับแล้วจะต้องใช้ระยะเวลาในการตอบสนองนานกว่าฟีโรโมนประเภทแรก เช่น ฟีโรโมนที่มีอิทธิพลต่อการพัฒนาการหรือสรีรวิทยาของระบบสืบพันธุ์  รวมถึงวงจรของประจำเดือน และการตั้งครรภ์ เช่น ฟีโรโมนนางพญา (Queen Substance Pheromone) เป็นฟีโรโมนที่ถูกปล่อยโดยนางพญา (พบได้ในแมลงสังคม เช่น พวกตัวต่อ ผึ้ง มด ปลวก ฯลฯ ) เพื่อใช้ในการควบคุมสังคม เช่น นางพญาผึ้งจะปล่อยกรดคีโตเดเซโนอิก (keto – decenoic acid) เพื่อให้ผึ้งงานเข้ามาเลียตัวเอง ซึ่งผลลัพธ์ก็คือ พวกผึ้งงานเหล่านี้จะกลายเป็นหมัน และจะต้องทำงานตลอดไป

 

แล้วการสังเคราะห์น้ำหอมฟีโรโมน
เพื่อกระตุ้นความรู้สึกทางเพศในมนุษย์นั้นได้ผลจริงหรือไม่

 

ต้องบอกเลยนะคะว่าสามารถทำได้ แต่ ไม่ใช่ทุกคนที่จะได้ผล เนื่องจากการสกัดเอาฟีโรโมนออกมาเพื่อช่วยดึงดูดเพศตรงข้ามแบบสัตว์ถือเป็นเรื่องที่ยาก และยิ่งไปกว่านั้น ความไวของสัมผัสการรับกลิ่นของคนเรายังด้อยประสิทธิภาพมากเมื่อเทียบกับสัตว์ ดังนั้น แล้วจะให้ผลลัพธ์จากการใช้น้ำหอมฟีโรโมนเกิดขึ้นกับทุกคนนับว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก และที่สำคัญการใส่สารฟีโรโมนลงไปในเครื่องสำอางสำหรับประเทศไทยยังถือว่าเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย รู้แบบนี้แล้วก็หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้และกลับมาบริหารเสน่ห์ของตัวเองกันดีกว่านะคะ

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Ammay
  • 6 Followers
  • Follow