Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

"โกงกาง" ต้นไม้แห่งป่าชายเลน

Posted By Plook Creator | 13 ก.ค. 61
85,702 Views

  Favorite

ป่าชายเลนมีความสำคัญต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่เพราะตำแหน่งของมันอยู่ระหว่างผืนดิน น้ำจืด และน้ำเค็ม ไม่ใช่เพราะว่ามันเป็นแหล่งอนุบาลสิ่งมีชีวิตมากมายเท่านั้น แต่เพราะว่ามันมีความมหัศจรรย์ และสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ก็มีความพิเศษเฉพาะตัว และไม่สามารถหาได้ในที่อื่น ด้วยพื้นฐานของระบบที่ไม่เหมือนใคร ดินที่เป็นโคลนเลน น้ำท่วมถึงแต่กลับเป็นน้ำจืดบ้าง น้ำกร่อยบ้าง น้ำเค็มบ้าง สิ่งมีชีวิตไม่ว่าจะสัตว์หรือพืช ต้องมีความสามารถในการปรับตัวอย่างมากเพื่อที่จะอาศัยอยู่ได้อย่างปลอดภัยและยังดำรงเผ่าพันธุ์ต่อไปได้

 

ต้นโกงกาง (Red Mangrove) ไม่ได้เป็นเพียงต้นไม้ในเขตป่าชายเลน ที่ทำหน้าที่เป็นเสมือนแผงกั้นป้องกันการกัดเซาะของน้ำเท่านั้น และมันก็ไม่ได้เป็นเพียงต้นไม้ที่นำมาทำฟืนได้มีประสิทธิภาพเท่านั้น เพราะคุณค่า ความสามารถ และประโยชน์ของมัน ทำให้มันน่าสนใจในแง่ความคิดและการออกแบบโดยธรรมชาติที่ทำให้มันวิวัฒนาการมาเป็นต้นโกงกางในปัจจุบันได้

ภาพ : Shutterstock

 

เนื่องจากพื้นดินที่มันขึ้นอยู่ แทบเรียกไม่ได้ว่าเป็นพื้นดิน เพราะมันเป็นโคลนเลนซึ่งมีการอุ้มน้ำอยู่มาก และนั่นทำให้พื้นดินบริเวณดังกล่าวขาดออกซิเจน แต่การทำงานของรากและโครงสร้างรากต้นโกงกางมีความพิเศษ อย่างแรกคือ มันมีรากค้ำจุน (Prop root) หรือ (Buttress root) เพื่อให้มันสามารถยืนต้นตั้งตรงอยู่ได้ในสภาพพื้นที่เป็นโคลน มีการแตกแขนงออกมา โคน ลำต้น หรือแม้แต่กิ่ง หยั่งลงไปยังพื้นโคลนเพื่อช่วยพยุงต้น และยังมีรากเพื่อการหายใจ (Aerating root)​ ซึ่งเป็นเสมือนหลอดดูดเพื่อออกมารับออกซิเจน และยังมีรูบริเวณรอบลำต้นเพื่อรับออกซิเจนมากขึ้นด้วย

ภาพ : Shutterstock

 

ทำไมต้องมีรูที่รากและลำต้นเพื่อรับออกซิเจน ทำไมมันจึงไม่ใช้ประโยชน์จากใบเพื่อรับเอาออกซิเจนเหมือนต้นไม้ชนิดอื่น ๆ นั่นเป็นเพราะว่าใบของต้นโกงกางถูกออกแบบมาเพื่อใช้สังเคราะห์แสงและขับเกลือมากกว่า การสังเคราะห์แสงของใบต้นโกงกางเป็นการทำหน้าที่ตามปกติ นอกจากนั้นปากใบของต้นโกงกางเป็นแบบจม (Sunken Stomata) คือ ปากใบจะอยู่ลึกเข้าไปในเนื้อใบทำให้คายน้ำออกมาน้อยกว่าปกติ เนื่องจากน้ำจืดเป็นสิ่งที่สำคัญแม้ว่าต้นโกงกางจะอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมแต่มันเป็นน้ำกร่อยและน้ำเค็มด้วย มันจึงต้องพัฒนากลไกการคายเกลือออกมาที่ผิวใบผ่านต่อมขับเกลือแทน และนั่นทำให้บางครั้งที่เราจับหรือเห็นใบต้นโกงกางจะดูเหมือนมีแป้งสีขาวเคลือบอยู่ที่ผิวใบ และนั่นคือความสามารถในการขับเกลือที่เกิดจากการวิวัฒนาการเพิ่มขึ้นมา

 

โครงสร้างของใบยังหนาเพื่อทำให้สามารถเก็บกักน้ำไว้ได้มากขึ้น และด้วยความสำคัญและความสามารถของใบนี้เอง ทำให้มันเป็นทรัพยากรของต้นที่สำคัญ และต้นโกงกางทุกต้นต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการรักษาทุก ๆ ใบเอาไว้ให้ได้นานที่สุด มันจึงสะสมสารแทนนิน (Tannin) ไว้ที่ใบรวมถึงส่วนอื่น ๆ ของต้นด้วย แม้ว่าสารชนิดนี้จะเป็นสารพิษมีฤทธิ์ป้องกันแบคทีเรีย แต่สำหรับต้นโกงกางแล้ว จะสะสมเพื่อป้องกันสัตว์ไม่ให้มากินใบและส่วนอื่น ๆ ของต้นเป็นอาหาร

ภาพ : Shutterstock


อีกหนึ่งการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่แปรเปลี่ยนตลอดเวลาจากการขึ้นและลงของระดับน้ำ คือ การขยายพันธุ์ เมื่อดอกของต้นโกงกางได้รับการผสมพันธุ์ มันจะเติบโตกลายเป็นผลและเมล็ด และเมื่อมันพร้อมที่จะขยายพันธุ์ต่อไป มันจะไม่หลุดออกจากต้นแม่ในทันที ซึ่งต่างจากพืชสายพันธุ์อื่น ๆ เนื่องจากบริเวณโดยรอบเป็นโคลนและน้ำซึ่งขึ้นลงตลอดเวลา ผลที่หลุดจากต้นอาจจะไม่สามารถเติบโตหรือฝังรากได้ทันก่อนที่น้ำจะขึ้นในรอบถัดไป กระแสน้ำและลมอาจจะทำให้มันล่องลอยออกสู่ทะเลจนเน่าเสียในที่สุด จุดเปลี่ยนของต้นโกงกางคือ ผลของมันจะเริ่มเจริญเติบโตตั้งแต่มันยังติดอยู่บนต้นไม้ รากจะเริ่มงอกยาวออกมา มีลักษณะเป็นแท่งแหลมแข็งทำให้ปักได้ง่ายทันทีที่มันตกลงมาจากต้น ส่วนอีกด้านหนึ่งของผลก็พร้อมที่จะแทงออกมาเป็นกิ่งยอดในทันทีเช่นกัน

ภาพ : Shutterstock

 

อีกครั้งที่ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นและวิวัฒนาการตามธรรมชาติอย่างตั้งใจ ทุกรายละเอียดที่ออกแบบมามีหน้าที่และความหมายในตัวมันเอง การที่มนุษย์เราเข้าไปรบกวนธรรมชาติ สภาพแวดล้อม หรือระบบนิเวศใด ๆ ย่อมส่งผลกระทบกับสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ มากบ้างน้อยบ้าง ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม นี่จึงเป็นสิ่งที่ทำให้เราต้องคิดและพิจารณา รวมถึงศึกษาอย่างละเอียดในการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับธรรมชาติ เพราะแม้แต่การเข้าไปเดินเล่นในพื้นที่ที่ละเอียดอ่อนอย่างป่าชายเลน แล้วเผลอเหยียบรากไม้ หรือเด็ดไม้ต้นโกงกางออกมา ก็ล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อต้นไม้รวมถึงสัตว์ต่าง ๆ ที่พึ่งพิงมัน

 

ลองย้อนคิดถึงอดีตที่เราไม่เคยสนใจและให้ความสำคัญกับป่าชายเลน เราตัดไม้โกงกางมาใช้สอยทำประโยชน์ สร้างเฟอนิเจอร์ แปรรูปเป็นถ่าน เราบุกรุกและทำลายพื้นที่ป่าชายเลนไปหลายร้อยหลายพันไร่ และนั่นคือการกระทำที่ทำให้เกิดผลเสียกับโลกของเราอย่างรุนแรงจนยากที่จะฟื้นคืน

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 15 Followers
  • Follow